แต่ไหนแต่ไรมาปกอัลบั้มถือว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นปราการด่านแรกที่ผู้ฟังจะได้สัมผัสเวลาที่ไปซื้อซีดี เทปหรือแผ่นเสียงมาฟัง ในทุกวันนี้ถึงแม้หลายคนจะหันมาฟังสตรีมมิงแล้ว แต่งานอาร์ตเวิร์กบนปกก็ยังเป็นอะไรที่มีความสำคัญกับอัลบั้มอยู่ดี เพราะนอกเหนือจากความเท่ ความสวยงาม ความแหวก แปลก เหวอแล้ว มันคือการสื่อสารใจความสำคัญ สาระ สารลับ อารมณ์ความรู้สึก หรือเนื้อหาบางอย่างจากงานเพลงในอัลบั้ม ซึ่งจะช่วยให้ประสบการณ์การฟังเพลงนั้นมีความอิ่มเต็มมากยิ่งขึ้น

ด้วยความสำคัญดังที่กล่าวมา ปกอัลบั้มจึงต้องมีความอาร์ต ความงาม ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายอัลบั้มที่ศิลปินหรือวงดนตรีเลือกที่จะให้ศิลปินชื่อดังมาออกแบบให้เลย หรือมิเช่นนั้นก็อาจเป็นการนำเอาแรงบันดาลใจหรือสไตล์ของศิลปินมาสร้างสรรค์เป็นงานปก ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็นับว่าน่าประทับใจไม่น้อย ทั้งงดงามและสื่อความหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีอัลบั้มอะไรบ้างนั้นเราขอยกตัวอย่างมาให้ดูกันสัก 10 อัลบั้ม

The Velvet Underground and Nico – The Velvet Underground and Nico’

คงไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับปกอัลบั้มชุดนี้ของ The Velvet Underground and Nico ที่ได้ตัวพ่อแห่งวงการป๊อปอาร์ตอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) มาออกแบบให้ (แถมยังรับบทบาทเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมให้กับอัลบั้มชุดนี้ด้วย) ซึ่งก็สมแล้วที่เป็นผลงานของ วอร์ฮอล ที่มักเอาสิ่งสามัญ (หรือสิ่งที่ป็อปปูลาร์แต่เห็นจนชินตา) มาผลิตซ้ำอย่างเรียบง่าย แค่กล้วยลูกเดียวก็ทำให้ปกนี้กลายเป็นงานอมตะแล้ว แถมถ้าใครซื้อไวนิลปั๊มแรก ก็จะพบว่าสามารถปอกกล้วยลูกนี้ได้ เพราะเปลือกกล้วยสีเหลืองนี้ถูกสกรีนลงไปบนสติ๊กเกอร์ซึ่งพอลอกออกมาแล้วจะเจอกับเนื้อกล้วยสีชมพูอยู่ข้างใน ใครมีอัลบั้มเวอร์ชันนี้เก็บไว้ควรรักษาเอาไว้อย่างดี เพราะได้กลายไปเป็นแรร์ไอเทมไปเป็นที่เรียบร้อย

Joni Mitchell – ‘Turbulent Indigo’

เพียงแว้บแรกที่เห็นปกอัลบั้มชุด ‘Turbulent Indigo’ ในปี 1994 ของนักร้องนักแต่งเพลงหญิงระดับตำนานของวงการดนตรีอย่าง โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) คงรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาแหละว่าภาพวาด พอร์ตเทรต โจนี มิตเชลล์ บนหน้าปกนี้มันคล้ายกันกับงานจิตรกรรมของศิลปินสักคนหนึ่งที่โด่งดังมาก ๆ แน่เลยและถ้าสังเกตสไตล์และลีลาลวดลายบนภาพทั้งฝีแปรงที่เต็มล้นไปด้วยอารมณ์ พื้นหลังสีหม่นที่มีเส้นสายลายสี ขดวน บิดม้วน นี่มันคือฝีไม้ลายมือในแบบฉบับของ ‘ฟินเซนต์ ฟาน กอกฮ์’ จิตรกรเอกชาวดัตช์คนดังชัด ๆ

ถูกต้องแล้วล่ะภาพหน้าปกอัลบั้มชุดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพพอตเทรตของฟานกอกฮ์ที่ชื่อว่า ‘Self Portrait with Bandaged Ear’ (1889) ซึ่งเป็นที่เขาวาดเอาไว้หลังจากที่ได้เฉือนใบหูข้างซ้ายของตัวเองออกไป เป็นภาพที่สะท้อนความหม่นเศร้าที่เข้าไปถึงจิตใจของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานอันงดงามชิ้นนี้จริง ๆ พอร์ตเทรตของมิตเชลล์บนปก ‘Turbulent Indigo’ ที่ทำเลียนแบบตามงานชิ้นนี้ดูเหมือนว่าจะสะท้อนอารมณ์และจิตวิญญาณของงานภาพต้นฉบับได้ไม่น้อยเลย แถมยังใส่สไตล์และเอกลักษณ์ที่พบได้ในภาพพอร์ตเทรตและงานอื่น ๆ ของฟานกอกฮ์อีกด้วย

‘Self Portrait with Bandaged Ear’ (1889)

Chris Rea – ‘The Blue Jukebox’

ภาพหน้าปกอัลบั้มในอารมณ์เหงา ๆ เปลี่ยว ๆ ของ คริส รี (Chris Rea) จากอัลบั้มในปี 2004 ‘The Blue Jukebox’ ได้รับแรงบันดาลใจในความหว่องนี้มาจากงานจิตรกรรมของศิลปินยอดนิยมที่ผลงานของเขายังคงถูกพูดถึงและนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้ เขาคนนี้ก็คือ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) ศิลปินที่ถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของชีวิตในสังคมเมืองได้อย่างถึงอกถึงใจ โดยภาพที่ปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มของ คริส รี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดสีน้ำมันที่มีชื่อว่า “Nighthawks” (1942) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพที่ดังที่สุดของฮอปเปอร์และถูกนำไปทำซ้ำในหลากหลายเวอร์ชัน เป็นภาพของบาร์และผู้คนจำนวนหนึ่งในบรรยากาศเหงา ๆ ยามค่ำคืนของเมืองที่ร้างไร้ผู้คน มีเพียงแสงสว่างของบาร์และไม่กี่ชีวิตที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในราตรีนี้ โดยบนปกอัลบั้มของ คริส รี ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความเหงานี้ออกมาเป็นภาพบรรยากาศในยามค่ำคืนของชายหนุ่มและหญิงสาวที่นั่งเหงา ๆ อยู่ในบาร์คนละมุม โดยมีตู้เพลงเครื่องหนึ่งตั้งอยู่เป็นเพื่อน ภาพทั้งภาพถูกย้อมด้วยบรรยากาศในโทนสีฟ้าหม่นเหงาตัดด้วยสีแดงของบาร์และ สีแดง-สีเขียวจากหน้าต่างและตัวอาคารใกล้ ๆ ให้ความรู้สึกที่เหงาเคล้าโรแมนติกจริง ๆ

“Nighthawks” (1942)

Rod Stewart – A Night on the Town’

นักร้องเสียงแหบเสน่ห์ ร็อด สจ๊วต (Rod Stewart) เองก็เป็นอีกคนที่นำเอาภาพจิตรกรรมมาใช้เป็นปกอัลบั้มในงานของตัวเอง ในอัลบั้ม ‘A Night on the Town’ จากปี 1976 สจ๊วตได้ใช้ภาพจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ Bal du Moulin de la Galette (1876) หรือ การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต ของ ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศของผู้คนในบ่ายวันอาทิตย์ที่พบทั่วไปที่มูแล็งเดอลากาแล็ตในเขตมงมาตร์ในปารีส ซึ่งชนชั้นแรงงานในปารีสนิยมแต่งตัวกันอย่างสวยงามเพื่อออกไปสังสรรค์ เต้นรำ กินของหวาน (galette) กันจนค่ำ ภาพที่ใช้บนปกนี้เป็นภาพที่ทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ แถมแอบใส่สจ๊วตลงไปในภาพด้วย หากสังเกตดี ๆ จะเห็นชายคนหนึ่งนั่งยิ้มหวานอยู่ตรงกลางภาพนั่นแหละร็อด สจ๊วตล่ะ ต้องบอกว่ารอยยิ้มของสจ๊วตและบรรยากาศรื่นเริงของภาพนี้ช่างเข้ากันดีกับอารมณ์ที่ผู้ฟังจะได้จากการฟังอัลบั้มชุดนี้เลย

Bal du Moulin de la Galette (1876)

The White Stripes – ‘De Stijl’

ปกอัลบั้มของดูโออเมริกันร็อก The White Stripes ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะด้วยเหมือนกัน ซึ่งศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจก็คือศิลปินชาวดัตช์นาม ‘พีต มองเดรียน’ (Piet Mondrian) ศิลปินคนสำคัญผู้ส่งอิทธิพลต่องานศิลปะและการออกแบบในสไตล์โมเดิร์นและศิลปะนามธรรม และยังเป็นผู้บุกเบิกกลุ่มความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า De Stijl (เดอสไตล์) ซึ่งคำคำนี้ The White Stripes ได้นำมาใช้เป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 2 แถมยังเอาเอกลักษณ์ทางศิลปะของมองเดรียนที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยการลดทอนองค์ประกอบต่าง ๆ จนเหลือแค่สีขาว ดำ แม่สี และเส้นรูปทรงเรขาคณิตที่จัดวางออกมาได้อย่างพอดี มาออกแบบเป็นปกอัลบั้มได้อย่างเก๋ไก๋ ด้วยแถบสีขาวและสีแดงบนพื้นดำพร้อมสองสมาชิกวงในชุดขาว มาในแบบมินิมอลเท่ ๆ เข้ากันดีกับงานเพลงของพวกเขาเลย

Composition with Large Red Plane, Yellow, Black, Gray and Blue Painting (1921)

Coldplay – ‘Viva la Vida or Death And All His Friends’

Liberty Leading the People (1830) ผลงานของจิตรกรเอกของโลกนาม เออแฌน เดอลาครัวซ์(Eugène Delacroix) นั้นเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของโลกใบนี้ที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการปฏิวัติโดย ภาพจิตรกรรมนี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสนั่นคือการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมใน ค.ศ. 1830 ซึ่งล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส ภาพวาดนี้ใช้สีน้ำมันบนผ้าใบ แสดงสตรีคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของแนวคิดเสรีภาพ) กำลังพาผู้คนเดินข้ามเครื่องกั้นและกองศพไปข้างหน้า โดยถือธงการปฏิวัติฝรั่งเศส (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นธงชาติฝรั่งเศส) ในมือข้างหนึ่งและปืนคาบศิลาในมืออีกข้างหนึ่ง ภาพนี้ถือเป็นภาพที่ดีที่สุดภาพหนึ่งของเดอลาครัวซ์

ภาพปกของ Coldplay ชุดนี้ออกแบบโดย แทปปิน กอฟตัน ซึ่งเอาภาพ Liberty Leading the People  มาใช้และใส่ชื่ออัลบั้มด้วยรอยปาดป้ายสีขาวทรงพลังเอาไว้ตรงกลางภาพเป็นคำว่า ‘Viva La Vida’ ซึ่งคำคำนี้คริส มาร์ติน (Chris Martin) ฟรอนต์แมนของวงได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดในชื่อเดียวกันนี้ของ ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) อันเป็นภาพวาดแตงโมสีสดใสซึ่งสลักคำว่า ‘Viva La Vida’ เอาไว้เป็นการสดุดีคุณค่าของชีวิต เป็นการสะท้อนมุมมองแง่บวกในช่วงเวลาแห่งความโศกศัลย์ของฟรีดา ดังนั้นในเวลาที่เราได้ฟังเพลง “Viva La Vida” ซิงเกิลดังจากอัลบั้มชุดนี้และเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มพร้อมไปกับมองภาพปกไปด้วย เราจะพบว่าบทเพลงมันสะท้อนพลังงานและจิตวิญญาณของของงานศิลปะที่เป็นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีจริง ๆ

Blur – ‘Think Tank’

ถ้าพูดถึงศิลปินในยุคนี้ชื่อของ แบงก์ซี่ (Banksy) ศิลปินกราฟฟิตี้ชาวอังกฤษผู้ลึกลับที่มีผลงานโดดเด่นจำนวนมาก คงไม่มีทางตกหล่นไปแน่ ๆ เพราะนายคนนี้สร้างสรรค์งานในสไตล์กราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตที่แสบสันแฝงท่าทีประชดประชัน และชวนขบคิดไว้มากมายแถมยังขายผลงานได้ราคาแพงมหาศาล ‘Think Tank’ งานเพลงอัลบั้มชุดสุดท้ายจากวงไอคอนแห่งวงการบริตป๊อปแห่งเกาะอังกฤษ ‘Blur’ ก็ได้รับการออกแบบโดยแบงก์ซี่ ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยรับงานเท่าไหร่ แต่สำหรับงานนี้แบงก์ซี่ก็ให้คำตอบมาแบบกวน ๆ ว่า “ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และสิ่งนั้นก็คืออัลบั้มของ Blur มันเป็นผลงานที่ดีและ (ค่าจ้าง) ก็เป็นเงินจำนวนมากพอสมควรเลยด้วย และนี่แหละที่ผมว่ามันเป็นความแตกต่างที่สำคัญ”  ต้นฉบับปกอัลบั้มชุดนี้ได้ถูกนำมาประมูลในปี 2007 โดยมียอดประมูลอยู่ที่ 75,000 ปอนด์

Lady Gaga – ‘Artpop’

เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) คือศิลปินผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ที่มีผลงานราคาสูงที่สุดในโลก ซึ่งการยกย่องนี้มีที่มาจากผลงานเจ้ากระต่ายสีเงินวาว ‘Rabbit’ ที่สร้างสถิติในงานประมูลงานศิลปะของสถาบันคริสตีด้วยมูลค่าการประมูลสูงถึง 91,075,000 เหรียญสหรัฐ ฯ

ลองคิดดูว่าหาก เจฟฟ์ คูนส์ ทำงานปกอัลบั้มให้ใครมันจะมีมูลค่าสูงขนาดไหน ซึ่งศิลปินคนนั้นก็ไม่ใช่ใครหากคือนักร้องสาว เลดี กากา (Lady Gaga) ที่ชักชวนศิลปินป๊อปอาร์ตคนดังอย่างคูนส์ให้มาทำปกอัลบั้มชุดที่ 3 ของเธอที่มีชื่อว่า ‘Artpop’

ทั้งคู่ได้รู้จักกันครั้งแรกในงานแฟชั่นอีเวนต์ที่ MOMA ซึ่งกากาได้มีโชว์ของเธอที่นั่น ตอนที่เธอเจอคูนส์เธอดีใจมากและเดินไปกอดเอวเขาเอาไว้ ก่อนที่จะบอกความในใจว่า “คุณรู้ไหมเจฟฟ์ ฉันเป็นแฟนตัวยงของคุณเลย ตอนที่ฉันยังเด็กฉันชอบไปเดินเล่นในเซ็นทรัลพาร์กและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานของคุณให้เพื่อน ๆ ฟังอยู่เสมอ” ก็พูดหวานแบบนี้จะไม่ให้พี่คูนส์ปลื้มและยอมออกแบบปกอัลบั้มให้ได้ยังไงล่ะ

Red Hot Chili Peppers – ‘I’m With You

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ศิลปินผู้ใช้สัตว์ ร่างไร้ชีวิตและความตายมาสร้างสรรค์งานศิลปะอันคมคาย ได้ออกแบบปกอัลบั้มให้กับศิลปินวงดนตรี (ก่อนหน้านี้คือปกอัลบั้ม ‘Narcissus Road’ อัลบั้มแรกของวง The Hours) แต่ถึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่ปกอัลบั้ม ‘I’m With You’ ของ Red Hot Chili Peppers ก็เป็นหนึ่งในปกที่ควรค่าแก่การจดจำของ RHCP ภาพเจ้าแมลงวันตัวเป้งที่มาเกาะเม็ดยานี้มันทั้งดูกวน ประหลาด คมคาย อิหยังวะ และเรียบง่ายไปในคราวเดียวกันซึ่งเหมือนกับเป็นการเอาเอกลักษณ์ของเฮิร์สต์และ RHCP มารวมกันเลย

SLUR  – ‘bum’

เห็นปกอัลบั้มชุดที่ 2 ของวง ‘SLUR’  ที่มีชื่อกวน ๆ ว่า ‘bum’ แล้วก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจและเท่ดีจริง ๆ เป็นภาพถ่ายของคนที่โดดจากสปริงบอร์ดลงไปในสระว่ายน้ำ โดยมีน้ำกระเด็นขึ้นมาทำให้รับรู้ถึงแรงกระแทกที่พุ่งลงไปในน้ำ รวมไปถึงเห็นส่วนเท้าของคนที่กระโดดโผล่ขึ้นมา โดยขอบสระมีรูปอาคารโมเดิร์นเรียบ ๆ อยู่ด้วย

ซึ่งต้นฉบับแรงบันดาลใจของภาพถ่ายปกอัลบั้มนี้ แท้ที่จริงแล้วมาจากงานวาดภาพสีอะคริลิกของศิลปินชื่อดังที่ในปัจจุบันนี้ยังเป็นคุณตาสุดแนวที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอยู่เสมอ นั่นก็คือ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ที่งานของเขามักโดดเด่นด้วยภาพสีสันสดใสและมักมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับน้ำอยู่เสมอ โดยภาพที่ใช้เป็นต้นแบบนี้มีชื่อว่า ‘A Bigger Splash’ (1967) พอเอามาเทียบกันแล้วต้องบอกว่าเหมือนกันม๊ากมากเลย ถือว่าเป็นการรีครีเอตจากภาพวาดมาเป็นภาพถ่ายได้เก๋มาก ๆ

‘A Bigger Splash’ (1967)

ที่มา

dailyartmagazine

nme

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส