หนึ่งในซีรีส์โจรกรรมยอดนิยมที่คอซีรีส์ยุคนี้คงเคยได้ยินชื่อผ่านหูอย่าง ‘Money Heist’ ผลงานสร้างชื่อเสียงให้แก่ออริจินัลเน็ตฟลิกซ์ซีรีส์ของประเทศสเปน ล่าสุดซีรีส์เรื่องนี้ได้มีการนำมารีเมกใหม่อีกครั้ง ในเวอร์ชันเกาหลีใต้โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’ หรือชื่อไทย ‘ทรชนคนปล้นโลก: เกาหลีเดือด’

โปรเตอร์ซีรีส์เรื่อง ‘Money Heist’ เวอร์ชันต้นฉบับ (ซ้าย) และเกาหลี (ขวา)

ผลงานซีรีส์เรื่องนี้ได้สร้างภาพจำให้แก่คนดู ผ่านเนื้อเรื่องการโจรกรรมครั้งใหญ่ที่มีการดำเนินเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ทำให้คนดูลุ้นว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะดำเนินต่อไปอย่างไร และคอยเอาใจช่วยตัวละครแทบตลอดทั้งเรื่อง อีกหนึ่งภาพจำก็คือการแต่งกายของตัวละครที่ใส่ชุดจั๊มสูทสีแดงและมีการปิดบังใบหน้าด้วยการใส่ ‘หน้ากาก’

หากใครที่ติดตามหรือเคยดูซีรีส์เรื่อง ‘Money Heist’ มาก่อน อาจสังเกตเห็นว่าลักษณะของหน้ากากในซีรีส์ทั้ง 2 เวอร์ชันจะมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะหน้ากากในซีรีส์เวอร์ชันสเปน คือ ‘หน้ากากดาลี’ ส่วนหน้ากากเวอร์ชันเกาหลีคือ ‘หน้ากากฮาฮเว’

หน้ากากดาลี ในซีรีส์ ‘Money Heist’

ซีรีส์ต้นฉบับ ‘Money Heist’ จะใส่หน้ากากที่มีชื่อว่า ‘หน้ากากดาลี’ ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของสเปน และถอดแบบมาจากใบหน้าของศิลปินที่มีชื่อว่า ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ซึ่งเขาเป็นศิลปินผู้ถ่ายทอดศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ผ่านภาพวาด โดยผลงานของเขาต่างเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ดาลี และ ตัวอย่างผลงานของเขา

อีกทั้งดาลียังเป็นบุคคลที่มีแนวคิดแปลกประหลาดและดูย้อนแย้งกันในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เขาเป็นคนที่ต่อต้านระบบทุนนิยมแต่สนับสนุนเผด็จการ การที่ซีรีส์เรื่อง ‘Money Heist’ ใช้ ‘หน้ากากดาลี’ จึงอาจเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบทุนนิยมที่สอดคล้องกับเนื้อหาภายในเรื่อง

อีกหนึ่งหน้ากากที่ถูกนำมาใช้ในซีรีส์รีเมกเวอร์ชันเกาหลี ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’ คือ ‘หน้ากากฮาฮเว’ ของเกาหลีแบบดั้งเดิม หน้ากากนี้ได้รับการยกย่องจากหมู่บ้านโบราณฮาฮเว ในเมืองดง ประเทศเกาหลี ซึ่งโดยปกติการสวมหน้ากากจะถูกใช้ในการแสดงละครพื้นบ้านในพิธีที่ชืื่อว่า Hahoe Pyolshin-Gut Tal-Nori

หน้ากากฮาฮเว ในซีรีส์ ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’

คิม ดง พโย (Kim Dong-pyo) ผู้อำนวยการพิพิพิธภัณฑ์หน้ากากฮาฮเว บอกกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีว่า “หน้ากากเหล่านี้สามารถสะท้อนถึงชนชั้นทางสังคมที่สำคัญในยุคนั้นได้ มีทั้งผู้รู้ ผู้ปกครอง นักวิชาการ คนรับใช้ และสามัญชน คนที่ใส่หน้ากากอาจไม่ได้คำนึงถึงสถานะของตนเอง แต่คุณจะรู้สถานะและชนชั้นทางสังคมของคนเหล่านั้นได้จากหน้ากากที่พวกเขาใส่”

โดยหน้ากากฮาฮเวถือเป็นสมบัติของชาติหมายเลข 121 ของเกาหลี เมื่อปี 1964 ซึ่งหน้ากากจะมีหลายประเภท แต่เหมือนว่าหน้ากากที่ถูกใช้ภายในเรื่อง ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’ จะเป็นหน้ากากที่ชื่อว่า ‘ยางบันทัล’ (Yangban-tal) หน้ากากนี้เป็นหน้ากากที่มีความนิยมมากที่สุด โดยใบหน้าของหน้ากากจะมีลักษณะที่น่าสงสัยและดูลึกลับ

หน้ากากฮาฮเว ในซีรีส์ ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’

คิม ดง พโย พูดเสริมว่า “หน้ากากนี้ใช้แสดงความรู้สึกได้หลากหลายรูปแบบ มันแสดงถึงความมั่นใจและการลงมือทำอะไรสักอย่างจนสำเร็จโดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อน คล้ายผู้ที่ไม่ต้องรีบวิ่งหนีเวลาที่ฝนตก เมื่อใส่หน้ากากนี้แล้วเชิดหน้าขึ้นจะรู้สึกคล้ายกับว่าคนที่ใส่อยู่นั้นมีความสุขและกำลังหัวเราะ แต่หากเขากดหน้าลงต่ำจะให้ความรู้สึกเหมือนว่าคนที่ใส่กำลังรู้สึกโกรธ”

จะเห็นได้ว่าซีรีส์ทั้ง 2 เวอร์ชันจะมีการใช้หน้ากากที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้ชมอาจตีความได้หลากหลายรูปแบบ ปัจจุบันซีรีส์ ‘Money Heist’ ได้จบลงอย่างเป็นทางการแล้ว มีจำนวนทั้งหมด 5 พาร์ต หรือ 48 ตอน ส่วนเวอร์ชันล่าสุดที่เกาหลีนำมารีเมก มีคิวเข้าฉายวันที่ 24 มิถุนายนนี้ บน Netflix ต้องรอติดตามชมกันต่อไปว่าภายในเรื่องจะมีหน้ากากแปลก ๆ โผล่มาให้เห็นหรือไม่?

ที่มา: Netflix, Manila Bulletin

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส