[รีวิว] Argylle: สูตรสำเร็จจารกรรมฉบับยำแหลก
Our score
7.1

Release Date

01/02/2024

แนว

แอ็กชัน/ผจญภัย/ระทึกขวัญ

ความยาว

2.19 ช.ม. (139 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

แมทธิว วอห์น (Matthew Vaughn)

SCORE

7.1/10

[รีวิว] Argylle: สูตรสำเร็จจารกรรมฉบับยำแหลก
Our score
7.1

Argylle | อาร์ไกล์ ยอดสายลับ

จุดเด่น

  1. เนื้อเรื่องจับจริตหนังจารกรรมมาหยอกเย้าและปั่นหัวได้สนุก มีมุกร้ายให้ฮา
  2. พล็อตซ้อนพล็อตที่ปั่นสุด ๆ ยิ่งเล่าก็ยิ่งเหวอ แม้จะมีสูตรสำเร็จแต่ก็แอบเดาลำบาก
  3. ฉากแอ็กชันทำได้ดีพอสมควร แม้จะแอบเนือยไปบ้าง
  4. นักแสดงได้โชว์ของเพียบ ไบรซ์ ดัลลัส ฮาวเวิร์ด - แซม ร็อกเวลล์ เคมีเข้ากันอย่างประหลาด

จุดสังเกต

  1. การเล่าเรื่องหักมุมหักศอกเยอะมาก ถ้าตามไม่ทันก็อาจเกลียดไปเลย
  2. ใช้ CGI เปลืองมาก แม้แต่แมวก็เป็น CGI เข้าใจเหตุผล แต่แมวปลอมมันน่ารักสู้แมวจริงไม่ได้
  3. นักแสดงหลายส่วนแอบน่าเสียดายที่ไม่ได้โชว์ของ
  4. พี่วอห์นแกเอาคาวิลล์มาแกงใช่ไหม ?
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.8

  • คุณภาพโปรดักชัน

    5.7

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    6.6

  • ความบันเทิง

    8.2

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.2


Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

แมทธิว วอห์น (Matthew Vaughn) ผู้กำกับสายกวน เจ้าของผลงานหนังซูเปอร์ฮีโร ‘X-Men: First Class’ (2011) และสร้างชื่อจากหนังแอ็กชันตลกร้ายแสบ ๆ คัน ๆ ทั้ง ‘Kick-Ass’ (2010) และไตรภาค ‘Kingsman: The Secret Service’ (2014), ‘Kingsman: The Golden Circle’ (2017) และ ‘The Kingsman’ (2021) กลับมาพร้อมกับผลงานใหม่ที่หันมาจับแนวสายลับใน ‘Argylle’ หนังออริจินัลเรื่องใหม่ล่าสุดของ Apple Original Films

ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายสายลับของ เอลลี คอนเวย์ (Elly Conway) นามปากกาของนักเขียนนิรนามที่ก็ไม่รู้ว่าตัวจริงเป็นใคร จนมีทฤษฎีสมคบคิดออกมาว่านี่คือนามปากกาของแม่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแค่นักเขียนไม่อยากออกสื่อ หรือทั้งหมดก็แค่การตลาดอันซับซ้อน (เพราะหนังสือดันมาวางแผง 1 เดือนก่อนหนังฉายพอดี) อันนี้ก็ต้องตามดูต่อไป เพราะเบื้องต้นพี่วอห์นวางไว้ว่า ถ้าหนังออกมาปัง ก็เตรียมขยายเป็นหนังไตรภาคกันไปเลย

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

ตัวหนังเป็นเรื่องราวของ เอลลี คอนเวย์ (ไบรซ์ ดัลลัส ฮาวเวิร์ด – Bryce Dallas Howard) สาวโสด Introvert เจ้าของผลงานหนังสือนิยายนักสืบที่มีความสุขกับการเขียนงาน เล่าเรื่องราวภารกิจของสายลับอาร์ไกล์ (เฮนรี คาวิลล์ – Henry Cavill) หน้าคอมพิวเตอร์ (ที่แน่นอนว่าต้องเป็น iMac) อยู่ที่บ้าน และเป็นมี้ให้กับเจ้าแมวพันธุ์สก็อตติชโฟลด์ที่มีชื่อว่า แอลฟี (ชิป – Chip) แต่ในระหว่างที่เธอเดินทางไปหาแม่ รูธ (แคตเธอรีน โอฮารา – Catherine O’Hara) เธอได้พบเจอกับ เอเดน (แซม ร็อกเวลล์ – Sam Rockwell) ชายลึกลับ และต้องเผชิญการไล่ล่าของ ริตเตอร์ (ไบรอัน แครนสตัน – Bryan Cranston) หัวหน้าขององค์กรดิวิชัน (Division) ผู้ชั่วร้าย แบบเดียวกับเรื่องราวในหนังสือที่เธอเขียนเป๊ะ เอลลี นักสืบอาร์ไกล์ (และแอลฟี) จึงต้องร่วมปฏิบัติภารกิจชิงมาสเตอร์ไฟล์ ไม่ให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของริตเตอร์

ลำพังถ้าดูเรื่องย่อและตัวอย่าง หลายคนก็อาจจะคิดว่านี่คือหนังที่จะมาชำแหละหนังแนวนักสืบ แนวจารกรรมอะไรทำนองนี้ใช่ไหม ซึ่งคำตอบก็คือทั้งใช่และไม่ใช่ครับ ที่บอกว่าใช่ เพราะว่าองก์แรกของหนังมันก็เป็นแบบนั้นเลย ซึ่งก็ชวนให้คิดถึง ‘Kick-Ass’ ที่ชำแหละหนังซูเปอร์ฮีโร แล้วใส่พล็อตเพี้ยน ๆ อีหยังวะสไตล์ ‘Kingsman’ เข้าไปนิดหน่อย

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

แน่นอนว่าพอมีการยืมสูตรสำเร็จของหนังแอ็กชันจารกรรมรุ่นพี่มาใช้เป็นแม่แบบ ตั้งแต่ เจมส์ บอนด์ (James Bond) รวมทั้ง ‘Mission: Impossible’ หรือแม้แต่ ‘Fast & Furious’ ภาคหลัง ๆ หรือแม้แต่การล้อจริตของหนังนักสืบในเชิงวรรณกรรม มันก็เลยทำให้องก์แรกของหนังมีความซ้ำซากจำเจสำหรับหนังแนว ๆ นี้พอสมควร ก่อนจะค่อย ๆ แทรกมุกตลกที่มีความแฟนตาซี รวมทั้งจังหวะการหักมุมพลิกตลบเรื่องที่ค่อย ๆ คลายปม และดึงเอาโลกของเอลลี และโลกในนิยายของอาร์ไกล์เข้ามาหากัน เพื่อจะได้ตามต่อไปว่าทั้ง 2 โลกมันเกี่ยวข้องกันได้ยังไง

และที่ผู้เขียนบอกว่าไม่ใช่ก็เพราะว่าในองก์ที่ 2 ตัวหนังก็ค่อย ๆ ขยายขนาดเรื่องราวที่ตัวอย่างไม่ได้ใส่ไว้ด้วยการทวีคูณความหักมุมพลิกล็อกเรื่องไปมา เป็นวิธีการเล่าเรื่องพล็อตซ้อนพล็อตที่ยังคงขนบของการยั่วล้อจริตและ Stereotype ภาพของนักสืบ และหนังนักสืบ ในขณะที่พล็อตก็ค่อย ๆ คลายปมบางอย่างออกมาทีละน้อยจนคาดเดาแทบไม่ได้ว่าเนื้อเรื่องมันจะไปทางไหน ยิ่งเฉลยก็ยิ่งมีแต่เรื่องเพี้ยน ๆ ชวนเหวอมากขึ้นกว่าเดิมอีก ถ้าไม่นับความวุ่นวายที่ต้องมานั่งเชื่อมโยงปะติดปะต่อ แยกแยะจุดหักมุมทั้งหลายที่พลิกแล้วพลิกอีก ปั่นแล้วปั่นอีกว่าตกลงแล้วใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไรกันแน่ ตัวหนังก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการล้อหนังนักสืบที่ล่อหลอกปั่นหัวคนดูได้พอสมควร

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

ซึ่งพอปะติดปะต่อได้แล้วนั่นแหละ ถึงจะเริ่มรู้สึกบันเทิง เริ่มสนุกไปกับหนังขึ้นมาได้ แล้วก็รู้สึกอยากเห็นหนังมันโม้เลยเถิดไปเรื่อย ๆ ดูสิว่าแกจะโม้แหลกได้ถึงไหน ซึ่งปรากฏว่ามันก็โม้แหลกจริง ๆ นั่นแหละ ยิ่งฉากไคลแม็กซ์ที่เวอร์วังผีบ้าผีบอเป็นละครเวทีไปเลย (ถึงจุดนี้ก็คือช่างแม่-ตรรกะไปแล้ว อยากทำอะไรก็ทำ) หรือฉากหักมุมสุดท้ายที่บ้าบอคอแตกมาก (แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามันแอบปาหมอนไปนิดนะ) คือถ้าใครไม่รู้สึกเหวอจนเวียนหัว หรือ Cringe แตกกับพล็อตและการกระทำของตัวละครที่อีหยังวะเพิ่มขึ้น ๆ จนรับไม่ได้ ก็ปล่อยจอยขำก๊ากกันจนรวนไปข้างหนึ่ง

อีกส่วนที่ถือว่าบันเทิงพอใช้ได้ก็คือ ฉากแอ็กชันที่มีไม่เยอะ และจริง ๆ แล้วก็ยังทำได้ดีพอสมควร มีความเท่ ความดิบ แต่ก็อลังการและฉูดฉาด เพียงแต่ถ้าเทียบกับแอ็กชันรุนแรงเรต R ที่เป็นลายเซ็นของผู้กำกับ ด้วยความที่ฉากแอ็กชันก็แอบมีจังหวะเนือยพอสมควร รวมทั้งการที่หนังถูกบล็อกไว้ที่เรต PG-13 จังหวะไหนอยากเล่นมุกโหดก็เลยต้องใช้มุมกล้อง+ตัดต่อบังสายตาเอา ดีกรีความโหดสะใจก็เลยไปไม่ถึงอย่างที่คาดหวังว่าจะได้เห็น

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งที่แทบจะดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือเคมี และลีลาของบรรดานักแสดงครับ คือช่วยหนังได้ระดับหนึ่งเลย บทหลักอย่างเอลลี ที่รับบทโดย ไบรซ์ ดัลลัส ฮาวเวิร์ด ก็ถือว่าเหมาะสมกับการรับบทแนว ๆ นี้อยู่แล้ว (แต่ก็มีอะไรที่เซอร์ไพรส์และแอบสปอยล์ไม่ได้จริง ๆ ) รวมทั้งเคมีของเธอกับ แซม ร็อกเวลล์ ก็ถือว่าเข้ากันได้อย่างคาดไม่ถึง ที่ผู้เขียนรู้สึกชอบส่วนตัวอีกคนก็คือลุงไบรอัน แครนสตัน ที่อาจจะไม่ได้ฉายแสงเด่น แต่ก็มีจังหวะโชว์ของอยู่ จะแอบเสียดายก็ตรงที่ทัพนักแสดงดัง ๆ หลายคนที่ไม่ได้มีบทบาทเด่น คือเหมือนมาโผล่เป็น Cameo เฉย ๆ

