เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการเพลงเมื่อทีนา เทอร์เนอร์ (Tina Turner) นักร้องสาวเสียงทรงพลังเจ้าของฉายา “ราชินีเพลงร็อกแอนด์โรล” ได้จากโลกนี้ไปพร้อมมอบบทเพลงอันทรงคุณค่าของเธอเอาไว้ ในบทความนี้เราจะไปสำรวจบทเพลงชั้นยอดของเธอที่จะพาเราไปสู่การเดินทางที่น่าประทับใจผ่านเส้นทางอาชีพของเทอร์เนอร์ผู้เป็นตำนาน ตั้งแต่วันแรกที่เธอเป็นส่วนหนึ่งของ Ike & Tina Turner ไปจนถึงความสำเร็จในฐานะศิลปินเดี่ยวของเธอ เสียงอันทรงพลังและการแสดงอันน่าตื่นเต้นของเทอร์เนอร์ได้ทิ้งร่องรอยที่ไม่มีวันลางเลือนไว้ให้กับวงการเพลง ไม่ว่าจะเป็น “Proud Mary” “What’s Love Got to Do with It” หรือ “Private Dancer” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันหลากหลายของเธอและคุณูปการที่มีต่อวงการดนตรี มาร่วมระลึกถึงราชินีแห่งร็อกแอน์โรล ‘ทีนา เทอร์เนอร์’ คนนี้กัน

“A Fool in Love” (1960)

บทเพลงจาก Ike & Tina Turner ในปี 1960 เป็นการเปิดตัวในอาชีพนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จในฐานะดูโอของทีนาและไอก์ เทอร์เนอร์ (Ike Turner)  “A Fool in Love” เป็นทั้งซิงเกิลเปิดตัวและเพลงฮิตเพลงแรกของทั้งคู่ ทำให้ทั้งคู่ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วจากเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และเสียงร้องอันทรงพลังของทีนา เทอร์เนอร์ กล่าวได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงเปิดตัวระดับมืออาชีพเพลงแรกของเทอร์เนอร์​ แม้ว่าเธอจะเคยบันทึกเสียงร่วมกับ Ike Turner และวง Kings of Rhythm ของเขามาตั้งแต่ปี 1958 นับเป็นเพลงฮิตระดับประเทศเพลงแรกของไอก์ เทอร์เนอร์ นับตั้งแต่เพลงอาร์แอนด์บีฮิตอันดับหนึ่ง “Rocket 88” ในปี 1951 ซึ่งเขาไม่ได้รับเครดิตที่เหมาะสม

ความสำเร็จของเพลงนี้ทำให้โลกได้รู้จักกับ Ike & Tina Turner เพลงนี้เป็นการผสมผสานระหว่างร็อกแอนด์โรล อาร์แอนด์บี และโซล มันมีจังหวะที่จับใจและน่าฟัง ขับเคลื่อนด้วยเสียงกีตาร์ที่มีชีวิตชีวา เบสไลน์ที่สอดแทรกลึก และทรัมเป็ตที่เล่นเป็นจังหวะสนุกสนาน การเรียบเรียงที่ทรงพลังช่วยเติมเต็มเสียงร้องที่เร่าร้อนและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเทอร์เนอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แสดงให้เห็นถึงพลังเสียงและช่วงเสียงที่โดดเด่นของเธอ ผนวกกับการแสดงที่เร่าร้อนและพลังอันดิบเถื่อนของเธอจึงดึงดูดผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัดและทำให้เธอโดดเด่นในฐานะนักร้องเสียงทรงพลัง บทเพลงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของเธอ “A Fool in Love” ถือเป็นเพลงคลาสสิกและมีอิทธิพลในประวัติศาสตร์ของดนตรีอาร์แอนด์บีและโซล เป็นก้าวแรกที่สำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จและได้วางรากฐานอันหนักแน่นมั่นคงสำหรับเส้นทางสายดนตรีของทั้งคู่

“River Deep – Mountain High” (1966)

เพลงคลาสสิกที่สร้างสรรค์โดยไอก์และทีนา เทอร์เนอร์ ในปี 1966 โปรดิวซ์โดย ฟิล สเปกเตอร์ (Phil Spector) เพลงนี้มีชื่อเสียงในโปรดักชันที่ยิ่งใหญ่และการแสดงเสียงร้องที่ทรงพลัง “River Deep – Mountain High” ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในงานสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสเปกเตอร์ ซึ่งโดดเด่นด้วยเทคนิค “Wall of Sound” อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา โดยใช้เครื่องดนตรีหลายชิ้น จัดวางเสียงร้องเป็นชั้น ๆ และการเรียบเรียงที่ซับซ้อนเพื่อสร้างเสียงที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวาง เพลงนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากสำหรับการผลิตที่สร้างสรรค์และการร้องที่น่าตื่นตาตื่นใจ “River Deep – Mountain High” อยู่ในอันดับที่ 33 ในลิสต์ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของนิตยสารโรลลิงสโตนและอยู่ในอันดับที่ 37 ในรายชื่อ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของ NME นอกจากนี้หอเกียรติคุณร็อกแอนด์โรล (Rock and Roll Hall of Fame) ได้เพิ่มเพลงนี้เข้าไปในรายชื่อ 500 เพลงที่หล่อหลอมดนตรีร็อกแอนด์โรล (500 Songs That Shaped Rock and Roll) และเพลงนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าสู่หอเกียรติยศแกรมมี่ในปี 1999

เสียงร้องของเทอร์เนอร์ในเพลง “River Deep – Mountain High” นั้นไม่ธรรมดาเลย การถ่ายทอดอารมณ์ที่เร่าร้อนและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเธอแสดงให้เห็นถึงช่วงเสียงและความสามารถอันเหลือเชื่อของเธอในการถ่ายทอดอารมณ์ที่หลากหลาย เนื้อเพลง “River Deep – Mountain High” พูดถึงส่วนลึกของความรักและพลังที่ยั่งยืน เพลงนี้เปรียบเทียบความรักกับองค์ประกอบทางธรรมชาติ โดยใช้แม่น้ำและภูเขาเป็นอุปมาอุปไมยถึงความแข็งแกร่งและความรุนแรงของอารมณ์ “River Deep – Mountain High” ได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงคลาสสิกและมีอิทธิพลต่อวงการเพลงป๊อป ได้รับการคัฟเวอร์โดยศิลปินมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาทิ เซลีน ดิออน (Celine Dion), ดีพ เพอร์เพิล (Deep Purple) และ เอริก เบอร์ดอน (Eric Burdon) เป็นต้น

“Proud Mary” (1970)

บทเพลงคลาสสิกโดย Creedence Clearwater Revival (CCR) ในปี 1969 ที่ ทีนา เทอร์เนอร์ได้นำมาคัฟเวอร์จนกลายเป็นเวอร์ชันที่เป็นที่รู้จักและโดดเด่นที่สุด “Proud Mary” เวอร์ชันของเทอร์เนอร์ถูกบันทึกเสียงในปี 1970 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม “Workin’ Together” (1970) โดย Ike & Tina Turner เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตที่สำคัญสำหรับทั้งคู่ ฟื้นฟูอาชีพของพวกเขาและแนะนำ ทีนา เทอร์เนอร์ ในฐานะนักแสดงและนักร้องที่มีพลัง การตีความหมายใหม่ของเพลง “Proud Mary” โดยเทอร์เนอร์ได้เปลี่ยนเพลงนี้ให้กลายเป็นเพลงร็อกและเพลงโซลที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีการผสมผสานระหว่างร็อก อาร์แอนด์บี และกอสเปล เพลงเริ่มต้นด้วยท่อนอินโทรบลูส์ช้า ๆ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นจังหวะที่เร็วและมีพลัง เสียงร้องที่ทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของเทอร์เนอร์ยกระดับความหนักแน่นและจิตวิญญาณให้กับเพลง กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และทำให้ Ike & Tina Turner ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best R&B Vocal Performance by a Group ในปี 1972

หนึ่งในสิ่งที่น่าจดจำที่สุดในการแสดงเพลง “Proud Mary” ของ ทีนา เทอร์เนอร์ คือท่าเต้นประกอบเพลงนี้ที่เร้าใจมีพลังสูงกระฉับกระเฉงและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของเธอ “Proud Mary” เวอร์ชัน Ike & Tina Turner ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าสู่หอเกียรติยศแกรมมี่ (Grammy Hall of Fame) ในปี 2003 (หลังจากที่เวอร์ชันต้นฉบับได้รับการแต่งตั้งในปี 1998) เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและความนิยมอันยืนนานของบทเพลงนี้

“Nutbush City Limits” (1973)

บทเพลงจากปี 1973 “Nutbush City Limits” แต่งโดยทีนาและไอก์สามีของเธอ และโปรดิวซ์โดยไอก์เอง “Nutbush City Limits” เป็นการระลึกถึงเมืองนัทบุช (Nutbush) ในรัฐเทนเนสซี (Tennessee) บ้านเกิดในชนบทของทีนา เพลงนี้ถ่ายทอดประสบการณ์ในวัยเยาว์ของทีนาที่เติบโตในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ และแสดงให้เห็นความคิดถึงรากเหง้าของเธอ เป็นการเฉลิมฉลองความเรียบง่ายและเสน่ห์เฉพาะตัวของนัทบุช ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงความปรารถนาที่จะหลุดพ้นและสำรวจโลกที่พ้นไปจากเขตแดนที่ตนเองอยู่ เพลงนี้ผสมผสานองค์ประกอบของร็อก โซล และฟังก์ พร้อมซาวด์ที่มีพลังและไดนามิกในแบบฉบับของไอก์และทีนา ริฟฟ์กีตาร์ที่ติดหู และเติมเสน่ห์ด้วยซาวด์ของคลาวิเน็ต โซโล่ซินธ์ซินธิไซเซอร์ Moog โดยไอก์และกลุ่มเครื่องเป่าในลีลาฟังกี้ เสียงร้องที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของ ทีนา เทอร์เนอร์ การเรียบเรียงที่มีชีวิตชีวาและการถ่ายทอดอารมณ์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสะกดใจผู้ฟัง

“Nutbush City Limits” ประสบความสำเร็จพอตัว ขึ้นถึงอันดับที่ 22 ในชาร์ต Billboard Hot 100 และสูงสุดที่อันดับ 4 ในชาร์ตซิงเกิล R&B ความโด่งดังของเพลงนี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ทีนา เทอร์เนอร์ ในฐานะศิลปินที่มีพรสวรรค์และโดดเด่น “Nutbush City Limits” กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำตัวของเทอร์เนอร์และเป็นเพลงโปรดของแฟนเพลง

“Acid Queen” (1975)

เป็นเพลงที่ร้องโดย ทีนา เทอร์เนอร์ สำหรับอัลบั้มร็อกโอเปร่า “Tommy” ของวง The Who เพลง “Acid Queen” เดิมแต่งโดย พีท ทาวน์เซนด์ (Pete Townshend) โดยเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม “Tommy” บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ทอมมี่’ เด็กชายหูหนวก เป็นใบ้ และตาบอดที่กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ โดยเพลงนี้อยู่ในตอนที่พ่อแม่ของทอมมี่พยายามที่จะรักษาเขา จึงทิ้งเขาไว้กับยิปซีนอกรีตซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘แอซิดควีน’ (Acid Queen) ซึ่งป้อนยาหลอนประสาทต่าง ๆ ให้กับทอมมี่ และแสดงนัยทางเพศเพื่อพยายามลวงล่อเขา เธอเป็นสัญลักษณ์ของโลกแห่งยาเสพติดและการลวงล่อของโลกมายาที่พาทอมมี่ให้ลุ่มหลง การตีความ “Acid Queen” ของเทอร์เนอร์เป็นผลงานที่โดดเด่นในอัลบั้ม “Tommy” ของ The Who เสียงร้องที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเธอนำพลังและความเข้มแข็งที่ไม่เหมือนใครมาสู่ตัวละคร น้ำเสียงที่มีพลังและอารมณ์ของเทอร์เนอร์ได้ถ่ายทอดแก่นสำคัญที่เย้ายวนและลึกลับของตัวละครแอซิดควีนได้เป็นอย่างดี เพลง “Acid Queen” ทำหน้าที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเล่าเรื่องซึ่งแสดงถึงเสน่ห์และอันตรายของโลกแห่งนี้ “Acid Queen” ผสมผสานองค์ประกอบของดนตรีฮาร์ดร็อกและโซล เพลงนี้มีริฟฟ์กีตาร์ที่มีพลัง เสียงกลองอันหนักแน่น และเสียงเบสที่ขับกล่อม เคล้าไปกับเสียงร้องของเทอร์เนอร์ที่มาพร้อมกับการบรรเลงเครื่องดนตรีที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศที่น่าหลงใหลและเข้มข้น  

“Better Be Good to Me” (1984)

เพลงฮิตจากอัลบั้ม “Private Dancer” ของเทอร์เนอร์ในปี 1984 “Better Be Good to Me” แต่งโดย ไมก์ แชปแมน (Mike Chapman), ฮอลลี่ ไนท์ (Holly Knight) และ นิคกี้ ชินน์ (Nicky Chinn) ซึ่งแชปแมนและไนท์เป็นที่รู้จักจากการร่วมงานกันกับศิลปินหลายคน และทักษะการแต่งเพลงของทั้งคู่ก็โดดเด่นมากในการแต่งเพลงนี้ แต่เดิมเพลงนี้เคยถูกบันทึกและเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1981 โดย Spider วงดนตรีจากนิวยอร์กซิตี้ที่มีฮอลลี่ ไนท์เป็นสมาชิก เพลงนี้โปรดิวซ์โดย รูเพิร์ต ไฮน์ (Rupert Hine) ผู้ช่วยสร้างสุ้มเสียงของอัลบั้ม “Private Dancer” เพลงนี้สำรวจเรื่องราวของความสัมพันธ์อันแน่วแน่ แสดงให้เห็นถึงผู้หญิงที่แข็งแกร่งและเป็นอิสระที่ยืนยันคุณค่าของเธอและต้องการความเคารพจากคนรักของเธอ เนื้อเพลงเน้นย้ำถึงความต้องการความซื่อสัตย์ ความภักดี และการใส่ใจในความสัมพันธ์ พร้อมทั้งแอบเตือนคนรักว่าควรปฏิบัติตัวต่อเธอดี ๆ นะ

“Better Be Good to Me” เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีร็อก ป๊อป และอาร์แอนด์บี แสดงให้เห็นถึงความเก่งกาจของ ทีนา เทอร์เนอร์ ในฐานะศิลปิน แทร็กนี้มีท่วงทำนองที่จับใจและมีพลัง ขับเคลื่อนโดยริฟฟ์กีตาร์เท่ ๆ และเบสไลน์ที่เร้าใจ ท่อนฮุคที่ติดหูและท่อนร้องอันทรงพลังทำให้เพลงมีคุณภาพที่น่าจดจำ  “Better Be Good to Me” เวอร์ชันของเทอร์เนอร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐอเมริกาและสูงสุดที่อันดับ 5 ใน Billboard Hot 100 และอันดับ 6 ในชาร์ต Hot Black Singles และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันนี้ในอีกหลายประเทศ ความนิยมของเพลงนี้ทำให้เทอร์เนอร์กลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งในฐานะศิลปินเดี่ยว “Better Be Good to Me” ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัล ได้รับรางวัลในสาขาการแสดงเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม (Best Female Rock Vocal Performance)จากงานประกาศผลรางวัลแกรมมี่อวอร์ดประจำปีครั้งที่ 27 ในปี 1985

“Let’s Stay Together” (1983)

“Let’s Stay Together” บทเพลงสุดคลาสสิกจาก อัล กรีน (Al Green) ที่ ทีนา เทอร์เนอร์ นำมาทำใหม่ในสไตล์ของเธอ มีอยู่ในสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 5 ของเธอที่มีชื่อว่า “Private Dancer” ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1984 เพลงนี้โปรดิวซ์โดย มาร์ติน แวร์ (Martyn Ware) และ เกร็ก วอลช์ (Greg Walsh) ซึ่งนำซาวด์ป๊อปร่วมสมัยมาสู่บทเพลงของเทอร์เนอร์โดยยังคงรักษาแก่นแท้ของเธอเอาไว้ การตีความใหม่ของ “Let’s Stay Together” โดยเทอร์เนอร์ มีจังหวะช้าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเวอร์ชันต้นฉบับ การเรียบเรียบผสมผสานองค์ประกอบของป๊อป ร็อก และโซล ผสมผสานริฟฟ์กีตาร์ที่นุ่มนวล คีย์บอร์ดที่มีลีลา และจังหวะที่หนักแน่น เทอร์เนอร์โชว์พลังเสียงอันทรงพลังในเพลงนี้ เสียงร้องของเธอนำความลึกซึ้งทางอารมณ์มาสู่เพลง แสดงให้เห็นถึงน้ำเสียงที่น่าทึ่งและความสามารถในการถ่ายทอดทั้งความเปราะบางและความแข็งแกร่ง แม้ว่า “Let’s Stay Together” เวอร์ชันของเทอร์เนอร์จะไม่ได้ออกเป็นซิงเกิลในหลายพื้นที่ แต่ก็ได้รับการออกอากาศทางวิทยุและมีส่วนทำให้อัลบั้ม “Private Dancer” ประสบความสำเร็จ

“Private Dancer” (1984)

ไตเติลแร็กจากสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 5 ของ ทีนา เทอร์เนอร์ วางจำหน่ายในปี 1984 “Private Dancer” แต่งโดย มาร์ก น็อปเฟลอร์ (Mark Knopfler) นักร้องนำและมือกีตาร์ของวงร็อกอังกฤษ Dire Straits เดิมที น็อปเฟลอร์ตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้กับวงของเขาเอง แต่ตัดสินใจว่าเพลงนี้เหมาะกับนักร้องหญิงมากกว่าก็เลยมอบให้กับทีนา เพลงนี้โปรดิวซ์โดย จอห์น คาร์เตอร์ (John Carter) เนื้อเพลงบอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ทำงานในคลับโดยให้ความบันเทิงแก่ผู้ชายเพื่อเป็นทางรอดของชีวิต เพลงนี้สำรวจประเด็นของความเปราะบางและเส้นแบ่งที่พร่ามัวระหว่างชีวิตส่วนตัวและอาชีพ เป็นการรวบรวมประสบการณ์และอารมณ์ของบุคคลในวงการบันเทิง ในด้านดนตรี “Private Dancer” เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีป๊อป ร็อก และอาร์แอนด์บี แสดงให้เห็นถึงความสามารถรอบด้านของเทอร์เนอร์ในฐานะนักร้อง เพลงนี้มีการแสดงเสียงร้องที่น่าหลงใหลและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ พร้อมด้วยการเรียบเรียงดนตรีที่ไพเราะและได้บรรยากาศ รวมทั้งริฟฟ์และโซโล่กีตาร์เร้าใจและจังหวะที่มีไดนามิก

“Private Dancer” กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของเทอร์เนอร์และเป็นเพลงฮิตไปทั่วโลก ขึ้นถึง10 อันดับแรกในชาร์ตเพลงในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ความสำเร็จของเพลงนี้ช่วยขับเคลื่อนอัลบั้มในชื่อเดียวกันให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างยิ่งใหญ่ และทำให้เทอร์เนอร์เป็นศิลปินซูเปอร์สตาร์ที่เจิดจรัส  

“We Don’t Need Another Hero” (1985)

เพลงประกอบภาพยนตร์ปี 1985 เรื่อง “Mad Max Beyond Thunderdome” ที่เทอร์เนอร์ได้ร่วมแสดงประกอบกับ เมล กิบสัน (Mel Gibson) เพลงนี้แต่งโดย เทอร์รี่ บริทเทน (Terry Britten) และ เกรแฮม ไลล์ (Graham Lyle) นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ 2 คนซึ่งเป็นที่รู้จักจากการร่วมงานกับศิลปินหลายคน เพลงนี้โปรดิวซ์โดย เทอร์รี่ บริทเทน ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับเทอร์เนอร์ในอัลบั้ม “Private Dancer” ของเธอ เพลงนี้ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Mad Max Beyond Thunderdome” และสะท้อนถึงฉากดิสโทเปียของภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื้อเพลงสื่อถึงความหวังและการหลุดพ้นจากโลกที่วุ่นวาย และมีใจความสำคัญว่ามนุษยชาตินั้นไม่ต้องการฮีโรใด ๆ มาช่วยเหลือ แต่เราต้องมารวมกันและค้นหาความแข็งแกร่งในตัวเอง “We Don’t Need Another Hero” เป็นเพลงป๊อปร็อกอันทรงพลังที่มีส่วนประกอบของซินธ์-ป๊อป เพลงนี้มีซาวด์ที่น่าสนใจ ริฟฟ์กีตาร์เท่ ๆ เสียงเครื่องเป่าเติมสีสัน และคอรัสที่น่าจดจำ เสียงร้องที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเทอร์เนอร์ ให้ความรู้สึกมีพลังและมุ่งมั่น  

“We Don’t Need Another Hero” ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ติดอันดับท็อป 10 ในประเทศต่าง ๆ ขึ้นสูงสุดที่อันดับ 2 ในชาร์ต Billboard Hot 100 ในสหรัฐอเมริกาและติดอันดับชาร์ตในอีกหลายประเทศรวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย และเยอรมนี เพลงนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและทำเทอร์เนอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัล ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาเพลงดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Song) จากเวทีรางวัลลูกโลกทองคำ และสาขาการแสดงเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม (Best Female Pop Vocal Performance) จากรางวัลแกรมมี่อวอร์ดในปี 1986

“I Don’t Wanna Fight” (1993)

เพลงนี้เป็นเพลงจากอัลบั้ม “What’s Love Got to Do with It” ในปี 1993 ซึ่งใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชีวประวัติในชื่อเดียวกัน “I Don’t Wanna Fight” แต่งโดย ลูลู (Lulu), บิลลี่ ลอว์รี่ (Billy Lawrie) และ

สตีฟ ดูเบอร์รี่ (Steve DuBerry) โปรดิวซ์โดย คริส ลอร์ด-อัลเจ (Chris Lord-Alge) เพลงนี้เขียนขึ้นสำหรับภาพยนตร์เรื่อง “What’s Love Got to Do with It” โดยเฉพาะ เนื้อหาของเพลงพูดถึงการต่อสู้และความท้าทายที่ ทีนา เทิร์นเนอร์ ต้องเผชิญในความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของเธอกับ ไอก์ เทอร์เนอร์ เพลงนี้สำรวจประเด็นความขัดแย้ง ความเจ็บปวด และความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ มันพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวของทีนา เกี่ยวกับการทารุณกรรมในครอบครัวและความมุ่งมั่นของเธอที่จะพบกับความสงบและความสุข เนื้อเพลงแสดงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและเน้นย้ำถึงความปรารถนาที่จะแก้ปัญหาอย่างสันติ

https://www.youtube.com/watch?v=0EVwA_BrRnA

“I Don’t Wanna Fight” เป็นเพลงป๊อปบัลลาดที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณที่มีองค์ประกอบของร็อกและอาร์แอนด์บี เพลงนี้มีการถ่ายทอดเสียงร้องที่จริงใจและเข้าถึงอารมณ์ ซึงแสดงให้เห็นถึงเสียงที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเทอร์เนอร์ ท่วงทำนองประกอบด้วยเปียโน กีตาร์ กลอง และเครื่องสายที่สร้างความไพเราะและอารมณ์ให้กับเนื้อเพลง “I Don’t Wanna Fight” ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างมาก กลายเป็นเพลงยอดนิยม 10 อันดับแรกในหลายประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร เยอรมนี และออสเตรเลีย ในสหรัฐอเมริกา ขึ้นถึงอันดับที่ 9 ในชาร์ต Billboard Hot 100 และกลายเป็นหนึ่งในซิงเกิลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ ทีนา เทอร์เนอร์ และทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขา

การแสดงเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม (Best Female Pop Vocal Performance) ในปี 1994 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล ASCAP Pop Award สาขาเพลงที่มีการแสดงมากที่สุด (Most Performed Songs) ในปี 1994

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส