งัดตู้ตอนนี้ไม่จำเพาะเจาะจงหนังเรื่องใดในอดีต แต่ขอย้อนต้อนรับ The Mummy เวอร์ชั่น 2017 ที่กำลังจะลงโรง ด้วยการย้อนเล่าที่มาของมัมมี่บนโลกภาพยนตร์สักหน่อย ว่าทำไมถึงเป็นปีศาจตัวโปรดที่ค่ายหนังถึงขยันสร้างกันออกมานัก มีที่มาอย่างไร “มัมมี่”คือปีศาจที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในลำดับต้น ๆ ด้วยภาพลักษณ์คุ้นตาว่าเป็นศพพันปีห่อด้วยผ้าขาว เดินกระย่องกระแย่งแต่ก็ยังไล่ตามคนได้ทัน แล้วก็ชอบหักคอคนด้วยความแค้นที่ไปขุดมันออกมาจากสุสาน  มัมมี่ไม่เคยห่างหายไปจากจอภาพยนตร์หรือจอทีวีเป็นเวลานาน แม้่ว่าครั้งล่าสุดที่ฮอลลีวู้ดสร้างหนังมัมมี่ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) จะทิ้งช่วงไปถึง 9 ปี แล้วก็ตาม ระหว่างนั้นก็ยังมีหนังสั้น หนังทีวี หนังทุนต่ำออกมาเนือง ๆ

และการกลับมาครั้งนี้ของมัมมี่ ของค่ายยูนิเวอร์แซล ถือว่ารับหน้าที่หนักเพราะมันจะเป็นตัวนำร่อง “จักรวาลมืด” หรือ “Dark Universe” ให้กับยูนิเวอร์แซล ที่ในค่ายไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ไว้กวาดเงินกับเค้า แต่มีเหล่าปีศาจอยู่ในมือก็เลยขอเปิดจักรวาลตัวเองบ้างแต่ให้ มัมมี่ , แดรกคูลา , มนุษย์หมาป่า และ แฟรงเกนสไตน์ ทยอยออกมาอาละวาดก่อนจะถูกจับมาให้เจอกันเอง ทำไมถึงต้องเป็น “มัมมี่” ที่ทำหน้าที่เปิดตัวจักรวาลมืด เพราะอย่างที่กล่าวเพราะว่าคนแทบทุกมุมโลกน่าจะรู้จักชื่อ”มัมมี่”ดี เพราะฮอลลีวู้ดเองก็คุ้นเคยกับปีศาจตัวนี้ดีสุด ถ้านับย้อนไปฮอลลีวู้ดสร้างหนังมัมมี่เรื่องแรกก็ปี 1899 นั่นเท่ากับมัมมี่ถือกำเนิดในโลกภาพยนตร์มาแล้ว118 ปี และถ้านับถึง The Mummy (2017) มีหนังมัมมี่ออกสู่สายตาชาวโลกมาแล้วถึง 176 เรื่อง มากสุดในบรรดาปีศาจฝรั่ง (มนุษย์หมาป่า 124 เรื่อง, แดรกคูลา 82 เรื่อง และ แฟรงเกนสไตน์ 34 เรื่อง)

ปกหนังสือ The Mummy, A Tale Of The Twenty-Second Century

ก่อนจะไปดู The Mummy เรื่องใหม่ที่จะเข้าฉาย 8 มิถุนายน นี้ ขอเล่าถึงหนังมัมมี่คัดเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังหน่อยดีกว่า ย้อนไปจุดกำเนิดของมัมมี่ ที่มีการตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรให้วงกว้างได้รู้จักกันแพร่หลายจริง ๆ ก็คือหนังสือ “The Mummy! Or a Tale of the Twenty-Second Century” เขียนโดย เจน ซี. เลาดอน ซึ่งส่งผลให้เกิดหนังฮอลลีวู้ดตามมา 2 เรื่อง “Cleopatra’s Tomb” หรืออีกชื่อหนึ่ง “Robbing Cleopatra’s Tomb” ออกฉายในปี 1899 เชื่อว่าเป็นหนังมัมมี่เรื่องแรกของโลก สร้างโดย จอร์จ เมลี่ ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อของหนังสยองขวัญในยุคนั้น

หนังเล่าเรื่องมัมมี่ของคลีโอพัตรา โดนหั่นแยกร่างเป็นชิ้น ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็กลับรวมร่างกันเองและกลับมามีชีวิตใหม่ได้ ผู้กำกับจำต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เทคนิคในยุคนั้นรวมถึงเทคนิคหน้ากล้องช่วยกันสร้างภาพสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ของมัมมี่ขึ้นมา น่าเสียดายว่าวันนี้ฟิล์มหนังเรื่องนี้ได้อันตรธานไปหมดแล้ว , เรื่องที่ 2 ตามมาในปี 1911 ใช้ชื่อเดียวกับหนังที่จะฉาย “The Mummy” สร้างโดย บริษัท ธันเฮาเซอร์ เล่าเรื่องมัมมี่ของราชินีอียิปต์เหมือนกันอีก แต่ในเรื่องนี้เธอถูกทำให้ฟื้นคืนชีพด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า และตอนจบนักวิทยาศาสตร์ผู้ฟื้นคืนชีพเธอก็แต่งงานกับมัมมี่เจ้าหญิงอีก เรื่องออกแนวคล้าย ๆ กับเจ้าสาวแฟรงเกนสไตน์จัง

ทีมค้นหาสุสานตุตันคาเมน นำโดยโรเบิร์ต คาร์เตอร์

มาถึงปี 1922 เป็นปีแห่งการค้นพบมัมมี่อย่างเป็นทางการ เมื่อทีมนักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดพบสุสานของกษัตริย์ตุตันคาเมน ในวันที่ 4 พ.ย. 1922 กินระยะเวลาในการขุดถึง 10 ปีถึงจะเจอห้องเก็บพระศพ และโลงพระศพที่ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ นับเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในโลก และสิ่งที่ทำให้เรื่องราวนี้ได้รับความสนใจในวงกว้างขณะนั้นคือ คำสาปของฟาโรห์องค์นี้ที่สลักไว้ในสุสานว่า “มรณะจักโบยบินมาสังหารสู่ผู้บังอาจรังควานสันติสุขแห่งพระองค์ฟาโรห์” และความน่ากลัวก็บังเกิดขึ้นจริง เมื่อทีมค้นหาได้ทยอยตายโดยไม่ทราบสาเหตุทั้ง 22 คน คงมีแต่เพียงโรเบิร์ต คาร์เตอร์ หัวหน้าทีมค้นหาที่รีบนำโลงพระศพตุตันคาเมนกลับคืนมาไว้ที่สุสานดังเดิม จึงรอดพ้นคำสาปมาได้

มัมมี่ เรื่องแรกของค่ายยูนิเวอร์แซล

 

มัมมี่แฟรนไชส์แรกของฮอลลีวู้ด

จากข่าวการค้นพบสุสานตุตันคาเมน และคำสาปเฮี้ยนทำให้เรื่องราวของมัมมี่เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้สตูดิโอใหญ่อย่างยูนิเวอร์แซลสร้างหนังมัมมี่เรื่องแรกในชื่อ “The Mummy” ออกมาในปี 1932 ได้ดาราใหญ่ บอริส คาร์ลอฟ มารับบท”อิมโฮเทป” เป็นเรื่องราวเดียวกันกับ มัมมี่ไตรภาคหลังที่ออกมาในปี 1999 มี เบรนแดน เฟรเซอร์ รับบทนำ , ฮอลลีวู้ดสร้างมัมมี่แฟรนไชส์แรกออกมาในปี 1940 ภาคแรกชื่อว่า “The Mummy’s Hand” รอบนี้มัมมี่ชื่อว่า “คลาริส” รับบทโดย ทอม ไทเลอร์ หนังฮิตมากถึงขนาดว่ามีภาคต่อตามมาอีก 3 ภาค The Mummy’s Tomb (1942), The Mummy’s Ghost (1944) และ The Mummy’s Curse (1944) ภาค 3 กับ 4 ออกมาปีเดียวกันเลย หลังจากจบแฟรนไชส์ 4 ภาคนี้ ก็เว้นช่วงไปถึง 11 ปีเลย คลาริส กลับมาอาละวาดอีกครั้งในปี 1955 ในชื่อว่า “Abbott and Costello Meet the Mummy” , ปี 1957 มี “Pharoah’s Curse” ของผู้กำกับ ลี โชเล็ม รอบนี้เริ่มพิลึกพิลั่นมากขึ้นเมื่อมัมมี่ในเรื่องนี้เริ่มกัดคอเหยื่อและดื่มเลือดเพื่อดำรงชีพ กลายเป็นมัมมี่ผสมแวมไพร์ไปซะแล้ว

หนังมัมมี่จากทางฝั่งเม็กซิโก

ช่วงปี 50s ถึงปลายยุค 60s ถือว่าได้ว่าเป็นยุคทองของหนังมัมมี่เพราะมีออกมาเยอะมาก ลามไปถึงเม็กซิโก เมื่อผู้กำกับ โลเปซ พอร์ติลโล ทำหนังมัมมี่เม็กซิกันออกมาในปี 1957 “The Aztec Mummy” หนังฮิตมากเช่นกันถึงขนาดมีภาคต่ออีก 3 ภาค (ยุคนั้นชอบทำหนัง 4 ภาคกันเนอะ) The Curse of the Aztec Mummy (1957), The Robot Vs. The Aztec Mummy (1959) และ Wrestling Women Vs. the Aztec Mummy (1964) อ่านชื่อแล้วเนื้อหาค่อนข้างเละเทะพอดูนะ หุ่นยนต์เจอมัมมี่  นักมวยปล้ำสาวเจอมัมมี่ แต่จะเละตุ้มเป๊ะอย่างไรก็ตามหนังก็ฮิตขนาดที่ว่ามีนายทุนอเมริกันซื้อมาตัดต่อใหม่และออกฉายในอเมริกาใช้ชื่อว่า “Attack of the Mayan Mummy”

หนังมัมมี่ จากทางฝั่งอังกฤษ

เมื่อเม็กซิโกทำแล้วฮิต คราวนี้อังกฤษก็ขอทำบ้างสิ แฮมเมอร์ฟิล์มของอังกฤษเลยประเดิมด้วย “The Mummy”(1958) ใช้ดาราแม่เหล็กของหนังสยองขวัญยุคนั้นมารับบทนำทั้ง ปีเตอร์ คูชิ่ง และ คริสโตเฟอร์ ลี หนังประสบความสำเร็จทำให้แฮมเมอร์ สร้างหนังเกี่ยวกับมัมมี่ ออกมาอีก 3 เรื่อง แต่ไม่ใช่เป็นภาคต่อกัน The Curse of the Mummy’s Tomb (1964) , The Mummy’s Shroud (1967) และ Blood from the Mummy’s Tomb (1971) เรื่องหลังนี่ดัดแปลงมาจาก “The Jewel of Seven Stars” บทประพันธ์ของ บราม โตคเกอร์ เรื่องราวของราชินีอียิปต์กลับชาติมาเกิด

The Mummy ไตรภาคล่าสุด

จากปลายยุค 60s เป็นต้นไป หนังมัมมี่ก็ยังถูกสร้างออกมาเนือง ๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังทุนต่ำ หนังเกรดบี หนังทีวีบ้าง สร้างเป็นหนังการ์ตูนบ้าง จนกระทั่งปี 1999 เมื่อยูนิเวอร์แซลประกาศสร้าง The Mummy อีกครั้ง เล่าเรื่องกษัตริย์ อิมโฮเทป จอมเฮี้ยนคนเดิมจากปี 1932 ให้ สตีเฟน ซอมเมอร์ ผู้กำกับสายแอ็คชั่น มารับหน้าที่ ได้เบรนแดน เฟรเซอร์ ที่เปลี่ยนลุคจากสายฮามารับบท ริค โอคอนเนล นักโบราณคดี และ อาร์โนล วอสลู มารับบท อิมโฮเทป และปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของมัมมี่เสียใหม่ ให้เลิกพันผ้าขาวเดินต้วมเตี้ยม แต่ปรากฎตัวในร่างของกษัตริย์อียิปต์ที่มากไปด้วยพลังอำนาจเวทมนตร์ ให้คนดูตื่นตากับภาพสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ ผลออกมาฮิตเกินคาดจากทุนสร้าง 80 ล้านเหรียญ หนังกวาดรายได้ไปถึง 415 ล้านเหรียญ และแน่นอนหนังต้องมีภาคต่อ The Mummy Returns ตามมาในปี 2001 และ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor ตามมา แต่ทิ้งช่วงห่างหน่อย ออกมาในปี 2008 ที่รอบนี้พาเรื่องราวไปไกลให้ริคไปผจญภัยกับมัมมี่จักรพรรดิ์จีน ที่ได้ เจ็ท ลี มารับบท รายได้ก็ไม่ขี้เหร่นัก ทำไปถึง 401 ล้านเหรียญ แต่ยูนิเวอร์แซลก็ไม่ตัดสินใจทำภาคต่อ แต่ไปเดินหน้าภาคแยก The Scorpion King ที่ถึงตัวร้ายจากภาค 1 มาสานต่อในหนังตัวเอง The Scorpion King ใช้ทุนสร้างต่ำกว่าและไปได้ดีในตลาดวีดีโอก็เลยสานต่อไปได้ถึง 4 ภาค และนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นอาชีพการแสดงเต็มตัวครั้งแรกให้กับ ดเวย์น จอห์นสัน นักมวยปล้ำอาชีพชื่อดัง ที่วันนั้นยังใช้ชื่อ เดอะ ร็อค อยู่เลย

เอาเท่านี้พอ เฉพาะเรื่องเด่น ๆ ในประวัติศาสตร์หนังมัมมี่ ถ้าร่ายยาว 176 เรื่อง น่าจะได้หนังสือหนา ๆ 1 เล่มเป็นแน่ เห็นได้ว่ามัมมี่นี่เป็นลูกรักของฮอลลีวู้ดจริง ๆ รอดูกันว่ากลับมารอบนี้ ทอม ครุยส์ และ”อาห์มาเน็ต” ราชินีมัมมี่ จะออกมาอาละวาดได้สะใจคนดู ทำหน้าที่เปิดจักรวาลมืดให้กับยูนิเวอร์แซลสำเร็จหรือไม่?