[รีวิว] Hurts Like Hell – 4 ยกชกแหกแผลวงการมวยไทยแบบสมศักดิ์ศรี
Our score
8.4

Release Date

13/07/2022

แนว

ดราม่า / สารคดี

ความยาว

1 ซีซัน (4 ตอน)

เรตผู้ชม

18+

ผู้กำกับ

กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ

SCORE

8.4/10

[รีวิว] Hurts Like Hell – 4 ยกชกแหกแผลวงการมวยไทยแบบสมศักดิ์ศรี
Our score
8.4

Hurts Like Hell | เจ็บเจียนตาย

จุดเด่น

  1. งานโปรดักชันดี ภาพสวย มุมภาพแปลกตา การตัดต่อน่าสนใจ ไตเติลสวย
  2. การตัดสลับพาร์ตการแสดงกับสัมภาษณ์ถือว่าทำได้ค่อนข้างลงตัว
  3. การแสดง แอ็กชัน พาร์ตมวยสมจริง อินเนอร์ คำหยาบคายมาเต็ม

จุดสังเกต

  1. เสียงพาร์ตการแสดงค่อนข้างเบากว่าเสียงพาร์ตสัมภาษณ์คนในวงการมวยแบบแตกต่างชัดเจน
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.6

  • คุณภาพโปรดักชัน

    9.0

  • ความบันเทิง

    9.0

  • ความบันเทิง

    7.9

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.3


ปกติแล้วเวลาเราพูดถึงมวยไทยในปัจจุบันที่ถูกเล่าผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ ถ้าไม่เป็นการหยิบเอาแม่ไม้มวยไทยไปใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว หรือปกบ้านป้องเมือง ก็มักจะเป็นการเล่าถึงชีวิตของนักมวยไทยที่ต้องออกหมัด ฟาดแข้งเพื่อเอาตัวรอด และเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ต้องยอมอุทิศร่างกายและจิตใจเข้าแลกเท่านั้น

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

แต่กับ ‘Hurts Like Hell’ หรือ ‘เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ Original ของ Netflix ประเทศไทย กลับเป็นลิมิเต็ดซีรีส์ 4 ตอนถ้วนที่หยิบเอาเบื้องลึกเบื้องหลัง มุมมืดและมุมสว่างของวงการมวยไทยในปัจจุบันมาแหกแผลให้เห็นกันจะ ๆ ผ่านการเล่าเรื่องแบบซีรีส์กึ่งสารคดี ที่มีทั้งเส้นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากวงการมวยไทย ประกบคู่กับเสียงสัมภาษณ์คนในวงการมวยตัวจริง ทั้งนักมวย เซียนมวย นักพากย์ นักวิจารณ์ โปรโมเตอร์ เทรนเนอร์ เจ้าของค่ายมวย แพทย์สนามมวย ฯลฯ ที่ค่อย ๆ เล่าเรื่องเบื้องหลังทุกด้านทุกมุมของวงการมวยไทย ผ่านการเล่าเรื่องแบบสารคดีไปพร้อมกัน

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

ส่วนตัวเนื้อเรื่องพาร์ตซีรีส์ก็จะเล่าเรื่องมุมมืดของวงการมวยไทย ผ่าน 2 เส้นเรื่องใหญ่ ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันบรรจบอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เล่าผ่านสายตาของตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันมวย ตั้งแต่เรื่องราวของการพนันมวยใน 2 อีพีแรก ผ่านตัวละคร ‘พัด-เซียนมวย’ (ณัฏฐ์ กิจจริต) ‘คม-เซียนมวยรุ่นใหญ่’ (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) และ ‘วิรัตน์-กรรมการเวทีมวย’ (วิทยา ปานศรีงาม) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพนันมวย เงินทอง กลโกง และอิทธิพลมืด

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

ส่วนอีกเส้นเรื่อง จะเล่าเรื่องราวผ่านชีวิตของนักมวยไทย ผ่านเรื่องราวของนักมวยเด็ก ที่ต้องต่อยมวยเพื่อหาเลี้ยงชีพ เผชิญกับความโหดร้ายของวงการเวทีมวยเด็ก เพื่อหาทางดิ้นรนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ผ่านเรื่องราวของ ‘วิเชียร-นักมวยเด็ก’ (ภูริภัทร พูลสุข) ‘ครูต้อย-ครูมวย/เจ้าของค่ายมวย’ (นพชัย ชัยนาม) ผู้ฝึกสอนมวยให้วิเชียร และพ่อนักมวยเด็กอย่าง ‘กฤษ’ (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ผู้ต้องการสนับสนุนลูกเข้าสู่วงการมวย

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

แน่นอนว่าหลายคนเห็นว่าเป็นซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องของวงการมวยไทย ถ้าไม่เคยดูการแข่งขัน ไม่รู้กติกา ไม่เข้าใจบรรยากาศมาก่อนจะดูรู้เรื่องไหม อันนี้ก็ต้องบอกว่า ส่วนตัวผู้เขียนเองที่ห่างไกลจากวงการนี้ แถมยังโง่เรื่องการพนันแบบสุด ๆ ก็ต้องบอกว่าค่อนไปทางรู้เรื่องมากกว่าไม่รู้เรื่องนะครับ เพราะว่าตัวพาร์ตเนื้อเรื่องหลังจากแนะนำภูมิหลังและนิสัยของตัวละครแล้ว ตัวซีรีส์เองก็พุ่งตรงเข้าประเด็นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับ Pace ของเรื่องที่ถือว่าแรงมาก

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

คู่ขนานไปกับพาร์ตสัมภาษณ์ ที่คอยจูงมืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องแบบชนิดช็อตต่อช็อต ก็เลยทำให้ตัวเนื้อเรื่องเดินเร็วแบบไม่ต้องเดินมวยให้เสียเวลา ส่วนใน 2 อีพีหลังที่ว่าด้วยวงการมวยเด็ก ตัวเนื้อเรื่องค่อย ๆ ผ่อนความแรงลงมาจาก 2 อีพีแรกพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าเป็นการเล่าที่ไม่เยิ่นเย้ออยู่ดี เพียงแต่เริ่มมี Pace ที่เบาลงกว่าเดิม ทิ้งจังหวะว่างมากขึ้น ใส่บทสัมภาษณ์น้อยลง จนเผลอคิดไปนิด ๆ ว่า หรือซีรีส์จะจบแบบดี ๆ แบบ “มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก เย้!…” อะไรแบบนั้นละมั้ง

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

แต่กลายเป็นว่า สุดท้ายตัวเรื่องก็ค่อย ๆ ขมวดเรื่องว่า ไอ้แผลที่ว่านั้นจริง ๆ แล้ว แผลของวงการมวยไทย มันไม่ใช่แค่แผลสด แต่มันเป็นแผลเรื้อรังรักษาไม่หายต่างหาก ยิ่งตอนท้ายของอีพี 4 ที่ฉายให้เห็นข่าวจริง ๆ ที่เอามาใช้เป็นแรงบันดาลใจ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดและหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการมวยไทยหนักเข้าไปอีก เพราะอย่างที่เราทราบ ไอ้มวยไทยจำพวกการโชว์แม้ไม้มวยไทยสวย ๆ ตามมอตโตที่ว่า ‘มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก’ ตอนนี้กลายเป็นเพียงไอเทมสำหรับใช้อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเพียงเท่านั้นเอง

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

เพราะในความเป็นจริง มวยไทยกลายเป็นเพียงกีฬาพาณิชย์ที่เป็นอาชีพ มีเม็ดเงินไหลเวียนอยู่ทั่วสังเวียน นักมวยกลายเป็นเพียงเบี้ยที่เลี้ยงเอาไว้เพื่อใช้ต่อสู้ หมัด เท้า เข่า ศอก คือเครื่องมือทำมาหากินของนักมวยที่จำเป็นยิ่งกว่าท่าจระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา หนุมานถวายแหวน ฯลฯ กรรมการมวยที่ตัดสินอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม อาจไม่ได้รับคำชื่นชม และเซียนมวยอาจไม่ได้อยากไปดูมวยแค่เพราะมันสนุกเฉย ๆ

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

แม้ในซีรีส์จะพยายามเติมบาลานซ์ด้วยประเด็นที่ว่า จริง ๆ แล้ว มวยไทยเป็นกีฬาที่สามารถสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับหลาย ๆ คนได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า วงการมวยไทยที่ขับเคลื่อนด้วยการพนันและผลประโยชน์ อิทธิพล กลโกง ล้วนแต่ผลักดันให้ ค่ายมวย ครูฝึก กรรมการ เซียนมวย ล้วนแล้วแต่คอยประเคนออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก ด้วยแม่ไม้อันแสนสกปรก เพียงเพื่อหวังจะเอาตัวเองให้รอดกันทั้งนั้น ทุกชีวิตที่เข้าไปยุ่งและพัวพันและเผลอเมาหมัด อาจต้องพบกับเจ็บปวด หรือพบเจอบทสรุปที่อันตรายแสนสาหัสกันทั้งนั้น

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

อีกความน่าสนใจก็คือ วิธีการวาง Pace การเล่าเรื่องครับ หลายคนอาจจะชอบวิธีการของซีรีส์ ที่ไม่ได้เรียงตามซีเควนซ์ แต่ใช้วิธีเรียงร้อยจากมิติของเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นจากใหญ่ไปหาเล็ก แม้ทุกอีพีก็จะมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง แต่ในภาพรวม มันคือการโฟกัสเรื่องราวของแต่ละตัวละครที่อยู่ในซีเควนซ์เดียวกัน และอยู่ภายใต้เหตุการณ์การแข่งขันมวยไทยจาก 2 เวทีนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่แปลกดีสำหรับซีรีส์ไทย แต่คนที่ไม่ชอบ ก็อาจรู้สึกว่าซีรีส์มี Plot Hole เกิดขึ้นกับบางตัวละครได้เหมือนกัน

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

นักแสดงก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ถือว่าทำการบ้านมาดีครับ เพราะถือว่าเลือกตัวละคร และออกแบบคาแรกเตอร์มาได้ตรงตามที่ควรจะเป็นแบบชนิดที่ผู้เขียน (ที่เคยรู้จักเซียนมวยอยู่บ้าง) ก็ยังงงว่าทำไมมันเป๊ะขนาดนี้ โดยเฉพาะนักแสดงอาชีพ ทั้ง ณัฏฐ์ กิจจริต เซียนเล็กที่มักจะมีกระเป๋าสะพายข้างเหมือนเซียนมวยจริง ๆ ส่วน ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เองก็สามารถรับบทเซียนใหญ่ทรงอิทธิพลได้โคตรน่ากลัว

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

ยิ่งตอนซีนพนันมวยข้างเวที จังหวะปะทะคารมระหว่างพี่นัทกับพี่เอกนี่เรียกได้ว่าคำหยาบมาเต็ม อะไรที่อยากได้ยินรับรองว่าได้ยินแน่นอน (555) ส่วน วิทยา ปานศรีงาม และ นพชัย ชัยนาม ก็สามารถสวมบทกรรมการมวยและครูมวยที่มีความนึกคิดได้อย่างมีมิติชวนให้ค้นหา ส่วนนักมวยเด็กอย่าง ภูริภัทร พูลสุข หรือ ‘น้องภู’ นักมวยเด็กตัวจริงที่รับบทเป็นวิเชียร ก็ถือว่าสามารถรับบทนักมวยเด็กได้เป็นธรรมชาติมาก ๆ

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

โดยสรุป ‘Hurts Like Hell ‘เจ็บเจียนตาย’ เป็นซีรีส์ที่ผสมผสานความเป็นดราม่า หนังกีฬา และสารคดีออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบเลยครับ ซึ่งผู้เขียนก็ดีใจในฐานะซีรีส์ที่หยิบมวยไทยมาเล่า แต่ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเอาแม่ไม้มวยไทยสวย ๆ งาม ๆ ไปขาย แต่กลับเลือกที่จะขายความสกปรก ป่าเถื่อน ไม่ Romanticise (ชวนโลกสวย) แต่เต็มไปด้วยความจริงใจ (ที่รัฐดูแล้วอาจสำลักแค่ก ๆ ) ซึ่งอันนี้แหละที่ผู้เขียนมองว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ทรงพลัง

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

โอเค แม้ว่ามันอาจจะดูโจ่งแจ้งไปสักนิด (ถ้าเทียบกับซีรีส์เกาหลีที่มักแฝงซอฟต์พาวเวอร์มาแบบเนียน ๆ ) แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นนักมวยที่ขยันซ้อม เนื้อตัวดี ทรงมวยสวย กระดูกมวยแข็ง หมัดหนัก แข้งคม พร้อมขึ้นชั้นประกบคู่มวย ออกอาวุธบนสังเวียนตลาดซีรีส์โลกได้แบบสมศักดิ์ศรี ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอนครับ


Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส