ปีที่แล้วน่าจะเป็นปีที่ตื่นเต้นอีกปีหนึ่งของแฟน ๆ ซูเปอร์ฮีโรฝั่งดีซี (DC) เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นปีที่ภาพยนตร์ ‘Zack Snyder’s Justice League’ (2021) เวอร์ชันบูรณปฏิสังขรณ์ (Director’s Cut) จากภาพยนตร์ ‘Justice League’ (2017) ได้มีโอกาสเข้าฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิงของ HBO หลังจากที่ชาวเน็ตได้ผุดกระแส #ReleaseTheSnyderCut ขึ้นมา

เพื่อเรียกร้องให้ ‘วอร์เนอร์ บราเธอส์’ (Warner Bros.) ให้โอกาสที่ 2 กับผู้กำกับต้นร่างอย่าง แซ็ก สไนเดอร์ (Zack Snyder) ในการนำเอา Justice League ฉบับ 4 ชั่วโมงที่มีอยู่ในมือออกมาสู่แฟน ๆ หลังจากที่ จอสส์ วีดอน (Joss Whedon) มากำกับแบบไม่เอาเครดิต จนทำให้ ‘Justice League’ ฉบับฉายโรงถูกวิจารณ์อย่างหนัก

Zack Snyder’s Justice League

ในที่สุด กระแส #ReleaseTheSnyderCut ของชาวเน็ตแฟน ๆ ดีซีก็ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงวอร์เนอร์ บราเธอส์ จนต้องยอมเรียกตัวสไนเดอร์กลับมาดำเนินการบูรณะใหม่จนกลายเป็น Justice League ฉบับ ‘The Snyder Cut’ ในรูปแบบภาพยนตร์ความยาว 242 นาที ล้างภาพเวอร์ชันเดิมที่ค้างติดตาแฟน ๆ มานานกว่า 4 ปีลงได้สำเร็จ (และมีการเรียกร้อง #RestoreTheSnyderVerse ให้สไนเดอร์กลับมากำกับ Justice League ภาคต่อ ๆ ไปในอนาคตด้วย)

แต่ดูเหมือนว่า ความน่าเชื่อถือของกระแสชาวเน็ตในครั้งนั้นอาจต้องมีการกลับมาทบทวนกันใหม่ เพราะบทความ Exclusive ของเว็บไซต์ Rolling Stone ที่ได้เผยแพร่รายงาน 2 ฉบับของ วอร์เนอร์มีเดีย (WarnerMedia) ที่เผยว่า แคมเปญออนไลน์ #ReleaseTheSnyderCut ที่แฟนคลับร่วมติดแฮชแท็กเรียกร้อง The Snyder Cut ในช่วงเวลานั้น มีส่วนหนึ่งที่เป็น ‘บัญชีปลอม’ หรือจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น ‘แอคหลุม’ ก็ว่าได้

Zack Snyder’s Justice League

ตามรายงานของ Rolling Stone ได้ระบุว่า การสนทนาบนโลกออนไลน์ที่กล่าวถึง The Snyder Cut เริ่มโหมกระพือขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 หลังจากการฉาย ‘Justice League’ และมีการพบว่า บัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นการสนทนาผ่านแอคหลุม หรือบัญชีปลอม ซึ่งโดยปกติแล้ว การสนทนาบนโลกออนไลน์ มักมีการพบบัญชีปลอมอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซนต์ แต่กลับมีการพบบัญชีปลอมที่ช่วยดันกระแสแคมเปญนี้มากถึง 13 เปอร์เซนต์ ซึ่งสูงขึ้นผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งตรงกับการที่บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หลายแห่ง ที่ได้ยืนยันกับ Rolling Stone ว่า แม้ตัวแคมเปญ Release The Snyder Cut เองจะยังคงมีความเคลื่อนไหวและบทสนทนาจากแฟน ๆ ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีการพบกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสแปม อันเกิดจากบัญชีปลอมหรือแอ็กหลุมอยู่เป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมด้วยเช่นกัน บางบัญชีมีการพบว่าเป็นเพียงบัญชีที่ทวีตแต่แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับ Topic นี้เฉย ๆ โดยไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอื่นใดเลยด้วยซ้ำ

https://twitter.com/zukofirelord1/status/1520293416147603456

แฮชแท็ก #ReleaseTheSnyderCut เริ่มติดเทรนด์เมื่อปลายปี 2019 มีการทวีตถึงในทวิตเตอร์หลายแสนรายการต่อวัน จนเมื่อวอร์เนอร์ได้ปล่อย The Snyder Cut ออกมาในเดือนมีนาคม 2021 ก็มีกระแส #RestoreTheSnyderVerse ตามมาอีกระลอก คราวนี้มีทวีตพุ่งขึ้นมากถึงนับล้านรายการในหนึ่งวัน แต่แล้วจำนวนทวีตก็กลับลดฮวบลงเหลือเพียง 40,000 รายการภายในไม่กี่วัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลถึงกับกล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ออนไลน์ที่เกี่ยวกับฮอลลีวูดที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นตัวอย่างคลาสสิกของการใช้กระแสเป็นเหมือนกับอาวุธในการโจมตี

Zack Snyder’s Justice League

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ตรวจพบบัญชีที่เผยแพร่ ‘เนื้อหาในเชิงลบ’ ที่เกี่ยวเนื่องกับ Topic นี้เป็นจำนวนมากด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาที่สื่อถึงการคุกคามทีมผู้บริหารของวอร์เนอร์ บราเธอส์อย่างรุนแรง ตั้งแต่ แอน ซาร์นอฟฟ์ (Ann Sarnoff) อดีต CEO ของวอร์เนอร์ เจฟฟ์ จอห์นส์ (Geoff Johns) ผู้อำนวยการสร้าง วอลเตอร์ ฮามาดะ (Walter Hamada) ประธานฝ่ายดีซี ฟิล์ม (DC Films) เป็นต้น การเคลื่อนไหวนี้ทำให้บริษัทมีความกังวล และต้องเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยด้วยว่า แหล่งข่าว 20 คนที่ Rolling Stone ได้คุยต่างพูดตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่า หรือ แซ็ก สไนเดอร์ ผู้กำกับอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยแคมเปญนี้ด้วยตัวเอง และอาจถึงขั้นให้เงินสนับสนุนด้วย ในขณะที่สไนเดอร์เองก็อ้างว่า วอร์เนอร์นี่แหละคือคนที่ใช้ประโยชน์จากฐานแฟนของเขาเพื่อโปรโมตบริการสตรีมมิงใหม่ของพวกเขาเอง มีแหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงตัวเขาว่า “เป็นเหมือนกับเล็กซ์ ลูเธอร์ (Lex Luthor วายร้ายใน ‘Batman v Superman: Dawn of Justice’ (2016)) จอมทำลายล้าง”

Zack Snyder’s Justice League

แซ็ก สไนเดอร์ ทำงานร่วมกับ DC มายาวนาน ทั้งการกำกับภาพยนตร์ ‘Man of Steel’ (2013),’Batman v Superman: Dawn of Justice’ (2016) และเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ‘Wonder Woman’ (2017) และ ‘Suicide Squad’ (2016) จนกระทั่งเมื่อเขาได้กำกับ ‘Justice League’ เวอร์ชันฉายโรง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน ตั้งแต่การเข้าแทรกแซงวิสัยทัศน์ของสไนเดอร์

ซ้ำร้าย ออทัม สไนเดอร์ (Autumn Snyder) ลูกสาวของสไนเดอร์ กระทำอัตวินิบาตกรรมอันเป็นผลกระทบจากอาการซึมเศร้า เขาจึงจำเป็นต้องถอนตัวเพื่อกลับไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ส่วนภรรยา เดบอราห์ สไนเดอร์ (Deborah Snyder) ที่รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ก็ขอถอนตัวด้วยเช่นกัน ส่วนตัวภาพยนตร์เองกำลังอยู่ในขั้นตอน Post Production

จนกระทั่งวอร์เนอร์จึงได้ดึง จอสส์ วีดอน (Joss Whedon) ที่เคยมีผลงานกำกับหนังฮีโรของฝั่ง Marvel มาลุยงานสานต่อให้เสร็จสิ้นโดยไม่ใส่เครดิต แต่กลายเป็นว่ากลับได้กระแสวิจารณ์ไปทางลบหลังเข้าฉายแบบไม่มีชิ้นดี เรตวิจารณ์จากสำนักต่าง ๆ ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กลายเป็นฝันร้ายของวอร์เนอร์ จนต้องเปลี่ยนแผนด้วยการทำหนังเดี่ยวซูเปอร์ฮีโรและวายร้ายของ DC ไปพลาง

Zack Snyder’s Justice League

จนกระทั่งมีข่าวว่า หลังสไนเดอร์ออกจากหน้าที่ วอร์เนอร์ บราเธอร์ได้เก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ของสไนเดอร์ ที่มีฮาร์ดดิสก์ที่บรรจุ Justice League เวอร์ชัน 4 ชั่วโมงอยู่ด้วย แฟน ๆ จึงเรียกร้องให้มีการปล่อยเวอร์ชัน The Snyder Cut ออกมา จนเกิดแฮชแท็ก #ReleaseTheSnyderCut พร้อมกับการระดมรายชื่อผู้สนับสนุนได้มากถึง 180,000 คน อีกทั้งนักแสดงในทีมจัสติส ลีกอย่าง กัล กาด็อต (Gal Gadot) เจ้าของบท วันเดอร์ วูแมน (Wonder Woman) และ เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) เจ้าของบทแบทแมน (Batman) ก็ออกมาสนับสนุนแคมเปญนี้ด้วยเช่นกัน

จนในที่สุด วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ก็ตัดสินใจเรียกสไนเดอร์กลับมาซ่อม Justice League ใหม่ พร้อมกับออกทุนถ่ายซ่อม เพิ่มเอฟเฟกต์ ตัดต่อใหม่เพิ่มเข้าไปอีก 70 ล้านเหรียญ จนได้ ‘Zack Snyder’s Justice League’ เวอร์ชัน 4 ชั่วโมงที่มีความมืดหม่นจริงจัง และนำเสนอผ่านสัดส่วนภาพแบบ IMAX เพื่อให้ตรงตามวิสัยทัศน์ของสไนเดอร์มากที่สุด และยังมีเวอร์ชันขาวดำ (Zack Snyder’s Justice League: Justice is Gray) ให้เลือกชมอีกด้วย

แน่นอนว่า การเรียกร้องในแคมเปญนี้ ก็ยังถือว่าเป็นการแสดงออกถึงการมีอยู่ของแฟนตัวจริง ที่สนับสนุนแคมเปญนี้อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในอีกทางหนึ่งก็ชวนให้อดคิดต่อไม่ได้ว่า หากขาดความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ผ่านบัญชีปลอม ที่คอยตีฟูกระแสขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะทำให้เกิดแรงส่งจนเกิดโปรเจกต์ขึ้นมาจริง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน


ที่มา: Rolling Stone, Comic Book Movie, ComicBook, CNET