ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ภาพยนตร์เรื่องมะลิลา” หนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งหมด ได้เข้าฉายเป็นวันแรก

“มะลิลา”(The Farewell Flower) บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักความอาลัยของผู้ที่จากไป เรื่องราวของ เชน (เวียร์ ศุกลวัฒน์) เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันเจ็บปวด และพิช” (โอ อนุชิตศิลปินนักทำบายศรี อดีตคนรักของเชนในวัยเด็กที่กลับมาพบกันอีกครั้ง ทั้งคู่พยายามเยียวยาบาดแผลในอดีตและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ผ่านการทำบายศรีอันงดงาม

Play video

ไม่เพียงแต่เรื่องราวของ “มะลิลา” เท่านั้นที่ละมุนละไมและงดงามหากแต่เสียงดนตรีประกอบนั้นก็งดงามหาแพ้กันไม่

มาลัยร่ำลาหรือ The Farewell Flower เป็นหนึ่งบทเพลงประกอบสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์เนื่องด้วยเหตุผลของการลำดับภาพและเสียง

Play video

เพลงมาลัยร่ำลา” เป็นบทเพลงที่ไพเราะมาก เป็นท่วงทำนองอันเกิดจากการประสมประสานเครื่องดนตรีไทยและสากลเข้าด้วยกัน ผ่านเอกลักษณ์ของเสียงเครื่องดนตรี 3 ชนิดได้แก่ วิโอลา เชลโล และ “พิณเปี๊ยะ”

เสียงของพิณเปี๊ยะ มีความใสและกังวาลเหมือนกับน้ำ ฟังแล้วนึกถึงความรักความทรงจำในอดีตที่แว่วมาอีกครั้ง และเวลาเล่นก็เหมือนเป็นเสียงที่มาจากหัวใจของชายหนุ่มค่ะ

คุณนุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวไว้

เมื่อได้ฟังเพลงนี้แล้วหลายคนคงหลงไหลในเสน่ห์ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ขึ้นมาในทันที และ ชวนให้สงสัยใคร่รู้ว่า เครื่องดนตรีชิ้นนี้ มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร

ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีชิ้นนี้กันครับ


“พิณเปี๊ยะ”


พิณเปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านในแถบล้านนา (เป็นเครื่องดนตรีตระกูลเดียวกับพิณน้ำเต้า ซึ่งเป็นพิณสายเดียวที่นิยมใช้เล่นประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์แต่โบราณ) มักนิยมใช้ในพิธีแอ่วสาว ซึ่งเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้หญิงสาวและชายหนุ่มได้มาพบและพูดคุยกัน ซึ่งชายหนุ่มก็มักจะนำพิณเปี๊ยะมาเล่นอวดสาวๆ กัน เหตุผลหนึ่งที่หนุ่มๆใช้พิณเปี๊ยะมาเล่นอวดสาวนั้นก็เพราะว่า เวลาเล่นพิณเปี๊ยะนั้นต้องถอดเสื้อ เนื่องจากพิณเปี๊ยะจะใช้กะลามะพร้าวแนบกับอกผู้เล่น และขยับเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานไพเราะ เสียงของพิณจะเบาและแว่วหวาน กังวานคล้ายเสียงเด่งปีนเมา (กระดิ่งที่มีเสียงน่าหลงใหล) ทำให้ผู้หญิงก็ต้องเข้ามาฟังใกล้ๆ ถือเป็นการได้โชว์ซิกส์แพ็กไปในตัว ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกรัก ชอบพอและอยากคบหากันต่อ

พิณเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่มีคนเล่นได้น้อย เพราะเล่นได้ยากมากและหาเครื่องดนตรีมาหัดเล่นได้ยากเช่นกัน ดังนั้นคนที่เล่นเปี๊ยะได้จึงถือว่าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นบากบั่นพอสมควรเลยทีเดียว จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สาวๆ ชอบคนเล่นพิณเปี๊ยะ

แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะเล่นพิณเปี๊ยะได้ตลอดไป เพราะว่าหากวันใดที่เจ้าหนุ่มนั้นได้มีคู่ครองเรือนเป็นที่เรียบร้อยก็ต้องเก็บพิณเข้ากรุไป เพราะจะไปถอดเสื้อเล่นอวดสาวที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากภรรยาตนเอง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “แล้วผู้หญิงล่ะเล่นพิณเปี๊ยะได้ไหม แล้วถ้าจะเล่นจะต้องถอดเสื้อด้วยรึเปล่า?”

เรามาดูที่วิธีการเล่นกันก่อน

การเล่นพิณเปี๊ยะนั้น เราต้องแนบกล่องเสียงไว้บนหน้าอกของเราพร้อมกับการเปิดปิดกล่องเสียงให้มีเสียงกังวานโดยใช้ผิวหนังที่มีเนื้อบริเวณหน้าอกเป็นส่วนสะท้อนและควบคุมขนาดของช่องเสียง ดังนั้นคนส่วนมากจึงมักเข้าใจว่า “พิณเปี๊ยะผู้หญิงเล่นไม่ได้ ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ

  1. ผู้หญิงมีหน้าอกนูนกว่าผู้ชาย
  2. ผู้เล่นพิณเปี๊ยะต้องเปลือยอกเวลาเล่น ซึ่งผู้หญิงคงไม่เหมาะสม
  3. แต่ก่อนมายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นพิณเปี๊ยะ

แต่ทั้ง 3 เหตุผลนี้ก็มีทางแก้ได้ ดังมีวิธีการดังต่อไปนี้ครับ

  1. ผู้หญิงมีหน้าอกนูนกว่าผู้ชาย : ในข้อนี้เราวามารถย้ายมาเล่นที่บริเวณ “หน้าท้อง” ได้ครับ เนื่องจากบริเวณหน้าท้องของผู้หญิงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหน้าอกสามารถนำมาใช้แทนกันได้ อีกทั้งตำแหน่งการวางกล่องเสียงก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ซึ่งยังคงให้ความคล่องตัวในการเล่นใกล้เคียงแบบเดิม
  2. ผู้เล่นพิณเปี๊ยะต้องเปลือยอกเวลาเล่น ซึ่งผู้หญิงคงไม่เหมาะสม : เอาเข้าจริงๆ ถ้าพูดถึงในบริบทของวัฒนธรรมและยุคสมัยนั้น คนโบราณโดยส่วนมากไม่นิยมใส่เสื้อจะมีก็เพียงผ้าพาดบ่า โดยเฉพาะผู้หญิงในล้านนาสมัยก่อนการเปลือยอกเดินไปไหนมาไหนเป็นเรื่องปกติ ในยุคนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากจะให้มาเปี๊ยะยุคนี้แล้วล่ะก็อาจจะเรื่องยาวเสียหน่อย
  3. แต่ก่อนมายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นพิณเปี๊ยะ : ข้อนี้มีหลักฐานอยู่บ้างครับ ที่จะยกตัวอย่างมาประกอบก็เช่น ภาพปูนปั้นรูปนักดนตรีหญิง ๕ คน เป็นส่วนหนึ่งของภาพเล่าเรื่องชาดกประดับรอบฐานเจดีย์ พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯซึ่งแต่ละคนก็เล่นเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน ซึ่งคนที่ ๕ นี่ล่ะที่เล่นพิณน้ำเต้า หรือพิณเปี๊ยะ (ดูภาพประกอบ)

ภาพปูนปั้นนักดนตรีหญิง ๕ คน เป็นภาพเล่าเรื่องชาดกประดับรอบฐานเจดีย์ พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี

ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันนะครับว่าจริงๆแล้ว แม่หญิงรูปปั้นคนนี้เล่นเครื่องดนตรีอะไรเนื่องจาก มีการชำรุดผุกร่อนไปบ้างตามกาลเวลาเพราะงานปั้นชิ้นนี้อยู่ในยุคศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒๑๓ นู่นเลย แต่เมื่อดูจากลักษณะการแต่งตัวของนักดนตรีทั้ง ๕ คน จะเห็นได้ว่า ๔ คนแรกจะใช้ผ้า (สไบ) พาดบ่าปิดหน้าอกแบบง่ายๆ ห้อยชายผ้าสลับหน้าหลัง แต่คนที่ ๕ ซึ่งดีดพิณน้ำเต้านั้น จะใช้ผ้าปิดหน้าอก (รัดอก) ค่อนข้างแน่น แล้วพาดชายผ้าผ่านไหล่มาข้างหน้าทั้ง ๒ ข้าง เพื่อให้หน้าอกกระชับ สามารถครอบกล่องเสียงของพิณไว้ที่หน้าท้องได้อย่างสะดวก ซึ่งตรงกับลักษณะการเล่นพิณเปี๊ยะตามข้อที่ ๑ ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ครับ นอกจากนี้ท่าทางและวิธีการใช้เครื่องดนตรีที่ปรากฏในภาพปูนปั้น เป็นลักษณะของการเล่นพิณน้ำเต้าหรือพิณเปี๊ยะอย่างชัดเจน เพราะผู้เล่นครอบกล่องเสียงที่มีลักษณะครึ่งวงกลมไว้ที่หน้าท้อง มือขวาถือด้ามพิณไว้บริเวณรัดอกของพิณ มือซ้ายใช้นิ้วโป้งประคองคันพิณไว้และใช้นิ้วชี้แตะสายที่จุด harmonic (จุดที่เมื่อแตะแล้วดีดจะให้เสียงที่ดังวิ้งๆ ก้องกังวาน) และใช้นิ้วกลางดีดให้เกิดเสียงป๊อกแบบพิณเปี๊ยะนั่นเองครับ

ด้วยเหตุนี้จึงอาจสรุปได้ว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้สามารถเล่นได้ทุกเพศเลยนะครับ

ผมรู้สึกชื่นชมงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา”มาก ที่นอกจากจะช่วยขับกล่อมอารมณ์คนดูให้ลื่นไหลไปกับเรื่องราวในภาพยนตร์แล้ว มันยังเป็นดนตรีที่ก่อเกิดจากรากฐานทางวัฒนธรรมของเราอีกด้วย

ในทุกวันนี้ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้สัมผัสดนตรีไทยอย่างใกล้ชิดเหมือนเก่าก่อนอีกแล้ว การที่ได้มีภาพยนตร์ร่วมสมัยเรื่องหนึ่งได้รังสรรค์ผลงานสุดประณีตบรรจง อันเกิดจากการสอดประสานท่วงทำนองของดนตรีไทยและดนตรีสากลได้อย่างลงตัว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชมยิ่ง.

สุดท้ายนี้ก็อยากฝากให้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา” กันนะครับ เพราะเป็นภาพยนตร์ที่งดงามและชวนให้ขบคิดถึงสัจธรรมของชีวิตได้อย่างลึกซึ้งจริงๆครับ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยการแสดงชั้นยอดจากสองนักแสดงนำ ภาพสวย ดนตรีเพราะ  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรพลาดจริงๆครับ

สามารถอ่านรีวิวภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ที่นี่ เลยครับ

Source

“เปี๊ยะ” พิณที่ผู้หญิงเล่นไม่ได้ จริงหรือ?”