แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่จริง ๆ สำหรับ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ที่สร้างปรากฎการณ์โรงแตกในขณะนี้ และในขณะที่หลาย ๆ คนกำลังไฮป์กับเหล่าอีสเตอร์เอ้ก (Easter Egg) ฉบับมาร์เวลในหนังกันใหญ่โต ผมกลับสะดุดใจกับฉากแอ็กชันสุดโดดเด่นในซีนที่สเตรนจ์และคริสตินเดินทางสู่โลกคู่ขนานที่ทุกอย่างล่มสลายไปแล้ว และหลังจากได้รับข้อเสนอจากสเตรนจ์ในโลกคู่ขนานให้ยกคริสตินแลกกับคัมภีร์ดาร์กโฮล์ด พระเอกของเราจึงต้องทำศึกด้วยการร่ายคาถาเอาโน้ตเพลงมาเป็นอาวุธซัดฝั่งตรงข้าม ซึ่งตรงนี้เองที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสองท่วงทำนองดนตรีคลาสสิกและมหาคีตกวีชั้นเอกอุของโลกสองท่านที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในซีนนี้

Bach vs. Beethoven

Beartai Buzz ถอดรหัสสงครามฮาร์โมนีใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness
โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) กับ ลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven)

เห็นหัวข้อแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) กับ ลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) มีเรื่องราวกันแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วบาคถือเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคบาโรค (Baroque) ซีึ่งเป็นช่วงเวลาบ่มเพาะท่วงทำนองสำคัญและถือเป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีดนตรีตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซของบาคก็คือ ‘Toccata and Fugue in D Minor’ ซึ่งถูกนำมาใช้ในหนังนั่นเอง ส่วนบั้นปลายชีวิตของเขาก็ต้องทุกข์ทรมานจากอาการตาบอดในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วนบีโธเฟน เกิดหลังจากบาคเสียชีวิตไปร่วม 20 ปีและมีผลงานอันโดดเด่นในยุคคลาสสิกและอยู่ทันช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคโรแมนติก บีโธเฟนชื่นชมในผลงานของบาคระดับที่ยกเป็น ‘ปฐมบิดาแห่งฮาร์โมนี’ ท่ามกลางมหากวีในยุคบาโรค และเขาก็ถือเอาบาคเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่การหยิบผลงาน พรีหลูด (Prelude) หรือทำนองประสานสองแนว และ ฟิวก์ส (Fugues) หรือทำนองประสานสี่แนว เพลง ‘Well-Tempered Clavier’ มาจัดแสดงอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเขาก็มีผลงานมาสเตอร์พีซมากมายเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ‘Symphony No. 5 in C Minor’ หรือทำนอง “ปั่ม ปั้ม ปัม ป่าม” ที่ถูกใช้ในหนังนั่นเอง ส่วนในช่วงท้ายของชีวิตก็อาภัพไม่ต่างกันเพราะบีโธเฟนได้กลายเป็นคนหูหนวกนั่นเอง

ทีนี้หากจะว่าถึงความหมายที่หนังแฝงไว้คงต้องอ้างอิงจากคาแรกเตอร์ของด็อกเตอร์สเตรนจ์ทั้ง 2 คนจากคนละเอกภพ ซึ่งตัวละครสเตรนจ์จากเอกภพ 616 หรือเอกภพหลักก็ไม่ต่างจากบีโธเฟนที่มีอาการหูหนวกเพราะไม่อาจรับรู้และช่วยเหลืออเมริกา ชาเวซที่อยู่อีกเอกภพได้ จนต้องมาชิงคัมภีร์ดาร์กโฮลด์จากสเตรนจ์ในโลกล่มสลายที่ไม่ต่่างจากบาคเพราะเหมือนคนตาบอดจากความรักจนทำให้เขาต้องพึ่งพาคัมภีร์มรณะสายดำ

ความหมายของขเบ็ด 1 ชั้นและบรรทัด 5 เส้น

Beartai Buzz ถอดรหัสสงครามฮาร์โมนีใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness
(ภาพซ้าย) ตัวขเบ็ด 1 ชั้น หรือ The Eight Note (ภาพขวา) บรรทัด 5 เส้นซึ่งมีหน้าที่จัดให้ตัวเขบ็ดกลายเป็นโน้ตและร้อยเรียงเป็นเพลง

และเมื่อสเตรนจ์จากเอิร์ธ 616 พระเอกของเราซัดตัวโน้ตโจมตี สเตรจ์ตัวร้ายก็ได้สร้างบรรทัด 5 เส้นขึ้นเพื่อป้องกันตัว ซึ่งในเชิงความหมายแล้ว บรรทัด 5 เส้นก็คือการจัดเรียงให้ตัวขเบ็ดกลายเป็นโน้ตตามเส้นที่มันเกาะอยู่และทำให้โน้ตกลายเป็นเพลง ทำให้เราได้ยินท่วงทำนองของ ‘Toccata and Fugue in D Minor’ ของบาคอันขึงขังซึ่งก็เป็นการตอกย้ำคาแรกเตอร์ “ความรักทำให้คนตาบอด” ผ่านเพลงของมหาคีตกวีได้เป็นอย่างดี ด้านสเตรนจ์พระเอกของเราก็ไม่ยอมน้อยหน้าสร้างบรรทัด 5 เส้นเพื่อให้เกิดทำนองของ ‘Symphony No. 5 in C Minor’ ซัดกลับเพื่อสื่อว่าคัมภีร์ดาร์กโฮล์ดกลายเป็นหนทางเดียวที่เขาจะช่วยอเมริกา ชาเวซได้ท่ามกลางภาวะหูหนวกแบบนี้

และเป็นสเตนจ์ตัวร้ายที่ซัดพลังทำให้ทำนองยุ่งเหยิงจนเริ่มไม่เป็นเพลงต่อไป แต่หลังจากตัวโน้ตหมดกระดาษสเตรนจ์สายพระเอกของเราก็ร่ายมนตร์ให้ฮาร์ป (Harp) ร่ายทำนองเป็นตัวเขบ็ดหนึ่งชั้นซัดกลับไปจนได้รับชัยชนะ ซึ่งหนังใช้โน้ตที่เป็นเขบ็ดหนึ่งชั้นนี้ในการสื่อความหมายของค่าพลังว่าแท้จริงแล้ว สเตรนจ์ทั้ง 2 มีค่าพลังที่เท่ากัน เพียงแต่เมื่อเขบ็ดหนึ่งชั้นรวมพลังกันก็สามารถเอาชนะอุปสรรคใหญ่หลวงได้ และสังเกตดี ๆ ตัวเขบ็ดที่เป็นพลังชุดสุดท้ายมี 4 ตัวพอดีซึ่งสื่อได้ถึงสเตรนจ์ คริสติน พาล์มเมอร์ในเอกภพ 838 อเมริกา ชาร์เวซ และหว่องนั่นเอง

ที่มา

diffen

Twinkl

HitC

หนังสือ “ทฤษฎีดนตรี” ผู้แต่ง : ศ.ดร. ณัชชา พันธ์ุเจริญ สำนักพิมพ์ เกศกะรัต.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส