ให้หลังจากการเสียชีวิตของคุณแม่โดโรธีในปี 1999 เวลาก็ล่วงเลยผ่านไปเนิ่นนานและใช้เวลากว่า 17 ปีที่ ไมค์ มิลส์ ผู้กำกับจะหยิบเรื่องราวที่ใกล้ตัวที่สุดของเขามาจับเป็นหนังขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นผลงานหนังในรอบ 6 ปีของเขาหลังจาก Beginners หนังครอบครัวสูตรดรามาคอเมดี้สไตล์ถนัดของเจ้าตัว โดยตัวละครใน 20th Century Women ก็ตั้งต้นมาจากคนรู้จักของมิลส์เองทั้งนั้น

20th Century Women มันเป็นหนังที่วางแบ็คกราวน์เอาไว้ใน ซานตา บาบารา ช่วงปี 1979 ซึ่งเป็นการเดินเรื่องผ่านมุมมองของ โดโรธี (แอนเน็ต เบนนิง) ในสถานะของ ‘ซิงเกิ้ลมัม’ ในปลายยุค 70 กับการเรียนรู้และเผชิญกับเครื่องหมายคำถามมากมายสำหรับคนที่เกิดและเติบโตในยุคก่อนสงครามโลก เมื่อชีวิตต้องเดินมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากที่ผู้คนใช้วง The Doors หรือ The Jefferson Airplane เป็นไอดอลยึดเหนี่ยวเรื่องเสรีภาพมาเป็นดนตรีพังค์และหนุ่มสาวผู้นิยมพกพาสเก็ตบอร์ด โดยมีตัวแทนของสาวต่างเจเนอเรชันตั้งแต่ยี่สิบกว่า ๆ อย่างแอ๊บบี้ (เกรตา เกอร์วิก) และ จูลีย์ (แอล แฟนนิง) เด็กสาววัยทีน ซึ่งหญิงสามวัยมีโจทย์สำคัญคือจะช่วยกันดูแลลูกชายวัยขบเผาะที่กำลังเรียนรู้โลกอย่าง เจมี (ลูคัส เจด ซูมานน์) อย่างไรให้ไม่เสียคน

ตัวหนังเก็บรายละเอียดของเหตุการณ์หลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 1979 ได้ค่อนข้างละเอียด และถูกหยิบจับมาเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเรื่องได้แนบเนียนดี ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่บ้านเมืองในช่วงยุคสุดท้ายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี คาร์เตอร์, ช่วงเวลาที่ สตีฟ จ็อบส์ และ สตีฟ ว๊อซเนียก เปิดตัว Apple-1 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรกของ Apple ให้โลกรู้จัก, รวมถึงคดีสะเทือนขวัญของ เบรนดา สเปนเซอร์ เด็กสาววัย 16 ที่ถือไรเฟิลกราดยิงเพื่อนนักเรียน, ผู้ปกครอง คุณครูที่โรงเรียน ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิกที่ว่า ‘หนูไม่ชอบวันจันทร์’

บรรยากาศของหนังเรื่องนี้นอกจากจะมีความเป็นดรามาที่สอดแทรกมุขตลกได้ไหลลื่นแล้ว ยังเล่าเรื่องให้ได้สัมผัสถึงความเป็นสารคดีในตัวด้วย ไม่ว่าฉากที่ถูกเซ็ตอัพขึ้นในยุค 1979, คอสตูมและท่าทางของเด็กวัยรุ่นในยุค 80s ที่ตัวหนังเก็บรายละเอียดและพยายามให้ความรู้ที่มาที่ไปกับคนดูด้วย คือ 20th Century Women เปรียบเสมือนหนัง coming of age ของคนจากยุคก่อนเบบี้บูมส์ (1920s) ในสภาวะซึมเศร้าจากเศรษฐกิจตกต่ำ และสงครามโลก ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบและติดอยู่กับกฏเกณฑ์บางอย่างที่สังคมยุคโน้นหล่อหลอมขึ้นมา แล้วเกิดจุดหักเหสำคัญในเรื่องความคิดอีกครั้งในยุค 80s แต่อย่างไรก็ตาม นั่นคือส่วนประกอบหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่แท้จริงแล้ว มาพร้อมกับเมสเซจของความเป็นเฟมินิสต์แบบเข้มข้นจัดจ้าน

20th Century Women นั้นแสดงให้เห็นคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจน บทบาทของผู้หญิงทั้ง 3 วัยที่เบื้องหน้าคือความสตรองแต่ซ่อนปมร้าวรักไว้ในใจ ถึงกระนั้นพวกเธอก็มีความ ‘แมน’ และเป็นเหมือนไอดอลของเด็กหนุ่ม เจมี ให้เดินตาม ตัวหนังพยายามเน้นไปที่เรื่องที่ว่า ผู้ชายที่จะเติบโตเป็นลูกผู้ชายได้จริง ๆ ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้หญิงเป็น ทั้ง โดโรธี, แอ๊บบี้ และ จูลีย์ ถูกวางบทบาทเอาไว้เป็นเหมือนเป็น พ่อ รุ่นพี่ และพี่ชาย ในมุมของเจมีที่ต้องเดินตาม ขณะเดียวกัน ในมุมของ แอ๊บบี้และจูลีย์ นั้นก็พยายามแสดงตัวตนที่เป็นวัยรุ่นยุคพังค์ที่ไม่แคร์โลก และต่อต้านความคิดเก่าโบราณคร่ำครึของคนรุ่นโดโรธี อีกต่อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่, เล่นยา หรือว่าพูดเรื่องใต้สะดือบนโต๊ะอาหารที่มีแต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะ และหากมองลึกเข้าไปในตัวของจูลีย์ เธอก็เป็นเด็กสาววัยรุ่นคนที่มีปม เธอมีแม่เป็นนักบำบัดจิตให้วัยรุ่น แต่เธอกลับเป็นเด็กมีปัญหา ครุ่นคิดถึงความตายและความทุกข์ ขณะที่แอ๊บบี้ ก็ต่อสู้กับโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อความฝันที่อยากจะมีลูกเหมือนผู้หญิงคนอื่น ๆ

การเดินเรื่องของหนังไม่หวือหวา เรียบง่ายแต่ดูสนุกเพราะตัวละครแต่ละตัวมีมิติและปมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งหนังปูทางให้เห็นความแตกต่างในตัวละครไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ประเด็นต่าง ๆ ถูกใส่มาแบบพอดีไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด เป็นหนังดรามาที่ไม่รู้สึกถึงความเนือยใด ๆ เลย และดูเพลิน ยิ่งช่วงครึ่งหลังตัวละครในหนังก็มีพัฒนาการที่ยอดเยี่ยม น่าติดตามหมด ตัวหนังมีความเป็นเฟมินิสต์ชนิดหัวรุนแรงในแบบฉบับผู้หญิงซ้ายจัดที่คล้ายจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ตัวละครชายมีไว้ให้ผู้หญิงโชว์แสนยานุภาพเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ก็คงจะไม่ผิด แต่ทุกอย่างที่ผ่านไปนั้นคนดูก็ค่อย ๆ อิ่มเอมและประทับใจกับการที่คนต่างวัย ต่างความคิด ต่างโจทย์ต่างปมในชีวิต พยายามปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมโลกและมีความสุขกันได้ เรียกว่า 20th Century Women อาจเป็นอีกหนึ่งงานหนังเซอร์ไพรส์เรื่องหนึ่งของปีเลย

สำหรับแฟนหนังของ น้อง แอล แฟนนิง เรื่องนี้ต้องบอกว่าบทบาทของ จูลีย์ เป็นตัวละครที่มีปมซับซ้อนในตัวเอง หมองหม่น อมทุกข์ ไร้แก่นสาร แต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แทบไม่มีรอยยิ้มในเรื่องนี้ของเธอปรากฏ แต่ถึงอย่างนั้นแอลก็ถ่ายทอดได้ดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับเจมีที่อายุน้อยกว่า ก็ชวนให้คนดูแอบจิ้นกันไปได้บ้าง และหากโดโรธี จะเป็นตัวแทนของหญิงสาวจากยุคสงครามโลกแล้ว จูลีย์ คือภาพของเด็กสาวจากยุค 80s ที่เต็มไปด้วยปรัชญาชีวิตในจิตวิญญาณของเธอ

Play video