จากกรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งประเทศไทย (UNFPA) จัดงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” และได้มีการนำเสนอรูปแบบการออมสำหรับผู้สูงอายุหลายรูปแบบ

โดยหนึ่งในนั้นมีการเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปสังคมและ สศช. เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีคือการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 7% เป็น 10% โดยส่วนต่าง 3% มีการเสนอแนะให้รัฐบาลออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อนำมาเป็นเงินออมของประชาชนไว้ใช้ในยามเกษียณนั้น ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก

ล่าสุด (27 ส.ค. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังออกมาชี้แจงว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาฯ ได้มีการพูดคุยถึงโครงสร้างประชากรไทย ซึ่งถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีก โดยคาดว่าภายในปี 2583 ประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ

ในขณะที่การสำรวจรายได้ผู้สูงอายุ 34% หรือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณแล้วยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยผู้สูงอายุ 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ทำให้ยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น เงินจากลูกหลาน, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากนี้ การสำรวจเงินออมสำหรับวัยเกษียณในปัจจุบันยังพบว่า มีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่เกษียณแล้วมีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจนไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้เดือนสุดท้ายที่ได้รับ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น ประกันสังคมหรือกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