Blade Runner เป็นหนังไซไฟที่ขึ้นแท่นหนังอมตะเรื่องหนึ่งของฮอลลีวู้ด เป็นปรากฎการณ์แปลกประหลาดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เหตุจากหนังล้มเหลวทางด้านรายได้ในวันที่ออกฉาย หนังทำรายได้ไปเพียง 23 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 28 ล้านเหรียญ เพราะหนังไม่ได้เป็นแอ็คชั่น-ไซไฟ ที่มีเนื้อหาเอาใจตลาด อย่างที่คนดูคาดคิดไว้ ริดลีย์ สก็อตต์ ดัดแปลง Blade Runner มาจากนิยายปี 1968 “Do Androids Dream of Electric Sheep?” ของฟิลิป เค. ดิก นักเขียนนิยายไซไฟชื่อดัง มีผลงานดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง Total Recall(1990) , Minority Report (2002) , The Adjustment Bureau (2011)

นิยายต้นฉบับ ของ ฟิลิป เค. ดิก

เรื่องราวเกิดในลอส แองเจลิส ปี 2019 อีก 2 ปีข้างหน้าจากนี้ในชีวิตจริง เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผู้สร้างคาดการณ์อนาคตไว้คลาดเคลื่อนมาก เพราะในหนังนั่นมนุษย์เดินทางด้วยยานเหาะกันหมดแล้ว และพัฒนาหุ่นยนต์ในระดับที่เหมือนมนุษย์เป๊ะ ไม่สามารถแยกออกได้ด้วยสายตา หุ่นยนต์ถูกพัฒนาโดย ไทเรลล์ คอปอเรชั่น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตหุ่นยนต์มาถึงรุ่น NEXUS6 รุ่นนี้มีความคิดอ่าน ความทรงจำ และเลือดเนื้อ ประสิทธิภาพของ NEXUS6 อยู่ในขั้นอันตรายต่อมนุษยชาติ ทางโลกจึงมีมาตรการไม่ให้มี NEXUS6 อยู่ร่วมกับมนุษย์บนโลก ให้ส่ง NEXUS6 ทั้งหมดไปทำงานในดาวที่มีความอันตรายสูงและเรียก NEXUS6 ว่า “รีพลิแคนต์” และก่อตั้งหน่วยปราบปรามรีพลิแคนต์ ในชื่อว่า “เบลด รันเนอร์” มาคอยกำจัดรีพลิแคนต์ที่หลงเหลืออยู่บนโลก ก่อนเริ่มเรื่องหนังขึ้นคำบรรยายเกริ่นนำก่อนเข้าสู่เรื่องราวว่า รีพลิแคนต์ 4 ตัว ทำร้ายผู้คุมบนยานอวกาศและหนีกลับมาแอบซ่อนตัวอยู่บนโลกมนุษย์ ริค เดคคาร์ด อดีตเบลด รันเนอร์ ฝีมือดีถูกตามตัวกลับมาให้จัดการกับรีพลิแคนต์ 4 ตัวที่แอบซ่อนอยู่บนโลก เดคคาร์ด ต้องกลับมารับหน้าที่ด้วยความไม่เต็มใจนัก และเป็นงานที่เขาต้องเจอกับรีพลิแคนต์ที่ฉลาดและอันตรายที่เขาแทบจะเอาชีวิตไม่รอดในท้ายที่สุด

ฟิลิป เค. ดิก ผู้ประพันธ์

ฟิลิป เค.ดิก ได้ดูหนัง Blade Runner ในเวอร์ชั่นตัดต่อหยาบ ๆ ยังไม่แล้วเสร็จเพียง 20 นาทีตอนต้นของหนัง แล้วก็ซาบซึ้งใจอย่างมาก “มันเป็นโลกส่วนตัวของผม แต่พวกเขาก็เข้าถึงมันและถ่ายทอดมันได้อย่างสมบูรณ์” นับเป็นเรื่องแปลกเพราะริดลีย์ สก็อตต์ สร้าง Blade Runner โดยที่ไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับเลย น่าเสียดายที่ว่าฟิลิป ไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นความสำเร็จของหนังจากจินตนาการของเขา ฟิลิป หัวใจวายตายในเดือนมีนาคม 1982 Blade Runner เข้าฉายในเดือนมิถุนายน 3 เดือนให้หลังจากนั้น

ช็อตที่สร้างข้อถกเถียงกันมากว่า ริค เดคคาร์ด เป็น “รีพลิแคนต์” หรือไม่ เพราะมี “Shining Eyes”เอกลักษณ์ของ รีพลิแคนต์ ให้เห็นในช็อตนี้

ริดลีย์ทำ Blade Runner ออกมาตามใจตัวเองมากกว่าเอาใจตลาด เขาถึงออกปากว่า “Blade Runner คือผลงานที่สมบูรณ์ที่สุดและมีความเป็นตัวตนของเขามากที่สุด” ผลคือหนังค่อนข้างทิ้งปริศนาไว้คลุมเครือมากมาย ทำให้คนดูส่วนใหญ่งงกับหนังเวอร์ชั่นแรก แม้ว่าทางสตูดิโอจะยึดอำนาจคือจากริดลีย์ในขั้นตอนท้ายสุด และใส่เสียงบรรยายของ เดคคาร์ด บทนำของแฮร์ริสัน ฟอร์ด เข้าไปเพื่อให้คนดูเข้าใจมากขึ้นแล้วก็ตาม หนังใช้เวลาเป็นทศวรรษในตลาดวีดีโอ สร้างเสียงกล่าวขวัญในด้านความดีงามของหนังแบบปากต่อปาก ส่งให้ Blade Runner กลายเป็นหนังคัลต์ หรือหนังที่มีสาวกเฉพาะกลุ่ม ได้สนุกกับการตีความถกเถียงถึงปริศนาต่าง ๆ ที่ริดลีย์ปล่อยทิ้งไว้แบบไม่มีเฉลยให้คนดูได้ตีความกันไป บางส่วนก็ชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้สร้างในการเนรมิตโลกอนาคตได้สมจริง เป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลแต่สภาพแวดล้อมกลับเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ผู้คนแออัดตามถนนหนทาง หลอดนีออนหลากสีสันและฝนที่ตกลงมาแทบทั้งเรื่อง กลายแรงบันดาลใจให้กับงานหนังไซไฟในยุคต่อมา

วิสัยทัศน์ในการสร้างภาพโลกอนาคต ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังไซไฟในยุคหลัง

Blade Runner พลาดไปเพียงแค่รายได้เมื่อเข้าฉาย แต่กลับได้ชดเชยมาเกินคาดในส่วนอื่น ๆ ทั้งรางวัลและการยกย่องจากสาวกทั่วโลก และการถูกยกเป็นจุดกำเนิดจักรวาลของ Blade Runner ที่แผ่ขยายไปไกลมากตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ด้านรางวัล หนังเข้าชิงทั้งเวทีเล็กและใหญ่ถึง 9 สถาบัน รวมถึงลูกโลกทองคำ และ อคาเดมี อวอร์ด แล้วชนะมาได้ถึง 6 รางวัลในเวทีเล็ก ซึ่งเป็นรางวัลทางด้านถ่ายภาพ , เครื่องแต่งกาย และ สเปเชียลเอฟเฟ็กต์จากกระแสตอบรับที่มากขึ้นตามกาลเวลาในตลาดวีดีโอและต่อเนื่องถึงดีวีดี ทำให้มี Blade Runner เวอร์ชั่นตัดต่อใหม่ออกมาถึงตอนนี้แล้วถึง 7 เวอร์ชั่น

ดีวีดีที่ออกมาหลายเวอร์ชั่น

  • Workprint prototype version (1982) (1982, 113 minutes) เป็นเวอร์ชั่นที่ฉายทดลองให้ผู้ชมดู แล้วได้เสียงตอบรับในทางลบมาก ทางสตูดิโอจึงนำไปแก้ไขเป็นเวอร์ชั่น U.S. theatrical version
  • San Diego Sneak Preview version (1982) เป็นอีกเวอร์ชั่นที่ทดลองฉาย ใกล้เคียงกับเวอร์ชั่นฉายจริงมาก ต่างกันตรงที่เวอร์ชั่นนี้มีเพิ่มเติมมา 3 ฉาก
  • U.S. theatrical version (1982 , 117 minutes) เป็นเวอร์ชั่นฉายโรงอย่างเป็นทางการ ทางสตูดิโอเพิ่มเติมเสียงบรรยายของเด็กการ์ดเข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจมากขึ้น และแก้ไขตอนจบให้แฮปปี้เอนดิ้ง
  • International theatrical release (1982) (117 minutes) รู้จักในชื่อ “Criterion Edition” หรือ “uncut version” เพิ่มฉากรุนแรงเข้าไป 3 ฉาก
  • US broadcast version (1986) เวอร์ชั่นฉายทางทีวี ลดภาพความรุนแรง ฉากเปลือย และถ้อยคำหยาบคาย
  • Scott’s Director’s Cut (1991, 116 minutes) ตัดเสียงบรรยายของเดคการ์ดอกไป เพิ่มฉากฝันถึงยูนิคอร์น และเปลี่ยนตอนจบให้เป็นแบบคลุมเครืออย่างที่ริดลีย์ ตั้งใจไว้แต่แรก
  • Ridley Scott’s Final Cut (2007, 117 minutes), หรือ the “25th-Anniversary Edition” เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ริดลีย์ สก็อตต์ เข้ามาควบคุมทุกอย่างเอง ทำมาสเตอร์ใหม่ในระบบดิจิตอล เพิ่มฉากฝันถึงยูนิคอร์นเข้ามาเต็มความยาว

BattleStar Galactica ทีวีซีรีส์ ที่ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Blade Runner

กระแสความนิยมของ Blade Runner

กว่า 3 ทศวรรษของ Blade Runner ได้สร้างอิทธิพลต่อเนื่องในสื่อต่าง ๆ มากมาย สร้างแรงบันดาลใจให้ออกมาเป็น วีดีโอเกม , การ์ตูน และทีวีซีรีส์

  • โรนัลด์ ดี.มัวร์ และ เดวิด อีค ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ Battlestar Galactica ต่างอ้างว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก Blade Runner รวมถึงหนัง Ghost in the Shell ที่เพิ่งออกฉายไปด้วยเช่นกัน
  • เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินเพลง Deus Ex Machina วงเดธเมตัลจากสิงคโปร์ในการทำอัลบั้ม I Human ปี 2009 แม้แต่เพลงหลักในอัลบั้มก็ชื่อว่า “Replicant”
  • เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเกมคอมพิวเตอร์มากมาย text adventure Cypher, Rise of the Dragon, Snatcher, he Tex Murphy series, Beneath a Steel Sky, Flashback: The Quest for Identity, Bubblegum Crisis และอีกมาก
  • กลายเป็นการ์ตูนล้อเลียนอีกหลายเรื่อง Blade Bummer , Bad Rubber , the Red Dwarf , Back to Earth
  • มีการพูดถึง Blade Runner ในเชิงว่าเป็นหนังที่มีคำสาปรุนแรงต่อโลโก้สินค้าที่ไปโผล่ในหนัง Atari, Bell, Cuisinart และ Pan Am ที่ล้วนเป็นผู้นำตลาดในวันที่หนังออกฉาย แต่แล้วก็ต้องเจอสภาวะเสื่อมถอยหลังจากนั้นไม่นาน รวมถึง Coke ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดัน “New Coke”ในปี 1985 เช่นกัน
  • ฟิลิป เค. ดิก ปฏิเสธเงิน 400,000 เหรียญจากสำนักพิมพ์ที่ขอให้เขาเขียน “Blade Runner”ในเวอร์ชั่นอ้างอิงจากหนัง แต่สุดท้ายสำนักพิมพ์ก็ออกหนังสือ Blade Runner: A Story of the Future ที่เขียนโดย เลส มาร์ติน และมีการ์ตูนในชื่อ A Marvel Super Special: Blade Runner
  •  ออกสารคดีมา 4 เรื่อง On the Edge of Blade Runner (2000, 55 minutes) , Future Shocks (2003, 27 minutes) , Dangerous Days: Making Blade Runner (2007, 213 minutes) , All Our Variant Futures: From Workprint to Final Cut (2007, 29 minutes) ทั้งหมดล้วนเป็นงานเบื้องหลังการถ่ายทำ และสัมภาษณ์ทีมงาน

นิยาย Blade Runner2

จักรวาล Blade Runner

จากความสำเร็จที่กลายเป็นกระแสยาวนาน ย่อมต้องมีคนอยากสานต่อตำนานของ Blade Runner

  • เค.ดับเบิ้ลยู. จีเตอร์ เพื่อนของ ฟิลิป เค. ดิก เขียนนิยายภาคต่อของ Blade Runner ออกมา 3 เรื่อง Blade Runner 2: The Edge of Human (1995), Blade Runner 3: Replicant Night (1996) และ Blade Runner 4: Eye and Talon (2000)
  • ปี 1999 สจ๊วต เฮเซลไดน์ ดัดแปลงบทภาพยนตร์จากนิยาย Blade Runner 2: The Edge of Human แต่โปรเจ็กต์ก็โดนแขวนปัญหาจากเรื่องลิขสิทธิ์
  • เดวิด พีเพิล ผู้เขียนบทภาพยนตร์ร่วมใน Blade Runner เขียนบทหนัง Soldier ออกมาในปี 1998 ในแนวเหตุการณ์ข้างเคียงกับ Blade Runner แชร์เรื่องราวในจักรวาลเดียวกัน หนังนำแสดงโดย เคิร์ต รัสเซล ล้มเหลวทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์
  • ปี 2009 ริดลีย์ และ โทนี่ สก็อตต์ น้องชายร่วมกันสร้างภาคก่อนหน้า Blade Runner ในชื่อ Purefold ทำเป็นตอน ๆ ออกแพร่ภาพทางเว็บไซต์ แต่โปรเจ็กต์ก็ล้มในปี 2010 เหตุเพราะขาดทุนสร้าง
  • “Prometheus” หนังเอเลียนของริดลีย์ สก็อตต์ ก็มีการเชื่อมโยงจักรวาลเดียวกับ Blade Runner เมื่อริดลีย์ใส่ตัวละคร เอลดอน ไทเรลล์ เข้าไปในฐานะที่ปรึกษาของ ปีเตอร์ เวย์แลนด์ (เจ้าของยานโพรมีธีอุส) และเอลดอน ก็คือ CEO ของไทเรลล์ คอปอเรชั่นใน Blade Runner
  • ปี 2011 โครงการภาคต่อของ Blade Runner เริ่มมีการพูดคุยอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นชื่อแรกที่ทีมงานอยากได้มากำกับ แต่ริดลีย์ สก็อตต์ ก็เสนอตัวกลับมารับหน้าที่ , ปี 2015 ริดลีย์ ขอผันตัวเองไปเป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร และถึงเดนนิส วิลล์เลอเนิฟ มารับหน้าที่กำกับแทน

พร้อมหน้าพร้อมตา เดนนิส วิลล์เลอเนิฟ , ริดลีย์ สก็อตต์ , แฮร์ริสัน ฟอร์ด , ไรอัน กอสลิ่ง

ในหนังภาคต่อ Blade Runner 2049 ตามชื่อหนังคือปี 2049 เหตุการณ์จะดำเนินให้หลังภาคแรกถึง 30 ปี และแน่นอนครับ มันคือหนังที่สร้างมาเอาใจสาวก Blade Runner รุ่นเก่าและน่าจะได้แฟน ๆ รุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยดูไม่เคยรู้จักให้มาสานต่อตำนานให้มีลมหายใจอีกยาวนาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งว่า “ควรจะดูภาคแรกก่อน” ไปดู Blade Runner 2049″  เพราะหนังภาคแรกก็สร้างจักรวาลของตัวเองไว้มากและยังทิ้งปริศนาคลุมเครือไว้ซึ่งอาจจะมาเฉลยในภาคต่อนี้ และถ้าจะหา Blade Runner ไม่ว่าเคยดูมาก่อนแล้ว ก็ควรรื้อฟื้นความทรงจำดูอีกสักรอบเพื่ออรรถรสและความเข้าใจเนื้อหาภาคต่ออย่างราบรื่น

เวอร์ชั่นที่ควรรับชมที่สุดก็น่าจะเป็น Ridley Scott’s Final Cut ถือว่าเป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว เพราะริดลีย์ ควบคุมเองทั้งหมด ทำเอฟเฟ็กต์ใหม่ ตัดต่อใหม่ใส่ฉากที่ควรใส่เพื่อความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว พอดูภาคแรกจบแล้ว จะเกิดคำถามว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ในช่องว่างระหว่างภาค 30 ปี ให้ดูอันนี้ต่อครับ เหตุการณ์ในปี 2033 เรื่องราวของ เนียนเดอร์ วอลเลซ ต้วร้ายรายใหม่ของภาคนี้ ที่รับบทโดย จาเร็ด ลีโต

Play video

แล้วมาต่อด้วยคลิปนี้ เหตุการณ์ในปี 2048 เรื่องราวของรีพลิแคนต์ตัวใหม่ ที่รับบทโดย เดฟ บาวติสต้า

Play video

ยังไม่หมดต่อด้วยการ์ตูนอีกเรื่อง “Black Out 2022” ผลงานของ ชินิชิโร วาตานาเบ้ ที่เล่าเหตุการณ์โลกมืดในปี 2022 ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องไปถึงเรื่องราวใน Blade Runner 2049

Play video

เมื่อครบถ้วนตามนี้ ถือว่าคุณพร้อมแล้วล่ะ ที่จะไปสานต่อตำนาน 35 ปีของ Blade Runner และอาจจะได้คำตอบทีทิ้งค้างไว้ว่า ริค เดคคาร์ด คือ รีพลิแคนต์ หรือไม่ พบคำตอบด้วยกัน 5 ตุลาคม นี้ครับ

Play video