ซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี แถมยังประกาศสร้างซีซัน 2 เป็นที่เรียบร้อยหลังจากฉายไปตอนเดียวเท่านั้น นับเป็นซีรีส์น้ำดีคุณภาพสูงอีกเรื่องของ HBO ที่ออกมาสู้กับสตรีมมิงรายอื่นได้สมศักดิ์ศรี

ตอนที่ 1 ของ ‘House of the Dragon’ พาเรากลับไปยังดินแดนเวสเทอรอสเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนเหตุการณ์ใน ‘Game of Thrones’ ทำให้มีกลิ่นอายชวนคิดถึงที่แฟนซีรีส์ชุดนี้รู้สึกตื่นเต้นหลายอย่าง ใครแอบเห็น Easter Egg ที่เชื่อมโยงไปถึง ‘Game of Thrones’ ตรงไหนบ้าง ลองมาเช็กดูว่าตรงกับ Easter Egg ที่เรารวมมาให้หรือไม่ (แน่นอนว่าเตือนสปอยล์ไว้ก่อนตรงนี้สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูซีรีส์ ‘Game of Thrones’ และ ‘House of the Dragon’)

‘House of the Dragon’ เริ่มต้นด้วยการประชุมมหาสภา…เช่นเดียวกับตอนจบของ ‘Game Of Thrones’

House of the Dragon

ในซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เราจะเห็นว่าฉากเริ่มต้นของเรื่องราว (และเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของกระตูลทาร์แกเรียน) ก็คือการประชุมมหาสภาเพื่อประกาศตัวทายาทสืบทอดบัลลังก์เหล็กของกษัตริย์เจเฮริส ทาร์แกเรียน ที่ 1 (Jaehaerys I Targaryen) เช่นเดียวกับตอนจบของ ‘Game of Thrones’ ที่มีการประกาศกษัตริย์องค์ใหม่ผู้ครองบัลลังก์เหล็กอย่าง แบรน สตาร์ก (Bran Stark) ภายในการประชุมมหาสภาเช่นเดียวกัน

‘House of the Dragon’ เป็นเหตุการณ์ 172 ปีก่อนการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์บ้า (Mad King)

House of the Dragon

หลังการประชุมมหาสภา เรื่องราวใน ‘House of the Dragon’ ไทม์สคิปไป 9 ปีหลังจากกษัตริย์วิเซริสขึ้นครองราชย์ ซึ่งเราจะได้เห็นข้อความปรากฎบนจอว่า เป็นเหตุการณ์ 172 ปีก่อนการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์บ้าหรือ Mad King เป็นการบอกเล่าแบบง่าย ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องราวของซีรีส์ทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน

ข้อความกล่าวถึง แดเนริส สตอร์มบอร์น (Daenerys Stormborn)

House of the Dragon

นอกจากข้อความช่วงเปิดเรื่องจะกล่าวอ้างอิงถึงกษัตริย์บ้าแล้ว ยังกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนการถือกำเนิดของแดเนริส สตอร์มบอร์น ที่สำคัญเธอยังเป็นคนตระกูลทาร์แกเรียนคนสุดท้ายอีกด้วย ทำให้เรามองเห็นภาพกว้าง ๆ ตั้งแต่จุดรุ่งเรืองของตระกูลทาร์แกเรียนจนถึงจุดจบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

แบล็กไฟร์และดาร์กซิสเตอร์ คือดาบเหล็กวาลีเรียนใน ‘House Of The Dragon’

House of the Dragon

‘House of the Dragon’ มีการกล่าวถึงเหล็กวาลีเรียนอยู่ในหลาย ๆ ฉาก เช่น ตอนที่เดมอนมอบสร้อยคอให้กับเรนีร่า แต่ Easter Egg ที่ทำให้หลายคนตื่นเต้นที่สุดก็คือการพูดถึงดาบที่สร้างจากเหล็กวาลีเรียนอย่างแบล็กไฟร์และดาร์กซิสเตอร์ ดาบสองเล่มซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน ผู้ถือครองดาบแบล็กไฟร์ในอดีตคือเอกอนผู้พิชิต (Aegon the Conqueror) ปฐมกษัตริย์แห่งตระกูลทาร์แกเรียน ส่วนผู้ถือครองดาร์กซิสเตอร์ก็คือพี่สาวผู้กลายเป็นภรรยาของเขา วิเซนยา (Visenya) ดาบทั้งสองเล่มผ่านการผจญภัยมามากมาย เนิ่นนานก่อนเกิดเหตุการณ์ใน ‘House of the Dragon’ ซะอีก แต่พวกมันกลับหายไปในช่วงของ ‘Game of Thrones’

เรนีร่าและอลิเซนต์พูดคุยกันถึงเจ้าหญิงไนมีเรีย

House of the Dragon

เป็นอีกหนึ่งฉากของ ‘House of the Dragon’ ที่ทำให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานและลึกล้ำของจักรวาลแห่งนี้ นั่นคือการพูดคุยของสองสาวเรนีร่าและอลิเซนต์ถึงเจ้าหญิงไนมีเรีย (Nymeria) เจ้าหญิงนักรบในตำนานผู้สร้างตระกูลมาร์เทล (Martell) นอกจากนี้การพูดถึงเรื่องราวของไนมีเรียในฉากนี้ยังเป็นการอ้างถึงซีรีส์ภาคแยกอย่าง ‘10,000 Ships’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงไนมีเรียอีกด้วย

ราชินีเอ็มมา (Queen Aemma) กับอ่างน้ำร้อน

House of the Dragon

ฉากราชินีเอ็มมาแช่น้ำร้อนในอ่างเพื่อผ่อนคลายร่างกายที่หนักอึ้งจากการทรงครรภ์ เป็นอีกหนึ่ง Easter Egg ที่ทำให้นึกถึงฉากการอาบน้ำของแดเนริส แต่ขณะที่เอ็มมาทนรับได้แค่น้ำอุ่น แดเนริสกลับมีร่างกายที่ทนต่ไฟและความร้อน อย่างที่เราได้เห็นกันใน ‘Game of Thrones’

เดมอน ทาร์แกเรียน (Daemon Targaryen) คือผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมือง

House of the Dragon

เจ้าชายเดมอน ทาร์แกเรียน คือผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมืองหรือก็คือหน่วยผ้าคลุมทองที่เราคุ้นเคยกันดีใน ‘Game of Thrones’ นั่นเอง หน่วยผ้าคลุมทองมีบทบาทสำคัญในช่วงต้นของซีรีส์ ‘Game of Thrones’ และมีบทบาทอยู่ตลอดเรื่อง เนื่องจากเป็นกองกำลังส่วนตัวของผู้มีอำนาจ

ตราประจำตระกูลต่าง ๆ และการประลอง

House of the Dragon

การประลองเพื่อเฉลิมฉลองการถือกำเนิดทายาทสืบทอดของกษัตริย์วิเซริสเป็นอีกหนึ่ง Ester Egg ที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้นึกถึงการประลองที่จัดขึ้นเพื่อฉลองให้กับ เน็ด สตาร์ก (Ned Stark) ที่กลายเป็นหัตถ์พระราชาแล้ว ยังทำให้เราเห็นตราประจำตระกูลต่าง ๆ มากมาย เช่น ตรามังกรแดงสามหัวบนพื้นดำซึ่งเป็นตราประจำตระกูลทาร์แกเรียน, ตราหมาป่าไดร์วูล์ฟของตระกูลสตาร์ก, ตราสิงโตทองคำของตระกูลแลนนิสเตอร์, ตรากวางสีดำบนพื้นสีเหลืองของตระกูลบาราเธียน, ตราจุดสีดำบนพื้นแดงของตระกูลโคล, ตราหอคอยที่ลุกไหม้ของตระกูลไฮน์ทาวเวอร์ เป็นต้น

ส่วนรายละเอียดเล็กน้อยที่ถูกดัดแปลงจากในหนังสือก็คือการประลองที่เซอร์คริสตัน โคลเอาชนะเจ้าชายเดมอนในหนังสือเกิดขึ้นที่เมเดนพูล ไม่ใช่ที่คิงส์แลนดิง และการประลองก็จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่กษัตริย์วิเซริสขึ้นครองราชย์ ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อฉลองการกำเนิดของทายาทสืบบัลลังก์

‘House Of The Dragon’ เริ่มต้นด้วยการตายของคนตระกูลแอร์ริน เช่นเดียวกับ ‘Game Of Thrones’

House of the Dragon

เรื่องราวสุดเข้มข้นของ ‘Game of Thrones’ เริ่มต้นด้วยความตายของ จอน แอร์ริน (Jon Arryn) หัตถ์พระราชา ผู้เป็นมือขวาของกษัตริย์โรเบิร์ต บาราเธียน (Robert Baratheon) ทำให้ เน็ด สตาร์ก ถูกขอร้องแกมบังคับให้มาเป็นมือขวาคนใหม่จนนำไปสู่เรื่องราวตามที่เราได้เห็น ส่วน ‘House of the Dragon’ ราชินีเอ็มมา แอร์ริน ภรรยาของกษัตริย์วิเซริสก็สิ้นพระชนม์ระหว่างให้กำเนิดบุตร เป็นความตายที่นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่เราจะได้เห็นกันในอนาคต

“ดราคาริส”

House of the Dragon

“ดราคาริส” คือหนึ่งในประโยคไอคอนที่แฟน GoT จำได้ดี เมื่อแดเนริสเอ่ยประโยคนี้ครั้งแรก มันทั้งทรงพลัง เต็มไปด้วยความมั่นใจ และน่าเกรงขาม ขณะที่เรนีร่ากลับต้องเอ่ยมันออกมาด้วยความทนทุกข์ เพราะเธอไม่ได้ใช้ไฟของมังกรเพื่อเผาศัตรู แต่ใช้เพื่อเผาร่างของแม่และน้องชายของตัวเอง

การอ้างอิงถึงหนังสือ Feast For Crows

House of the Dragon

อีกหนึ่ง Easter Egg ที่น่าสนใจของ ‘House of the Dragon’ ซีซัน 1 ก็คือการอ้างอิงถึงผลงานของ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R.R. Martin) นั่นคือหนังสือเรื่อง A Feast for Crows (ชื่อไทย กาดำสำราญเลือด) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือชุด A Song of Ice and Fire โดยกษัตริย์วิเซริสกล่าวว่า “…ต้องทนทุกข์กับอีกาที่มากินซากศพของพวกมัน” แม้ประโยคจะไม่ได้ถอดมาจากหนังสือแบบตรงเป๊ะ แต่ก็สอดคล้องกับชื่อเรื่องและเนื้อหาของ A Feast for Crows ที่กล่าวถึงความสยดสยองของสงคราม ชะตากรรมของผู้คนมากมายที่รออยู่ และความตายในเวสเทอรอส

หัวกะโหลกของ บาเลเรียน (Balerion) มฤตยูดำ

House of the Dragon

‘House of the Dragon’ จะกล่าวถึงมังกรหลายตัว แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีตัวไหนเทียบได้กับความยิ่งใหญ่ของบาเลเรียน สมญานามของมันคือ “มฤตยูดำ” มังกรที่ครั้งหนึ่งกษัตริย์เอกอนผู้พิชิตเป็นผู้ขี่มัน หัวกะโหลกขนาดใหญ่ยักษ์ของมันปรากฎอยู่ในตอนที่ 1 พร้อมกับกษัตริย์วิเซริสซึ่งเป็นผู้ได้ขี่มังกรบาเลเรียนเป็นคนสุดท้าย เขาขี่มังกรบาเลเรียนได้ประมาณ 1 ปีก่อนที่มันจะตาย ทำให้ไทม์ไลน์ปัจจุบันในเรื่อง เวการ์ (Vhagar) กลายเป็นมังกรที่ตัวใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเวสเทอรอส

ต้นเวียร์วูดในคิงส์ แลนดิ้ง

House of the Dragon

ต้นไม้โบราณเก่าแก่ที่วินเทอร์เฟลคือหนึ่งในสัญลักษณ์ของ ‘Game of Thrones’ และมีความเกี่ยวข้องกับทางเหนือของดินแดนเวสเทอรอส แต่ในซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เราจะได้เห็นต้นเวียร์วูดในป่าเทพเจ้า (Godswood) ที่คิงส์ แลนดิ้ง เป็นฉากหลังระหว่างที่สองสาวเพื่อนรักเรนีร่าและอลิเซนต์พูดคุยกันในช่วงเวลาพักผ่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจเข้าใจกันว่าต้นเวียร์วูดถูกตัดขาดกับชาวแอนดัลในเวสเทอรอสมานานก่อนจะเกิดเหตุการณ์ใน ‘House of the Dragon’ แต่เวียร์วูดต้นนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่อาจถูกปลูกไว้โดยทาร์แกเรียนบางคน นอกจากนี้ในตอนที่ 1 ยังมีการเอ่ยถึง “ทวยเทพทั้งเก่าและใหม่” ด้วย

การล่มสลายของวาลีเรีย

House of the Dragon

การล่มสลายของวาลีเรียถูกเอ่ยถึงสั้น ๆ ใน ‘House of the Dragon’ โดยในเรื่องไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรมากนัก แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าเกิดภัยพิบัติบางอย่างขึ้นจนทำให้วาลีเรียเก่าล่มสลาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 100 ปีก่อนยุคของเอกอนผู้พิชิต เหตุการณ์ล่มสลายของวาลีเรียครั้งนั้นเกิดจากเปลวไฟของวงแหวนภูเขาไฟทั้ง 14 ลูกที่รายล้อมคาบสมุทรวาลีเรียอยู่ปะทุออกมา ทำให้ผู้คน สถานที่ แม้กระทั่งมังกรถูกทำลาย แต่ตระกูลทาร์แกเรียนรอดมาได้เพราะพวกเขาออกเดินทางจากวาลีเรียมายังดราก้อนสโตน เนื่องจาก แดนิส หนึ่งในบรรพบุรุษของเอกอน เห็นนิมิตเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า

นิมิตของเอกอน ที่มาของลำนำแห่งน้ำแข็งและไฟ (A Song Of Ice and Fire)

House of the Dragon

เรียกได้ว่าเป็นการเปิดเผยครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้สำหรับการเอ่ยถึงนิมิตของเอกอน ก่อนประกาศให้เรนีร่าเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์เหล็ก กษัตริย์วิเซริสได้เผยความลับที่สืบทอดต่อมาในบรรดาทายาทว่า เอกอนเห็นนิมิตของฤดูหนาวอันโหดร้าย ความมืดที่อาจกลายเป็นจุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แน่นอนว่าความฝันในครั้งนี้หมายถึงไนต์คิงและเหล่าไวต์วอล์กเกอร์ เอกอนเรียกนิมิตของเขาว่า “ลำนำแห่งน้ำแข็งและไฟ” เพราะเขาเชื่อว่า มีแค่ตระกูลทาร์แกเรียนซึ่งครองบัลลังก์เหล็ก (ไฟ) เท่านั้นที่จะต่อกรกับเหล่าไวต์วอล์กเกอร์ (น้ำแข็ง) ได้ เชื่อว่าแฟน GoT ต้องมีกรี๊ดกันบ้างในฉากนี้ เพราะนอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่เราได้เห็นใน ‘Game of Thrones’ แล้ว นี่ยังเป็นชื่อหนังสือชุด A Song Of Ice and Fire อีกด้วย

วิเซริสครอบครองกริชแคทส์พาว (The Catspaw Dagger) กริชที่อาร์ยาใช้ปลิดชีพไนต์คิง

House of the Dragon

นอกจากจะเป็นผู้ครอบครองดาบเหล็กวาลีเรียนแล้ว กษัตริย์วิเซริสยังมีอาวุธที่ทำจากเหล็กวาลีเรียนอีกหนึ่งชิ้น นั่นคือกริชแคทส์พาว มันไม่ใช่กริชธรรมดา เพราะอีก 200 ปีต่อมากริชเล่มนี้ถูกใช้ในการพยายามสังหารแบรน สตาร์ก และไม่กี่ปีหลังจากนั้นอาร์ยา สตาร์ก ได้ใช้กริชเล่มนี้สังหารไนต์คิง อาจดูไม่แปลกเท่าไรที่ตระกูลทาร์แกเรียนจะเป็นผู้ครอบครองกริชเล่มนี้มาก่อน เพราะมันทำจากเหล็กวาลีเรียนและตัวด้ามยังทำมาจากกระดูกมังกร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวิเซริสสัมผัสกริชเล่มนี้ไปด้วยระหว่างที่เขาเอ่ยถึงนิมิตของเอกอน

“สัญญากับข้า…”

House of the Dragon

เมื่อวิเซริสเผยความลับเรื่องนิมิตของเอกอนให้กับเรนีร่า เขากล่าวว่า “สัญญากับข้าสิ เรนีร่า สัญญา” เป็น Easter Egg แสนเศร้าที่อ้างไปถึงเหตุการณ์ระหว่างเน็ด สตาร์กและลีอานนาผู้เป็นน้องสาว เพราะนี่คือประโยคสุดท้ายที่เธอเอ่ยกับเน็ดที่ทาวเวอร์ออฟจอย (Tower of Joy) หลังเธอมอบทารกที่เพิ่งถือกำเนิดให้กับเขาก่อนตัวเองจะสิ้นใจ เธอขอให้เน็ดสัญญาว่าจะเลี้ยงดู จอน สโนว์ ในฐานะลูกนอกสมรสของเน็ด เพื่อให้เขาเติบโตอย่างปลอดภัยและจะไม่เปิดเผยชาติกำเนิดที่แท้จริงของจอนเป็นอันขาด

เพลงธีมของ ‘Game Of Thrones’ ถูกนำมาใช้ใน ‘House Of The Dragon’

House of the Dragon

‘House of the Dragon’ ได้ตัวผู้ประพันธ์เพลงอย่าง รามิน จาวาดี (Ramin Djawadi) ผู้เคยแต่งเพลงประกอบให้กับ ‘Game of Thrones’ กลับมาอีกครั้ง ในซีรีส์ภาคนี้จึงมีการนำท่วงทำนองที่คุ้นหูกันดีกลับมาด้วย ซึ่งมันก็ออกมาลงตัวกับหลาย ๆ ฉาก รวมถึงการนำเพลง Intro ของ ‘Game of Thrones’ มาใช้ นอกจากนี้ยังมีการนำเพลงธีมของตระกูลทาร์แกเรียนจาก GoT มาใช้ในซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

สามารถรับชม ‘House of the Dragon’ ตอนใหม่ได้ทุกวันจันทร์ ทาง HBO Go

ที่มา: screenrant.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส