Play video

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ

ภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand เป็นโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวที่ประกอบด้วยภาพยนตร์สั้น 4 เรื่องประกบกัน จํากัดความยาวเรื่องละไม่เกิน 20 นาที โดยมีโจทย์กำหนดแบบเปิดกว้าง ตั้งคำถามและความหมายของ ‘อนาคต’ ผ่านมุมมองของผู้กำกับแต่ละคน ทั้งผู้กำกับที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่รู้จัก นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่สำหรับสนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกผลงานจากผู้กำกับที่มีความโดดเด่น เพื่อผลักดันให้เกิดผลงานขนาดยาวในโอกาสต่อไป

ต้องเท้าความกันนิดว่า TEN YEARS นั้นเป็นโครงการภาพยนตร์ที่เกิดจากฮ่องกงเป็นที่แรก โดยสร้างเมื่อปี 2015 ภายหลัง Umbrella Movement โดยมุ่งเน้นให้ศิลปินมาตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายที่ฮ่องกง โครงการนี้จึงถูกส่งต่อมายังประเทศไทย และตั้งใจส่งผ่านพลังสร้างสรรค์ให้คนทำหนังในประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่อไปอีก และสำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้ผู้กำกับชั้นนำมาร่วมงานกันคับคั่ง บางคนเป็นที่รู้จักในแวดวง บางคนมีชื่อในระดับเอเชีย และบางคนก็มีชื่อเสียงระดับโลกแล้วด้วย ดังนั้นเมื่อเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุดหนังเรื่องนี้จึงได้รับเกียรติไปฉายโชว์เช่นกัน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยได้เลยด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าฝ่ายบริหารจะชอบใจหรือไม่ ทว่าหนังก็ผ่านเซ็นเซอร์ไทยได้หน้าตาเฉยแปลกประหลาดมาก

โดยหนังทั้ง 4 เรื่องนี้ประกอบด้วย

SUNSET โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์

SUNSET เป็นภาพยนตร์ที่เล่าโมงยามน้อยนิด ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักระหว่างแก่นและแอ๋น หนุ่ม-สาวจากต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพ แก่นเป็นพลทหารพนักงานขับรถ ที่ต้องพาหัวหน้าหน่วยเดินทางเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยในสถานที่ที่ได้รับการร้องเรียนมาว่าอาจสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทั้งสองจะมีโอกาสพบกัน ก่อนที่แก่นต้องย้ายตามนายไปที่อื่น ท่ามกลางบรรยากาศการจัดแสดงผลงาน ศิลปะภาพถ่าย “I laugh so Hard, I cried” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่แอ๋นทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน และมีหน้าที่ทำความสะอาด และเขาจะกล้าตัดสินใจที่จะบอกความในใจกับเธอหรือไม่ต้องติดตาม

สำหรับเรื่องนี้ ผู้กำกับอาทิตย์ยังเชี่ยวชาญในการสร้างบรรยากาศและไต่ระดับความน่าสนใจด้วยรายละเอียดทีละเล็กละน้อยได้อย่างดี หนังมีความเข้าถึงง่ายเพราะเส้นเรื่องนั้นใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงที่เราเห็นตามข่าวว่างานแสดงศิลปะบ่อยครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปตรวจสอบและแนะนำให้ปรับเปลี่ยนการจัดงานอยู่เสมอ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแก่นกับแอ๋นนั้นก็ซื่อตรง เข้าใจง่ายมาก ทว่าในความง่ายเหล่านี้เองที่อาทิตย์สามารถใส่รายละเอียดลงไปได้อย่างแนบเนียน ทั้งบทพูดของฝ่ายความมั่นคงที่โคตรสมจริงราวกับเจ้าตัวเคยเจอมาด้วยตัวเอง และท่าทีขบถเล็ก ๆ ผ่านตัวละครศิลปินวาดรูป ตลอดถึงที่ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ให้น้ำเสียงแบบเข้าใจทั้งสองฝั่ง และเชื้อเชิญให้เรา ๆ ท่าน ๆ พิจารณากันเอาเองแบบอย่าไปคิดแทนชาวบ้านชาวช่องเลยว่าเขาจะคิดอย่างไร ต้องการอย่างไร ซึ่งสุดท้ายสารนี้เองที่น่าจะทิ่มแทงใจใครหลายๆ ภาคส่วนที่ยังติดขนบว่าคนอื่นรู้ไม่เท่าตน ตัดสินใจได้ไม่ดีเท่าตน

CATOPIA โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

หนังเริ่มเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยหนังเรื่องที่ 2 อย่าง CATOPIA ที่เรื่องราวว่าด้วยโลกยุคดิสโทเปีย เมื่อชายผู้หนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมนุษย์คนเดียวที่หลงเหลืออยู่ ท่ามกลางประชากรแมว… แมวพวกนั้นเดินเหิน แต่งกาย พูดคุย และทำทุกอย่างได้เหมือนเป็นมนุษย์ปกติทุกประการ แมวบางตัวเป็นเพื่อนของเขามาก่อนด้วยซ้ำ พวกมัน ไม่รู้ว่าเขาเป็น มนุษย์เพียงคนเดียว ที่เหลืออยู่ในโลกของแมว เขาจึงต้องทำตัวให้กลมกลืน และถ้าพวกมันจับได้เขาจะถูกกำจัดทิ้งทันที

วิศิษฎ์ใช้แฟนตาซีหลุดโลกมาวิพากย์สังคมอีกครั้งในแบบที่จริงจังกว่าตอน หมานคร อาจด้วยเวลาที่จำกัดเขาเลยต้องพุ่งประเด็นทั้งหมดออกมาให้ชัดตูมเดียว และมันก็มีหลายช่วงจังหวะที่สะเทือนสติเราเหมือนกัน ทั้งเรื่องที่ตัวเอกต้องพยายามซ่อนเนื้อแท้ของตัวเองท่ามกลางคนอื่น ๆ ที่แตกต่างเพราะกลัวความรุนแรงของการเหยียดฝั่งตรงข้าม ถึงขนาดที่ต้องใช้สเปรย์น้ำหอมฉีดปลอมกลิ่นแมวใส่ตัวเอง และในขณะเดียวกันหน่วยไล่ล่ามนุษย์เองก็ใช้ประโยชน์แห่งความเหยียดนี้ในการผลิตสเปรย์กลิ่นมนุษย์ไว้ฉีดเพื่อบ่อนทำลายใส่ร้ายแมวที่ไม่เข้าพวกกับทางการ ว่ากันในความเป็นหนังสั้น เรื่องนี้น่าจะเล่าได้ชัดและจบในตัวได้ดีที่สุด ทั้งยังมีจุดผลิกผันไปมาให้ตื่นเต้นด้วย

PLANETARIUM โดย จุฬญานนท์ ศิริผล

PLANETARIUM เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีเหนือจริง ที่จำลองการทำงานขององค์กรสื่อสารใน 10 ปีข้างหน้า หนังจะพาเราสำรวจความทันสมัยก้าวไกลของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 4.0 ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม จนทำให้คนรุ่นใหม่ยินยอมเข้าร่วมทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตรวจสอบ โดยมีพลังแสงแห่งความดีชำระล้างความไม่ถูกต้องเพื่อให้คนเป็นคนดี และสังคมสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างสงบสุข

ว่ากันตามตรงงานของจุฬญานนท์เรื่องนี้ออกไปทางเซอร์เรียลและนามธรรมสัญญะจัดจ้านจนเข้าถึงยากมาก ขนาดว่าถ้าไม่อ่านเรื่องย่อข้างบนอาจใช้เวลาพักใหญ่เลยกว่าจะจับคลำทางถูกว่าหนังกำลังพูดเรื่องอะไร แต่เมื่อเข้าใจแล้วหนังเรื่องนี้ก็ดูสนุกมาก กับการใส่สัญญะนั่นนี่ให้เหมือนจะไม่เข้าใจ แต่ในฐานะคนไทยอย่างไรเสียเราก็เข้าใจอยู่ในดีเอ็นเออยู่ดี ไม่ว่าจะระบบการศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน สถาบันต่าง ๆ ล้วนแต่พยายามสร้างประชาชนให้เป็นสาวกของลัทธิความเชื่อหนึ่งเดียวกัน ถ้าวัดกันหนังเรื่องนี้เล่าไม่เป็นเนื้อเรื่องสุด แต่เพราะมันคือหนังสัญญะ เมื่อเราแปลความออกเราก็จะเข้าใจว่านี่คือหนังที่มีเนื้อเรื่องจริงจังมากเรื่องหนึ่งทีเดียว

SONG OF THE CITY โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

SONG OF THE CITY เป็นภาพยนตร์แนวทดลองที่เล่าคู่ขนานระหว่างขั้นตอนคัดเลือกนักแสดง และการบันทึกการถ่ายทำเรื่องราวของเซลล์แมนที่พยายามขายเครื่องที่สามารถทำให้หลับฝันดีและมีความสุข ซึ่งเกิดขึ้นที่สวนสาธารณะในอนุสาวรีย์ใจกลางเมืองจังหวัดขอนแก่น ที่กำลังทำการบูรณะซ่อมแซม ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น เสมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัวของผู้กำกับที่มีต่อพื้นที่ที่เติบโต นอกจากนั้นภาพยนตร์ยังบันทึกสรรพเสียงของคนที่อาศัยโดยรอบ เสมือนไดอารี่หรือจดหมายที่รอการกลับมาอ่านซ้ำอีกครั้ง

มาถึงเรื่องสุดท้ายที่แฟน ๆ ของผู้กำกับอภิชาติพงศ์คงรอคอย และก็ไม่เสียใจเลยเพราะแกยังคงมาสไตล์จัดในการเล่าเรื่องกึ่งจริงกึ่งแสดง การวางช็อตภาพที่เหมือนวางไปงั้น ๆ แต่ที่จริงตั้งใจ เส้นเรื่องที่มีหลายทางแต่แท้จริงล้อไปในเรื่องเดียวกัน ซึ่งทำให้ตัวหนังเรื่องนี้ว่ากันตามตรงตีความยากกว่าเรื่องที่แล้วเสียอีก แต่ในความงุนงงครุ่นคิดนั้น สมองของเราก็ได้ทำงานตลอดเวลาจนทำให้ภาพแต่ละภาพ บทสนทนาแต่ละช่วง เชื่อมโยงความทรงจำและความเข้าใจเราไปสู่วิถีทางแบบไทย ๆ ที่เราเห็นมาตลอดชีวิตได้อย่างแจ่มชัด ไม่แปลกเลยที่จะมองว่ามันคือไดอารี่ส่วนตัวของเจ้ย ซึ่งในขณะเดียวกันก็บันทึกความทรงจำร่วมของคนไทยหลาย ๆ คนไว้พร้อมกัน

จากหนังที่เข้าใจง่ายสู่หนังที่ต้องใช้จินตนาการและประสบการณ์ในการชมสูง Ten Years Thailand จึงมีความกระด้างกระเดื่องในการเล่าเรื่องสู่คนดู จากอ่อนน้อมดูง่าย สู่ความขบถดูยาก แต่หนึ่งสิ่งที่หนังตีภาพร่วมเหมือนกันคือการสะท้อนสังคมการเมืองไทย อาจจะไม่ใช่หนังที่มองว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรตามต้นฉบับ แต่เหมือนพร้อมใจเล่ามากกว่าว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราเป็นอย่างไร โดยทิ้งเงื่อนปมว่ามันอาจจะเป็นอย่างนี้ไปอีกสิบปีข้างหน้าก็เป็นได้ มันจึงเป็นหนังที่ทั้งให้บทเรียนให้สติเราและทำลายความหวังไปพร้อมกัน กระด้างกับใจมากจริง ๆ

จองกดที่รูปได้ดูทันที ไม่ต้องรอ 10 ปีนะชาวไทย