หลายธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยในอดีต ปัจจุบันนี้อาจล้มหายตายจาก หรือตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว…คำถามสำคัญคือ ปัจจัยใดทำให้บริษัทยักษ์​ใหญ่เหล่านั้นถูกลืมเลือน และบทเรียนใดที่เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องล้มเหลวนี้ได้ ซึ่งหนังสือเล่มใหม่ของโสภณ ศุภมั่งมี นี่แหละคือคำตอบ

BIZ-LIFE CRISIS ธุรกิจวิกฤตเอง จะเล่าถึงธุรกิจยักษ์ต่าง ๆ ผู้พลิกโอกาสให้เป็นวิกฤต เขียนโดยคุณโสภณ ศุภมั่งมี อดีตโปรแกรมเมอร์ของไมโครซอฟท์ ที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนและนักแปล เจ้าของผลงานโด่งดังอย่าง The Nerd of Microsoft โดยภายในเล่มนี้จะมานำเสนอประวัติความเป็นมาของหลายธุรกิจ Insight ที่หลายคนไม่เคยรู้

เล่มนี้ได้รวมทั้งบทเรียนและคำตอบว่า บรรดาบริษัทที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นร่วงหล่นได้อย่างไร ตั้งใจจะสะท้อนอีกมุมมองความรุ่งโรจน์สู่ล้มเหลว แทนที่จะเป็นบรรดาเคสธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายจนเราเห็นกันจนชินตา แชร์ออกมาเป็นหลายกรณีศึกษาธุรกิจที่ดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายแล้วล้มเหลว โดยรวบรวมเอาบทความทางธุรกิจมาร้อยเรียงกลั่นกรองได้เป็นข้อคิดให้เรียนรู้นำไปปรับใช้ต่อ

ความสำเร็จคือครูที่แย่มาก เพราะมันล่อลวงให้คนฉลาดคิดว่าพวกเขาไม่มีวันล้มเหลว

บิล เกตส์ อดีต CEO Microsoft

ตัวอย่างธุรกิจวิกฤตเอง

Beepi สตาร์ตอัปรถยนต์มือสองที่พังไม่เป็นท่า

คลื่นแห่งอินเทอร์เน็ตได้พัดพาโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงมาสู่หลายอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ จากการซื้อผ่านเต็นท์รถธรรมดา พัฒนาสู่แหล่งซื้อขายออนไลน์ (Marketplace) และ Beepi คือบริษัทผู้เห็นถึงโอกาสทองครั้งนี้ Beepi เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เพียงเท่านี้ ทางบริษัทยังการันตีว่า

  • ด้านผู้ขายนั้นจะได้ราคาสูงกว่าขายเต็นท์ทั่วไป พร้อมทั้งถ้าขายไม่ออกภายใน 30 วัน Beepi จะซื้อไว้เอง
  • ส่วนผู้ซื้อ ก็มีบริการตรวจสภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ และหากไม่พอใจ ยินดีคืนเงินภายใน 10 วัน ถ้ามีปัญหาภายใน 30 วัน จะซ่อมให้ฟรีอีกด้วย

ด้วยการบริการที่ตอบโจทย์และการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำให้ 3 ปีต่อมา รายได้ของ Beepi พุ่งสูงขึ้นกว่า 1000% ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่การเติบโตนี้ดูเหมือนจะเป็นดาบสองคม ทำให้บริษัทดิ่งลงเหวได้เหมือนกัน จากการจ้างพนักงาน ขยายทีมอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายอันสูงลิ่ว ทำให้เงินสดเริ่มขาดมือ ธุรกิจไร้เงินก็ไปต่อไม่ได้ ถึงจุดจบในเวลาต่อมา

Yahoo! จากอดีตราชาอินเทอร์เน็ตสู่เบราว์เซอร์ที่ไม่มีใครเหลียวแล

ในช่วงเวลาหนึ่ง บริษัทยาฮูเคยมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ทำให้ยาฮูไม่อาจยิ่งใหญ่จนเทียบเงากูเกิลได้เลย แม้ว่าจะเริ่มต้นที่ไวกว่าอาจเพราะ 2 สาเหตุหลัก ประการแรกคือ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารไร้วิสัยทัศน์ ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะนำพาบริษัทไปยังทิศทางใด จึงทำให้เกิดอีกสาเหตุแห่งความล้มเหลวต่อมา ส่งผลให้บริษัทยาฮูซื้อธุรกิจนับร้อย ๆ บริษัทนั้นก็ไม่สร้างกำไรอย่างเป็นชิ้นเป็นอันสักที

อย่างไรก็ตาม หากไม่มียาฮูในวันนั้น เราคงไม่มีกูเกิลใช้ในชีวิตประจำวันดั่งเช่นวันนี้ เพราะ Yahoo! คือ รากฐานแห่งจุดเริ่มต้นที่แม้วันนี้จะเลือนหายไปแล้วก็ตาม

BlackBerry​ โทรศัพท์ฮิตสู่ขิตเพราะลืมพัฒนา

บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ปุ่มกดที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก ที่จำหน่ายสมาร์ตโฟนที่จุดกระแสความนิยมในยุค 2000 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ไมค์ ลาซาริดิส ชายหนุ่มที่เติบโตมาพร้อมความอยากรู้อยากเห็น เขาชื่นชอบเกี่ยวกับวิทยุและอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้วยความสนใจนี้ทำให้เขาเลือกเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ตลอดจนได้ไปฝึกงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ที่ Control Data Corporation และเข้าทำงานที่นี่ในเวลาต่อมา จึงเป็นรากฐานหนึ่งที่ทำให้เขามีความรู้ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเพจเจอร์ จนคิดค้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เรียกว่า BlackBerry

ในช่วงแรกนั้น BlackBerry มีการทดลองใช้ในสำนักงาน โดยให้พนักงานลองเอาไปเล่นที่บ้านได้ฟรี 1 เดือน ถ้าชอบค่อยจ่ายเงินซื้อ หากไม่ชอบก็ส่งคืน ผลลัพธ์คือแทบไม่มีใครส่งคืนมาเลย และความนิยมนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หันมองไปทางไหนก็มีแต่คนใช้ BlackBerry ไม่ว่าจะเป็นบรรดานายธนาคาร นักกฎหมาย ทนาย หรือฝ่ายขาย กระทั่งบริษัทเริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น สิ่งนี้เองทำให้ชื่อเสียงของ BlackBerry เพิ่มขึ้นได้อย่างไว เพราะด้วยความเสถียรของเครือข่ายสัญญาณ และการสื่อสารไปมาที่ตอบโจทย์

จากความฮิตยอดนิยมของ BlackBerry ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีร่วงหล่นสู่แบรนด์ที่ไม่มีใครสนใจได้อย่างไร ? หลายคนก็บอกว่า BlackBerry นั้นล้มเพราะการมาถึงของ iPhone ในปี  2007 หรือเปล่า แต่ความเป็นจริง iPhone เป็นเพียงแค่เรื่องราวส่วนหนึ่งของความล้มเหลว เนื่องจากทางบริษัทเองก็ลืมพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย พวกเขาเชื่อมั่นแต่ผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ที่พวกเขามี แล้วเมื่อโทรศัพท์ไร้ปุ่ม จอสัมผัส มาถึง นั่นจึงเป็นจุดจบตลอดกาลของ BlackBerry

Kodak กล้องฟิล์มผู้ไม่ยอมก้าวสู่เส้นทางดิจิทัล

“คุณแค่กดชัตเตอร์ ที่เหลือเราทำเอง” (You press the button, we do the rest) สโลแกนติดหูของ Kodak ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของกล้องที่เกือบจะครอบจักรวาล โดย จอร์จ อีสต์แมน ผู้ก่อตั้ง Kodak นั้นตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมภาพถ่าย เพราะกล้องตัวแรก ๆ ที่สร้างขึ้นสู่สาธารณะชนนั้น เป็นกระบวนการถ่ายภาพที่ยุ่งยาก แต่หลังจากผลิตภัณฑ์ของ Kodak ออกมา ทำให้ในทุก ๆ ครอบครัวต้องมีกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม Kodak ติดตัวไปด้วยเสมอ

ช่วงยุคปลายระหว่าง 1890-1900 Kodak เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสร้างศูนย์การผลิตและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และเริ่มขยายไปยังยุโรปและออสเตรเลีย โดยหนึ่งในโปรดักต์ไลน์ที่โด่งดังที่สุดคือ ‘โกดักบราวนี’ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ขายได้ 150,000 ชิ้นในปีแรก ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและจุดกระแสการถ่ายรูปของช่างภาพมือสมัครเล่นให้เติบโตมากขึ้น

แต่หลังจากการเสียชีวิตของอีสต์แมน ผู้ก่อตั้ง ก็ทำให้ Kodak ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ไปจนถึงสงครามเย็น อีกทั้งปรัชญาการสร้างธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มก็ค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากพวกผู้บริหารลืมที่จะโฟกัสลูกค้า และขาดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงกล่าวได้ว่า “แม้ในทุกวันนี้ Kodak ในวงการกล้องฟิล์มยังไม่ตายไปไหน แต่หากพวกเขาก้าวเข้ามาในโลก Digital ทัน พวกเขาควรจะยิ่งใหญ่กว่านี้หรือไม่ ?”

ทุกสิ่งคือประสบการณ์ ธุรกิจสำเร็จก็สอนเราได้ และธุรกิจล้มเหลวก็ให้บทเรียนได้เช่นกัน

ในท้ายที่สุด อ่านจนจบก็ทำให้เข้าใจวัฏจักรของธุรกิจว่า “ต่อให้ยิ่งใหญ่แค่ไหนย่อมต้องมีร่วงหล่น” และสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นธรรมดาในโลกธุรกิจเหลือเกิน ดังนั้นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องราวธุรกิจยักษ์ที่อาจไม่ได้สวยงามสามารถเป็นบทเรียนแห่งความล้มเหลวให้เราได้เรียนรู้มันต่อไป

ชื่อหนังสือ: Biz-Life Crisis ธุรกิจวิกฤตเอง
ผู้เขียน: โสภณ ศุภมั่งมี
สำนักพิมพ์: LOUPE
ราคา: 370 บาท