ที่เรียกว่าเป็นบทสมทบจริง ๆ ก็คือพ่อหนุ่ม เฮนรี คาวิลล์ ในมาดสายลับอาร์ไกล์นี่แหละ เหมือนผู้กำกับแกอยากเอามาแกล้งเฉย ๆ อ่ะ คือขนาด จอห์น ซีนา ยังมีบทเด่นเยอะกว่าอีก แต่ถ้าใครอยากเห็นพี่เค้าเป็น 007 ก็ถือว่าสมหวังอยู่นะ (555) อ้อ แล้วอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ เจ้าชิป ที่จริง ๆ แล้วมีศักดิ์เป็นถึงเจ้านายของ คลอเดีย ชิฟเฟอร์ (Claudia Schiffer) ภรรยาของวอห์นเชียวนะครับ (นี่มันแมวเด็กเส้นชัด ๆ …) เห็นแบบนี้ แต่น้องเป็นตัวขโมยซีนละลายทาสเชียวนะ แต่มันก็น่าเสียดาย…

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

คือมันน่าเสียดายตรงที่ฉากส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฉากแอ็กชันที่มีเจ้าชิปร่วมผจญภัยเฉียดตายมาแล้วเนี่ย มันเป็น CGI ครับ มันคือแมวคอมพิวเตอร์กราฟิกชัด ๆ ซึ่งก็เข้าใจได้แหละว่า ไอเดียบ้าบิ่นขนาดนี้ คงไม่มีใครอำมหิตที่จะถ่ายด้วยการเอาแมวจริง ๆ ไปเข้าฉากแอ็กชันโดดตึก อุ้มขึ้นเรือแบบไม่ใส่กระเป๋า มุดเข้าใต้ถุน หนีระเบิด หลบห่ากระสุนได้ (สงสารน้อง…)

แต่มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ฟ้องว่าหนังเรื่องนี้ใช้ CGI ได้เปลืองมาก ๆ ทั้งที่ใช้ทุนสร้างไปถึง 200 ล้านเหรียญเชียวนะ จริง ๆ ส่วนใหญ่ก็ถือว่าทำออกมาได้ไม่แย่แหละ แต่มันก็ยังมีแผลหลายจุดอยู่ ยิ่งถ้าดูบนจอ IMAX ก็ยิ่งเห็นชัดเลย แมวซีจีชัด ๆ สำหรับผู้เขียนที่เป็นทาสแมวคนหนึ่ง คือแมว CGI มันน่ารักไม่เท่าแมวจริง มันก็เลยดูขัดหูขัดตาขัดใจทาสอยู่พอสมควร

Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

สำหรับคนชอบหนังนักสืบ หนังเรื่องนี้ยังไงก็ต้องดูครับ สำหรับคนที่ไม่ได้อินกับความเพี้ยนของหนัง นี่คือหนังที่อาจจะไม่ใช่ทางจนอาจจะไม่สนุก หรือไม่ก็ไปรอดูใน Apple TV+ ทีเดียวไปเลยดีกว่า และมันก็อาจจะไม่ใช่หนังที่มีอะไรค้างไว้ในหัวให้จดจำได้ชัดเจนนัก จากการเล่าเรื่องที่วืดวาดและพล็อตที่ใส่่ไปเรื่อยไม่ยั้งจนแอบไม่ทันตั้งตัว

แต่ถ้าว่ากันในฐานะดูเอาบันเทิง นี่คือหนังที่มีไอเดียในการแหวกและฉีกขนบ เป็นการหาวิธีใหม่ให้กับสูตรสำเร็จของหนังจารกรรมแนว ๆ นี้ได้อย่างน่าสนใจ มันไม่ได้สดใหม่กิ๊ก แต่มันก็ยังมีดีที่เนื้อเรื่องและไอเดียที่เพี้ยนไปเรื่อยแบบไม่มีสิ้นสุด ก็ถือว่าเป็นหนังแกล้มป๊อปคอร์นที่ดูได้เพลิน ๆ และปั่นหัวได้แรงมาก และถ้ารับได้เรื่องแมวซีจีล่ะก็นะ…

ปล. มีฉากพิเศษก่อนเครดิต 1 ตัวนะครับ ใครที่ตามผลงานพี่วอห์นทุกเรื่องก็น่าจะได้ว้าวอยู่นะ


Argylle © 2023 Apple Original Films Universal Pictures

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส