กลายเป็นประเด็นไปแล้ว กับกรณีที่มีข่าวว่า Radiohead ยื่นฟ้อง Lana Del Rey กรณีเพลง “Get Free” จากอัลบั้มใหม่ “Lust For Life (2017)” ของเธอลอกทำนองเพลงดัง “Creep” ของวงร็อคหัวก้าวหน้า “Radiohead” ซึ่ง Lana ได้ออกมายอมรับว่าเรื่องของ “คดีความ”นั้นเป็นความจริง

ซึ่ง Lana ไม่ยอมรับว่ามันเป็นความจริงตามข้อกล่าวหานั้น เธอกล่าวว่า “เพลง Get Free นั้นไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาจาก Creep เลย แต่ Radiohead รู้สึกว่ามันเป็นเช่นนั้นและพวกเขาต้องการ 100% จากสิทธิการเผยแพร่ ฉันเสนอไป 40 เมื่อ 2-3 เดือนก่อนแต่พวกเขาจะยอมรับที่ 100 เท่านั้น ทนายความของพวกเขาไม่ยอมลดหย่อนเลย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องไปสู้กันต่อในศาล”

ซึ่งทางตัวแทนของ Radiohead อย่าง Warner/Chappell ก้ได้ออกมายอมรับในกรณีนี้ว่าเราได้มีการตกลงกันมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่แล้วกับตัวแทนของ Lana Del Ray  มันชัดเจนมากที่ท่อนร้อง (Verse) ของเพลง Get Free มีองค์ประกอบทางดนตรีของเพลง Creep และเราดำเนินคดีนี้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของคนแต่งเพลง Creep ทุกคน” แต่ตัวแทนของ Radiohead ปฏิเสธในข้อที่ว่าพวกเขาเรียกร้อง 100% ตามคำกล่าวอ้างของ Lana และตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการยื่อนฟ้องร้องต่อศาลใดๆทั้งสิ้น

จะเหมือนหรือไม่เหมือน ก็อปหรือไม่ก็อป ลองไปฟังกันดูนะครับ

Play video

ฟัง Creep ของ Radiohead กันก่อน จากนั้นลองมาฟัง Get Free ของ Lana Del Ray กันดูครับ

Play video


มาวิเคราะห์เจาะลึกกันหน่อย Get Free VS Creep


เราจะมาดูกันนะครับว่าทำไมเราฟัง Get Free แล้วถึงรู้สึกว่ามันเหมือนกับ Creep

เมื่อเราลองฟังเพลงทั้งสองแล้ว เราจะพบว่ามันมีกลิ่นอายของความหม่น ความหลอนที่คล้ายคลึงกันซึ่งนอกเหนือจาก Tempo / ความเร็วของเพลง หรือ  จังหวะของเพลงที่ใกล้เคียงกันแล้ว สิ่งที่ทำให้อารมณ์เพลงของทั้งสองเพลงคล้ายกันก็คือ “คอร์ด” ครับ

คอร์ดที่ทำให้ทั้งสองเพลงมีความหลอน หม่นนั้นเกิดขึ้นจาก “คอร์ดที่อยู่นอกคีย์” โดยปกติแล้วเพลงป็อปทั่วไปที่ฟังรื่นหูนั้นเป็นเพราะว่า คอร์ดที่ใช้ในเพลงทั้งหมดคือคอร์ดที่อยู่ในคีย์ของเพลงนั้น แต่สำหรับเพลงที่มีความโดดเด่น มีลักษณะของความไม่กลมกลืนกันนั้น เหตุก็เป็นเพราะการทำงานของ “คอร์ดที่อยู่นอกคีย์” นั่นเอง

คอร์ดเพลง Creep ของ Radiohead

(ขอบคุณคอร์ดเพลงจากเว็บ Guitar Thai ครับ)

จากภาพคอร์ดเพลง Creep ของ Radiohead เพลงนี้อยู่ในคีย์ G และคอร์ดที่อยู่ในคีย์จะประกอบไปด้วย G , Am , Bm, C , D , Em , F#dim (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในเรื่องของทฤษฎีดนตรีครับ)  ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในเพลงนี้มีคอร์ดสองคอร์ดที่เป็น คอร์ดนอกคีย์ ซึ่งก็คือ B major (ซึ่งจริงๆควรเป็น Bm) และ Cm (ที่ผันต่อมาจาก C major อันเป็นคอร์ดในคีย์)

คราวนี้เรามาดูคอร์ดของ Get Free กันบ้างว่ามีเจ้า “คอร์ดที่อยู่นอกคีย์” นี่หรือเปล่า เรามาดูกันตรงท่อนเวิร์สที่เป็นตัวปัญหาของเคสนี้กันครับ

คอร์ดเพลง Get Free ของ Lana Del Ray

(ขอบคุณภาพคอร์ดจากเว็บ tabs.ultimate-guitar.com ครับ)

จากภาพคอร์ดนี้จะเห็นว่าเป็นคอร์ดที่เกิดจากการคาด คาร์โปเฟร็ตที่หนึ่ง แสดงว่าทางเดินคอร์ดจริงๆของเพลงจะเป็น  B  D# E Em  ซึ่งเพลงนี้อยู่ในคีย์ B  คอร์ดที่อยู่ในคีย์จะประกอบไปด้วย B , C#m , D#m , E , F# , G#m และ A#dim เพราะฉะนั้น คอร์ด D# (C# ในรูป) และ Em(Dm ในรูป) จึงเป็น “คอร์ดที่อยู่นอกคีย์” โดย Em นั้นก็เป็นคอร์ดที่ผันมาจาก E ซึ่งเหมือนกันกับการในเพลง Creep ที่ Cm ผันมาจาก C

ก็แบบนี้แล้วจะไม่ให้มันเหมือนกันได้งัยล่ะ !!!

นอกจากนี้หากลองพิจารณาทางเดินคอร์ด (Chord Progressions) ด้วยแล้ว จะพบว่ามันเหมือนกันอีกต่างหาก

โดยในกรณีของ Creep นั้นจะเป็น

G / B / C /Cm

ซึ่งก็คือ

คอร์ด  I major , III major , IV major และ IV minor ของคีย์ G major

ส่วน Get Free นั้นจะเป็น

B / D# / E / Em

ซึ่งก็คือ

คอร์ด I major , III major , IV major และ IV minor ของคีย์ B major นั่นเอง

 

อ้าว !!! นี่มันก็เหมือนกันอีกนี่หว่าาา อย่างงี้ ก็อปชัวร์ !!!

คงจะฟันธงแบบนั้นไม่ได้หรอกนะครับ เหตุก็เพราะว่า

หากว่ากันเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงแล้วนั้น ในทางกฏหมายจะคุ้มครองเนื้อเพลงและเมโลดี้เท่านั้น หากเนื้อเพลงหรือเมโลดี้มีความคล้ายคลึงกันขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็สามารถฟันธงว่าก็อปและฟ้องร้องกันได้เลย แต่หากมู้ดเหมือน ฟีลเหมือน ชื่อเพลงเหมือน หรือทางเดินคอร์ดเหมือนในกรณี Get Free ของ Lana Del Ray แล้วล่ะก็ ดูเหมือนว่าอาจจะไม่สามารถฟันธงได้ว่า ก็อปกันมา เพราะฉะนั้น ในเคสของ Lana Del Ray แล้วคงจะต้องบอกว่า เธอน่าจะรอดในกรณีนี้ครับ เพราะเมโลดี้กับเนื้อเพลงของ Get Free และ Creep นั้นไม่ได้เหมือนกันแต่อย่างใดนั่นเอง


Sam Smith ก็เคยโดนหาว่าลอก Creep


นอกจากเพลง Get Free ของ Lana Del Ray แล้วในปีที่แล้วก็มีอีกหนึ่งบทเพลงจากศิลปินดังที่มีความละม้ายคล้ายเพลง Creep อีก นั่นก็คือเพลง “Midnight Train” จากของ Sam Smith

ซึ่งในกรณีนี้แฟนๆของ Radiohead ได้ออกมาบอกว่า “ก็อปชัวร์” เพราะไม่ว่าจะริธึ่ม โครงสร้างคอร์ด หรือการไล่อารมณ์จากท่อนเวิร์สไปสู่ท่อนคอรัสหรือแม้กระทั่งแพทเทิร์นการเล่นเทรโมโลกีตาร์มันก็ช่างชวนให้คิดถึงเพลง Creep เสียจริงๆ เหมือนดังที่ Pitchfork เว็บไซต์ดนตรีชื่อดังได้ออกมาสรุปแบบง่ายๆว่า Midnight Train ก็คือ เพลง Creep แบบสโลว์โมชั่นนั่นเอง เหมือนไม่เหมือน ก็อปมั๊ย? ก็อป ลองฟังกันดูครับ

Play video

สำหรับ Sam Smith นั้นก่อนหน้านี้ก็เคยมีเคส ก็อปมั้ยแบบนี้เหมือนกันกับเพลงฮิต “Stay With Me” ที่ไปละม้ายคล้ายคลึงกันกับ “I Won’t Back Down” ของ Tom Petty ซึ่งในเคสนี้ก็จบลงด้วยการที่ Petty ได้เครดิตในการแต่งเพลงและค่าลิขสิทธิ์เพลง Stay With Me ไป

Play video

อย่างเคสนี้ที่แพ้คดีแล้วต้องยกเครดิตและค่าลิขสิทธิ์ให้ไปก็เพราะเห็นได้ชัดเลยว่า

เมโลดี้ท่อนคอรัสนั้นมันเหมือนกันชัดๆ !!!

คราวนี้เรามาลองวิเคราะห์เจาะลึกกรณี Creep กับ Midnight Train กันบ้างครับ

คอร์ดเพลง Midnight Train ของ Sam Smith

(ขอบคุณคอร์ดเพลงจากเว็บ tabs.ultimate-guitar.com ครับ)

ดูจากภาพคอร์ดแล้วจะเห็นว่าทั้งสองเพลงมีความคล้าย แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว สิ่งที่คล้ายกันก็คือ

ทางเดินคอร์ด (Chord progressions) และ คอร์ดที่อยู่นอกคีย์

ซึ่ง ทั้ง Creep และ Midnigt Train ต่างก็ใช้ทางเดินคอร์ดแบบวนไปทั้งเพลง

Creep จะใช้

คอร์ด I major , III major , IV major และ IV minor

และมีคอรืดนอกคีย์เป็น

III major และ  IV minor

ส่วน Midnight Train นั้นอยู่ในคีย์ E major ซึ่งมีคอร์ดในคีย์คือ E , F#m , G#m , A , B , C#m และ D#dim

ดังนั้น ทางเดินคอร์ดของ Midnight Train จะเป็น

E / B / A /Am ซึ่งก็คือ

คอร์ด I major , V major , IV major และ IV minor

ดังนั้นจึงแตกต่างกันตรงคอร์ดที่สองของทางเดินคอร์ด และแตกต่างกันตรงที่ว่า

คอร์ดที่อยู่นอกคีย์ของเพลง Midnight Train มีอยู่คอร์ดเดียวคือ Am หรือ IV minor ของทางเดินคอร์ดนั่นเอง แต่ Am เป็นคอร์ดที่ผันมาจาก A ซึ่งเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดความหม่น คลามไม่กลมกลืนกันในแบบเดียวกับที่เกิดในเพลง Creep และ Get Free นั่นเอง

เพราะฉะนั้นในกรณีนี้จึง

ไม่ก็อปนะคร้าบบบบ !!!


จริงๆแล้ว Creep นั่นล่ะไปก็อปเค้ามา


แต่ที่ฮาไปกว่านั้นก็คือเพลง “Creep” เองก็เคยมีกรณีว่าไปลอกเค้ามาเหมือนกัน โดยผู้ฟ้องก็คือ Albert Hammond นักร้อง นักแต่งเพลงชาวอังกฤษแห่งยุค 70s พ่อแท้ๆของ Albert Hammond Jr. มือกีต้าร์วง The Strokes และ Mike Hazlewood นักแต่งเพลงคู่บุญ

หากใครนึกไม่ออกว่า Albert Hammond เป็นใครลองฟังเพลงนี้ดูครับ น่าจะพอคุ้นหูกันอยู่

“It Never Rains in Southern California”

Play video

เรื่องของเรื่องก็คือ ทั้งสองนั้นรู้สึกว่าเพลง Creep ไปละม้ายคล้ายกับเพลง “The Air that I Breathe”  ที่ทั้งคู่แต่งให้กับวง The Hollies  ตั้งแต่ปี 1974

ซึ่งการฟ้องร้องก็ไม่ได้ยืดยาดเป็นเรื่องเป็นราวเสียแต่อย่างใด เพราะ ทอม ยอร์ค นักร้องนำของวง Radiohead ได้ออกมายอมรับแต่โดยดีเลยว่า เขาและเพื่อนในวง เอาหยิบยืมทำนองมาจากเพลง “The Air that I Breathe” จริง โดยเรื่องของเรื่องนั้น Radiohead แต่งเพลงเพลงหนึ่งขึ้นมาเพื่อประชดต้นสังกัด ที่ไม่ยอมให้ผ่านเพลงของพวกเขาเสียที ก็เลยแต่งเพลงขึ้นมากะเอาฮา แต่ที่ไหนได้ เพลงเจ้ากรรมนี้ดันผ่าน แถมเมื่อเผยแพร่ออกไปก็ดันปังเสียด้วย และเพลงที่ว่านี้ก็คือ “Creep” นั่นเอง

และที่ฮาไปกว่านั้นก็คือ เพลง “The Air that I Breathe”  เป็นผลงานของวง The Hollies ซึ่งเป็นศิลปินในสังกัดของ EMI อันเป็นสังกัดเดียวกันกับ Radiohead แต่น่าแปลกที่ว่าไม่มีใครทักท้วงเลยว่า เฮ้ย! มันคล้ายเพลงของศิลปินรุ่นพี่พวกเอ็งนะพวก !  ด้วยเหตุนี้ทาง EMI ก็เลยทำอัลบั้มรวมฮิต “The Air that I Breathe: Best Of” เสมือนหนึ่งเป็นการล้างบาปแก่ความสะเพร่าในครั้งนี้

และก็ดูเหมือนว่านี่จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางวง Radiohead หยุดเล่นเพลง Creep ในการแสดงสดตามที่ต่างๆเป็นเวลาหลายปี ซึ่ง Radiohead เพิ่งนำเพลงนี้กลับมาเล่นเมื่อเร็วๆนี้เอง

เหมือนกันแค่ไหนลองไปฟังกันดูครับ

The Air That I Breathe – The Hollies

Play video

คราวนี้เรามาลองดูคอร์ดของเพลง The Air That I Breathe กันดูบ้างครับ

คอร์ดเพลง The Air That I Breathe ของ The Hollies

(ขอบคุณคอร์ดเพลงจากเว็บ tabs.ultimate-guitar.com ครับ)

ตามภาพนี้จะเป็นคอร์ดที่เกิดจากการคาดคาโป้ที่เฟร็ต 4 เพราะฉะนั้นคอร์ดจริงๆจะเป็น

B / D#7 / E / Em  /B

และเพลงนี้อยู่ใน คีย์ B major (ซึ่งเป็นคีย์เดียวกันกับ Get Free) ซึ่งคอร์ดในคีย์จะประกอบไปด้วย B , C#m , D#m, E , F# , G#m และ A#dim

ดังนั้นคอร์ด D#7 และ Em จึงเป็น

“คอร์ดที่อยู่นอกคีย์”

โดย Em นั้นผันมาจาก E เช่นเดียวกันกับเพลงทั้งสามก่อนหน้านี้

ส่วนตัว D#7  นั้นเป็นคอร์ด III major เหมือนใน Creep แต่มีการเติมตัว 7 เข้าไปจึงแตกต่างกันเล็กน้อย

ส่วนทางเดินคอร์ดของ The Air That I Breathe นั้นจะแตกต่างจากเพลงทั้งสามเพราะมีคอร์ด B มาปิดท้ายอีกที ทางเดินคอร์ดจึงเป็น

I major , III major 7, IV major , IV minor และ I major

แต่ 4 ตัวข้างหน้านั้นเหมือนกันกับ Creep เลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้งสองเพลงมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก

ซึ่งสำหรับเคสนี้ทาง Radiohead ออกมายอมรับเองเลย จึงต้องบอกว่า

ได้แรงบันดาลใจมานะคร้าบบบ !!!


ก็เป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนเสมอนะครับ กับกรณีการ “ก็อปหรือไม่ก็อป” ซึ่งเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ดนตรีทั้งในไทยและในต่างประเทศ  หลายครั้งศิลปินจงใจ หลายครั้งเกิดจากความละม้ายคล้ายกันโดยบังเอิญ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเสมอสำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะนะครับ เพราะหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของความเป็นงานศิลปะก็คือ ความเป็น Original หรือความเป็นต้นฉบับนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากงานใดที่มีความไม่เป็นต้นฉบับหรือ หยิบยืมต้นฉบับมาจากผู้อื่น ก็คงจะต้องเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแน่นอน ก็ถือว่าเป็นสีสันและเป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้ สำหรับทั้งในฐานะผู้เสพย์และผู้สร้างนะครับ ซึ่งหากมีกรณีแบบนี้อีก เราก็จะมาวิเคราะห์เจาะลึกกันต่อไปครับ