ก่อน Marvel จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในปี 1989 Marvel Entertainment Group (ชื่อเดิม) เคยตกอยู่ในช่วงขาลงอย่างหนัก จนต้องตัดสินใจขายกิจการให้กับ MacAndrews & Forbes ของ รอน เพเรลแมน (Ron Perelman) ผู้บริหารบริษัทเครื่องสำอาง ‘Revlon’ ด้วยมูลค่า 82.5 ล้านเหรียญ

หลังจากนั้น Marvel ในยุคของ MacAndrews & Forbes ได้ดำเนินการซื้อบริษัทผลิตของเล่นและของที่ระลึก อย่าง Toybiz, Panini และ Heroes World เพื่อหวังจะนำเอาคาแรกเตอร์ของ Marvel มาผลิตเป็นสินค้าและของสะสม เช่น การ์ดสะสมและสติกเกอร์ โดยสินค้าเหล่านี้จะถูกแถมไปกับหนังสือคอมิกทุกเล่มแบบไม่ซ้ำอีกด้วย ทำให้ต่อมา Marvel มียอดขายเพิ่มขึ้นพอสมควร

แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงต่อมามีความย่ำแย่ เกิดภาวะฟองสบู่แตก ทำให้ยอดขายในปี 1996 ตกลงกว่าเดิม 70% จนนำไปสู่การมีหนี้สินและล้มละลายในที่สุด

ต่อมา Marvel ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแทนอย่าง ‘Marvel Studios’ เพื่อร่วมมือกับสตูดิโอภาพยนตร์รายใหญ่ของโลก เพื่อให้สิทธิ์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนของ Marvel ถูกนำไปผลิตในรูปแบบภาพยนตร์ เช่น ‘Blade’ ของ New Line Cinema, ‘X-Men’ ของ 20th Century Fox, ‘Spider-Man’ ของ Sony, ‘Ghost Rider’ ของ Columbia Pictures, ‘Hulk’ ของ Universal Studios เป็นต้น และดึง สแตน ลี (Stan Lee) บิดาของตัวละครเหล่านี้ เข้ามาดูแลงานส่วนนี้โดยเฉพาะ

ถึงแม้จะมีการปรับตัวไปแล้ว แต่ส่วนแบ่งของรายได้ที่ Marvel ได้รับจากการให้สิทธิ์คาแรกเตอร์ในภาพยนตร์กลับทำกำไรได้น้อยมาก ทาง Marvel จึงอยากก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์เป็นของตัวเอง เริ่มจากการนำลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ตัวละคร ‘Thor’ และ ‘Captain America’ ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในระดับหนึ่งไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน ‘Merrill Lynch’ เพื่อแลกกับเงินทุน 525 ล้านเหรียญ สำหรับใช้เป็นงบประมาณในการวางแผนสร้างภาพยนตร์ 10 เรื่องของทางค่าย ในระยะเวลา 7 ปี และหากขาดทุน สิทธิ์ในคาแรกเตอร์ของทั้ง 2 ตัวละครนี้ก็จะตกเป็นของสถาบันการเงินทันที

แต่อุปสรรคของ Marvel ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในช่วงนั้นคาแรกเตอร์ของทางค่ายที่มีชื่อเสียงได้ตกไปอยู่กับสตูดิโออื่น ๆ แทบหมด Marvel จึงต้องเสี่ยงอีกครั้ง โดยการหยิบตัวละคร ‘Iron Man’ ฮีโรที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นโปรเจกต์หนังเรื่องแรกด้วยทุนสร้าง 140 ล้านเหรียญ และปรากฏว่าตัวหนังสามารถทำรายได้มากถึง 585 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่ามากกว่าเงินทุนที่กู้มาเสียอีก

ในเวลาต่อมาภาพยนตร์ของ Marvel หลาย ๆ เรื่อง ต่างก็ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เช่นเดียวกับ ‘Iron Man’ รวมทั้งสินค้าต่าง ๆ จากภาพยนตร์ ก็สามารถทำรายได้ได้อย่างมหาศาล นั่งจึงทำให้ในปี 2009 ทาง ‘Disney’ ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Marvel Studios ด้วยมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส