เบน สติลเลอร์ (Ben Stiller) นักแสดงสายฮาวัย 57 ปีที่มีผลงานการแสดงในหนังแนวตลกมากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งผลงานเบื้องหลัง ทั้งการเขียนบท และกำกับหนัง อาทิ ‘Reality Bites’ (1994), ‘The Cable Guy’ (1996), ‘Zoolander’ (2001) และ ‘Tropic Thunder’ (2008) ที่ได้รับเสียงชื่นชม

แต่ชีวิตจริงของเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูจะไม่ราบเรียบนัก เพราะเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 สติลเลอร์ในวัย 48 ปี ได้ออกมาเปิดเผยในรายการ เดอะ ฮาวเวิร์ด สเติร์น โชว์ (The Howard Stern Show) ว่า เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดรุนแรงเฉียบพลันเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น โดยที่ไม่ได้บอกกับใครเลย

ก่อนที่เขาจะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมลูกหมากในอีก 2 เดือนถัดมา รวมทั้งการรักษาร่างกายอย่างเคร่งครัดจนหายสนิทและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง และการปรากฏตัวครั้งแรกของเขาในครั้งนั้นก็เพื่อต้องการเตือนให้ผู้ชายได้ตระหนักถึงความอันตรายของโรคนี้ และให้ตระหนักในการเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยใช้เรื่องราวการป่วยของเขาเองเป็นอุทธาหรณ์แก่คนทั่วไป

ล่าสุด สติลเลอร์ได้ปรากฏตัวในรายการ The Howard Stern Show ทางสถานีวิทยุซิริอัส เอ็กซ์เอ็ม (SiriusXM) อีกครั้ง พร้อมกับ ดร.เท็ด แชฟเฟอร์ (Dr. Ted Schaeffer) ศัลยแพทย์ประจำตัวของเขา โดยดาราตลกชื่อดังได้แบ่งปันประสบการณ์การรักษา และพยายามจะบอกกล่าวกับผู้ฟังถึงความหวังในการรักษาอาการมะเร็งต่อมลูกหมากว่า ไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าที่คิด

โดยเฉพาะตอนที่เข้ารับการผ่าตัด ที่ผู้ชายหลายคนคงแอบวิตกกังวลว่า พอสติลเลอร์เข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก อวัยวะสำคัญของผู้ชายทิ้งไป แล้วจะมีปัญหาสูญเสียสมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศ หรือแม้แต่ปัญหาด้านการปัสสาวะด้วยหรือไม่ ซึ่งสเติร์นได้ยิงคำถามนี้กับเขา ก่อนที่สติลเลอร์จะตอบคอนเฟิร์มด้วยตัวเองว่า ไม่มีปัญหาเรื่องนี้แน่นอน

“วันรุ่งขึ้นหลังเข้ารับการผ่าตัด พออวัยวะเพศของผมแข็งตัวครั้งแรก พวกเราทุกคนนี่แทบจะเต้นฉลองกันเลยครับ”

สติลเลอร์ได้เผยในรายการว่า เขาได้เข้ารับการตรวจหาค่า PSA หรือ Prostate-Specific Antigen เพื่อหาค่าโปรตีนที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมากเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในวัย 40 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก หากยึดตามข้อมูลที่เว็บไซต์สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา American Cancer Society) ได้ให้ข้อมูลว่า เกณฑ์อายุที่แนะนำให้ผู้ชายเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่า PSA เพื่อเข้ารับการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป

ส่วนผู้ชายที่มีญาติ (พ่อหรือพี่ชาย) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมีเชื้อสายแอฟริกัน ให้เข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีความเสี่ยงสูง คือมีญาติสายตรงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า 1 คน ให้เข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

แม้ว่าการตรวจหาค่า PSA จะมีข้อสังเกตอยู่ตรงที่ว่า ไม่สามารถเป็นตัวที่บ่งชี้ถึงมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 100% เพราะบางครั้ง ค่า PSA ก็สามารถเพิ่มขึ้นสูงได้จากหลายสาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับมะเร็งเสมอไป เช่น ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่การออกกำลังกาย การกินยาที่มีผลต่อฮอร์โมน และการเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ก็อาจทำให้ตอนตรวจอาจมีลักษณะเป็นผลบวกปลอม (False Positive) จากการที่มีค่า PSA สูงขึ้น แต่วิธีนี้ก็ยังมีความจำเป็นในการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากที่กำลังลุกลาม และสามารถตรวจเจอมะเร็งที่ยังไม่แสดงอาการได้อีกด้วย

แม้การตรวจ PSA เพื่อวินิจฉัยอาการจะมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้น สติลเลอร์ก็ยังแนะนำและยืนยันให้ผู้ชายทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งเขาเปิดเผยตอนที่เพิ่งเข้ารับการรักษาและหายจากอาการว่า

“การทดสอบ PSA เป็นเรื่องที่ยังมีข้อถกเถียงกันมากนะครับ ซึ่งการทดสอบ PSA เป็นการเพียงการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเท่านั้น และตอนนี้ หน่วยงานบริการป้องกันของสหรัฐอเมริกา (United States Preventive Services Task Force) ก็ไม่แนะนำให้รับการทดสอบวิธีนี้ และสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าคุณควรตรวจตอนอายุ 50 ซึ่งถ้าแพทย์ของผมไม่ได้ให้ผมตรวจตอนอายุ 46 ผมคงไม่รู้แน่ ๆ จนถึงตอนนี้ก็คงยังไม่รู้”

“สิ่งสำคัญที่สุดของผมคือ ผมโชคดีที่มีแพทย์ที่ตรวจ PSA ขั้นพื้นฐานให้กับแก่ผมเมื่อตอนผมอายุ 46 ปี เพราะเท่าที่ผมรู้ ผมไม่มีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัวของผมเลย และผมก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เท่าที่ผมรู้นะ ไม่มี แล้วก็ไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกัน หรือสแกนดิเนเวีย และก็ไม่มีอาการอะไรเลยด้วย”

Ben Stiller มะเร็ง

“ถึงตอนนี้ ผมแข็งแรงปกติดี ก็เพราะความรอบคอบของแพทย์ ที่แนะนำให้ผมตรวจ PSA และคุยเรื่องการรักษากับผม ถ้าผมรอไปจนถึง 50 ปีแล้วค่อยตรวจตามที่สถาบันโรคมะเร็งอเมริกาแนะนำ ผมคงไม่รู้ว่ามีเนื้องอกที่กำลังจะโต และถึงตอนนั้น การรักษาอาจจะไม่เวิร์กแบบนี้ก็ได้”

การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นการรักษาในระยะที่ยังไม่ลุกลาม หรือลุกลามบ้างแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้ เช่น ปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย ในกรณีที่หากพบว่ามะเร็งลุกลามไปกระทบต่อเส้นประสาทที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งอาจทำให้แพทย์จำเป็นต้องตัดออก รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ขนาดของอวัยวะเพศลดลง ไม่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

โดยเว็บไซต์ของ Cancer Research UK ได้ระบุว่า ผู้ชายที่เข้ารับการผ่าตัด จะกลับมามีความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้อีกครั้ง แต่อาจจะต้องใช้เวลายาวนานตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี หรือในผู้ป่วยบางราย อาจต้องรับการช่วยเหลือเพื่อให้อวัยวะเพศแข็งตัวไปตลอดชีวิต ส่วนในเคสของสติลเลอร์ถือว่าโชคดีมาก เพราะเขาเผยว่าอวัยวะเพศของเขายังคงแข็งตัวได้ดีในวันรุ่งขึ้นหลังจากผ่าตัด แบบแทบจะไม่ต้องฟื้นฟูดูแลอะไรให้ยุ่งยาก

ซึ่งคุณหมอแชฟเฟอร์ได้บอกเล่าและยิงมุกทิ้งท้ายว่า “มันเป็นทั้งเรื่องที่ปกติและไม่ปกตินะครับ แต่คุณก็รู้นี่ว่าเขาเป็นดาราหนัง…”


ที่มา: Unilad, BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส