เมื่อไม่นานมานี้ เชื่อกันว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถมาแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบบ AI เจนเนอเรชั่นใหม่ได้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกับความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์เรา และทำให้เราต้องมามองนวัตกรรมแห่งโลกอนาคตนี้ใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในมิติของวงการดนตรี

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา MusicLM โครงการวิจัย AI ของ Google ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังด้วยการแสดงความสามารถในการเปลี่ยน text prompts ธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นบทเพลงสุดเจ๋ง ซึ่งบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกจากผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นเลย

ต่อไปนี้คือแบบทดสอบเพื่อทดสอบว่าเราสามารถแยกออกหรือไม่ว่าบทเพลงที่ได้ยินต่อไปนี้เป็นเพลงที่แต่งโดยมนุษย์เราหรือว่าเกิดขึ้นจากฝีมือของ AI อย่าง ‘MusicLM’

ทำแบบทดสอบที่นี่

ลองเข้าไปที่ link และลองทดสอบกันดูก่อนแล้วเพื่อน ๆ จะประหลาดใจ หลังจากนั้นมาดูคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการแยกแยะเพลงที่สร้างโดย AI กับมนุษย์และประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้กัน

จะรู้ได้อย่างไรว่านี่ฝีมือมนุษย์หรือ AI ?

โครงการ MusicLM ของ Google ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับดนตรีกว่า 280,000 ชั่วโมง ซึ่งสอนวิธีสร้างเสียงที่ผู้สร้างกล่าวว่า ‘’มีความซับซ้อนอย่างมาก’

นักดนตรีและรองศาสตราจารย์ โอลิเวอร์ โบว์น (Oliver Bown) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่าในขณะที่เพลงที่สร้างโดย AI ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก แต่หากฟังดี ๆ ก็จะพบว่ามันยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าเสียงที่ถูกสร้างขึ้นนี้สร้างโดยอัลกอริทึมไม่ใช่จากมนุษย์ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่ เนื้อเสียงที่มีความหยาบ มีการแปรปรวนของ timing และจังหวะของเพลงมีความไม่มั่นคง  มีเสียงร้องบางช่วงที่ขาดหายไป และเนื้อเพลงที่ไม่สมเหตุสมผล

รองศาสตราจารย์ โอลิเวอร์ โบว์น (Oliver Bown)

“ด้วยระบบแปลงข้อความเป็นเพลง คุณจะมีโอกาสมากที่จะได้คำที่สับสน ไม่สอดคล้องกัน แต่คุณก็ยังสามารถออกแบบอัลกอริธึมที่สวยงามและสง่างามได้ ซึ่งรับประกันว่าคุณจะได้รับผลลัพธ์ทางดนตรีที่ดีพอสมควร” ดร.โบว์น กล่าว

“แม้ว่าดนตรีที่มนุษย์สร้างขึ้นมักจะมีความละเอียดอ่อนมากกว่าและมีการเปลี่ยนแปลงของพลังงานหรือโมเมนตัมที่ชัดเจนกว่า แต่บางครั้ง AI สามารถทำสิ่งที่แปลกและน่าสนใจได้ เช่น การโซโลกีตาร์ที่ซับซ้อนและการเติมเสียงกลอง ซึ่งทำให้แยกแยะเสียงของ AI ได้ยากขึ้น”

แม้จะเป็นโอกาสสำหรับการสร้างสรรค์ของศิลปิน แต่ก็ยังต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย

ดร.โบว์น กล่าวว่าในขณะที่ระบบ AI ได้มีการปรับปรุงและออกเผยแพร่สู่สาธารณะ เรามีแนวโน้มที่จะเห็นศิลปินด้านดนตรีใช้มันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจมากขึ้น

“คุณยังคงอยู่ในที่นั่งคนขับ กำลังแต่งเพลง และถ้าคุณต้องการให้ AI เข้ามาช่วยและจัดสไตล์ให้กับมัน หรือทำรูปแบบต่าง ๆ ให้คุณ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ” เขากล่าว

นอกจากนี้ ดร.โบว์น ยังกล่าวว่าไม่เพียงแต่นักดนตรีเท่านั้นแต่ผู้ที่ไม่ใช่นักดนตรีก็จะมีโอกาสได้สัมผัสกับเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน

“จู่ ๆ คุณก็อยู่ในโลกที่เราสามารถแต่งเพลงออกมาและส่งมันให้กันและกันได้โดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง” เขากล่าว “ความแปลกประหลาดของระบบเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานใช้มันเพื่อเล่นสนุก”

แม้จะมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์บทเพลง แต่ก็มีข้อกังวลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการฝึกโมเดล AI สำหรับเพลงที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นเดียวกับโลกศิลปะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้ก้าวทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

Google กล่าวว่ายังไม่มีแผนที่จะเผยแพร่ซอฟต์แวร์ MusicLM สู่สาธารณะ เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการใช้เนื้อหาสร้างสรรค์ในทางที่ผิด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาระบบ AI ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเสียงเพลงและเสียงร้องของนักร้อง (ไม่ว่าพวกเขาจะตายหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม) กันอย่างแพร่หลาย

“ผมคิดว่ามันเป็นดาบสองคมสำหรับนักดนตรี เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีความเสี่ยง” ดร. โบว์นกล่าว

“อาจมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลของคุณหรือของศิลปินใด ๆ ไปใช้ในการฝึก AI ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นได้ว่ามันจะเป็นอย่างไรในอนาคต”

“สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ มีปัญหาค่อนข้างมากทั่วโลกกับการใช้งาน AI ทั้งหมด เมื่อมันถูกรวมเข้ากับโมเดลธุรกิจ โดยปกติแล้วมันค่อนข้างจะก่อกวนและจำเป็นต้องนำแนวทางที่ใส่ใจต่อสังคมมากขึ้นเล็กน้อยมาใช้อย่างช้า ๆ” ดร. โบว์นกล่าวเพื่อตอกย้ำว่าประเด็นเรื่อง AI ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมด้วย

ในขณะที่เรายังคงเห็นความสามารถที่เพิ่มขึ้นของ AI ในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่น่าตื่นใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใกล้ความก้าวหน้าเหล่านี้ด้วยทัศนคติที่ใส่ใจต่อสังคมและระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่เราสำรวจบทเพลงทั้งหลายที่สร้างสรรค์โดย AI ปัญหาทางกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจและมีความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีความสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความรับผิดชอบ เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นนี้ในขณะที่ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มา

abc

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส