เป็นคนหนุ่มอนาคตไกลไปอีกคน กับ  ลุดวิก เยอรันส์ซอน (Ludwig Göransson) ศิลปินหนุ่มวัย 34 ปีที่คว้าชัยออสการ์ในสาขา Best Score ของปีนี้ไปหมาดๆ จากภาพยนตร์เรื่อง “Black Panther” กำกับโดย ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler) ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้และอีกหลายสาจา ก่อนที่จะคว้าชัยได้รับรางวัลไป 3 ตัวได้แก่สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม และแน่นอน “ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” 

ก่อนหน้านี้ ลุดวิก เยอรันส์ซอน ได้รับรางวัลแกรมมี่มาแล้วสองตัวจากสาขา best score และ song of the year ซึ่งเขาได้กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้ถึงสองสาขาด้วยกัน นอกจากนี้ เยอรันส์ซอนยังเป็นคนที่ร่วมแต่งและร่วมโปรดิวซ์เพลงสุดอื้อหือของปีที่ผ่านมา “This is America” ของ Childish Gambino หรือ Donald Glover ด้วย

ถือว่าเป็นคนดนตรีที่มีฝีมือดีและมีประสบการณ์โชกโชนใช่เล่นเลย

เรามาดูกันดีกว่าครับว่า ลุดวิก เยอรันส์ซอน มีความทุ่มเทและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานอย่างไร รวมไปถึงมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้งานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Black Panther” มีความน่าสนใจจนคว้าชัยมาได้ในที่สุด

1. จะทำเพลงให้ดีต้องมีการรีเสิร์ช

หลังจากได้อ่านบท เยอรันส์ซอนก็รับรู้ได้ในทันทีว่าหากจะทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ วิธีที่ดีที่สุดที่เขาจะเข้าใจก็คือต้องเดินทางกลับไปสู่รากของมัน นั่นก็คือวัฒนธรรมแอฟริกันนั่นเอง เขาจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตกเพื่อค้นคว้า เรียนรู้และหลอมรวมเอาวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันเข้ามาในตัวเอง ซึ่งจริงๆแล้วก่อนหน้านี้ เยอรันส์ซอนก็เคยได้สัมผัสวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันมาแล้วเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาดนตรีอยู่ที่สตอล์คโฮม ในตอนนั้นเขาได้เดินทางไปที่ประเทศแกมเบียและใช้เวลาหนึ่งเดือนที่นั่นในการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมทางดนตรีของสี่ชนเผ่า ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนของท่วงทำนองและจังหวะของดนตรีแอฟริกันตะวันตกและภาษาที่ใช้ในที่สุด

2.ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

ด้วยความตื่นตาตื่นใจในภาพยนตร์ร่างแรกที่ตัดมาเพื่อทำเพลงประกอบ เยอรันส์ซอนรู้สึกว่านี่มันคือสตาร์วอร์แห่งยุคนี้เลย ดังนั้นเขาจึงอยากผสมผสานความเป็นมหากาพย์ร่วมสมัยให้เข้ากันกับดนตรีแอฟริกัน ดังนั้นเขาจึงเลือกใช้วงออเครสตราเพื่อเพิ่มความเป็นภาพยนตร์เข้ามา และใช้ดนตรีฮิปฮอปร่วมสมัยเข้ามาเสริม

เยอรันส์ซอนพยายามเริ่มงานเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้มีเวลาไว้ใช้สำหรับการทดลอง ความยากอย่างหนึ่งในการแต่งเพลงให้หนังเรื่องนี้ก็คือการผสมผสานดนตรีคลาสสิคให้เข้ากับดนตรีแอฟริกัน ซึ่งดนตรีคลาสสิคนั้นจะให้ความสำคัญกับทำนอง (เมโลดี้) และเสียงประสาน (ฮาร์โมนี่)ในขณะที่ดนตรีแอฟริกันจะให้ความสำคัญกับจังหวะ (ริธึ่ม) อันมีความซับซ้อน

กลองแอฟริกัน

สิ่งที่เยอรันส์ซอนทำก็คือพยายามทิ้งวิธีคิดแบบเก่าที่ให้ความสำคัญไปที่ทำนองกับเสียงประสานด้วยการมองไปในแง่มุมของการให้จังหวะ เฉกเช่นเดียวกันกับ การใช้กลองในเพลงแอฟริกันที่ในหนึ่งเพลงจะมีการรวมกันของกลองหลากหลายชนิดอาทิเช่น เจมเบ้ (djembe) ดูนุน (dunun) บารา (bara) ที่มีสุ้มเสียงที่แตกต่างกัน การใช้จังหวะที่ต่างกัน แต่สามารถบรรเลงร่วมกันในบทเพลงเดียวกันได้อย่างลงตัว ซึ่งเยอรันส์ซอนก็ใช้แนวคิดนี้กับการเรียบเรียงเสียงประสานในวงออเครสตร้าของเขา

Play video

3.จงสร้างจานผสมเสียง (Sound Palette) อันเป็นเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนั้น

นักแต่งเพลงส่วนใหญ่เวลาเริ่มทำเพลงมักประสบปัญหาคล้ายๆกันนั่นคือ มักกลับไปใช้ท่วงทำนอง ชนิดของคอร์ดหรือทางเดินคอร์ดในแบบที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งทางแก้ก็คือการพยายามหาจานผสมเสียง (Sound Palette) หรือ ปริมณฑลทางเสียง (Soundscape) ที่เข้ากันกับหนังของเรา

ยกตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง  Fruitvale Station (2013) (หนังยาวเรื่องแรกของ ไรอัน คูเกลอร์) เยอรันส์ซอน รู้สึกว่าการระดมใส่ดนตรีลงไปในหนังเรื่องนี้คงไม่เหมาะ การใช้เสียงจากเรื่องราวของหนังน่าจะเหมาะสมกว่า ด้วยเรื่องราวในหนังส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟ BART เยอรันส์ซอนก็เลยไปเก็บเสียงของรถไฟและเอามันมาปรุงแต่งให้กลายเป็นองค์ประกอบทางดนตรีเสียเลย

ส่วนใน Creed (2015) (หนังยาวเรื่องที่สองของ ไรอัน คูเกลอร์) ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับนักมวย เยอรันส์ซอนก็เลยเดินทางไปสังเกตการณ์ที่ยิม ดูการฝึกซ้อมของนักมวย สังเกตการหายใจ กระโดดเชือก ต่อยกระสอบทราย และบันทึกเสียงเหล่านั้นและมาใส่ให้เป็นจังหวะและเป็นเพลง

สำหรับ Black Panther เขาก็ทำเพลงด้วยวิธีที่คล้ายๆกันนี้เช่นกัน

4. ค้นหาเสียงดนตรีที่มีความหมาย

“ดนตรีแอฟริกันที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณานิคมนั้นเป็นเช่นไร?”

นี่คือคำถามสำคัญที่เยอรันส์ซอนใช้ในการกำหนดแนวทางเพลงของหนังเรื่องนี้ เนื่องจากวากันดา (Wakanda) นั้นเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ยิ่งยงและไม่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติใดมาก่อน ดังนั้นเพลงประกอบสำหรับ วากันดาจะต้องเกริกเกียรติกึกก้องสะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นแอฟริกัน

ด้วยเหตุนี้เยอรันส์ซอนก็เลยเดินทางไปที่ประเทศเซเนกัล (Senegal) และได้พบกับนักดนตรีเชื้อสายเซเนกัลผู้มีฝีมือเยี่ยมยุทธนามว่า บาบา มาอัล (Baaba Maal) ที่ทำให้เขาได้รู้ว่าดนตรีนั้นมีความหมายต่อวัฒนธรรมแอฟริกันมากเพียงใด และมันได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมแอฟริกันได้อย่างไร

กลุ่มนักดนตรีที่เยอรันส์ซอนได้พบในการเดินทางในครั้งนี้เรียกตัวเองว่า  griots ซึ่งแปลว่านักเล่าเรื่อง” และพวกเขาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  พวกเขาเล่นเครื่องดนตรีและบทเพลงที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขารุ่นแล้วรุ่นเล่า มันเป็นสายเลือดแห่งการขับขานเรื่องราว ผ่านลำนำของครอบครัว จังหวะที่พวกเขาเล่นนั้นถูกสร้างขึ้นมากว่าหลายพันปีล่วงมาแล้ว และทุกๆท่วงทำนองล้วนมีความหมาย จังหวะแบบนี้เล่นงานศพ แบบนี้เล่นงานแต่ง แบบนี้เล่นเมื่อคนหนุ่มกำลังท้าทายคนแก่ ทุกๆท่วงทำนองทุกจังหวะจะมีสถานการณ์จำเพาะเพื่อที่จะเล่นมัน อย่างเช่นในตอนหนึ่งของหนังเมื่อเสียงกลอง ซาบา​ (sabar) ดังขึ้น หากใครก็ตามในแอฟริกาตะวันตกได้รับชมหนังเรื่องนี้อยู่ พวกเขาจะรู้เลยว่าเรื่องราวแบบใดกำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้เยอรันส์ซอนยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเติมความร่วมสมัยด้วยการใส่ดนตรีฮิปฮอปลงไป เพื่อให้ได้เสียงแบบแอฟริกันล้ำสมัย (Afro-futuristic sound) เนื่องจากวากันดานั้นไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร อีกทั้งยังมีความล้ำสมัยด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ดังนั้นมันจึงต้องมีส่วนผสมของดนตรีแอฟริกันแบบเพียวๆที่ไม่มีร่องรอยจากดนตรีของชาติผู้ล่าอาณานิคมอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความร่วมสมัยด้วยการใส่ดนตรีฮิปฮอปอันเป็นดนตรีของคนผิวดำแห่งยุคสมัยนี้เข้าไปด้วยนั่นเอง

5. ถ่ายทอดลักษณะและความรู้สึกของตัวละครผ่านเสียงดนตรี

ในตอนที่เยอรันส์ซอนได้เดินทางไปยังแอฟริกานั้น เขาได้พบกับ อาห์มาดุ (Ahmadu) นักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า ขลุ่ย ฟูลา (fula flute) ซึ่งมีการเล่นในแบบที่เยอรันส์ซอนไม่เคยได้ยินมาก่อน มันมีเสียงของการกรีดร้อง ทั้งที่เขาแค่เป่าลมไปแผ่วๆราวเสียงกระซิบ แต่กลับให้เสียงที่มีอารมณ์รุนแรง กราดเกรี้ยว ได้อย่างน่าทึ่ง  ซึ่งมันทำให้เขานึกถึงตัวละคร “คิลมองเกอร์” จอมวายร้ายจาก Black Panther ที่เขาได้อ่านจากในบท เขาเลยลองเล่าเรื่องของคิลมองเกอร์ให้อาห์มาดุฟัง จากนั้นเขาก็เริ่มบรรเลงเพลงขลุ่ยในทันที แต่ทว่าในครั้งนี้เหมือนตัวตนของเขาได้เปลี่ยนไป สุ้มเสียงนั้นก็เปลี่ยนไป ราวกับตกอยู่ในมนต์สะกดเยอรันส์ซอนกำลังตื่นตะลึงในเสียงกรีดร้องของคิลมองเกอร์ที่พุ่งผ่านผิวขลุ่ยเลานั้นออกมา เขาก็เลยรีบอัดเสียงไว้ในไอโฟน ส่งไปให้ไรอัน เพื่อส่งไปให้กับ ไมเคิล บี จอร์แดน นักแสดงที่จะรับบทนี้นั่นเอง

คิลมองเกอร์

ขลุ่ยฟูลา

นักดนตรีกำลังเล่นขลุ่ยฟูลา

การให้ดนตรีเป็นสื่อที่ช่วยขยายเรื่องราวในภาพยนตร์นั้นเป็นบรรทัดฐานสำคัญของเยอร์รันส์ซอนเสมอมา เพลงธีมของคิลมองเกอร์ (Killmonger’s theme) เกิดจากการผสมเสียงและแนวดนตรีที่หลากหลาย เช่น ดนตรีฮิปฮอป ขลุ่ยแอฟริกัน และวงออเครสตร้า ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบนี้ไปด้วยกันได้ดีกับลักษณะตัวละคร คิลมองเกอร์

ในเรื่องราวของภาพยนตร์เมื่อคิลมองเกอร์ เริ่มมีพลังอำนาจและใช้มันในการครอบครองวากันดา เพลงธีมนี้ก็เจริญเติบโตตามตัวละครไปด้วย ยิ่งเขามีพลังมากขึ้น เพลงก็จะใหญ่ขึ้นๆตามไปด้วยเช่นกัน  ในฉากหนึ่งที่เขาพูดว่า ‘Burn it all’  ในตอนนั้นเสียงเครื่องดนตรีออเครสตร้ากว่าร้อยชิ้นก็เริ่มบรรเลงขึ้นและเมื่อภาพเปลี่ยนผ่านไปสู่ฉากการขึ้นบัลลังก์ของคิลมองเกอร์ด้วยภาพแบบกลับหัวเสียงดนตรีฮิปฮอปก็เข้ามาโดยผสานไปกับเสียงร้องแบบแอฟริกัน และนี่ก็คือตัวอย่างของการใช้เพลงธีมในการเล่าเรื่องโดยมันจะเป็นแบบนี้ไปตลอดทั้งเรื่อง

Killmonger’s Theme

Play video

หนึ่งในฉากที่ใช้เพลง Killmonger’s Theme ประกอบ

Play video

ฉาก Burn It All!

Play video

6.เข้าใจหนัง เข้าใจผู้กำกับ

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ก็คือ การพยายามทำความเข้าใจในตัวหนังทิศทางและวิสัยทัศน์ของผู้กำกับให้ชัดเจนที่สุด

เยอรันส์ซอน ได้ร่วมงานกับ ไรอัน คูเกลอร์หลายครั้ง และในทุกครั้งเขาจะส่งบทมาให้อ่านแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำเสียอีก ซึ่งเยอรันส์ซอนก็จะตั้งใจอ่านบทและจินตนาการถึงเสียงที่จะได้ยินจากเรื่องราวนี้ นอกจากนี้เขายังถามผู้กำกับอีกด้วยว่ากำลังฟังเพลงอะไรอยู่ในตอนที่เขียนบทในแต่ละฉาก และทำงานในรูปแบบนี้เรื่อยไปจนกระทั่งได้หนังร่างแรกออกมา

อย่างในกรณีหนังเรื่อง Fruitvale Station เยอรันส์ซอนก็บอกกับไรอันว่า หนังของเขาไม่ต้องการเสียงดนตรีใดๆเลยเพราะมันถ่ายออกมาได้สมจริงสุดๆแล้ว ขืนฝืนใส่อะไรลงไปมันจะเข้าไปพรากเอาความจริงออกไปจากหนัง

นอกจากนี้พวกเขายังพยายามทดลองทำอะไรใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่นที่ได้กล่าวไปถึงเรื่องสถานีรถไฟ BART ในเรื่อง Fruitvale Station ที่เยอรันส์ซอนไปอัดเสียงรถไฟและเอาไปทำเป็นเสียงดนตรีประกอบเพื่อสร้างความเข้มข้นให้กับเรื่องราวแทนที่จะใช้เป็นเพลงทั่วไปเฉยๆ

เยอรันส์ซอนกับไรอัน

เยอรันส์ซอนกล่าวว่าเขามีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับไรอันเพราะว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเยอรันส์ซอนและรับเอาดนตรีของเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมุมมองที่เขามีต่อหนัง ทั้งๆที่ทั้งคู่ต่างก็มาจากคนละส่วนของโลกใบนี้ แต่กลับมีสิ่งที่เชื่อมโยงกัน นั่นก็คือ “ศิลปะ” นั่นเอง

 

ที่มา

http://www.filmmusicmag.com/?p=18528

https://www.slashfilm.com/ludwig-goransson-interview/

https://www.okayplayer.com/originals/ludwig-goransson-black-panther-grammys-atlanta-robbin-season-interview.html

http://www.papermag.com/ludwig-goransson-interview-2629086622.html

https://www.complex.com/music/2018/12/ludwig-goransson-2018-ultimate-secret-weapon-interview