[รีวิว] Faces of Anne – เราต่างเป็นแอนและไม่เป็นแอน หนังแนวคงเดชที่ช็อตฟีลรุนแรงที่สุด
Our score
9.5

Release Date

13/10/2022

แนว

ระทึกขวัญ

ความยาว

1.56 ช.ม. (116 นาที)

เรตผู้ชม

น 13+

ผู้กำกับ

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ราสิเกติ์ สุขกาล

SCORE

9.5/10

[รีวิว] Faces of Anne – เราต่างเป็นแอนและไม่เป็นแอน หนังแนวคงเดชที่ช็อตฟีลรุนแรงที่สุด
Our score
9.5

Faces of Anne | แอน

จุดเด่น

  1. การนำเสนอโดดเด่น บทน่าสนใจ วิธีการเล่าแบบเดจาวูน่าสนใจมาก และเต็มไปด้วยรหัสลับที่แฝงนัยเอาไว้ได้รุนแรงมาก
  2. ฉากทริลเลอร์โหดพอตัว อาจจะไม่ได้ถึงกับแรงสมใจคอหนังโหด แต่ถือว่าสอบผ่าน
  3. งานวิชวลโดดเด่น สวยคม ทำงานอยู่หมัด บรรยากาศระทึก
  4. ตัวหนังเรียกว่าเกินจากเรื่องย่อ ตัวอย่าง หรือแม้แต่รีวิวไปเยอะ แนะนำว่า ทำตัวให้รู้น้อย ๆ แล้วเข้าไปปะทะเลยน่าจะเวิร์กกว่า
  5. แม้ว่าจะโผล่มาคนละนิดหน่อย แต่ถือว่ากระจายบทได้ดี หลายซีนของหลายคนน่าสนใจ แอร์ไทม์ไม่มากไม่น้อยเกินไป และการขนนักแสดงหญิงวัยรุ่นมาเยอะขนาดนี้ก็ไม่ได้มาเพื่อเอามาโปะหน้าหนังสวย ๆ หรือขายอาหารตาแบบตีหัวเข้าบ้าน
  6. ส่งประกวด ส่งไปฉายเมืองนอกเถอะครับ รับรองว่าไปโลดแน่นอน

จุดสังเกต

  1. นี่ไม่ใช่หนังของทุกคนแน่นอน แต่มันจะเป็นหนังของคุณแน่ ๆ ถ้าคุณเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เจ็บปวด และคุณคือผู้ใหญ่ที่เปิดใจ แม้ว่าตอนจบจะเป็นปลายเปิดมาก ๆ แต่คุณจะดูมันอย่างรู้สึกดำดิ่งและเข้าใจมันในตอนท้าย
  2. จังหวะหนังอาจหนืดไปหน่อยสำหรับคอหนังแมส
  • คุณภาพด้านการแสดง

    9.2

  • คุณภาพโปรดักชัน

    10.0

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    9.5

  • ความบันเทิง

    9.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    10.0


สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

แม้ว่าผลงานการกำกับหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (Where We Belong)’ (2562) จะเว้นช่วงมานานเกือบ ๆ จะ 4 ปีได้แล้ว แต่ชื่อของพี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี เรียกว่าไม่ได้หายไปไหนไกลนะครับ ถ้าใครจำกันได้ เพราะพี่คงเดชนี่แหละที่เป็นคนเขียบทร่วมให้กับซีรีส์สุดแรงอื้อฉาว ‘เด็กใหม่’ ทั้งซีซัน 1 (2561) และซีซัน 2 (2564) จนมาปีนี้ พี่คงเดชเลยได้กลับมาอีกครั้งใน ‘Faces of Anne’ หรือในชื่อไทยห้วน ๆ ว่า ‘แอน’ ความน่าสนใจอยู่ที่ครั้งนี้เป็นการกำกับร่วมครั้งแรกของพี่คงเดช กับ ราสิเกติ์ สุขกาล ที่เคยทำงานกับหนังของคงเดช ในฐานะผู้กำกับศิลป์ให้กับหนังของพี่คงเดชหลาย ๆ เรื่องทั้ง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ (2554),’Snap แค่…ได้คิดถึง’ (2558), ‘ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (Where We Belong)’ (2562) และทำหน้าที่ออกแบบงานสร้างให้กับ ‘Mary is happy, Mary is happy’ (2556) ที่การันตีฝีมือด้วยรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม

Faces of Anne แอน

และแน่นอนว่า พอพี่คงเดชทำหนังทั้งที ก็เหมือนเป็นสิ่งที่แฟนหนังตั้งตารอคอยไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ ความเป็น ‘หนังแนวคงเดช’ ที่หลายคนรอคอยว่า คราวนี้พี่คงเดช (ในฐานะคนเขียนบท) จะเลือกหยิบเอาประเด็นอะไรมาใส่ผ่านเรื่องราวและสัญญะต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับปัญหาความอึดอัดที่ล้อมรอบตัวของคนยุคนี้ ความกดทับของสังคมที่เกี่ยวพันกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องปัจเจกในความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละคนในฐานะหน่วยของสังคม เรื่อยจนไปถึงระบบ ระบอบ และผู้มีอำนาจ (ทั้งในเชิงตำแหน่งหรือความนับถือ) หรือแม้แต่การถ่ายทอดเรื่องราวของอนาคตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ยาวไกลและมีแต่ความไม่แน่นอน

Faces of Anne แอน

จริง ๆ แล้วปกติผู้เขียนมักจะใส่เรื่องย่อ หรือ Synopsis ของหนังลงในบทความด้วยเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับตัวหนังได้ง่าย ๆ นะครับ แต่กับ ‘Faces of Anne’ หรือ ‘แอน’ เนี่ย แอบเล่ายากแฮะ แต่คอนเซ็ปต์หลัก ๆ ก็คือ ตัวหนังนั้นขับเคลื่อนด้วยตัวละครเพียงตัวเดียว นั่นก็คือหญิงสาวที่มีชื่อว่า ‘แอน’ แอนถูกปล่อยมาอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยทางจิตในสถานที่ลึกลับแห่งหนึ่ง เธอมาพร้อมกับความจำอันเลือนลางแต่ความน่ากลัวไม่ใช่แค่นั้น เพราะเธอยังต้องเผชิญกับปีศาจร้ายที่มีชื่อว่า ‘เวติโก’ (Vetico) ปีศาจหัวเป็นกวาง ตัวเป็นคนที่คอยออกไล่สังหารพวกเธอยามวิกาล แอนมีเพียงอย่างเดียวที่ต้องทำคือ การค้นหาทางออกจากสถานที่ลึกลับแห่งนี้ ก่อนที่จะโดนเวติโกสังหารอย่างโหดเหี้ยม

Faces of Anne แอน

คราวนี้หนังแนวคงเดชดูจะเปลี่ยนรสชาติไปอย่างสิ้นเชิงเลยครับ เพราะมันไม่ใช่หนังดราม่าชีวิตเส็งเคร็งของวัยรุ่น ที่ครอบทับด้วยสัญญะและประเด็นทางสังคม รวมถึงพยายามบันทึกห้วงความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคมเวลานั้น ๆ (และรวมถึงตัวเขาเอง) เอาไว้อย่างเนียนเรียบและไม่โฉ่งฉ่างเหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่มันเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องด้วยความเป็นหนังทริลเลอร์ไฮคอนเซ็ปต์ที่สมัยนี้คงต้องใช้คำว่าช็อตฟีลมาก ๆ เพราะมันกลายร่างเป็นหนังแมสพยายามอินดี้ที่โอบล้อมด้วยบรรยากาศหนังแนวทริลเลอร์เขย่าขวัญที่มีกลิ่นอายเฮี้ยน ๆ แบบหนังทริลเลอร์ของ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) หรือแม้แต่หนังเพี้ยน ๆ ของค่าย A24 อะไรทำนองนั้นไปเลย ใครที่หวังว่าจะไปดูเพื่อหวังว่าอยากเห็นเวติโกไล่เชือดสาว ๆ แบบเอาสนุกเอาโหดนี่น่าจะผิดหวังมิใช่น้อย

Faces of Anne แอน

จริง ๆ แล้วพาร์ตความเป็นหนังทริลเลอร์ก็ถือว่าทำได้ถึงและสอบผ่านนะครับ เป็นหนังทริลเลอร์ที่มีการคุมโทน ออกแบบบรรยากาศและวิชวลได้น่าสนใจ ประหลาดแปลก และเฉียบขาดเรื่องหนึ่งเลยแหละ แต่ที่บอกว่าอาจจะทำให้บางคนผิดหวังแน่ ๆ ก็อาจจะเป็นเพราะแม้ตัวหนังจะยังมีฉากไล่ล่าหนีตาย บรรยากาศเขย่าขวัญ และฉากโหดที่โหดสนุก แม้จะไม่ได้มี Jump Scare แรง ๆ อะไรขนาดนั้น แต่ด้วยวิชวลที่ขับเน้นเรื่องราวของตัวหนังและแฝงสัญญะบางอย่างที่ค่อย ๆ ทวีความแปลกประหลาดขึ้นมาทีละนิด ๆ ผนวกกับพล็อตเรื่องที่ค่อย ๆ แง้มให้คนดูรู้ไปพร้อม ๆ กับตัวหนังทีละน้อยอย่างที่เรียกได้ว่าเชื่องช้าเลยแหละ แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้มีปัญหากับการเดินเรื่องอะไรมากมาย ก็อาจจะทำให้คอหนังสายแมสจิ๊ปากเอาได้ง่าย ๆ

Faces of Anne แอน

พอไปถึงจุดหนึ่ง เราก็จะพอจับจุดได้ว่า นี่คือ Psycho Thriller หรือหนังทริลเลอร์จิตวิทยาแนวคงเดชครับ แน่นอนแหละว่ามันก็จะต้องมีสัญญะอะไรบางอย่างที่แฝงเอาไว้ที่คนดูอยากเห็น แต่แทนที่ตัวหนังจะเก็บงานเรียบร้อย แล้วรอให้เราไปขุดกระเทาะเอาเองเหมือนหนังเรื่องอื่น แต่หนังเรื่องนี้กลับค่อย ๆ เขย่าขวัญเราด้วยสัญญะที่มาในรูปแบบวิชวลที่มีความแปลกประหลาด และองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพยนตร์ ทั้งบท การเล่าเรื่อง มุมกล้อง พรอป โลเกชัน ไดอะล็อก การแสดง และภาษาหนังที่เต็มไปด้วยสัญญะอะไรบางอย่างที่คล้าย ๆ ว่าหนังแนวคงเดชคราวนี้จะเลือกทิ้งรหัสลับให้เรารู้สึก Trigger อะไรบางอย่างอย่างมีชั้นเชิง ทั้งที่มาแบบโต้ง ๆ และอันที่ตะหงิด ๆ ต้องกลับไปคิดต่อหลังดูจบ ไล่ตั้งแต่ชุดที่แอนและพยาบาลใส่ (แอนใส่ชุดเหลือง พยาบาลใส่ชุดแดง) นักจิตวิทยาทำอะไร เพื่ออะไร เวติโกเป็นใคร ทำไมเวติโกต้องเป็นหัวกวาง สถานที่ที่แอนอยู่คืออะไร ทำไมทุกคนถึงชื่อแอน ใครกันแน่คือแอนตัวจริง และแท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการจับตัวแอนมาไว้รวมกันมันสื่อถืงอะไรกันแน่

Faces of Anne แอน

มันอาจเป็นรหัสลับที่คงเดชและราสิเกติ์ต้องการจะสื่อถึงประเด็นเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ในโลกปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวที่ถูกทับซ้อนและเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะว่าไปมันก็อาจจะเป็นส่วนต่อขยายมาจากประเด็นใน ‘Where We Belong’ อยู่เล็ก ๆ ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความมีอิสระและเสรีภาพ การรู้สึกถึงความมีตัวตน การรื้อสร้าง และทำลายตัวตนของเราเองในถิ่นที่ต่าง ๆ เราอาจเป็นได้ทั้งแอนและไม่ใช่แอน เราอาจเลือกเป็นและไม่เลือกเป็นแอน และคนอื่นก็อาจอยากให้เราเป็นแอนและไม่อยากให้เป็นแอนด้วยเช่นกัน รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับช่วงวัย (Generation) ที่ล้วนแล้วแต่มีปัญหาเป็นของตัวเอง รอยโรคทางจิตวิทยาที่เกิดจากสภาวะจิตใจอันบอบช้ำ และความกดทับที่มาจากปัญหาสังคมและผู้ปกครอง

Faces of Anne แอน

ในขณะที่ตัวหนังเองก็ยังท้าทายด้วยการใส่ประเด็นบางอย่างทางการเมืองที่ถือว่าโจ่งแจ้งลงมาในหนัง ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นการทะเยอทะยานของผู้กำกับที่ถือว่าทะลุเพดาน ช็อตฟีล และอาจจะอันตรายที่สุดของบรรดาหนังแนวคงเดช (และหนังไทย) แล้วล่ะครับ เป็นหนังแนวคงเดชยุคหลังที่ชวนให้เรา Trigger เรื่องประเด็นสังคม การเมืองในยุคสมัยนี้ มุมมองเรื่องของวัย สภาวะทางจิต การถูกกดทับจากสังคมและผู้มีอำนาจได้รุนแรงและไม่ปรานีปราศรัยที่สุดแล้วล่ะ ไม่อาร์ตลึกจนหนักหัว แต่ก็ไม่ตื้นเขินอย่างไร้กาลเทศะ มันจึงไม่ใช่หนังมหรสพที่เหมาะสำหรับทุกคนแน่นอน เพราะมันก็เรียกร้องความตั้งใจในการดูหนังของคนดูเยอะอยู่เหมือนกัน

Faces of Anne แอน

และตัวหนังเองก็ฉลาดที่เลือกจะวางบทสรุปเอาไว้เป็นปลายเปิด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ทำให้การถอดรหัสที่ได้ของแต่ละคนนั้นมีความคล้ายคลึง แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว และอาจทำให้บางคนอาจไม่ Relate กับประเด็นที่หนังสื่อ บางคนอาจงงแตกกับวิชวลและการนำเสนอที่เฮี้ยนจัด บางคนอาจรู้สึกว่าต้องเอารหัสที่ได้ไปขบคิดต่ออีกหลายตลบ บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับประเด็น (และอาจพาลเกลียดผู้กำกับไปเลย) ในขณะที่บางคนที่จับจุดได้ อาจเฉย ๆ กับประเด็นเหล่านั้น แต่เชื่อได้ว่าหลายคนก็อาจจะรู้สึกได้ถึงความขมปี๋ หม่นหมอง หดหู่กับประเด็นที่หนัง Trigger เรา ทาบทับกับความรู้สึกต่อสังคมอันบิดเบี้ยวที่เราต้องเผชิญ จนอาจถึงกับน้ำตาซึมเหมือนกับผู้เขียนเลยก็ได้

Faces of Anne แอน

ส่วนในด้านการแสดงก็ต้องถือว่าเป็นความใจกล้าของทั้ง 2 ผู้กำกับอีกเช่นกันที่ขนทัพนักแสดงสาววัยรุ่น ทั้งศิลปิน นักแสดง ไอดอล และอีกหลายคนที่ไม่ได้มีชื่อในหน้าหนังมารับบทแอน ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ยังมีบางแอนที่โดดเด่นมากน้อยแตกต่างกันไปตามการดำเนินเรื่อง ไม่ได้เท่าเทียมกันเป๊ะ ๆ ขนาดนั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุก ๆ แอนต่างก็มีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ และดูจะมีจุดเชื่อมโยงในความเป็นแอนของแต่ละคนได้อย่างลื่นไหลต่อเนื่อง ซึ่งถ้าดูหนังไปถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าใจแน่นอนว่าทำไมในหนังต้องมีแอนเยอะแยะขนาดนี้ ทำไมทุกคนถึงชื่อแอนเหมือนกัน แอนแต่ละคนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนหนังและสารที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อได้อย่างไรบ้าง

Faces of Anne แอน

โดยสรุป ‘Faces of Anne’ หรือ ‘แอน’ คือหนัง Psycho Triiler ที่ช็อตฟีล ท้าทาย และย่อยยากที่สุดในบรรดาหนังแนวคงเดชทุกเรื่องแล้วล่ะครับ เป็นหนังที่ช็อตฟีลด้วยความทะเยอทะยานขั้นสุด นำเสนอด้วยวิชวลที่ประหลาด สุดเหวี่ยง การนำเสนอที่ไม่มีประนีประนอม และสัญญะในรูปของรหัสลับที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของหนังไทยแล้วล่ะ เป็นหนังที่วางปมเอาไว้ให้เราได้ขบคิดไปจนจบเรื่อง หรือแม้แต่หลังดูจบ มันจึงเป็นหนังที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรรู้อะไรเลยด้วยซ้ำครับ ไปดูแบบหัวว่าง ๆ แล้วไปรู้เรื่องพร้อมกับหนังเลยจะดีมาก ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นหนังที่สนุกด้วยซีนเขย่าขวัญไล่ล่า และเขย่าขวัญยิ่งกว่าด้วยประเด็นที่ทะลุเพดาน ทั้งเพดานหนังไทย และเพดานประเด็นสังคมการเมืองที่แอบเสียวเล็ก ๆ และเอาเข้าจริง ผู้เขียนมองว่าหนังเรื่องนี้ควรเดินสายไปฉายหรือประกวดที่ต่างประเทศเสียเหลือเกิน

Faces of Anne แอน

และเป็นหนังที่ควรจะไปดูเองที่โรงหนังนะครับ ด้วยวิชวลและบรรยากาศมันน่าจะทำงานในโรงหนังมากกว่าบนจอทีวีที่บ้านแน่ ๆ และที่สำคัญคือมันน่าจะบังคับเราให้จดจ่อตั้งใจกับมันได้ดีกว่าแน่นอน มันเป็นหนังที่ไม่ง่ายสำหรับคนดูหนังสายแมส และยิ่งกว่าแน่นอนก็คือ มันไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะชอบ มันเป็นหนังที่พูดถึงความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่ และแทนใจคนยุคนี้ (โดยเฉพาะคนไทย) ได้รุนแรงและตรงที่สุดเรื่องหนึ่ง นี่จึงเป็นหนังที่คนรุ่นใหม่ไม่ควรพลาด เป็นหนังที่ควรเข้าไปดูแล้วเอามาถกเถียงกันต่อในโซเชียล ไม่ว่าจะทั้งประเด็นในหนัง หรือสิ่งที่หนังทิ้งประเด็นไว้ให้กับคนดู อีกทั้งยังเป็นหนังที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่เปิดใจกว้าง แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เผด็จการใจแคบ


Faces of Anne แอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส