หากใครเป็นคอการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ คงทราบดีว่าปกติเรื่องราวในการ์ตูนมักจะให้ ช่วงเวลาของเรื่องราวอยู่ในยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่นอย่างยุคเอโดะ ยุคโชวะ ไม่ก็ยุคเฮเซย์ไปเลย เพราะยุคเหล่านี้เป็นช่วงเวลา ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองของญี่ปุ่นได้ดี ทว่าเหตุใด ผู้แต่งอย่างโคโยฮารุ โกโตเกะ ถึงเลือกให้ Demon Slayer ดาบพิฆาตอสูรเกิดขึ้นในยุคสมัยไทโช ซึ่งเป็นยุคที่มีประวัติศาสตร์แค่ 15 ปีกันนะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปแบไต๋กัน

มารู้จักยุคไทโชกันก่อน ยุคไทโช เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่างปี ค.ศ. 1912 ถึง ค.ศ. 1926 ของประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นยุคที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยผู้ที่ครองราชย์ คือจักรพรรดิโยชิฮิโตะ

ช่วงเวลานี้ เป็นหนึ่งในยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น พวกเขายอมรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา เริ่มเปิดใจกับเทคโนโลยี มีทางเลือกด้านแฟชั่นมากมาย เรียกได้ว่ายุคไทโช นับเป็นช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างอนุรักษ์นิยมกับสมัยใหม่ ซึ่งทั้งหมดก็ได้ถูกถ่ายทอดไว้ใน Demon Slayer นั่นแหละ

ฉากหลังของเรื่องราว

Demon Slayer ได้สอดแทรกแนวคิดชาตินิยมลงไปในเนื้อเรื่อง โดยการให้ตัวเอกอย่างทันจิโร่เป็นเด็กในชนบท ที่เพิ่งรู้จักความศรีวิไลในภายหลัง ซึ่งเป็นภาพแทนคนญี่ปุ่นยุคเก่าที่กำลังตกใจกับวัฒนธรรมของตะวันตกที่กำลังรุกคืบเข้ามา  

ชนบท

โดยเราจะสังเกต ความเป็นยุคไทโชที่ถูกไว้ในฉากหลังของเรื่องราว อาทิ พื้นที่ชนบทที่ไม่ค่อยมีแสงไฟ และเมื่อเนื้อเรื่องมีการสำรวจไปในเมืองใหญ่ ถนนหนทางต่าง ๆ ก็มีไฟฟ้าใช้ไปแล้ว ซึ่งไฟบนถนนกับรถยนต์ที่เป็นสิ่งธรรมดานี้ กลับทำให้ตัวเอกอย่างทันจิโร่และอิโนะสึเกะนั้นแปลกใจ เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกตา นั่นเพราะพวกเขาเติบโตมาในชนบทที่ไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้นั่นเอง

ตัวเมืองที่เริ่มมีเสาไฟ

ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ชนบทและพื้นที่ในเมือง จะเห็นได้จากวิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่ออสูร โดยคนในพื้นที่ชนบทยังคงยึดตามขนบธรรมเนียมเดิม พวกเขากลัวเรื่องเหนือธรรมชาติ และเกรงกลัวต่ออสูร นี่คือเหตุผลที่ตัวละคร ในชนบทพยายามจะไม่ออกไปไหนหลังตะวันตกดิน

ในเมืองใหญ่

แต่ทว่าพื้นที่ในเมืองนั้นจะต่างออกไป เพราะแสงสีทำให้ผู้คนไม่เชื่อเรื่องอสูร ผู้คนในเมืองจึงเดินขวักไขว่ไปมาเป็นกลุ่มใหญ่โดยที่ไม่รู้สึกถึงอันตราย แม้ว่านี่จะเป็นทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่ดูปลอดภัย แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มุซัน สามารถเดินเข้าไปหาใครสักคน ฆ่าพวกเขา หรือไม่ก็เปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นอสูรได้อย่างง่ายดาย

แฟชั่นสมัยใหม่

ความแตกต่างของชุดมุซัน กับ ทันจิโร่

โดยอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ ภาพแทนของแฟชั่นตะวันตกที่กำลังคืบคลานเข้ามา เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ชุดกิโมโนกำลังสิ้นสุดลง ซึ่งมีที่ว่างให้ชุดสูทแบบตะวันตกเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้คน การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ทำให้เราเห็นว่าแม้ตัวละครส่วนใหญ่จะใส่ชุดญี่ปุ่นแบบเก่า แต่บางตัวละครก็ใส่ชุดที่รับอิทธิพลมาจากตะวันตก อาทิ มุซันกับเอ็นมุ

ชุดของหน่วยพิฆาตอสูรที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อคลุมทหาร

นอกจากนี้เครื่องแบบของหน่วยพิฆาตอสูร ยังมีลักษณะที่คล้ายเสื้อคลุมทหาร (Prussian Waffenrocks)

ซึ่งนักล่าอสูรหลายคน ก็มักจะสวมแจ็กเก็ตฮาโอริทับชุดเครื่องแบบ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานแฟชั่นในยุคเปลี่ยนผ่านของญี่ปุ่น

กฏห้ามใช้ดาบ

ในสมัยยุคเมจิ ผู้คนถูกบังคับว่าห้ามใช้ดาบ โดยกฏนี้ได้ส่งต่อมาถึงยุคไทโชด้วย ซึ่งพอสงครามจบ ดาบจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม และมีเพียงเจ้าหน้าที่ของทางการไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้มัน สิ่งนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญให้กับทันจิโร่และเพื่อน ๆ ในการปกปิดความลับการเป็นนักล่าอสูร และยังต้องคอยซ่อนดาบจากเจ้าหน้าที่ของทางการอีกด้วย

ยุคไทโชเป็นยุคที่ญี่ปุ่น เริ่มรับวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่ เราจะเห็นได้ชัดว่า ผู้คนเริ่มไม่ค่อยเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติกันอีกต่อไป ยิ่งมีการเข้ามาของวิทยาศาสตร์ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าอะไรที่ ไม่สามารถหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ ก็จะไม่ถูกให้การยอมรับ นั่นทำให้เรื่องสิ่งมหัศจรรย์อย่างอสูรเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ

แม้กระทั่งคนในชนบทเอง ก็มองว่าเรื่องเหนือธรรมชาติและไสยศาสตร์เป็นเพียงตำนานเมืองที่สืบต่อกันมา และเมื่อญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคต่อไป พวกเขาก็จะลืมว่าตนเองเคยกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติมากขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยไทโชที่มีเวลาเพียง 15 ปี จึงเป็นตัวแทนของช่วงเวลาที่ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติกำลังหายไป และกำลังถูกทดแทนด้วยความศิวิไล มันจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้ โคโยฮารุ โกโตเกะได้หยิบช่วงเวลานี้เลือกมาสร้าง Demon Slayer

ที่มา: screenrant, cbr

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส