หลังจากที่ห่างว่างเว้นจากการออกอัลบั้มมากว่า 4 ปี ในที่สุด ‘Arctic Monkeys’ วงดนตรีอินดี้ร็อก/โพสต์-พังก์ รีไววัลจากเชฟฟิลด์ (Sheffield) ก็ได้เวลากลับมาโชว์ความเก๋ากันอีกครั้งกับงานเพลงชุดใหม่อัลบั้มเต็มชุดที่ 7 ที่ใช้ชื่อว่า ‘The Car’ ที่ต่อยอดความคูลแบบหรู ๆ มาจากอัลบั้มชุดก่อนอย่าง ‘Tranquility Base Hotel & Casino’ โดยในอัลบั้มนี้ได้ลดดีกรีความไซ-ไฟจากอัลบั้มก่อนมาเป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้น

‘The Car’ มาพร้อม 10 เพลงใหม่ที่โปรดิวซ์โดย เจมส์ ฟอร์ด (James Ford) และบันทึกเสียงที่ Butley Priory ในซัฟโฟล์ก, La Frette ในปารีส และ RAK Studios ในลอนดอน โดยผลงานใหม่นี้จะแตกต่างออกไปจาก ‘Tranquility Base Hotel & Casino’ อัลบั้มก่อนนี้ที่ออกมาในปี 2018 ซึ่งมีเนื้อร้องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุคอวกาศ พร้อมแนวดนตรีแบบอาวอง-การ์ดและการใช้เปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลักให้ความรู้สึกสบายเหมือนได้ฟังเพลงในโรงแรมหรูท่ามกลางกลิ่นอายของความเป็นไซ-ไฟ แต่กับ ‘The Car’ นั้นมันจะแตกต่างออกไป อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ (Alex Turner) ฟรอนท์แมนของวงได้นิยามความเป็นอัลบั้มชุดใหม่นี้ว่า “ในอัลบั้มนี้ [The Car] เราจะออกมาจากความเป็นไซ-ไฟ และกลับมายังโลกแล้ว”

Arctic Monkeys

งานดนตรีใน ‘The Car’ มีการผสมผสานงานดนตรีที่หลากหลายทั้ง ออร์เคสตราร็อก เลานจ์ป๊อป ป๊อปบาโรก และฟังก์ ตลอดจนองค์ประกอบของดนตรีแจ๊ส นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากดนตรีโซล ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แกลมร็อค บอสซาโนวา เพลงประกอบภาพยนตร์แนวป๊อปและวินเทจอีกด้วย เรียกได้ว่ามากันแทบจะทุกแนว

จุดเด่นด้านซาวด์ในอัลบั้มชุดนี้คิอการที่ชุ่มโชกไปด้วยซาวด์ดนตรีออร์เคสตราที่หลอมเข้าไปในเนื้อหาของบทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องของความรัก ความปรารถนา และความพิศวงสงสัยในชีวิต การเดินทางเข้าไปในวงกตแห่งเรื่องราวและเสียงดนตรีใน The Car คล้ายกำลังขับรถเข้าไปในม่านหมอก หลายอย่างไม่ได้กระจ่างชัดคล้ายดั่งที่ใครสักคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ‘ความจริงที่เรียบง่ายนั้นเป็นสิ่งที่ค้นพบได้ยากยิ่ง’

“ในอัลบั้มนี้ เสียงสตริงจะเข้าและออกไปมา มีการโยกย้ายอย่างตั้งใจและทุกสุ้มเสียงจะมีพื้นที่ของตัวเอง บางช่วงเราจะเอาวงมาอยู่ข้างหน้า บางเวลาก็จะเอาเสียงสตริงเด่นออกมา”

เทอร์เนอร์เล่าถึงแนวทางในการสร้างสรรค์งานเพลงชุดนี้ด้วยเสียงสตริงและออร์เคสตรา นอกจากนี้ยังบอกว่า ‘The Car’ ทำให้พวกเขารู้สึก ‘เชื่อมต่อ’ กับช่วงเวลาที่ Arctic Monkeys เปิดตัวครั้งแรกในปี 2002 เมื่อพวกเขาทำงานร่วมกันด้วย “สัญชาตญาณบริสุทธิ์”

“คุณแค่ต้องทำตามสัญชาตญาณในแบบเดียวกับที่คุณทำบางสิ่งบางอย่างในครั้งแรก” เทอร์เนอร์อธิบาย

“มันเป็นการตอบสนองที่ผมมีต่อบางสิ่งที่เราแต่งขึ้นมา บางสิ่งที่ฟังดูมีความ ‘ซีเนมาติก’ ไม่รู้ว่าผมจะอธิบายมันยังไง แต่มันจะเป็นเสียงที่เข้มข้นขึ้น”

“There’d Better Be A Mirrorball” คือซิงเกิลแรกและแทร็กแรกเปิดอัลบั้ม มันเป็นบทเพลงนุ่ม ๆ นวล ๆ ชวนเพลิดเพลินในกลิ่นอายเพลงป๊อปบัลลาดจากยุค 60s ที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมาว่าด้วยช่วงเวลาและความรู้สึกของการเลิกรา ซึ่งเทอร์เนอร์ได้ถ่ายทอดออกมาอย่างบริสุทธิ์ได้ชัดเจนที่สุด

เปิดด้วยเสียงเปียโนและซินธ์ที่เข้มข้นในอารมณ์ ก่อนจะไหลไปในไลน์ดนตรีไหลวนอยู่เบื้องหลังที่วิ่งวนไปมาคล้ายคนที่หลงอยู่ในวังวนแห่งความโหยหา ท่วงทำนองละมุนชวนล่องลอยผสานไปกับเสียงของเทอร์เนอร์ที่เอื้อนเอ่ยผ่านบทเพลงด้วยถ้อยคำที่คล้ายเป็นคำอ้อนวอน “If you wanna walk me to the car / You oughta know I’ll have a heavy heart / So can we please be absolutely sure that there’s a mirrorball?”

ส่วนปกอัลบั้มก็เป็นอะไรที่เท่มาก เป็นงานภาพถ่ายของ แม็ตต์ เฮลเดอร์ส (Matt Helders) มือกลองของวงที่ใช้กล้องฟิล์ม Leica M6 กับเลนส์ 90mm ถ่ายภาพไว้ชุดหนึ่งจากหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของเขาในลอสแองเจลิส โดยได้รับแรงบันดาลใจในสไตล์การถ่ายภาพของช่างภาพชาวอเมริกัน วิลเลียม เอ็กเกิลสตัน (William Eggleston) ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพสี และเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อป

ปกอัลบั้ม The Car

ตอนที่เทอร์เนอร์ได้เห็นภาพถ่ายชุดนี้เขาได้สะดุดตากับภาพภาพหนึ่งที่เป็นรถ Toyota Corolla E90 สีขาวที่จอดอยู่โดดเดี่ยวบนดาดฟ้าตึก จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง “The Car” ที่ทำให้เขานึกถึงความทรงจำในวัยเด็กที่นั่งอยู่ในรถกับพ่อของเขาที่ชอบเปิดเพลงสวิงในรถและพูดคุยกันถึงท่วงทำนองของมันที่โดดเด่นไปด้วยเสียงเครื่องเป่า นอกจากนี้ยังทำให้เทอร์เนอร์ตัดสินใจใช้ชื่อ ‘The Car’ เป็นชื่ออัลบั้มด้วย

ร่วมก้าวเท้าเข้าไปในรถยนต์และขับเคลื่อนสู่เส้นทางแห่งอารมณ์อันลุ่มลึกจากอัลบั้ม ‘The Car’ ได้แล้ววันนี้