‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ คือหนังที่บอกเล่าเรื่องราวความหิวในหลาย ๆ ด้านของมนุษย์ ผ่านมุมมองและการใช้ชีวิตของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เชฟ’ หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่คราวนี้เสิร์ฟเนื้อหาถึงผู้ชมได้ ดุเดือด และสนองความหิวกระหายของผู้คนได้ทุกหมู่เหล่า อีกทั้งยังมาพร้อมการจิกกัดประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ใครหลาย ๆ คนดูแล้วคงรู้สึกหน้าชาไม่น้อย  

ทีมงาน beartai BUZZ ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเหล่านักแสดงนำอย่าง ปีเตอร์-นพชัย รับบทเป็น เชฟพอล หัวหน้าเชฟประจำร้าน Hunger, ออกแบบ-ชุติมณฑน์ รับบทเป็น ออย ลูกสาวเจ้าของร้านผัดซีอิ๊ว และ กรรณ-สวัสดิวัตน์ รับบทเป็น โตน ผู้ช่วยเชฟของเชฟพอล เกี่ยวกับเบื้องหลังการเตรียมตัวเป็นเชฟ ความอร่อยของหนังเรื่องนี้ และการเตรียมตัวเพื่อถ่ายทอดการแสดงอันหิวกระหายของพวกเขา

‘Hunger’ เป็นหนังที่พยายามจะสื่อถึงอะไร?

ออกแบบ: ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ มันคือหนังที่เล่าถึงความหิวของผู้คน ตัวละครแต่ละคน ก็จะมีความหิวที่แตกต่างกัน มันเหมือนเป้าหมายในชีวิตที่แต่ละคนต้องการ

กรรณ: หนังมันเล่าถึงความหิวของแต่ละตัวละครผ่านการทำงานในครัว ตัวละครแต่ละตัวจุดเริ่มต้นมันไม่เหมือนกันความหิวของแต่ละคนเลยต่างกัน ซึ่งความหิวของแต่ละตัวละครมันค่อนข้างชัดเจน เพราะเราบอกในหนังหมดแล้วว่าแต่ละคนหิวอะไร

ก่อนถ่ายทำหนังเรื่องนี้ พวกคุณแทบไม่เคยทำอาหารเลย

ออกแบบ: ไม่เลย พวกเราทุกคนได้เข้าไปในครัวเพื่อซ้อมทุกอย่างจริง ๆ เราใช้เวลาในการซ้อมนานมาก ในครัวมันเดือดมาก เพราะพวกเราได้เข้าไปช่วยและเสิร์ฟจริง ๆ ในครัว Fine Dining ของร้าน ‘วรรณยุกต์’ ซึ่งเรายืนหั่นผักกันตั้งแต่เที่ยงจนถึงครัวปิด 4 ทุ่มเลย

พอได้ทำงานในครัวจริง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

กรรณ: ผมว่ามันหนักสำหรับทุกคน มันเป็นงานที่ใช้ทั้งพละกำลัง สติและสมาธิ รวม ๆ แล้วผมคิดว่ามันหนักนะ 

ครั้งนี้ปีเตอร์ต้องแสดงเป็นหัวหน้าเชฟ ด้วยบทบาทดังกล่าวทำให้คุณต้องมีการเตรียมพร้อมมากกว่าคนอื่นไหม? 

ปีเตอร์: ไม่เลย เพราะว่าผมเป็นเชฟใหญ่ จะมีลูกน้องคอยเตรียมให้ทั้ง ผัด หั่น ต้ม และเราเป็นคนมาดูสุดท้ายเหมือนในชีวิตจริงเลย  เวลาซ้อมผมเลยไม่ต้องลงมือทำอะไรเยอะ แต่คนที่เยอะมากที่สุดคือออกแบบ ผมแค่ต้องเรียนรู้การเป็นเชฟจริง ๆ ซึ่งเราก็เห็นเลยว่า ถ้าเสิร์ฟมันต้องเสิร์ฟเดี๋ยวนั้นเลย จานนี้เสร็จไปจานนั้นต่อ มันคือจังหวะความตึงเครียดในครัว มันทำให้เรารู้ว่า ของจริงมันเป็นแบบนี้นะ การเป็นเชฟมันต้องมีสตินะ ต้องควบคุมทุกอย่างนะ 

บทบาทเชฟพอลเป็นการแสดง ที่ต้องอาศัยการจี้หรือกดดันคนอื่นสูงมาก คุณเตรียมตัวสำหรับบทนี้อย่างไร

ปีเตอร์: ผมตั้งต้นจากสิ่งที่เชฟพอลต่อสู้มาจนทำให้ถึงจุดนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ล้างจาน หั่นผัก กว่าจะถึงตรงนี้มันไม่ได้ขึ้นมาง่าย ๆ เลย ผมคิดว่าเชฟพอลจะต้องแลกกับชีวิตวัยเด็กของเขา แลกทุกอย่าง ครอบครัว ชีวิตส่วนตัว เพื่อให้ประสบความสำเร็จที่สุด ผมเลยเอาตรงนั้นเป็นจุดตั้งต้นว่าเชฟคนนี้จะต้องเนี้ยบเพราะเขาผ่านทุกจุดมาแล้ว มันต้องมีความตึง ความคาดหวัง ในความสมบูรณ์แบบของเขา เราเลยเอาความสมบูรณ์แบบของเขามาควบคุมทุกคนในครัวให้สมบูรณ์ 

สำหรับออกแบบและกรรณ พลังความกดดันที่ปีเตอร์ส่งให้ ตอนนั้นรู้สึกกดดันจริง ๆ ไหม? 

ออกแบบ: มันจริงกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะเราอยู่ในครัวจริง ๆ มาเกือบ 3 เดือน เรารู้อยู่แล้วว่าครัวจริง ๆ มันกดดันยังไง ซึ่งเราก็เอามาใช้ในซีน ซึ่งในซีนก็มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มันเป็นครัวจริง ๆ ทำให้เราได้เอาประสบการณ์จริงมาใช้เยอะมาก ด้วยบรรยากาศด้วย แต่ละซีนของหนังมันก็ค่อนข้างบิวต์ให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ 

กรรณ: ประสบการณ์ที่เราได้ทำ Fine Dining ด้วยก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่าตัวพี่ปีเตอร์หรือเชฟพอล ก็มีเอฟเฟกต์กับลูกทีมเยอะเลย เอเนอร์จี้ที่พี่ปีเตอร์สร้างจากเชฟพอล มันทำให้รู้สึกว่าเวลาเดินเข้าเซตก็รู้สึกกดดัน แบบถ้าทำพลาดจะทำยังไงดีกับชีวิตนี้

บาลานซ์ตัวเองอย่างไร ขณะที่แสดงไปด้วยและต้องโชว์ทักษะในการทำอาหารไปด้วย 

ออกแบบ: เรามีเวิร์กชอปกันแทบทุกซีน มีอ่านบทด้วยกัน ซึ่งเราไม่ได้อ่านแค่บท 3 คน เราอ่านทุกตัวละครทั้งเรื่อง ซึ่งมันช่วยได้มาก อีกอย่างเราก็พูดคุยกันเยอะว่าแต่ละซีนควรทำอย่างไร ทำให้ตัวออกแบบเองเข้ากับคาแรกเตอร์ได้มากขึ้นทำให้ชินกับการทำอาหารเอง 

ปีเตอร์: ในช่วงแรก ๆ ก็มีความประหม่าเพราะต้องทำไปด้วยแสดงไปด้วย ถ้าเราจะฝึกมาแล้วแต่ก็เกร็งอยู่ดี แต่เวลาถ่ายเราจะมีเชฟมาด้วย ก็จะมีเชฟให้กำลังใจอยู่ มันก็ค่อย ๆ ดีขึ้น 

กรรณ: เราเวิร์กทำอาหารกันอยู่ 3 เดือน ทำให้เราได้ลองทำก่อนเยอะมากเลยรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรก่อนวันที่จะแสดงเราจะดูก่อนว่าทำเมนูอะไรแล้วเราจะกลับไปทำการบ้าน ทำให้เราผ่อนแรงกดดันที่ต้องทำอาหารไปได้ 

ภายในเรื่องพยายามสื่อถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ละคนนำสิ่งที่ซ่อนอยู่นี้มาปรับใช่ในการแสดงของตัวเองอย่างไร

ปีเตอร์: ในแง่ของการแสดงผมมองเฉพาะในตัวละครนั้น ผมไม่ได้มองว่าหนังมันซ่อนอะไร ผมมองแค่ว่า ผู้ชายคนนี้เขาเป็นอย่างไร เขาทำไปเพื่ออะไร เลยไม่ได้โฟกัสข้อความที่ซ่อนอยู่

ออกแบบ: แต่ละคนมันมีความหิวที่ไม่เหมือนกัน วิธีกันหยิบจับความหิวของแต่ละคนมันต่างกัน มันเลยถูกเล่าอย่างแยบยล

กรรณ: สิ่งที่หนังซ่อนอยู่หรือพยายามจะสื่อ ตัวนักแสดงเองไม่มีทางรู้ได้ ตัวละครมีหน้าที่ที่จะเข้าใจ แล้วก็รีแอกต์สิ่งที่เกิดขึ้นในครัวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น

ในหนังแต่ละคนจะมีไมนด์เซตเกี่ยวกับการทำอาหารที่ต่างกันสุดขั้ว หลังจากได้แสดงเรื่องนี้ไมนด์เซตในการทำอาหารของพวกคุณต่างไปไหม

ออกแบบ: เปลี่ยนค่ะ เมื่อก่อนเราไม่ได้เห็นวงการอาหารมากขนาดนี้ พอเราเข้าไปอยู่จริง ๆ แล้วมันเหนื่อยกว่าที่คิด มันทำให้เราเห็นคุณค่าของอาหารที่เรากินเข้าไป อาหารมันคือศิลปะอย่างหนึ่ง แต่แค่ถ่ายทอดออกมาคนละแบบ มันเลยทำให้เราเห็นคุณค่าสิ่งของที่เราหยิบจับมากขึ้น 

ส่วนการทำอาหารก็พิถีพิถันมากขึ้น สมมติว่าทำอูด้งก็จะเริ่มตั้งแต่ทำซุปเองใหม่ ให้มันต้ม ค่อย ๆ เคี่ยว กรองเอาไขออก เราเริ่มจากตรงนั้นเลย เป็นระบบระเบียบมากขึ้น

กรรณ: ผมว่ามันเนี้ยบมากขึ้นในการทำครัว เพราะปกติเราทำเสร็จก็จะวาง ๆ ไว้ พอเราเรียนมามันจะเริ่มจัดโต๊ะ มีความพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียดเยอะขึ้น

ปีเตอร์: ของผมจะในแง่การกิน เวลาเราไปกินเราจะมองสิ่งที่เราไปกินชัด ๆ มากขึ้น เราจะรู้สึกถึงความยากในการทำก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง แต่ก่อนเวลาไปกินอะไรก็กินไปงั้น ๆ เขาทำอร่อยก็ว่าอร่อย แต่ตอนนี้เวลากินอะไรเราจะรู้ว่าเขาตั้งใจทำให้เรากินนะ มันอร่อยมากขึ้นทำให้หาของกินที่อร่อยมากขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน

ความท้าทายในการแสดงบทนี้

ออกแบบ: แค่เข้าครัวก็ท้าทายมากแล้ว มันยากมากในเรื่องของการคุมไฟ น้ำมัน การใช้มีด ทุกคนมีบาดแผลกันหมด อันนี้คือสิ่งที่ท้าทายอย่างแรกเลย เราต้องเรียน ต้องซ้อมกันที่บ้านเพิ่ม จริง ๆ มันมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้วเช่น อยากได้ไฟแรง แต่ลมมันมาต้องหลบยังไง อันนี้คือสิ่งท้าทายหนัก ๆ มากกว่าการแสดง

กรรณ: ผมว่ามันคือความสัมพันธ์ในครัว ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเฉพาะทางมาก ๆ สำหรับคนทำงานในครัวมันเป็นอะไรที่คนในครัวเท่านั้นจะมองเห็น แค่ พี่ปีเตอร์หรือเชฟพอลเดินเข้ามาในครัวมันรู้สึกได้เลยว่า โอเค เชฟมาแล้วนะ พร้อมหรือยัง มันเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มากที่คนในครัวเท่านั้นจะเข้าใจ 

ในระหว่างการถ่ายทำ ปีเตอร์เกิดอาการเกร็งสั่นด้วย เกิดอะไรขึ้นในกองถ่ายวันนั้น

ปีเตอร์: มันเป็นช่วงแรก ๆ ที่โดมอยากให้เห็นความเป็นเชฟจริง ๆ เช่น เราจะต้องหั่นให้ได้ในทีเดียว ชิ้นนี้ต้องขาดเลย มันเลยเกร็งไปหมดเลย กลายเป็นว่ามันไม่ได้เป็นตัวละครละ มันกลายเป็นเราที่พยายามจะหั่นให้เนี้ยบเหมือนเชฟ มันต้องก้าวข้ามความกลัวในใจไป และต้องมีความเชื่อใจในตัวเองว่าเราทำได้ และก็มีกำลังใจจากเชฟต่าง ๆ มันก็ค่อย ๆ คลายความเกร็ง จนเมนูท้าย ๆ ไม่มีสั่นละ

บทเรียนที่ได้จาก ‘Hunger’? 

ออกแบบ: เรื่องนี้มันทำให้เราก้าวข้ามความกลัวหลาย ๆ อย่างมากขึ้น ทุกครั้งที่เราจับกระทะมันคือความกลัวเยอะมาก ๆ เพราะ มันคือไฟ น้ำมัน แล้วบวกกับการแสดงไปด้วย เราคุยกับกระทะบ่อยมากแบบ “เราเชื่อใจแกนะเว้ย แกเชื่อใจเราหน่อยนะ” มันคือความกลัวที่เราได้ก้าวข้ามในเรื่องนี้ เหมือนได้เปิดประตูบานใหญ่ ๆ ออกไป เพราะถ้าไม่ได้ทำเรื่องนี้คงไม่กล้าก้าวผ่านสิ่งนี้ มันยากอะเพราะมันอันตรายทุกวินาที ไม่ใช่แค่ออกแบบ แต่ทุกคนในทีมเช่นกัน

 ปีเตอร์: พอเรามาเล่นเรื่องนี้ทำให้เราคิดว่า เราหิวแบบตัวละครหรือเปล่า เราหิวในระดับไหน เราเป็นคนแบบไหนกันแน่ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันแล้วแต่เราเลือก ว่าเราจะหิวแล้วเลือกวิธีกินแบบที่เราต้องการ หรือเราหิวนะแต่เราก็กินแบบที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้ เราเลือกได้ว่าจะหิวไปทางไหน

กรรณ: สำหรับผมน่าจะเรื่องไฟ มันทำให้ผมรู้สึกอยากจุดไฟอยากทำอะไรมากขึ้น อยากรับบทที่ท้าทายหรือแตกต่างมากไปกว่านี้ 

ตัวละครในจอมีความเหมือนกับตัวตนจริง ๆ นอกจอของพวกคุณอย่างไร?

ปีเตอร์: ผมเหมือนกันหลายจุด จุดที่ชัดที่สุดคือ ผมกับเชฟพอล ณ วัยหนึ่ง ผมพร้อมจะสละทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ ชีวิตส่วนตัว คนรอบตัว เวลา ทุกอย่างสามารถทุ่มไปกับงานได้ทั้งหมดเลย จุดนั้นมันมีความคล้ายกันอยู่

กรรณ: ของผมน่าจะเป็นวัยด้วยอายุของตัวละครที่ 30-31 ปี ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริง ความคล้ายกันคือ เมื่อเราเข้าถึงวัยหนึ่งเราจะมีความไม่แน่ใจว่าที่เราทำ เราทำอะไรอยู่นะ การจะก้าวหน้าไปในอาชีพนี้ เราคิดดีแล้วเหรอ ซึ่งเราก็เคยเป็นแบบนั้น แต่ในบางแง่ก็คิดว่า หรือที่เรารู้สึกแบบนี้เป็นเพราะที่ตัวละคร หรือตัวเราเองกันแน่ ฉะนั้นตอนแสดงก็ต้องมีสมาธิหรือสตินิดหนึ่ง

ออกแบบ: ตัวละครของออกแบบมันก้าวข้ามผ่านไปเยอะมาก ๆ มันอาจจะตั้งต้นจากตัวออกแบบเอง ในตัวละครออยมันต้องใช้ความกล้าเยอะมาก ๆ มันต้องเป็นออยจริง ๆ ถ้าวันไหนหลุดเป็นออกแบบเราจะรู้เลย เพราะออกแบบขี้กลัวมาก ๆ เราจะไม่สามารถทำอย่างที่ตัวละครอยากทำได้ ถ้าถามว่าเหมือนกันตรงไหนคงไม่ เราเข้าใจในตัวละครมากกว่า เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงทำ แต่ถ้าถามว่าเรากล้าทำแบบเขาไหม? เราคงไม่กล้า

ตอนนี้หิวอะไร?

ปีเตอร์: ตอนนี้ผมหิวการพักผ่อนมาก ๆ ทำงานสัปดาห์ละ 8 วันเลย

กรรณ: หิวงานแสดงครับ หิวโอกาสใหม่ ๆ หิวคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ อยากจะมีโอกาสที่ได้ไปรับบทอะไรที่ท้าทาย ก่อนหน้านี้ไฟในการแสดงมันน้อยลง เพราะว่าช่วงโควิดที่ผ่านมามันก็ค่อนข้างจะนิ่ง  มันก็มีคำถามกับตัวเองว่า จะทำได้ขนาดไหน ไปได้ขนาดไหน พอได้เล่นเรื่องนี้ทำให้มีความมั่นใจในการทำงาน ทำให้เรารู้สึกอยากไปต่อ 

ออกแบบ: ตอนนี้ที่หิวมาก ๆ คือ อยากเล่นบทที่อ่อนแอ เหมือนออกแบบจะมีไมนด์เซตจากคนข้างนอกว่า เราเป็นเข้มแข็งไปแล้ว แต่สิ่งที่คนไม่เคยเห็นคือด้านอ่อนแอมาก ๆ ของการเป็นตัวละครหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่หิวมาก ๆ 

Fine Dining หรือ Street Food

ออกแบบ: Street Food 

ปีเตอร์: Fine Dining 

กรรณ: Street Food

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส