วงเรดิโอเฮดและนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อก้อง ฮานส์ ซิมเมอร์ ได้มาร่วมงานครั้งสำคัญกันใน “(Ocean) Bloom,” ซึ่งเป็นการเรียบเรียงและบันทึกเสียงขึ้นมาใหม่ของเพลง Bloom ผลงานเก่าของเรดิโอเฮดจากอัลบั้ม The King of Limbs  เพื่อใช้เป็นเพลงเปิดตัวสารคดีซีรีย์สุดมหัศจรรย์แห่งท้องทะเล Blue Planet II ทางช่อง BBC

Play video

ซึ่ง Bloom ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ เปลี่ยนจากงานดนตรีร็อคแนวทดลองให้กลายไปสู่งานเพลงแบบออเครสตร้า ให้ความรู้สึกลึกลับเป็นการโหมโรงสู่ความมหัศจรรย์และลี้ลับแห่งท้องทะเลลึก ด้วยการบรรเลงจากกลุ่มเครื่องสาย และเสียงร้องอันล่องลอย หลอนลึกของ ทอม ยอร์ค โหมโรงบทเพลงด้วยท่วงทำนองอันเนิบช้าแต่สง่างามและลึกลับ ช่วยขับดันความลี้ลับของห้วงสมุทรและสรรพสัตว์นานาพันธุ์ให้ปรากฏ จากนั้นภาคดนตรีอันยิ่งใหญ่ในแบบของดนตรีประกอบภาพยนตร์อันเป็นการสร้างสรรค์ของ ฮานส์ ซิมเมอร์ก็ถูกเติมเข้ามา ปลดปล่อยพลังแห่งเสียงดนตรีที่ไปกับภาพความยิ่งใหญ่ของชีวิตแห่งห้วงสมุทร สมศักดิ์ศรีการร่วมมือกันครั้งใหญ่ใน “(Ocean) Bloom”

ทอม ยอร์คนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC ว่าแท้จริงแล้วนั้นสารคดีซีรีส์ Blue Planet ชุดแรกนั้นได้ให้แรงบันดาลใจต่อเพลง“Bloom “ของเรดิโอเฮด

“มันดำดิ่งลงไปในจิตกึ่งสำนึกของผม ผมพบว่าผมฝันถึงสรรพชีวิตแห่งท้องทะเลเหล่านี้หลายต่อหลายครั้ง”

ความรู้สึกนี้ดำรงอยู่ในใจทอม ยอร์ค ตลอดการทำงานในอัลบั้ม The King of Limbs เห็นได้ชัดจากท่อนเปิดในเพลง Bloom เสียงเบสของ คอลิน กรีนวู๊ด ที่ผสานไปกับเสียงของกีตาร์และเพอร์คัสชั่นเป็นการอินโทรเพลงก่อนที่เสียงร้องท่อนแรกของยอร์ค ‘Open your mouth wide.’ จะแทรกผ่านเข้ามา

ส่วนซิมเมอร์ก็ได้เสริมว่า

“ผมพยายามที่จะเคารพงานต้นฉบับและไม่ไปทำลายมัน หากมีใครหยิบยื่นงานให้กับคุณ สิ่งที่จะต้องมาด้วยเสมอก็คือความรับผิดชอบและความเคารพในชิ้นงานนั้น”

Play video

ฮานส์ ซิมเมอร์ ,ทอม ยอร์ค และ จอนนี กรีนวู๊ด พูดถึงการทำงานร่วมกันในครั้งนี้

ส่วนเหตุผลที่เรดิโอเฮดตัดสินใจมาร่วมงานในครั้งนี้ ทอม ยอร์คได้ให้เหตุผลไว้ว่า

“ผมมีความหวังที่จะจุดประกายความรักในท้องทะเลและความปรารถที่จะเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมัน”

ยอร์ค กล่าว

“มันเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวคุณ มันยิ่งใหญ่กว่าคุณ”

Play video

เบื้องหลังแนวคิดและการทำงานเพลงชิ้นนี้

ซิมเมอร์ เปรียบวิธีการสร้างสรรค์งานเพลงชิ้นนี้กับงานจิตรกรรมในแนว Pointilism ที่รังสรรค์จากจุดเล็กๆแต่ละจุดต่อเติมกันจนกลายเป็นภาพภาพหนึ่ง พวกเขาจึงกลับมาเริ่มตีความ ณ จุดที่เล็กที่สุดของบทเพลงนั่นคือ “โน้ต” ว่าแท้จริงแล้ว “น้ต” นั้นคืออะไร และเทคนิคที่ใช้ในการสร้างสรรค์บทเพลงนี้ นั้นมีชื่อว่า “Tidal Orchestra” (หรือออเครสตร้าแห่งคลื่นนั่นเอง) ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศทางดนตรีทั้งหมดขึ้นมาด้วยโน้ตเพียงตัวเดียว ซึ่งซิมเมอร์เคยใช้ เทคนิคนี้มาแล้วกับ The Joker Theme (Why So Serious?) ในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight ที่บรรเลงโน้ตเดี่ยวด้วยเชลโล แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปเพราะไม่ได้มีเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียวที่เล่นโน้ตเดี่ยวนี้ ซึ่งวิธีที่ใช้ในการกำกับวงก็คือ การให้นักดนตรีแต่ละคนเล่นไม่พร้อมกัน หากเพื่อนข้างๆเล่นอยู่ เราก็ไม่ต้องเล่น จากนั้นจึงค่อยเล่นสลับกันไป ผลที่ได้คือความรู้สึกของแรงกระเพื่อมทางดนตรีราวกับการเคลื่อนไหวของคลื่นนั่นเอง

A Sunday on La Grande Jatte ผลงานในแนว Pointilism (ลัทธิผสานจุดสี) อันโด่งดังของ ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา

ทอม ยอร์คได้เสริมแนวคิดนี้ว่า

“ที่จริงแล้วหากคุณจ้องมองมหาสมุทรนานเพียงพอ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันคือ pointilism เลย ถ้าคุณมองไปที่มันจริงๆ มันคือสามเหลี่ยมที่มีเข้าและมีออกไป ไหลเข้าและไหลออกตลอดเวลา และมันไม่เคยหยุด มันไม่เคย ไม่เคย ไม่เคยหยุด”

ลองฟัง Bloom เวอร์ชั่นดั้งเดิมเปรียบเทียบกับงานสร้างสรรค์ใหม่ใน (Ocean)Bloom ดูครับ

Bloom เวอร์ชั่นแสดงสด

Play video

(Ocean)Bloom ฉบับเต็ม 

Play video

 

Source