ถึงแม้ว่าชื่อ ‘เอโกะ อิชิบาชิ’ (Eiko Ishibashi) จะไม่ได้เป็นชื่อที่คุ้นหูกันนัก แต่เราก็คงอดไม่ได้ที่จะอยากรู้จักเธอหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Drive My Car’ ผลงานภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ในปีล่าสุดและเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผลงานการกำกับของ ‘ริวสุเกะ ฮามากุจิ’ (Ryusuke Hamaguchi) ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของนักเขียนญี่ปุ่นชื่อดัง ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ (Haruki Murakami) เชื่อว่าหลายคนที่ได้ชมแล้วจะต้องพบว่านอกจากตัวหนังจะน่าประทับใจแล้วสิ่งหนึ่งที่ตรึงใจเราไม่น้อยก็คือซาวด์แทร็กประกอบหนังเรื่องนี้ที่เข้ากันดีและเปิดพื้นที่อันลุ่มลึกให้กับเรื่องราว จังหวะ และห้วงอารมณ์ของหนัง ซึ่งเป็นส่วนประกอบอันสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย

‘เอโกะ อิชิบาชิ’ (Eiko Ishibashi)

การพบเจอกันของคนทำหนังและคนทำเพลง

การได้มาร่วมงานระหว่างอิชิบาชิกับฮามากุจิ เริ่มขึ้นจากการที่เทรุฮิสะ ยามาโมโตะ (Teruhisa Yamamoto) โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car ได้เอาผลงานของอิชิบาชิมาให้ฮามากุจิฟัง ซึ่งฮามากุจินั้นเป็นผู้กำกับประเภทที่มักจะไม่ค่อยใช้ดนตรีในหนังของตัวเองสักเท่าไหร่ ดังนั้นเขาจึงค่อนข้างคิดอย่างรอบคอบในการเลือกซาวด์แทร็ก  “ปกติแล้ว ผมมักจะไม่ค่อยใช้ดนตรีในหนังของผมสักเท่าไหร่ แต่ตอนที่ได้ยินดนตรีของอิชิบาชิมันเป็นครั้งแรกเลยที่ผมคิดขึ้นมาว่า ‘เพลงของเธอจะต้องเข้ากันกับหนังของผมแน่ ๆ’”

‘ริวสุเกะ ฮามากุจิ’ (Ryusuke Hamaguchi)

ฮามากุจิเกิดความประทับใจในดนตรีของอิชิบาชิเพราะมันมีความคล้ายคลึงกับดนตรีที่เขาชอบฟังตอนอยู่ในช่วงวัยรุ่นเช่นวง Tortoise และแน่นอนว่าหากใครเป็นแฟนเพลงวง Tortoise, The Sea and Cake หรือ เป็นแฟนเพลงของ จิม โอ’รูก ที่มีชื่อเสียงในกระแสดนตรีของเมืองชิคาโกช่วงยุค 90s แล้วล่ะก็จะต้องรู้สึกโดนใจกับซาวด์แทร็กหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ทั้งอิชิบาชิและฮามากุจิยังเชื่อมโยงกันด้วยความชอบที่คล้ายคลึงกันอย่างเช่นผู้กำกับชั้นครูอย่าง จอห์น แคสซาเวเตส (John Cassavetes), ดักลาส เซิร์ก (Douglas Sirk), ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสส์บินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder) และซาวด์ในหนังของ ฌ็อง-ลุก โกดาร์ (Jean-Luc Godard)

‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ ระยะห่างทางดนตรีที่กำลังดีสำหรับผู้ชม

ในตอนแรกฮามากุจิบอกกับอิชิบาชิว่าอยากได้ดนตรีที่มีความ “แห้งแล้ง” ดังนั้นอิชิบาชิจึงทำมันออกมาในทิศทางนั้น แต่เมื่อฮามากุจิได้ฟังเขาก็บอกว่ามัน “แห้งแล้ง” จนเกินไป เพราะหนังนั้นมันแห้งแล้งอยู่แล้ว

“ฮามากุจิบอกกับฉันว่าในหนังมีการใช้ภาพเพื่อสร้างระยะห่างกับผู้ชมไปแล้ว ดังนั้นเขาเลยอยากให้ดนตรีของฉันทำให้ระยะห่างนั้นสั้นลงและดึงผู้ชมเข้ามาใกล้มากขึ้น” อิชิบาชิเล่า  

งานเพลงประกอบของอิชิบาชินั้นมีความแตกต่างจากเทรนด์ของการทำเพลงประกอบโดยทั่วไปในญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพลงที่เน้นการสื่อสารทางอารมณ์ที่ชัดเจน ใช้เพื่อบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหรือฉากนั้น ๆ และมักมีเวลาในการแต่งเพียงเล็กน้อยใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์หรือทำในคอมพิวเตอร์ และใช้คนเพียงคนเดียวในการจบงาน แต่งานเพลงของอิชิบาชินั้นจะมีความละเอียดอ่อนและใส่ใจในรายละเอียดทางดนตรี และที่สำคัญคือมันไม่ใช่บทเพลงที่เน้นในการขับเคลื่อนอารมณ์หรือบ่งบอกว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรหรือผู้ชมควรรู้สึกอย่างไรต่อฉากนั้น เหตุการณ์นั้น

อิชิบาชิซึ่งโดยปกติแล้วมักทำเพลงโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้ฟังก่อน จึงรู้สึกมึนไปนิด ๆ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายอิชิบาชิก็ได้พยายามหาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างดนตรี ผู้ชม และตัวละคร ไม่ให้ไกลจนเกินไปและก็ไม่ใกล้จนเกินไปนัก “ฉันไม่ได้พยายามที่จะทำดนตรีที่เข้าใกล้อารมณ์ของตัวละครมากจนเกินไป ฉันพยายามที่จะทำดนตรีที่ไม่เน้นว่าตัวละครกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ ฉันพยายามที่จะสร้างระยะห่างระหว่างดนตรีกับตัวละคร ไม่เอาดนตรีเข้าไปใกล้ตัวละครมากจนเกินไป”

อิชิบาชิและทีมของเธอเริ่มทำดนตรีให้หนังเรื่องนี้โดยเริ่มจากศูนย์ ด้วยการขึ้นแพตเทิร์นกลองมาก่อนจากนั้นจึงใช้เครื่องดนตรีทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีจริงและเสียงสังเคราะห์เข้ามาเสริมเติมแต่ง โดยใช้สิ่งที่เธอได้เรียนรู้มาจากบทภาพยนตร์และฟุตเทจของหนังที่ฮามากุจิเอามาให้เธอดูเป็นต้นธารทางความคิดและแรงบันดาลใจ

“สิ่งที่ฉันรู้สึกจากภาพและบทหนังได้กลายมาเป็นแกนหลักของโปรเจกต์นี้ ผู้กำกับบอกกับฉันว่า ‘ผมอยากได้ดนตรีที่เป็นเหมือนกับทิวทัศน์’ และ ‘ผมอยากให้ดนตรีเชื่อมโยงผู้ชมเข้ากับหนัง เพราะว่าภาพของหนังนั้นทำหน้าที่แยกพวกเขาออกจากกันแล้ว’ และ ‘สำหรับเพลงธีม ผมอยากให้เมโลดี้นั้นมีความคล้ายกับงานของ เฮนรี แมนซินี ที่ผู้คนจะจดจำมันได้หลังจากที่พวกเขาดูหนังจบไปแล้ว” อิชิบาชิกล่าวถึงแนวทางการทำดนตรีที่มีทิศทางมาจากภาพของหนังและบทหนัง

แต่ถึงอย่างนั้นฮามากุจิก็ไม่ได้ตีกรอบอิชิบาชิจนเกินไปและปล่อยให้เธอได้สร้างสรรค์ผลงานภายใต้บรรยากาศที่เป็นอิสระ “มันมีความสำคัญมากสำหรับฉันในการได้ทดลองกับสิ่งที่เข้ามาในใจโดยที่ไม่มีข้อจำกัดอะไรว่าฉันควรใช้ดนตรีแบบไหน และฉันได้มีโอกาสนำเสนอผลลัพธ์ของการทดลองเหล่านี้ให้กับผู้กำกับได้ทั้งหมดเลย” อิชิบาชิเล่าถึงอิสระภาพทางดนตรีที่เธอได้รับจากการทำงานร่วมกับฮามากุจิ

และเมื่อฮามากุจิได้ฟังดนตรีของอิชิบาชิ เขาก็พบว่าดนตรีของเธอนั้นได้พบที่ทางอันลงตัวในหนังของเขาแล้ว “ผมเคยขออิชิบาชิก่อนหน้านี้ว่าให้เธอทำดนตรีให้เหมือนกับทิวทัศน์ เป็นทิวทัศน์ที่เรื่องราวในหนังได้ดำเนินไป ด้วยเหตุนี้มันเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมของหนัง ซึ่งไม่ได้เข้ากันกับอารมณ์ในชั่วขณะนั้น ๆ เสียทีเดียว มันเหมือนกับเป็นองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติที่รายล้อมหนังอยู่ และเมื่ออารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพนั้นค่อนข้างมีความแห้งแล้ง เยือกเย็น เราจึงตัดสินใจที่จะใส่สีสันทางดนตรีลงไป ซึ่งผมคิดว่ามันไปได้สวยเลยและผมก็คิดว่าเธอนำความเรียบง่ายและเงียบสงบที่น่าอัศจรรย์นี้ออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็มีอารมณ์ความรู้สึกที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ด้วย”

อิชิบาชิและฮามากุจิ

‘Drive My Car’ เสียงของความปวดร้าวและปริศนาแห่งชีวิต

เมโลดี้ที่เล่นบนเปียโนของอิชิบาชิเป็นโมทีฟหลักในท่วงทำนองของหนัง แต่การกำหนดจังหวะนั้นมาจากเสียงกลองที่บรรเลงในท่วงทำนองของดนตรีแจ๊สเล่นโดยมือกลอง ทัตสึฮิสะ ยามาโมโตะ (Tatsuhisa Yamamoto) ซึ่งมาจากแนวคิดของอิชิบาชิที่มองว่าเสียงกลองและการขับเคลื่อนไปของรถนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นเธอจึงขอให้ยามาโมโตะเล่นแพตเทิร์นกลองให้กับเธอและเธอก็สร้างท่วงทำนองมาจากการขับเคลื่อนนั้น ไม่เพียงแต่เปียโนเท่านั้นแต่อิชิบาชิยังเล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลายในซาวด์แทร็กหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นฟลูต ซินธ์ เมโลเดียน หรือว่าไวบราโฟน ส่วนนักดนตรีที่ร่วมงานด้วยกันนอกจากยามาโมโตะแล้วก็มี มาร์ตี้ โฮลูเบ็ก (Marty Holoubek) เล่นเบส และจิม โอ’รูก (Jim O’Rourke) นักดนตรีคนสำคัญที่ร่วมงานกับอิชิบาชิมาอย่างยาวนานทำหน้าที่ในการบรรเลงกีตาร์

“ถ้าฉันไม่ได้การสนับสนุนจากโอ’รูก ฉันคงเลิกเล่นดนตรีไปนานแล้ว การได้ฟังดนตรีและการผสมเสียงของ โอ’รูก มันเหมือนกับการได้หายใจเอาอากาศอันเอร็ดอร่อยเข้าไป การได้ร่วมงานกับจิม โอ’รูก และมาซามิ อาคิตะ (Masami Akita) [เทพแห่งดนตรีนอยซ์ของญี่ปุ่นที่รู้จักกันในนาม Merzbow] ช่วยทำให้ฉันได้เห็นว่าเสียงนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต ความเข้มข้นของเสียงนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องของระดับความดังหรือความกดดันของเสียงเท่านั้น” อิชิบาชิยกย่องผู้ร่วมงานคนสำคัญของเธอที่มีอิทธิพลต่อสุนทรียะทางดนตรีเชิงทดลองของเธอ

ท่วงทำนองในกลิ่นอายของดนตรีแจ๊สและแอมเบียนต์อันสดสว่างถูกผสานเข้ากับซาวด์ต่าง ๆ จากในหนังไม่ว่าจะเป็นกุญแจรถ บานประตูรถ สายฝน หรือเสียงรถราที่ขับผ่านไปมา ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ๆ ด้วยเหมือนกัน ท่วงทำนองของอิชิบาชิเสมือนถูกออกแบบมาให้โอบรับเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ในฐานะโน้ตทางดนตรี “ฉันรู้สึกว่าในหนังนั้นมีเสียงต่าง ๆ ดำรงอยู่ก่อนแล้ว เสียงของรถ เสียงของเทป เสียงของโอโตะที่อ่านบทละครของเชคอฟ เหล่านี้คือเสียงอันงดงามที่มีอยู่ก่อนแล้วในภาพยนตร์ ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อการเขียนเพลงของฉัน” อิชิบาชิกล่าวถึงความสำคัญของเสียงในหนังที่ส่งผลต่อการเขียนเพลงของเธอ

“ฉันทำดนตรีโดยที่คิดว่าดนตรีจะผสานเข้ากับเสียงในหนังหรือเสียงบทสนทนาได้อย่างไร ฉันคิดว่าเสียงพูดคุยกันของตัวละครนั้นมีจังหวะและท่วงทำนองเหมือนเสียงดนตรี ถ้อยคำในหนังมีความสำคัญมาก และมีความสำคัญต่อฉันในการคิดว่าดนตรีที่ฉันทำขึ้นมานั้นจะผสานเข้ากันกับเสียงของถ้อยคำเหล่านี้ได้อย่างไร”

อย่างในแทร็กสุดท้าย “We’ll Live Through the Long, Long Days, and Through the Long Nights (Different Ways)” เราจะได้สัมผัสกับท่วงทำนองแอมเบียนต์อันล่องลอยในสไตล์ดนตรีแนวทดลองในแบบฉบับของอิชิบาชิ มันเป็นงานดนตรีที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมหลอมรวมตนเองไปกับมันราวกับเรื่องราวในภาพยนตร์ได้ฉายประสบการณ์ชีวิตของผู้ชมเอง และเรายังคงรู้สึกดำดิ่งไปกับท่วงทำนองและเรื่องราวของฉากชีวิตเหล่านี้อยู่แม้แสงไฟในโรงภาพยนตร์ (หรือห้องชมภาพยนตร์ในบ้านของเรา) ได้สว่างจ้าขึ้นมาแล้ว

เสียงดนตรีจากคนรักหนัง

อิชิบาชิถึงแม้จะไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี แต่ก็ได้เติบโตท่ามกลางเสียงดนตรีที่คุณพ่อของเธอชอบเปิด ไม่ว่าจะเป็นซาวด์แทร็กประกอบหนังของ เอ็นนิโอ มอร์ริโคเน่ (Ennio Morricone) เฮนรี แมนซินี (Henry Mancini) และเบิร์ต แบแคแร็ก (Burt Bacharach) เธอเริ่มเรียนเปียโนคลาสสิกตั้งแต่เด็กก่อนที่จะย้ายมาเรียนรู้การตีกลอง มาริมบ้า และการเล่นซินธิไซเซอร์ เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย อิชิบาชิเริ่มอยากทำหนังของตัวเอง แต่ด้วยความขี้อายของเธอทำให้เธอพบกับความยากลำบากในการร่วมงานกับผู้อื่น มีเพียงเสียงดนตรีเท่านั้นที่ทำให้เธอรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง งานดนตรีชิ้นแรก ๆ ของอิชิบาชิเป็นงานแบบ field recording เชิงทดลองที่อัดเสียงจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและนำมาผสมผสานเข้ากับเสียงของวิทยุ “มีโรงงานอยู่ใกล้บ้านของฉัน และฉันชอบเสียงของมัน ฉันคิดว่าจังหวะของเครื่องจักรนั้นมีอิทธิพลกับฉันมาก” การผสมเสียงจากสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากัน ทำให้งานดนตรีของอิชิบาชิเปิดพื้นที่ของความหลากหลายและทำสิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอิชิบาชิได้กลายเป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงทางดนตรี แต่ถึงอย่างนั้นผลงานของเธอก็อยากแก่การจัดประเภท งานของเธอนั้นมีตั้งแต่งานโซฟิสติป๊อปแบบ สตีลลี แดน (Steely Dan) ในอัลบั้ม ‘Car and Freezer’ (2014) งานดนตรีนอยซ์ใน ‘memory of a nearby factory’ (2015) งานอิเล็กทรอนิกนอยซ์ที่ทำร่วมกับเทพแห่งดนตรีนอยซ์ของญี่ปุ่น Merzbow หรือ มาซามิ อาคิตะ (Masami Akita) ในอัลบั้ม ‘Kouen Kyoudai’ ในปี 2016 เปียโนบัลลาดใน ‘The Dream My Bones Dream’ (2018)  ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของคุณปู่ที่ทำงานอยู่ทางรถไฟในแมนจูเรียใต้ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าปกครองประเทศจีนในทศวรรษที่ 30s-40s หรือจะเป็นแอบสแตรกซาวด์สเคปใน ‘Hyakki Yagyō’ (2020) งานแอมเบียนต์ใน ‘countentless dream’ (2021) และ งานแจ๊สเชิงทดลองในอัลบั้ม ‘For McCoy’ ที่อุทิศให้กับตัวละคร แจ็ก แมคคอย (Jack McCoy) ในซีรีส์ Law & Order ที่รับบทโดยแซม วอเตอร์สโตน (Sam Waterston)

อิชิบาชิมีความผูกหนังกับหนังมานานแล้ว และเธอมักจะใช้เวลาอยู่กับการดูหนังมากกว่าอยู่กับเสียงดนตรีเสียอีก เธอรักในงานดนตรีประกอบหนังของจอห์น แบร์รี (John Barry) มากมายเช่นในหนังเรื่อง “Midnight Cowboy” และ “Walkabout” ดังนั้นในหลาย ๆ ครั้งอิชิบาชิมักจะได้รับแรงบันดาลใจในการทำดนตรีมาจากภาพยนตร์ ซึ่งเธอมองว่าภาพยนตร์และดนตรีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การทำดนตรีประกอบหนัง ผู้ประพันธ์เพลงต้องมีความเข้าใจในหนังและองค์ประกอบของหนังอย่างลึกซึ้ง “ฉันคิดว่าเสียงที่คุณได้ยินในหนังนั้น มันไม่ใช่เสียงจริง ๆ ที่คุณจะได้ยินในชีวิตจริง ดังนั้นดนตรีในหนังจะต้องมีความหมาย และความหมายของมันจะขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่มันเข้าไปประกอบ มันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร ตัวละครกำลังรู้สึกอะไร ดังนั้นคุณจะไม่สามารถแต่งเพลงสุ่ม ๆ เพื่อใช้กับหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้เลย คุณต้องคิดถึงบทบาทของดนตรีในหนัง คิดว่ามันจะผสานเข้าไปในฉากนั้นได้อย่างไร และนั่นคือวิธีที่ฉันได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเวลาที่ฉันนั้นทำดนตรี”

อิชิบาชิเป็นคนที่เชื่อว่าโอกาส ไอเดียดี ๆ และแรงบันดาลใจนั้นจะมาเพราะความพยายามจากการแสวงหาของตัวเองโดยไม่รอคอยอยู่กับที่ “ฉันไม่คิดว่าตัวเองนั้นมีความสามารถหรือพรสวรรค์ เมื่อโอกาส ไอเดียและแรงบันดาลใจมันเข้ามาหา มันมักจะมาเพราะฉันพยายามมองหามัน ค้นหามัน  ฉันมักจะพบในบางสิ่งที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงดูหนังในทุก ๆ วัน เมื่อคุณเริ่มตามหามัน ไอเดียดี ๆ เหล่านั้นจะมาหาคุณ นั่นคือสิ่งที่ฉันเชื่อมาโดยตลอด”

ที่มา

Variety

Japantimes

Washingtonpost

Filmstage

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส