ในภาพยนตร์ ‘Jurassic World Dominion’ หรือ ‘จูราสสิคเวิลด์ ทวงคืนอาณาจักร’ ไฮไลต์ที่สำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การปรากฏตัวของไดโนเสาร์พันธุ์ต่าง ๆ ที่คราวนี้ไม่ใช่แค่คืนชีพขึ้นมาในสวนสนุกเฉย ๆ แต่ในภาคนี้ พวกมันจะออกโลดแล่นไปอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เสมือนว่ากลับมาคืนชีพบนโลกนี้อีกครั้ง

และในฐานะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการปิดไตรภาค ‘จูราสสิคเวิลด์’ (Jurassic World) อย่างเป็นทางการ เลยจัดเต็มไดโนเสาร์ ทั้งที่เคยมีอยู่จริง และที่ดัดแปลงพันธุกรรมขนกันมานับสิบพันธ์ุ ทั้งไดโนเสาร์ที่เราคุ้นเคยกันจากภาคก่อน ๆ อย่าง ‘ป้าเร็กซี’ ไดโนเสาร์พันธุ์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) เจ้า ‘บลู’ ไดโนเสาร์เวโลซีแรปเตอร์ (Velociraptor) ที่มาพร้อมกับลูกน้อยชื่อ ‘เดลตา’

jurassic world dominion Giganotosaurus
‘ขา’ ของ ‘จิแกนโนโตซอรัส’ (Giganotosaurus) ในภาพยนตร์ ‘Jurassic World Dominion’

รวมทั้งไดโนเสาร์หน้าใหม่อีกหลายพันธ์ุ เช่น ไตรเซอราท็อปส์ (Triceratops) โมซาซอรัส (Mosasaurus) ไดโนเสาร์ใต้ทะเล ไดโลโฟซอรัส (Dilophosaurus) ไดโนเสาร์ที่มีแผงคอใหญ่ยักษ์แปลกตา และที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ใหญ่สุดเรื่องก็คือ น้อน ‘จิแกนโนโตซอรัส’ (Giganotosaurus) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในภาพยนตร์

บทความนี้ขอพาทุกท่านท่องโลกไดโนเสาร์ ไปพบกับพี่เบิ้มจิแกนโนโตซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ติดอันดับ 3 ของโลกยุคครีเตเชียส ที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับทีเร็กซ์ตัวนี้กัน


ฟอสซิลแห่งที่ราบสูงปาตาโกเนีย

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพกราฟิกจำลองไดโนเสาร์พันธุ์จิแกนโนโตซอรัส

‘จิแกนโนโตซอรัส’ (Giganotosaurus) เป็นพันธุ์หนึ่งของไดโนเสาร์จำพวกเธอโรพอด* (Theropod – ไดโนเสาร์กินเนื้อที่เดินด้วยสองขา) เป็นไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในสมัยซีโนมาเนียน (Cenomanian) ปลายยุคครีเทเชียส (Cretaceous) เมื่อประมาณ 99.6 – 97 ล้านปีก่อน

โครงกระดูกต้นแบบ หรือโฮโลไทป์ (Holotype) ของจิแกนโนโตซอรัส ถูกขุดพบเป็นครั้งแรกในชั้นหินใต้ดินส่วนที่เรียกว่า Candeleros Formation ในบริเวณเขตที่ราบสูงปาตาโกเนีย (Patagonia) ประเทศอาร์เจนตินาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ปลายใต้สุดของทวีปแอฟริกาใต้ ในปี 1993 โดย ‘รูเบน ดี. คาโรลินี’ (Rubén D. Carolini) นักขุดฟอสซิลมือสมัครเล่น

jurassic world dominion Giganotosaurus
แผนที่บริเวณที่ราบสูงปาตาโกเนีย ประเทศอาร์เจนตินา

คาโรลินีค้นพบโครงกระดูกของเธอโรพอดโดยบังเอิญในระหว่างที่เขาขับรถผ่านทุ่งรกร้าง บีญา เอล โชกอน (Villa El Chocón) เมืองนิวเกวน (Neuquén) เขตปาตาโกเนีย หลังจากนั้น จึงได้มีการระดมทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโคมาฮู (National University of Comahue) มาร่วมขุดค้น

ฟอสซิลที่เป็นโฮโลไทป์ชุดแรกนี้มีความสมบูรณ์ราว ๆ 70% ส่วนใหญ๋ประกอบไปด้วยโครงกระดูกส่วนลำตัว เช่น กระดูกสันหลัง โครงกระดูกส่วนอก สะโพก ต้นขา หน้าแข้ง และกะโหลกศีรษะบางส่วนที่แยกส่วนกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณผืนดินกว้างประมาณ 110 ตารางฟุต โดยได้มีการตั้งชื่อคร่าว ๆ ให้กับฟอสซิลที่คาดว่าน่าจะเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ไว้ก่อนว่า ‘G.Carolini’ เพื่อเป็นเกียรติแก่คาโรลินี ผู้ที่ค้นพบฟอสซิลเป็นคนแรก ๆ

ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดยักษ์พันธ์ุใหม่

jurassic world dominion Giganotosaurus
นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมค้นคว้าจิแกนโนโตซอรัส ‘เลโอนาร์โด ซัลกาโด’ (Leonardo Salgado) (ที่ 2 จากซ้าย) ‘รูเบน ดี. คาโรลินี’ (Rubén D. Carolini) (กลาง) และ โรดอลโฟ โคเรีย’ (Rodolfo Coria) (ขวา)

ในปี 1994 นักบรรพชีวินวิทยาชาวอาร์เจนตินา ‘โรดอลโฟ โคเรีย’ (Rodolfo Coria) และ ‘เลโอนาร์โด ซัลกาโด’ (Leonardo Salgado) ได้ประกาศการค้นพบนี้ในระหว่างการประชุมสมาคมบรรพชีวินวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Society of Vertebrate Paleontology – SVP) ในขณะนั้น ‘ดอน เลสเซ็ม’ (Don Lessem) นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ชาวอเมริกัน รู้สึกประทับใจการขุดค้นหลังจากที่ได้เห็นภาพถ่ายฟอสซิลบางส่วน จึงได้สมทบทุนสนับสนุนการขุดค้นในครั้งนี้ด้วย

jurassic world dominion Giganotosaurus
‘ดอน เลสเซ็ม’ (Don Lessem)

21 กันยายน ปี 1995 โคเรีย และซัลกาโด ได้ทำการตีพิมพ์งานวิจัยรายละเอียดการค้นพบ ‘ฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดยักษ์พันธ์ุใหม่ จากยุคครีเตเชียสแห่งปาตาโกเนีย’ ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature โดยได้มีการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับไดโนเสาร์ชนิดนี้ว่า ‘Giganotosaurus Carolinii’ (จิแกนโนโตซอรัส คาโรลินี)

‘กิ้งก่ายักษ์จากแดนใต้’

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพกราฟิกจำลองไดโนเสาร์พันธุ์จิแกนโนโตซอรัส

ชื่อสามัญ ‘Giganotosaurus’ มาจากการผสมคำจากภาษากรีกโบราณ คำว่า ‘Giga / γίγας’ (จิกะ) หมายถึง ‘ยักษ์’, ‘Notos/ νότος’ (โนโตส) หมายถึง ‘ทิศใต้’ และ ‘Sauros/- σαύρος’ (ซอรอส/ซอรัส) หมายถึง ‘กิ้งก่า’ เมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่า ‘กิ้งก่ายักษ์จากแดนใต้’

ส่วน ‘Carolinii’ เป็นชื่อเฉพาะ (Specific Name) ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่รูเบน ดี. คาโรลินี ผู้ค้นพบ ปัจจุบันนี้ฟอสซิลของจิแกนโนโตซอรัส ยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาเออร์เนสโต บัคมันน์ (Ernesto Bachmann Paleontological Museum) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณ บีญา เอล โชกอน ประเทศอาร์เจนตินา ตามความต้องการของคาโรลินี

jurassic world dominion Giganotosaurus
ฟอสซิลของจิแกนโนโตซอรัสที่จัดแสดงใน
พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาเออร์เนสโต บัคมันน์

หลังการเผยแพร่การค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในวารสาร Nature จิแกนโนโตซอรัสลกลายมาเป็นที่สนใจในวงการวิทยาศาสตร์และวงการบรรพชีวินเป็นอย่างมาก เพราะมันได้ทำลายสถิติไดโนเสาร์เธอโรพอตในวงศ์ ‘คาร์คาโรดอนโตซอริแด’ (Carcharodontosauridae – กิ้งก่าฟันฉลาม) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่ ‘ไทแรนโนซอรัส’ (Tyrannosaurus) หรือ ‘ที-เร็กซ์’ (T-Rex) ไดโนเสาร์รุ่นท้าย ๆ ของยุคไดโนเสาร์ (ปรากฏในช่วงปลายยุคครีเตเชียส ประมาณ 68 – 66 ล้านปี) ที่เคยครองตำแหน่งไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน

ขนาด ‘ที่แท้จริง’ ของจิแกนโนโตซอรัส

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพเปรียบเทียบขนาดของไดโนเสาร์เธอโรพอดที่ใหญ่ที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ สไปโนซอรัส (Spinosaurus) (สีแดง), คาร์คาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) (สีม่วง), จิแกนโนโตซอรัส (สีส้ม) และ ไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) (สีเขียว)

แม้ฟอสซิลของจิแกนโนโตซอรัสที่ขุดเจอจะมีชิ้นส่วนไม่ครบสมบูรณ์ดี ทำให้การระบุขนาดและรูปร่างที่แน่นอนของทำได้ค่อนข้างยาก แต่จากการวิเคราะห์ฟอสซิล 2 ชุด พบว่า ชุดที่เป็นโฮโลไทป์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อปี 1995 นั้นเป็นฟอสซิลขนาดโตเต็มวัย แต่จากการวิเคราะห์ฟอสซิลชุดที่ 2 ที่ถูกขุดพบในปี 1998 ทำให้สามารถประเมินได้ว่า มันน่าจะมีความจากหัวถึงหาง 12 – 13 เมตร (ยาวใกล้เคียงกับทีเร็กซ์) ความสูงประมาณ 7 เมตร น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.6 – 8 ตัน หรือมีน้ำหนักเท่ากับคน 125 คนรวมกัน แม้ขนาดตัวของมันจะใหญ่กว่าทีเร็กซ์ แต่น้ำหนักกล้ามเนื้อโดยเฉลี่ยของมันก็ยังถือว่าน้อยกว่าทีเร็กซ์ ที่มีความอุ้ยอ้ายเพราะมีกล้ามเนื้อที่หนักและหนากว่า

jurassic world dominion Giganotosaurus
ฟอสซิลจำลองโครงกระดูกของจิแกนโนโตซอรัส

แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ใช่ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่ 3 รองจาก สไปโนซอรัส (Spinosaurus) และ คาร์คาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) ด้วยความที่ตัวของมันเองเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีระบบเมตาบอลิซึมที่ก้ำกึ่งระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้ตัวมันเองสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จาการคำนวณมวลจากซากฟอสซิลที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ในปี 2007 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จิแกนโนโตซอรัสอาจมีน้ำหนักมากถึง 15 ตัน

วิธีการล่าเหยื่อของจิแกนโนโตซอรัส

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพจำลองกะโหลกของจิแกนโนโตซอรัส

จิแกนโนโตซอรัสมีความยาวกะโหลกศีรษะ 1.5 ถึง 1.8 เมตร เชื่อมกับกระดูกสันหลังที่มีขนาดแบนและสั้น กะโหลกศีรษะอยู่ในตำแหน่งต่ำ มีกระดูกคอที่แข็งแรง บริเวณจมูกจนถึงดวงตามีหงอน มีกระดูกยื่นออกมาจากคางเล็กน้อย ขากรรไกรแบนราบ ฟันมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยคล้ายกับฟันของฉลาม ทำให้จิแกนโนโตซอรัสมักล่าเหยื่อด้วยวิธีการเฉือนเหยื่อด้วยฟันล่างอันคมกริบ จนเหยื่อเกิดบาดแผล เสียเลือดและตายในที่สุด

ต่างจากทีเร็กซ์ ที่มักจะใช้วิธีการกัด เจาะ และล็อกเหยื่อด้วยฟันที่มีความแหลมเหมือนหอก ก่อนจะใช้กล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง ออกแรงเหวี่ยง สะบัด กระชากเหยื่อจนกว่าจะขาด (ทีเร็กซ์สามารถกัดช้างและออกแรงเหวี่ยงได้สบาย ๆ ) ทำให้ทีเร็กซ์มีแรงกัดสูงถึง 6,000 กิโลกรัม ถือว่าเป็นสัตว์บกที่มีแรงกัดมากที่สุดในโลก ส่วนจิแกนโนโตซอรัสมีแรงกัดเพียง 1,427 กิโลกรัม น้อยกว่าทีเร็กซ์ประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งถือว่าเบามากหากเทียบกับขนาดตัว

jurassic world dominion Giganotosaurus
ชิ้นส่วนฟอสซิลฟันของจิแกนโนโตซอรัส

เหยื่อของจิแกนโนโตซอรัสส่วนใหญ่จะเป็นไดโนเสาร์จำพวกซอโรพอด (Sauropod) ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น อาร์เจนติโนซอรัส (Argentinosaurus) แต่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มเติมอีกว่า ลำพังจิแกนโนโตซอรัสเพียงตัวเดียว อาจไม่สามารถโค่นอาร์เจนติโนซอรัส ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์ถึง 37-40 เมตร หนักถึง 75-80 ตันได้ง่าย ๆ มันเลยมักจะกินอาร์เจนติโนซอรัส และซอโรพอดวัยเด็กพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่โตเต็มที่เสียมากกว่า

จิแกนโนโตซอรัส ปะทะ ทีเร็กซ์

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพกราฟิกเปรียบเทียบรูปร่างของจิแกนโนโตซอรัส (ล่าง) และทีเร็กซ์ (บน)

อีกความได้เปรียบของมันก็คือ มันมีความสามารถในการวิ่งได้อย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ฟอสซิล พบว่า ด้วยขาที่ยาวและใหญ่โต ทำให้มันสามารถวิ่งทำความเร็วได้มากถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งสามารถเดินหน้าและถอยหลังได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งหางที่มีลักษณะบางและแหลม ทำให้สามารถรักษาสมดุลและควบคุมทิศทางของร่างกายได้ดี และเข้าจู่โจมเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่กล้ามเนื้อขาของทีเร็กซ์จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับสัดส่วนร่างกาย ทำให้มันสามารถวิ่งได้เร็วสูงสุดเพียง 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น (นึกภาพทีเร็กซ์เหมือนนักกล้าม ที่มีกล้ามเนื้อแน่นแต่วิ่งได้ช้า ส่วนจิแกนโนโตซอรัสเหมือนนักมวย ที่กล้ามเนื้อน้อยกว่า แต่ออกวิ่งได้เร็วและคล่องแคล่วกว่า)

jurassic world dominion Giganotosaurus
ภาพโครงกระดูกของจิแกนโนโตซอรัส (บน) และทีเร็กซ์ (ล่าง)
จะเห็นได้ว่า กะโหลกของจิแกนโนโตซอรัส จะเรียวและแหลมกว่าทีเร็กซ์

แต่ถึงมันจะมีขนาดร่างกายและขนาดกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่มาก ๆ แต่กลับพบว่า จริง ๆ แล้วสมองของมันมีขนาดเล็กมาก ๆ เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวที่ใหญ่มหาศาล หากมองภาพตัดของกะโหลกศีรษะจากด้านบน จะพบว่ากะโหลกของจิแกนโนโตซอรัสนั้นเรียวและแคบกว่าทีเร็กซ์ที่มีลักษณะของกะโหลกกว้างกว่ามาก ทำให้ตัวมันเองมีความฉลาดค่อนข้างน้อย เพราะมีขนาดสมองที่เล็กกว่าของทีเร็กซ์ถึงครึ่งหนึ่ง และยังมีขนาดสมองที่เล็กกว่าสมองของไดโนเสาร์ร่วมยุคครีเตเชียสตอนกลางและตอนปลายโดยค่าเฉลี่ยด้วย

รวมทั้งมันยังมีดวงตาที่มีลักษณะโปนออกด้านข้างคล้ายกิ้งก่า ทำให้มันมองเห็นภาพแบบ 2 มุมมอง (แต่ภาพจะไม่ค่อยคมชัด) เนื่องจากวิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้มันสามารถมองภาพมุมกว้างบนทุ่งปาตาโกเนียในยุคครีเตเชียสที่มีลักษณะพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ได้อย่างง่ายดาย ต่างจากทีเร็กซ์ ที่แม้จะมีมุมมองการรับภาพที่แคบกว่า แต่ก็สามารถรับและรวมภาพจากทั้ง 2 ตาเป็นมุมมองเดียวได้คมชัดคล้ายดวงตามนุษย์ ทำให้ทีเร็กซ์สามารถมองหาเหยื่อ วางแผน และออกล่าได้อย่างชาญฉลาด

ส่วนจิแกนโนโตซอรัส นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า น่าจะใช้วิธีการล่าเหยื่อร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าที่จะออกลุยเดี่ยว เนื่องจากมีการพบกลุ่มซากฟอสซิลของมาพูซอรัส (Mapusaurus) ไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนต้นที่ตายรวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า จิแกนโนโตซอรัสที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และมีลักษณะคล้ายคลึงกับมาพูซอรัส ก็น่าจะมีลักษณะการล่าเหยื่อเป็นกลุ่มด้วยเช่นเดียวกัน

การปรากฏตัวในแฟรนไชส์ ‘จูราสสิก เวิลด์’ (Jurassic World)

jurassic world dominion Giganotosaurus
‘โคลิน เทรวอร์โรว์’ (Colin Trevorrow) ผู้กำกับ กับหุ่นกลไกไดโนเสาร์
หรือ แอนิเมทรอนิกส์ (Animatronics) พันธุ์จิแกนโนโตซอรัส

จิแกนโนโตซอรัสปรากฏชื่อครั้งแรกในภาพยนตร์ ‘Jurassic World’ (2015) แต่ไม่ได้ปรากฏกายขึ้นมาเป็นไดโนเสาร์ แต่มาในรูปแบบของสารพันธุกรรมที่อยู่ในการครอบครองของบริษัทอินเจน (InGen) เพื่อใช้ในการดัดแปลงพันธุกรรมไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า ‘อินโดมินัส เร็กซ์’ (Indominus Rex) ที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง ฉลาด และดุร้ายกว่าทีเร็กซ์ทั่ว ๆ ไป

ส่วนในภาพยนตร์ ‘Jurassic World Dominion’ ร่างโคลนนิงของจิแกนโนโตซอรัส อาศัยอยู่บนเกาะของบริษัทไบโอซิน จีเนติกส์ (BioSyn Genetics) ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาโดโลไมต์ (Dolomite) ประเทศอิตาลี โดยไบโอซินคือผู้ขโมยตัวอ่อนไดโนเสาร์มาจากบริษัทอินเจน และได้รับสัญญาว่าจ้างให้จัดหาไดโนเสาร์ผ่านรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเพาะพันธ์ุและวิจัยเพื่อศึกษาคุณค่าทางเภสัชกรรมของไดโนเสาร์ แต่แอบแฝงด้วยวิธีการได้มาของไดโนเสาร์ และการทดลองวิจัยด้วยวิธีการอันเลวร้าย ที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อโลกอย่างที่ไม่อาจควบคุมได้

‘โคลิน เทรวอร์โรว์’ (Colin Trevorrow) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดเผยเบื้องหลังในการเลือกไดโนเสาร์พันธุ์นี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ของนิตยสาร Empire ว่า เหตุผลที่เขาต้องการให้จิแกนโนโตซอรัสมาปรากฏในภาพยนตร์ เพราะเขามองว่า “ผมอยากได้อะไรบางอย่างที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับโจ๊กเกอร์ (Joker – วายร้ายจากการ์ตูนและภาพยนตร์ ‘Batman’) น่ะครับ

“มันแค่อยากจะเห็นโลกที่กำลังมอดไหม้”


ที่มา: livescience, wikipedia, thoughtco, fossilera, dinosaurpictures, ngthai, empireonline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส