ภาพยนตร์ ‘บุพเพสันนิวาส 2’  ได้มีการพูดถึงเรือกลไฟที่มีชื่อว่า ‘เอ็กสเปรส’ ซึ่งเป็นเรือกลไฟลำแรกที่แล่นเข้าสู่น่านน้ำสยาม ณ ขณะนั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ชาวสยามเป็นอย่างมาก จนขุนนางสยามคนหนึ่งชื่อ เจ้าพระยาพระคลัง ‘ดิศ บุนนาค’ ถึงกับกล่าวว่า “เรือลำนี้เป็นฝีมือของเทพเจ้า หาใช่มนุษย์ไม่” เรือลำนี้มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์สยามอย่างไร เราจะพาย้อนประวัติศาสตร์ของเรือลำนี้กัน

เรือกลไฟ คือ อะไร

ภาพวาด เรือกลไฟ

ก่อนที่เราจะเข้าประวัติศาสตร์ เราขอปูพื้นฐานความเข้าใจเรื่อง การทำงานของเรือในสมัยนั้นเสียก่อน เรือกลไฟ (Steamer) เป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรพลังไอน้ำในการขับเคลื่อน แทนการใช้ใบเรือและแรงลม โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไอน้ำและขับเคลื่อนมอเตอร์กังหันด้านข้างให้เรือเคลื่อนที่ จุดประสงค์ที่เรือกลไฟถูกใช้แทนที่เรือใบเพราะว่า เรือใบนั้นต้องอาศัย ‘ลมการค้า’ ในการเดินเรือค้าขาย ถ้าไม่มีลมการค้า เรือจะไม่สามารถแล่นไปตามจุดหมายได้ เรือกลไฟจึงเข้ามาแทนที่ แถมแล่นได้เร็วกว่าอีกด้วย

เรือกลไฟ เอ็กสเปรส มาจากไหน

เรือกลไฟเอ็กสเปรสเป็นเรือกลไฟสัญชาติอังกฤษ ได้ออกเดินทางจากเมืองท่าลิเวอร์พูล (Liverpool) ประเทศอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2386 ผ่านแหลมกู๊ดโฮปแอฟริกา ต่อไปที่อินเดีย จนถึงสิงคโปร์ ในเดือนธันวาคม ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 4 เดือน และเดินทางต่อไปปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงบางกอกหรือกรุงเทพมหานครฯ ปัจจุบัน ในเดือนมกราคม ปีถัดมา รวมเวลาเดินเรือทั้งสิ้น เกือบ 5 เดือน ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3

เรือกลไฟดังกล่าวผู้ที่นำเข้ามาสู่สยาม คือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) ชาวสยามรู้จักกันในนาม ‘นายหันแตร’ พ่อค้าชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเคยทำผลงานอันโดดเด่นจนโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช’ โดยมีกัปตันเรือชื่อว่า ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้

ภาพที่เชื่อว่าเป็น โรเบิร์ต ฮันเตอร์

จุดประสงค์การมา

การมาของเรือกลไฟเอ็กสเปรส มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพสยาม ตามประสงค์ของรัชกาลที่ 3 เนื่องจาก ขณะนั้น สยามกำลังมีความขัดแย้งกับชาติอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ในเรื่องข้อพิพาท ‘ดินแดนโคชินไชนา’ หรือเขมร ซึ่งมูลเหตุมาจากการชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนดังกล่าว รัชกาลที่ 3 ต้องการเสริมเแสนยานุภาพให้กับกองทัพ จึงสั่งซื้อเรือกลไฟ, ปืนนับร้อยกระบอก และปืนครก จากหันแตร

เรือกลไฟเอ็กสเปรสเพรส จากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ๒

แต่เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟลำดังกล่าว ทรงตรัสอย่างเปิดเผยว่า “ราคาที่หันแตรเสนอขายไว้ถึง50,000 ดอลลาร์แพงเกินไปสำหรับเรือเก่า ๆ ขึ้นสนิมเช่นนั้น”

อาจเป็นเพราะว่าเรือกลไฟมาช้ากว่ากำหนด และความขัดแย้งกับอาณานิคมฝรั่งเศสกำลังดีขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เรือกลไฟ สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้ซื้อ

ความขัดแย้งระหว่าง หันแตร กับ รัฐบาลสยาม

แต่นั่นยังไม่จบหันแตรรู้สึกไม่พอใจกับการกระทำของรัฐบาลสยาม ถึงขั้นขู่จะยิงวังหลวงด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลสยามก็ไม่สนใจ จนวันหนึ่ง หันแตรอยากฉลองวันเกิดให้กัปตันบราวน์จึงขออนุญาตยิงปืนใหญ่เป็นการเฉลิมฉลอง ซึ่งรัฐบาลสยามมองว่าเป็นอุบาย จึงออกคำสั่งไม่อนุญาตคำขอดังกล่าว

จากนั้น รัฐบาลสยามจึงออกอุบายเพื่อจับกุมทั้งสอง โดยเชิญหันแตรและกัปตันบราวน์เข้าวังเพื่อเจรจาบางอย่าง แต่นั่นเป็นกับดัก รัฐบาลสยามจับกุมทั้งสองและตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้ปล่อยตัวต้องส่งดินปืนที่ครอบครองไว้ทั้งหมด เป็นการการันตีว่าพวกเขาจะไม่สามารถขู่ได้อีก จนสุดท้ายก็ยอมส่งดินปืนให้ รัฐบาลสยามก็รักษาคำพูดและปล่อยตัวไป

พระบรมมหาราชวัง ในช่วงรัชกาลที่ 3

หันแตรก็ยังไม่จบ (อีกแล้ว) หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาขู่รัฐบาลสยามต่อว่าเขาจะขายเรือกลไฟลำนี้ให้แก่อาณานิคมฝรั่งเศส และขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษส่งเรือรบมาถล่มสยาม ทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงเคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก

หันแตรจึงถูกเนรเทศให้ออกไปจากแผ่นดินสยาม แต่รัฐบาลสยามเองก็ไม่ชะล่าใจ สั่งให้เสริมป้องกันป้อมปืนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากอังกฤษประกาศสงครามจริงตามที่หันแตรขู่ไว้

ถึงแม้รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ทำตามสิ่งที่หันแตรร้องขอไป แต่เขาก็ขายเรือลำนั้นและปืนทั้งหมดให้อาณานิคมฝรั่งเศสไปจริง ๆ ในราคาที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ตอนแรก

ก็จบกันไปแล้วสำหรับเรื่องราวเรือกลไฟลำแรกที่เข้าสู่สยาม จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่น่าศึกษา ทำความเข้าใจ เพราะการเรียนรู้จากอดีตจะทำให้เราทราบปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ ก็อิงเรื่องราวมาจากประวัติศาสตร์เช่นกัน โดยเฉพาะตัวเรือกลไฟที่ดูเก่าสนิมขึ้นตามบันทึกเขียนไว้จริง ๆ ถ้าหากใครชื่นชอบประวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้ก็อาจตอบโจทย์คุณได้เช่นกัน

ที่มา : SILPA-MAF1 , SILPA-MAF2 , MARunerThai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส