“Tranquility Base Hotel & Casino” (2018) นี่คือชื่ออัลบั้มใหม่ของวงอินดี้ร็อคจากแดนผู้ดี “Arctic Monkeys” ที่คราวนี้เหมือนจะมาแปลกกว่าเดิม (ซึ่งวงนี้ก็มาแปลกใหม่ทุกครั้งที่ออกผลงานอยู่แล้ว)

ดูจากชื่ออัลบั้มและงาน Artwork แล้วอาจชวนให้รู้สึกถึงความ Sci-Fi แถมในอัลบั้มก็ยังมีชื่อเพลงอย่าง “Star Treatment” “The World’s First Ever Monster Truck Front Flip” หรือ “Science Fiction”ก็ยิ่งชวนให้คิดไปในแนวทางนี้เข้าไปใหญ่  คงก่อให้เกิดความสงสัยในความแปลกใหม่ทั้งคอนเซป แนวเพลง และเนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้ ดังนั้นในวันนี้ผมจะพาไปเจาะลึก ขุดค้นกันดูว่า ต้นทางและแรงบันดาลใจของผลงานเพลงในอัลบั้มนี้มีที่มาจากอะไรบ้างครับ

“Tranquility Base Hotel & Casino” (2018) อดีต-ปัจจุบัน เทคโนโลยี และนวนิยายไซไฟ

Play video

อัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ของ Arctic Monkeys และเป็นอัลบั้มแรกที่ อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ ฟรอนท์แมนของวงร่วมโปรดิวซ์ด้วย

“Star Treatment” เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในการจุ่มหูลองไปสัมผัสรสชาติทางเสียงอันแปลกใหม่ของงานเพลงในอัลบั้มนี้ นอกจาก “Star Treatment” จะเป็นแทร็คแรกของอัลบั้มแล้วมันยังเปรียบเสมือนเป็นประตูสู่โลกใบใหม่ที่ท้าให้เราก้าวเข้าไปสัมผัสกับโลกแห่งเสียงอันมหัศจรรย์

Play video

ตลอดเพลง เทอร์เนอร์ได้กลั่นเอาความข้องขัด ความวุ่นวายในอดีต และแรงบันดาลใจก่อนที่เขาจะมีชื่อเสียง มาหลอมรวมเป็นเรื่องราวอันลุ่มลึกที่เปรียบเปรยและสะท้อนให้เห็นถึงการผันแปรและแรงกดดันจากการมีชื่อเสียง นอกจากนี้เพลงนี้ยังถือเป็นการคารวะศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเทอร์เนอร์นั่นก็คือ The Strokes และ Leonard Cohen

การเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ของเทอร์เนอร์ยังคงลุ่มลึกคมคายเช่นเคย สมแล้วที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอังกฤษ และอาจจะเป็นของโลกเสียด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เมื่อครั้งเทอร์เนอร์อายุย่างเข้า 30 ปี ชื่อเสียงกำลังท่วมทับเขาและเพื่อนสมาชิกวง แต่เขากลับรู้สึกขาดแคลน ที่สำคัญเลยคือขาดแคลนถ้อยคำที่เขียนลงไปในบทเพลงของเขา เขาไม่รู้ว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างไรหลังจากได้รับความสำเร็จอย่างท้วมท้นจากอัลบั้มล่าสุด  “AM” ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2013

Arctic Monkeys ลุคเก่า

Arctic Monkeys ลุคใหม่ เปลี่ยนไปเยอะเลยทีเดียว

ในทุกวันเขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ลอส แองเจลิส กับ แฟนนางแบบสาว Taylor Bagley และเจ้าหมา Scooter แน่นอนเขาไม่ได้ดู “Blade Runner” เหมือนกับที่ท่อนหนึ่งในเพลง “Star Treatment” ได้เอื้อนเอ่ยถามว่า What do you mean you’ve never seen Blade Runner? แต่ภาพยนตร์ที่เขาได้ดูและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่องานเพลงในอัลบั้มนี้กลับเป็นภาพยนตร์จากผู้กำกับชาวอิตาลีชั้นครูอย่างเฟเดริโก เฟลลินี เรื่อง “8 1/2” งานมาสเตอร์พีซของเขาจากปี 1963 ที่คนรักหนังทุกคนต้องดู 

ถ้าหากคุณอยากทำความเข้าใจงานเพลงในอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino”  ภาพยนตร์เรื่อง 8 1/2” คือ กุญแจไขความลับนั้น 

Play video

ภาพยนตร์เรื่อง 8 1/2” เป็นเรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่กำลังประสบภาวะถึงทางตัน เขาเขียน เขาคิดอะไรไม่ออกเกี่ยวกับโปรเจคภาพยนตร์ไซไฟที่เขากำลังจะท อีกทั้งเขายังถูกความทรงจำครั้งยังเยาว์ตามหลอกหลอนอีกด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของเฟลลินีที่กำลังรู้สึกกดดันต่อชื่อเสียงและความคาดหวังที่ตนเองได้รับ ไม่ต่างอะไรกันกับภาวะที่เทอร์เนอร์กำลังเผชิญอยู่

เทอร์เนอร์กำลังนั่งอยู่ในห้องเก่าๆ ที่ต่อมาเขาเรียกมันว่า “lunar surface” (พื้นผิวดวงจันทร์) นั่งต่อหน้าเปียโน Steinway Vertegrand  ที่  Ian McAndrew ผู้จัดการวงซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 30 ปีของเขา ขณะนั้นเทอร์เนอร์ได้ย้อนทวนกลับไปยังวันเก่าๆเช่นเดียวกันกับตัวละครในภาพยนตร์ 8 1/2” ของเฟลลินี  เขาย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนที่จะย้ายมาอยู่ LA  ก่อนหน้าที่จะได้เป็นวงเฮดไลน์ในเทศกาลดนตรี Glastonbury ถึงสองครั้ง ก่อนที่จะมีเงินเป็นล้านๆในบัญชีธนาคาร ก่อนที่ความรู้สึกตื่นเต้นจะเกิดเมื่ออัลบั้มแรกในชีวิตจะออกวางจำหน่าย และย้อนกลับไปจนถึงเมื่อเขามีอายุ 8 ขวบอันเป็นวัยที่เขาได้เรียนเปียโนกับ “เดวิด” พ่อของเขาเอง

เขายังคงนั่งอยู่หน้าเปียโนตัวนั้น เล่นชุดคอร์ดที่พ่อของเขาสอน และทันใดอีกห้วงความทรงจำก็ผุดขึ้นมาในห้วงสำนึก มันคือช่วงเวลาที่เขาเป็นวัยรุ่นที่นั่งเขียนเพลงในอัลบั้ม ‘Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not’ อัลบั้มแรกในชีวิตของเขา อยู่ในโรงรถของที่บ้าน เทอร์เนอร์พบว่าสิ่งที่เขากำลังเขียนอยู่ในตอนนี้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาเขียนในอัลบั้มแรก ทั้งๆที่มันอยู่ต่างที่ ต่างกาลเวลา แต่ทว่ากลับมีบางสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน

ดังนั้นมันจึงไม่แลกอะไรหากอัลบั้มใหม่นี้จะเปิดด้วยท่อนที่ว่า “I just wanted to be one of the Strokes, now look at the mess you made me make.”  มันเป็นการรำลึกถึงวงดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำงานเพลง เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งวง Arctic Monkeys กับเพื่อนๆ  เทอร์เนอร์ตั้งใจที่จะก้าวไปสู่สิ่งใหม่ แต่ยิ่งเดินไปเหมือนความรู้สึกบางอย่างกำลังพาเขากลับมายังจุดเริ่มต้น จุดที่เป็นแรงบันดาลใจอันเปี่ยมไปด้วยไฟฝันของเขา

ดังเช่นในเพลง “Science Fiction” ที่กล่าวถึงกระบวนการในการสร้างสรรค์งานเพลงในอัลบั้มนี้ของเขา

 “I want to stay with you, my love

  The way some science fiction does”

 “I want to make a simple point about peace and love

  But in a sexy way where it’s not obvious”

 “So I tried to write a song to make you blush,

  But I’ve a feeling that the whole thing

  May well just end up too clever for its own good,

  The way some science fiction does.”

เนื้อเพลงจากเพลงนี้ ได้ทำให้เห็นทิศทางการเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ของเทอร์เนอร์ “ฉันอยากเขียนเพลงที่เรียบง่ายเกี่ยวกับความสงบสุขและความรัก แต่อยากนำเสนอมันออกมาในทางที่เซ็กซี่ ทางที่มันไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป…และผลที่ได้ก็เป็นดั่งที่นิยายวิทยาศาสตร์เป็น” นั่นก็คือ มันเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ภายใต้ฉากและบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการนั่นเอง

Play video

งานเพลงในอัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ Vox Studios  ในลอสแองเจลิส และ La Frette แมนชั่นยุคศตวรรษที่ 19 ที่ถูกแปลงให้เป็นสตูดิโอบันทึกเสียงตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อันเป็นที่ Nick Cave & The Bad Seeds  บันทึกเสียงอัลบั้ม ‘Skeleton Tree’ของพวกเขา เทอร์เนอร์และวงของเขาบรรเลงดนตรีร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ในห้องที่พวกเขาบันทึกเสียงนั้นมีภาพตอนบันทึกเสียงของศิลปินระดับตำนานมากมายอาทิเช่น The Beach Boys กับอัลบั้ม ‘Pet Sounds’ , Phil Spector กับ ‘Wall of Sound’ , Dion Dimucci กับ ‘Born to Be With You’  และ Leonard Cohen กับ ‘Death of a Ladies’ Man’ เทอร์เนอร์ชอบอัลบั้มเหล่านี้มากและเขาอยากให้อัลบั้มนี้ของ Arctic Monkeys เป็นดังเช่นอัลบั้มเหล่านี้

ส่วนการบันทึกเสียงร้องนั้น เทอร์เนอร์ได้อัดไลน์ร้องของตนเองลงใน Tascam 388 เทป 8 แทร็คแบบวินเทจ ซึ่งให้เสียงที่ดูโดดเดี่ยวได้อย่างน่าทึ่ง มันเข้ากันดีกับคอนเซปของอัลบั้ม ‘Tranquility Base Hotel and Casino’ ได้อย่างเหมาะเจาะ หลายเพลงในอัลบั้มให้ความรู้สึกเหมือนกับมันถูกเล่าโดยร็อคสตาร์ผู้โดดเดี่ยว ยกตัวอย่างเช่นในเพลง ‘One Point Perspective’  มันเล่าเรื่องของร็อคสตาร์ผู้หนึ่งที่ใส่แต่กางเกงในเดินไปมาในห้องขณะกำลังคิดฝันจะทำสิ่งใหม่ๆ ก่อนที่จะพบว่ามันยากเหลือเกิน เพราะห้วงความคิด ไอเดีย และแรงบันดาลใจของเขากำลังจะหลุดหายไป

เฉกเช่นเดียวกันกับเพลงอย่าง ‘Space Oddity’ของ David Bowie และ  ‘Rocket Man’ ของ Elton John  มันเป็นเพลงที่พูดถึงการเดินทางในอวกาศแต่แท้จริงแล้วกลับเปรียบเปรยถึงความโดดเดี่ยวท่ามกลางชื่อเสียงที่มีนั่นเอง

Play video

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้งานเพลงในอัลบั้มนี้ของเขาเหมือนเป็นการสารภาพเปิดเปลือยความรู้สึกของเทอร์เนอร์ออกมา อย่างซื่อตรง ราวกับงานเขียนอัตชีวประวัติของเขา

แต่ถึงอย่างนั้น ‘Tranquility Base Hotel and Casino’ก็ไม่ใช่งานเพลงที่สะท้นตัวตนของเทอร์เนอร์และวงเท่านั้น หากแต่มันได้หยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างที่ชวนคิดแก่เรา  มันสะท้อนให้เราเห็นถึงวีถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบันนี้ของเรา ที่เปรียบเสมือนการอยู่ในฟองสบู่ใหญ่ที่ห่อหุ้มเราไว้ด้วยกระแสแห่งข้อมูลข่าวสารที่หลั่งล้นมาสู่ห้วงสำนึกของเรา

ดังเช่นในท่อน “Everyone’s on a barge floating down the stream of great TV,” ของเพลง ‘Star Treatment’ ที่สื่อถึงการที่เราเข้าถึงสิ่งต่างๆที่เราต้องการจะเสพย์ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สตรีมมิ่ง ออนดีมานด์  หรือท่อนหนึ่งจากเพลง ‘The World’s First Ever Monster Truck Front Flip’ ที่ว่า “You push the button and we’ll do the rest” อันถูกหยิบยกมาจากสโลแกนของโฆษณา Kodak ในช่วงต้นปี 1888 ก็ได้สื่อให้เห็นถึงความสะดวกสบายในชีวิตยุคนี้ที่เพียงแค่​“กดปุ่ม” ทุกอย่างก็จะถูกจัดสรรมาอยู่ตรงหน้าแล้ว  มันสะท้อนให้เห็นถึงวีถีชีวิตในยุคปัจจุบันของเราที่ให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สื่อสารมากกว่าที่จะสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ราวกับเทอร์เนอร์กำลังจะเปรียบเปรยว่าเราเป็นดั่งร็อคสตาร์ผู้โดดเดี่ยว ที่กำลังเพลิดเลินไปกับสื่อบันเทิงทั้งหลายที่รายล้อมรอบตัว และบันดาลทุกสิ่งได้เพียงแค่ “กดปุ่ม” แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นำความสุขมาให้เราหรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องถามตัวเองยิ่งนัก

ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำให้เห็นชัดยิ่งขึ้น หากเราลองวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปในบทเพลงจากอัลบั้มนี้ยกตัวอย่างเช่นตัวเลข “1984,2019” ที่ปรากฏในเพลง “Star Treatment” นั้นมีนัยยะบางอย่างซ่อนอยู่

1984 นั้นเป็นชื่อนวนิยายแนวดิสโทเปียของนักเขียนชื่อก้อง จอร์จ ออเวลล์ที่เล่าเรื่องราวในอนาคต (นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 1949)ที่มนุษย์ถูกควบคุมโดยรัฐบาลและเหล่าบรรดาเทคโนโลยีที่รายล้อมรอบตัวพวกเขา

นวนิยายเรื่อง 1984 ฉบับแปลไทย

ส่วน 2019 นั้นก็คือปีหน้า ซึ่งเทอร์เนอร์ต้องการจะสื่อว่ามันมีความเป็นไปได้ที่อนาคตในแบบที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง 1984 นั้นจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ตัวเลข 1984 ยังเคยปรากฏอยู่ในซิงเกิ้ลเปิดตัวในปี 2006 ที่ทำให้ชื่อของ Arctic Monkey เป็นที่รู้จักอย่าง  “I Bet You Look Good On The Dancefloor,”

I said, I bet that you look good on the dance floor

Dancing to electro-pop like a robot from 1984

Well, from 1984

อีกทั้ง 1984 ยังเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่อง Ghostbusters ออกฉายและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งใน reference ที่ปรากฏในเพลงนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นท่อน “Who you gonna call” นั้นก็เป็นสโลแกนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งสอดคล้องไปกับท่อนเวิร์สที่สองนั่นเอง

I just wanted to be one of those ghosts

haunt you via the rear view mirror.

Don’t you know an apparition is a cheap date?

ภาพยนตร์เรื่อง Ghostbusters ฉบับปี 1984 นำแสดงโดย บิล เมอร์เรย์

ยังมีงานเพลงดีๆจากอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ของ Arctic Monkeys ที่รอคอยให้คุณเปิดประตูก้าวเข้าไปสัมผัส

วันนี้คุณสามารถรับฟังเพลงทุกเพลงจากอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino”  ได้ฟรีผ่านทาง channel youtube “Official Arctic Monkeysครับ

นอกจากทำเพลงดีแล้วยังใจดีอีกด้วย อย่างนี้ไม่ฟังคงไม่ได้แล้วล่ะครับ.

 

ที่มา

http://www.nme.com/big-read-arctic-monkeys-science-fiction-allows-explore-real-world

https://genius.com/albums/Arctic-monkeys/Tranquility-base-hotel-casino