ในอีกไม่นานเราก็จะได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “Elvis” ภาพยนตร์ดราม่ามิวสิคัลจากฝีมือการกำกับของ บาซ เลอร์แมนน์ (Baz Luhrmann) ที่นำแสดงโดย ออสติน บัตเลอร์ (Austin Butler) และเจ้าของรางวัลออสการ์ ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) โดยจะเล่าเรื่องราวในชีวิตและเสียงดนตรีของราชาเพลงร็อกแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) (บัตเลอร์) ผ่านมิติความสัมพันธ์แสนซับซ้อนกับผู้จัดการนิสัยลึกลับ ผู้พัน ทอม ปาร์กเกอร์ (แฮงก์ส) เรื่องราวจะเจาะลึกไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเพรสลีย์และปาร์กเกอร์ ตลอดเวลา 20 ปี ตั้งแต่เพรสลีย์เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังไปจนถึงตอนที่มีแฟนคลับล้นหลามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ท่ามกลางพื้นเพเบื้องหลังของวัฒนธรรมที่กำลังพัฒนาและการสูญเสียความไร้เดียงสาในอเมริกา ในขณะเดียวกันเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ยังเกี่ยวพันกับอีกหนึ่งบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตของเอลวิสอย่างมาก นั่นก็คือ พริสซิลลา เพรสลีย์ ซึ่งรับบทโดย โอลิเวีย เดอยองจ์ (Olivia DeJonge)

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เราควรที่จะหยิบบทเพลงของเอลวิสมาฟังกันสักหน่อย และเมื่อคิดถึงบทเพลงของเอลวิส หากไม่นับบทเพลงมันส์ ๆ  ชวนส่ายเอวอย่าง “Jailhouse Rock” หรือ “Hound Dog” แล้วล่ะก็เพลงแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงคงจะต้องเป็น “Can’t Help Falling In Love” บทเพลงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่โรแมนติกมากที่สุดของเอลวิส เพรสลีย์

“Can’t Help Falling In Love” เปิดตัวครั้งแรกในฐานะบทเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เอลวิสนำแสดงในปี 1961 เรื่อง “Blue Hawaii” แต่งโดยทีมเขียนเพลงของ ลุยจิ เครอตอร์ (Luigi Creatore) และ ฮิวโก เพเรตตี (Hugo Peretti) และได้รับการร่วมขัดเกลาด้วยนักแต่งเพลงชื่อดัง จอร์จ เดวิด ไวสส์ (George David Weiss) นักแต่งเพลงชาวนิวยอร์กที่มีชื่อเสียงในยุค 40s-70s  มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมายรวมทั้งบทเพลง “What a Wonderful World” ที่บันทึกเสียงโดย หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) ในปี 1967 ด้วย

ลุยจิ เครอตอร์ และ ฮิวโก เพเรตตี กับ แซม คุก นักร้องผู้บุกเบิกวงการเพลงโซล
จอร์จ เดวิด ไวสส์

ในตอนแรกเหมือนว่าเดโมเพลงนี้จะไม่ได้เป็นที่ชอบใจของทั้งโปรดิวเซอร์และใคร ๆ อีกหลายคน แต่เอลวิสนั่นเองที่เป็นคนยืนกรานว่าจะบันทึกเสียงเพลงนี้ให้ได้ แม้มันจะไม่ง่ายเลยในตอนที่บันทึกเสียง เพราะเอลวิสต้องร้องกว่า 29 เทค จนกว่าเสียงและลมหายใจของเขาจะเข้าที่และเข้ากันดีกับบทเพลง และสุดท้ายมันก็ได้กลายเป็น “เพลงรัก” ที่ฮิตที่สุดและโด่งดังที่สุดของเอลวิสในที่สุด

ในภาพยนตร์ “Blue Hawaii” เอลวิสไม่ได้ร้อง “Can’t Help Falling In Love” ให้หญิงสาวคนรักฟัง หากแต่ร้องให้กับคุณย่าของเธอในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่าน ในฉากนั้นเอลวิสนำเอากล่องดนตรีมาให้ และเมื่อเธอเปิดมันเสียงเพลง “Can’t Help Falling In Love” ก็ดังขึ้นมาและเอลวิสก็ร้องคลอไปกับท่วงทำนองอันอ่อนหวานนี้

ซาวด์แทร็กของ Blue Hawaii ขึ้นไปสู่อันดับ 1 ของชาร์ตเพลงและยังอยู่ยาวต่ออีก 20 สัปดาห์และครองตำแหน่งยาวนานจนกระทั่งมีผู้มาทำลายสถิติในปี 1977 คืออัลบั้ม “Rumours” ของ Fleetwood Mac

ปกอัลบั้มซาวด์แทร็ก Blue Hawaii

เนื้อร้องของ “Can’t Help Falling In Love” ถูกเขียนขึ้นมาอย่างละมุนละไมและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ถ่ายทอดอารมณ์ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่มิอาจต้านทานความรักและแรงปรารถนาอันลึกซึ้งที่ตนมีต่อหญิงคนรักได้

Wise men say

Only fools rush in

But I can’t help falling in love with you

Shall I stay?

Would it be a sin

If I can’t help falling in love with you?

ผู้มีปัญญาได้กล่าวไว้

มีเพียงคนเขลาเท่านั้นที่พุ่งเข้าใส่

แต่ทว่าผมนั้นมิอาจหักห้ามใจมิให้รักคุณได้

ผมขออยู่ต่อได้ไหม

มันจะเป็นบาปหรือไม่

ถ้าผมมิอาจห้ามใจมิให้รักคุณ ?

Like a river flows

Surely to the sea

Darling, so it goes

Some things are meant to be

Take my hand

Take my whole life too

For I can’t help falling in love with you

ดั่งสายน้ำที่หลากไหล

แน่ใจได้ว่ามันต้องลงสู่ทะเล

ที่รัก และมันจะเป็นไปเช่นนั้น

บางสิ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นไป

จับกุมมือผมไว้

จับกุมใจและชีวิตผมด้วย

เพราะผมมิอาจหักห้ามใจมิให้รักคุณได้อีกแล้ว

นอกจากเนื้อร้องอันสวยงามแล้ว “Can’t Help Falling In Love” ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้บทเพลงนี้เป็นที่ตรึงใจของผู้ที่ได้ฟังนั่นคือเมโลดี้อันอ่อนหวาน นุ่มนวล ไพเราะสะกดใจ อันมีที่มาจากเพลงฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Plaisir D’Amour” (ความอิ่มเอิบใจในรัก) ซึ่งแต่งขึ้นในปี 1784 โดยนักแต่งเพลงชาวเยอรมันที่มีชื่อเหมือนคนฝรั่งเศสผสมอิตาลี ‘ณ็อง ปอล เลอจีด์ มาร์ตินี’ (Jean-Paul-Égide Martini)

ณ็อง ปอล เลอจีด์ มาร์ตินี ผู้ประพันธ์เพลง Plaisir D’Amour

เลอจีด์ มาร์ตินี เกิดที่แคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนีและมีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า Johann Paul Aegidius Schwarzendorf ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใดเขาจึงได้ใช้ชื่อใหม่โดยใช้ชื่อต้นคือ ‘ณ็อง ปอล เลอจีด์’ คล้ายคนฝรั่งเศส ส่วนชื่อท้ายคือ ‘มาร์ตินี’ ซึ่งฟังดูเป็นอิตาลี เนื้อเพลงของ Plaisir D’Amour นั้นมาจากบทกวีของ ฌอง-ปิแอร์ คลาริส เดอ ฟลอเรียน (Jean-Pierre Claris de Florian) ซึ่งอยู่ในนวนิยายของเขาเรื่อง Célestine

บทเพลงนี้ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มักมีคนนำไปร้องในเหตุการณ์สำคัญ ๆ อยู่เสมอ ในปี 1859 นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อดัง แอ็กตอร์ แบร์ลีโยซ (Hector Berlioz) ได้เรียบเรียงเพลงนี้ในรูปแบบของออร์เคสตรา นอกจากนี้ยังมีการนำมาเรียบเรียงและขับร้องใหม่อีกหลายครั้ง เช่นในเวอร์ชันที่ได้รับเสียงชื่นชมมาก ๆ อย่างเวอร์ชันที่ขับร้องโดยนักร้องสาวชาวกรีก นานา มูสคูรี (Nana Mouskouri) ในปี 1971

ก่อนหน้าที่ท่วงทำนองอันไพเราะนี้จะได้เดินทางมาสู่โลกภาพยนตร์ด้วยการเป็นบทเพลง  “Can’t Help Falling In Love”  “Plaisir D’Amour” ก็เคยถูกดัดแปลงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับบทเพลงประกอบภาพยนตร์มาก่อนนั่นคือ ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “The Heiress” (1949) ผลงานการกำกับของ วิลเลียม วายเลอร์ (William Wyler) ที่ประพันธ์ดนตรีโดย แอรอน โคปแลนด์ (Aaron Copland) ซึ่งทำให้โคปแลนด์ได้รับรางวัลออสการ์จากสาขาเพลงประกอบ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาปลื้มแต่อย่างใด เพราะโคปแลนด์ถูกกำหนดทิศทางในการแต่งเพลงจากผู้กำกับวายเลอร์ โดยเฉพาะในช่วงเครดิตเปิดเรื่องที่มีการนำเอาเมโลดี้เพลง “Plaisir d’Amour” มาใช้ นอกจากนี้ในหนังยังมีฉากที่ มอนต์กอเมอรี คลิฟต์ (Montgomery Clift) เล่นเปียโนและร้องเพลงนี้ให้ โอลิเวีย เดอ ฮาวิลแลนด์ (Olivia de Havilland) ฟัง คอปแลนด์ไม่ปลื้มที่บทเพลงของเขาต้องมีท่วงทำนองของคนอื่นมาผสมปนเป สุดท้ายแล้วเขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ไปรับรางวัลออสการ์และตัดเยื่อขาดใยกับฮอลลีวูดไปเลย

“The Heiress” (1949)
แอรอน โคปแลนด์
https://www.youtube.com/watch?v=5aS5jGEkO4w

“Can’t Help Falling In Love”  นับว่าเป็นบทเพลงมหัศจรรย์ เพราะไม่ว่าใครที่นำมันไปร้องใหม่หรือทำเป็นเวอร์ชันใหม่ ก็มักจะประสบความสำเร็จและได้รับคำชื่นชมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันของ UB40 ที่ใส่จังหวะเร็กเกเข้าไปจนมีความสดใหม่และทำให้เพลงขึ้นไปสู่อันดับ 1 ของชาร์ตเพลงในสหรัฐอเมริกา หรือเวอร์ชันในปี 1970 ที่ร้องโดย แอนดี้ วิลเลียมส์ (Andy Williams) ที่ขึ้นไปถึงอันดับที่ 3 ในอังกฤษ และในปี 1976 เพลงนี้ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในอังกฤษจากเวอร์ชันของวง The Stylistics ที่ขึ้นสู่อันดับที่ 4 ในชาร์ตเพลง ซึ่งปีก่อนหน้า จอร์จ เดวิด ไวสส์ก็เพิ่งแต่งเพลงฮิตให้กับ The Stylistics ไปนั่นก็คือเพลง “I Can’t Give You Anything (But My Love)”

เนื้อร้องและท่วงทำนองอันไพเราะอาจเป็นสิ่งที่ทำให้บทเพลงเพลงหนึ่งเป็นที่น่าหลงใหล ดังเช่นที่เกิดกับ “Can’t Help Falling In Love” แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้บทเพลงนี้กลายเป็นบทเพลงอมตะก็คือเสียงร้องลุ่มลึกอันน่าลุ่มหลงของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่ทำให้บทเพลงนี้กลายเป็นบทเพลงอันเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์สะกดใจจนยากที่ใครจะต้านทานเฉกเช่นเดียวกันกับความรู้สึกของชายหนุ่มในบทเพลงที่มิอาจห้ามใจมิให้ตกลงไปในห้วงรักของหญิงสาวคนรักของเขาได้เลย และนั่นจึงทำให้การได้รับฟังบทเพลงเพลงนี้ ผู้ฟังเองก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์แห่งการตกหลุมรักที่มิอาจต้านทานได้ด้วยตัวเองเช่นกัน.

ที่มา

songfacts

life of a song

Elvis and Plaisir d’amour

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรััส