ถ้าใครได้ดู The Guardians of the Galaxy Holiday Special ในดิสนีย์พลัสกันแล้ว คงสะดุดตากับแอนิเมชันในเรื่องกันใช่ไหมล่ะ เพราะซีนนี้เล่นเอาคนดูคิดว่าเปิดมาผิดเรื่องอย่างไรอย่างนั้น โดยผู้กำกับอย่าง เจมส์ กันน์ (James Gunn) ก็เป็นคนเลือกใช้แอนิเมชันแบบนี้มาเป็นตัวเปิดเลือกด้วยตนเอง และมันถูกเรียกว่า เทคนิคโรโตสโคป (Rotoscoping) ซึ่งผู้ชมบางท่านอาจสงสัยถึงที่มา ว่าเทคนิคนี้คืออะไร วันนี้เราจะแบไต๋ให้รู้กัน

เทคนิคโรโตสโคปคืออะไร?

เทคนิคโรโตสโคป เป็นกระบวนการสร้างแอนิเมชันแบบเก่า โดยสร้างแอนิเมชันจากฟุตเทจการแสดงที่ถูกถ่ายไว้ แล้วจึงให้นักวาดแอนิเมชัน วาดแอนิเมชันทับฟุตเทจลงไปอีกที ซึ่งนักวาดก็จะค่อย ๆ แทร็กการเคลื่อนไหวไปทีละเฟรม จนกลายเป็นการสร้างแอนิเมชันทับฟุตเทจที่ถูกถ่ายไว้ 

แม้ว่าเทคนิคนี้จะเป็นการแทร็กการเคลื่อนไหวในส่วนของร่างกาย แต่ในใบหน้าของตัวละครจะมีการสร้างแยกบนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และนำใบหน้ามาแปะกับร่างกายในภายหลัง ซึ่งใบหน้านับเป็นส่วนที่สร้างยากที่สุด และการวาดใบหน้ามาประกอบกับการเคลื่อนไหวก็เป็นสิ่งที่ใช้แรงงานมากและใช้เวลานาน แถมยังใช้งบประมาณที่เยอะมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่ผลงานจะไม่ออกมาดีอย่างที่คิด เทคนิคโรโตสโคปจึงไม่ค่อยได้รับการแพร่หลายเท่าไหร่ 

ประวัติของโรโตสโคป

เทคนิคโรโตสโคปถูกคิดค้นโดยแอนิเมเตอร์ชื่อ แม็กซ์ เฟลชเชอร์ (Max Fleischer) เมื่อปี ค.ศ. 1915 และต่อมาเทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ในซีรีส์แอนิเมชั่น Out of the Inkwell ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับคนดูยุคนั้นเป็นอย่างมาก นั่นทำให้เทคนิคโรโตสโคปกลายเป็นสิทธิบัตรของเฟลชเชอร์อยู่หลายปี

แม็กซ์ เฟลชเชอร์

หลังจากปี 1934 สิทธิบัตรของเฟลชเชอร์ก็หมดอายุ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์รายอื่นสามารถนำเทคนิคโรโตสโคปมาต่อยอดได้ ซึ่งวอลต์ ดิสนีย์และแอนิเมเตอร์ของเขาก็ใช้เทคนิคนี้ใน Snow White and the Seven Dwarfs ช่วงปี ค.ศ. 1937 ด้วยล่ะ 

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน เทคนิคโรโตสโคปเป็นเทคนิคที่ต้องวาดแอนิเมชันบนฟุตเทจภาพเคลื่อนไหวทีละเฟรม ซึ่งแอนิเมเตอร์จะฉายฟุตเทจภาพเคลื่อนไหว บนแผงกระจกแล้วค่อย ๆ วาดตาม แต่เดี๋ยวนี้เทคนิคโรโตสโคปใช้ง่ายขึ้นมาก เพราะถูกทำบนคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ 

เทคนิคโรโตสโคปในภาพยนตร์

เทคนิคโรโตสโคปยังมีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์คนแสดง เพราะหลายครั้ง ผู้สร้างต้องการแยกพื้นผิวออกจากวัตถุ ซึ่งไลท์เซเบอร์ใน Star Wars ภาค 4-6 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดของการใช้เทคนิคโรโตสโคปในภาพยนตร์

เทคนิคโรโตสโคปในปัจจุบัน

ในช่วงปี ค.ศ. 1990 บ็อบ ซาบิสตัน (Bob Sabiston) แอนิเมเตอร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ช่ำชองจาก MIT Media Lab ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ ‘Interpolated Rotoscoping’ โดยใช้คอมพิวเตอร์ของเขาเอง ซึ่งซาบิสตันได้ใช้สร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Snack and Drink’ ของตัวเองจนได้รับรางวัลด้วยล่ะ

ต่อมาผู้กำกับ ริชาร์ด ลินเคลเตอร์ (Richard Linklater) ได้จ้างซาบิสตันในการช่วยทำภาพยนตร์ และใช้ซอฟต์แวร์โรโตสโคปของซาบิสตัน สร้างภาพยนตร์เรื่อง Waking Life และ A Scanner Darkly ขึ้น นั่นทำให้ลิงก์เลเตอร์เป็นผู้กำกับคนแรกที่ได้ใช้เทคนิคโรโตสโคปตัวใหม่นี้สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวทั้งเรื่อง และในเวลาต่อมาบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง DreamWorks และ Warner Brothers ก็ซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของซาบิสตันไปใช้ในแอนิเมชันของตนเองอีกหลายเรื่องเช่นกัน

ใน The Guardians of the Galaxy Holiday Special นั้น เจมส์ กันน์ ก็ได้สร้างเรื่องที่เซอร์ไพรส์ให้กับแฟนหนังอย่างเรา ๆ เพราะกันน์ใช้เทคนิคโรโตสโคปมาช่วยในการเล่าเรื่อง ซึ่งให้ความรู้สึกเสมือนดูแอนิเมชันดิสนีย์ยุคเก่าอย่างไรอย่างนั้น 

โดยเมื่อเจมส์ กันน์ปล่อยภาพเบื้องหลังออกมาก็เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า เพราะกันน์ให้นักแสดงที่รับบทยอนดูอย่าง ไมเคิล รูก เกอร์ (Michael Rooker) มาถ่ายทำจริง ๆ แล้วค่อยใช้เทคนิคโรโตสโคปมาวาดทับอีกที

ซึ่งกันน์ได้เปิดเผยว่าเขาใช้เทคนิคโรโตสโคปนี้มาสร้างซีนที่ให้ความรู้สึกเหมือนดูแอนิเมชันคลาสสิก เพราะได้แรงบันดาลใจในการใช้เทคนิคนี้มาจากรายการพิเศษช่วงคริสต์มาสในยุค 70 และ 80 ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงถึงความเป็นคริสต์มาส และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้เลยว่าไอเดียของเจมส์ กันน์นั้นยังคงทำให้คนดูรู้สึกเซอร์ไพรส์ได้เสมอ

ที่มา: wikipedia, collider, studiobinder, slashfilm, indiefilmhustle

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส