อยากจะกล่าวว่าสัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์ที่น่าตื่นเต้น เพราะมีงานใหม่ของศิลปินที่เรารอคอยไม่ว่าจะเป็น  The Cinematic Orchestra ที่หายไปกว่า 12 ปี กลับมาคราวนี้ยิ่งกว่าคุ้มค่าสำหรับการรอคอยอันยาวนาน  American Football ที่ออกอัลบั้มแรกในปี 1999 จากนั้นก็แยกวงไปจนกลับมาใหม่ในปี 2014 และนี่คืออัลบั้มที่สองหลังจากการกลับมา บอกเลยว่าอัลบั้มนี้ได้กลายเป็นอัลบั้มแห่งปีในดวงใจไปแล้ว ส่วนอีกสองอัลบั้มก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน หนึ่งคือ งานเพลงใหม่จาก Lucy Rose ศิลปินอินดี้โฟล์คที่เคยมาเปิดคอนเสิร์ตในบ้านเราไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งใครที่ได้อยู่ตรงนั้นคงจดจำได้ถึงน้ำเสียงและท่วงทำนองที่นุ่มนวลและลุ่มลึกของเธอได้เป็นอย่างดี  ส่วนอีกหนึ่งอัลบั้มของสัปดาห์นี้ คือ สุ้มเสียงใหม่ๆที่น่าประทับใจอันเกิดจากการร่วมงานกันของ Karen O และ Danger Mouse


“To Believe” – The Cinematic Orchestra

“To Believe”  คือ การกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของบริติช nu jazz นาม “The Cinematic Orchestra” หลังจากที่ไม่ได้ออกผลงานมาอีกเลยตั้งแต่อัลบั้มล่าสุดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

The Cinematic Orchestra ก่อตั้งวงตั้งแต่ปี 1999 แนวดนตรีของพวกเขาอาจนิยามได้ด้วยคำว่า nu jazz อันมีส่วนผสมของซาวด์อิเล็คทรอนิคและดนตรีแอมเบียนต์ ใครที่ชอบเพลงแนวแอมเบียนต์หรือโพสต์ร็อคน่าจะชอบผลงานของพวกเขาทั้ง 6 เป็นอย่างดี

To Believe จะเป็นอัลบั้มลำดับที่ห้าของวง หากนับ “Man with a Movie Camera” (2003) ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดีแนวทดลองสุดคลาสสิคจากรัสเซียเรื่อง “Man with a Movie Camera” (1929) กำกับโดย Dziga Vertov ที่กลับมา re-released ใหม่ในปีนั้นทางวงเลยได้มีโอกาสทำดนตรีประกอบให้ ผลที่อออกมาก็คือความมหัศจรรย์อันน่าพิศวง จากความตื่นตาในภาพผสานด้วยความตื่นใจทางเสียง กลายเป็นประสบการณ์ความอิ่มเอมอย่างถึงที่สุด

To Believe ประกอบด้วยบทเพลงทั้งหมด 7 เพลง 2 เพลงในนี้เป็นเพลงบรรเลง ความยาวของทั้ง 7 เพลงเกิน 5 นาทีหมดเลย ต่ำสุดคือแทร็คแรก “To Believe” คือ 5.27 นาที ยาวสุดคือแทร็คสุดท้าย “A Promise” กับความยาว 11 นาทีครึ่ง อีพิคมากๆ

งานเพลงของ The Cinematic Orchestra  มีบรรยากาศที่น่าลุ่มหลง บรรยากาศในแต่ละบทเพลงเปรียบเสมือนการเดินทางในแต่ละภูมิทัศน์ของความทรงจำในชีวิต ให้ความรู้สึกที่ลุ่มลึก หลากหลายแต่ก็เป็นหนึ่งเดียวราวกับห้วงความทรงจำในแต่ช่วงชีวิตที่อยู่ในห้วงคิดของใครคนหนึ่ง  “The Workers of Art” น่าจะเป็นแทร็คที่บอกให้เรารู้ว่าทำไมวงนี้ถึงชื่อ The Cinematic Orchestra เพราะมันให้อารมณ์ราวกับเรากำลังฟังเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่ง อันมีเสียงจากเครื่องสายสุดดรามาติคโรแมนติคบรรเลงขับขานห้วงอารมณ์ของตัวละคร

การฟัง To Believe จึงเป็นประสบการณ์ที่น่าพึงใจ  The Cinematic Orchestra คงจะได้ใส่หลายสิ่งหลายอย่างที่พานพบมาในช่วงเวลา 12  ปีลงไปในงานเพลงอัลบั้มนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เป็นแน่

Play video

ฟัง  “To Believe”

Apple Music  

Spotify 


“American Football (LP3)” –  American Football

เป็นเช่นนี้เสมอมาและคงจะดำเนินเช่นนี้ต่อไป กับการตั้งชื่ออัลบั้มของวงอเมริกัน Midwestern emo จากอิลลินอยส์ “American Football” ที่อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่สามของวงและครบ 20 ปีพอดีตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกมาในปี 1999 ซึ่งตั้งแต่อัลบั้มแรกจนอัลบั้มนี้วงก็ใช้ชื่ออัลบั้มว่า “American Football” มาโดยตลอด

ไม่ว่าจะ 20 ปีที่แล้วหรือในวันนี้ เสียงดนตรีของพวกเขาก็ยังคงสร้างความประทับใจระดับปรื้มปริ่มให้เราเสมอมา ด้วยส่วนผสมอันของความเท่ ความไพเราะ และความลุ่มลึก ขององค์ประกอบดนตรีในแนว math rock , post rock และ emo ใครที่ชอบวงอย่าง toe  , elephant gym อะไรราวๆนี้ จะไม่มีทางพลาด “American Football” ไปได้เลย

งานเพลงในอัลบั้มนี้เหมือนเป็นการต่อยอดจากผลงานชิ้นที่ผ่านมา จาก LP1 ที่มีความเป็น emo , Post Rock และ Math Rock LP 2 ที่มีทิศทางคล้ายกับงานเดี่ยวของนักร้องนำ Mike Kinsella ที่ใช้ชื่อว่า “Owen” จนมาถึง LP3 ที่พัฒนาความลุ่มลึกขึ้นด้วยการผสานองค์ประกอบจากอัลบั้มก่อนๆและการเติมส่วนผสมใหม่ๆลงไป มีทั้งริฟฟ์กีตาร์เท่ๆของ math rock เสียงเครื่องเป่าสุดละมุน และ ส่วนหนึ่งในความแปลกใหม่ที่ลงตัวของอัลบั้มนี้เกิดจากเสียงของนักร้องรับเชิญที่มาช่วยเติมสีสันใหม่ๆลงไปในงานของ American Football ทั้ง Hayley Williams (Paramore), Elizabeth Powell (Land of Talk), และ Rachel Goswell (Slowdive

กลมกล่อม ลุ่มลึก หลากล้น และสงบงาม นี่คือคำจำกัดความผลงานคุณภาพ ที่กลายเป็นหนึ่งอัลบั้มในดวงใจสำหรับปีนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย

Play video

ฟัง “American Football (LP3)”

Apple Music 

Spotify 


“Lux Prima”   Karen O / Danger Mouse

“Lux Prima”  เป็นอัลบั้มแรกจากการร่วมงานกันของ Karen O จาก Yeah Yeah Yeahs และ  Danger Mouse  หรือ Brian Burton โปรดิวเซอร์รางวัลแกรมมี่

Lux Prima มาพร้อม 9 บทเพลงหลากสีสัน ด้วยเสียงซินธ์และบรรยากาศแบบ lo-fi  เสียงดนตรีอันหลากหลายและกลิ่นอายของความเรโทรจาก Danger Mouse ผสานกันเข้ากับเสียงร้องของ Karen O ได้พอดิบพอดี

สำหรับ Karen O แล้วการได้ทำอัลบั้มนี้เหมือนกับเป็นสัมผัสของอิสรภาพสำหรับเธอ ผู้ซึ่งทำงานเพลงร่วมกับเพื่อนในวง Yeah Yeah Yeahs มากว่า 2 ทศวรรษ และกลายเป็นแม่คนในปี 2015 การเริ่มต้นครั้งใหม่นี้ จึงเปรียบเสมือนบันทึกหมดใหม่ที่นำพาเธอไปยังดินแดนที่ไม่เคยย่ำกราย Karen O ได้กล่าวถึงงานทำงานใน Lux Prima ว่าเมื่อคุณเริ่มการสร้างสรรค์จากจุดที่พร่ามัว ผลลัพธ์ของมันคือการได้เดินทางไปยังดินแดนที่คุณยังไม่เคยได้ไป  ในขณะที่ Danger Mouse บอกว่าเขาทำงานเพลงในอัลบั้มนี้ด้วยการมองหาสถานที่มองกว่าที่จะมองหาเสียง  ผมจินตนาการถึงสถานที่ต่างๆเช่น ปารีสในปี 1969 ดีทรอยส์ในปี 1964 หรือ บริสตอลในปี 1995 เราจึงได้ส่วนผสมของ Serge Gainsbourg (นักร้องนักแต่งเพลงผู้เป็นไอคอนแห่งยุค 60 ของฝรั่งเศส) ท่วงทำนองของ Motown และ ซาวด์ของ Trip Hop ในยุค 90”

และผลลัพธ์ของมันก็คือ “Lux Prima” อิสรภาพอันสดใหม่และการเดินทางสำรวจไปยังดินแดนใหม่ของ Karen O และ Danger Mouse

Play video

ฟัง “Lux Prima”

Apple Music 

Spotify


“No Words Left” – Lucy Rose

Lucy Rose เริ่มต้นเดินทางในบทบาทของศิลปินด้วยการปล่อยอัลบั้มแรก “Like I Used To” ในปี 2012  กับท่วงทำนองของอินดี้โฟล์คที่นุ่มนวลจับใจ มาสู่อัลบั้มถัดมาที่มีโปรดักชั่นที่ใหญ่และจัดเต็มขึ้นใน ‘Work It Out’ จนมาสู่ก้าวเดินครั้งสำคัญของการออกจากค่ายเพลงเดิม มาสู่บ้านหลังใหม่ใน ‘Something’s Changing’ ซึ่งในช่วงนี้เธอได้มาเปิดคอนเสิร์ตในบ้านเราด้วย (ซึ่งเรายังจดจำความประทับใจในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี)  และล่าสุด กับ ‘No Words Left’  ผลงานอัลบั้มที่สองหลังจากออกจากค่ายเดิม ผลงานล่าสุดที่เหมือนว่าจะสะท้อนตัวตนของเธอออกมาได้อย่างสมบูรณ์

เธอกล่าวว่าบทเพลงใน ‘No Words Left’ ถูกเขียนขึ้น ขณะหนึ่งในช่วงเวลาที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตของเธอ ท่วงทำนองป็อปและท่อนฮุคติดหูจึงได้หายไปกลายเป็นเสียงดนตรีที่ชอุ่มลุ่มลึกไปด้วยความรู้สึก เสียงร้องอันสงบเย็นของเธอชี้ชวนให้เรานึกถึงเสียงของโจนี่ มิชเชลล์ เสียงร้องของพวกเธอมีการขึ้นและลงระหว่างเสียงต่ำอันลุ่มลึกและเสียงสูงอันนุ่มนวลและทรงพลัง

เรื่องราวใน ‘No Words Left’ สะท้อนตัวตนของ Rose ผู้ซึ่งกำลังประสบกับภาวะของการสูญสิ้นเป้าประสงค์ในชีวิตและสับสนกังวลในตัวตนของเธอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็คงเคยประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาสามัญหรือศิลปินที่มีชื่อเสียง ถ้อยคำในบทเพลงของอัลบั้ม ‘No Words Left’ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของความไม่มั่นคงในจิตใจและความเดียวดาย และดูเหมือนว่าจะเป็นผลงานที่บ่งบอกตัวตนในฐานะศิลปินของเธอได้ดีที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

เสียงร้องของ Rose เสียงเปียโนอันนุ่มนวล เสียงเกากีตาร์สุดอ่อนโยน เสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าที่สอดแทรกมาอย่างอ่อนน้อม ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ ‘No Words Left’ เป็นอัลบั้มสุดสงบงามที่ควรค่าแก่การสัมผัสถึง

สามารถรับชมและรับฟังบทเพลงทั้งอัลบั้มได้ในรูปแบบมิวสิควีดิโอขาว-ดำ สุดลุ่มลึกและสงบงามได้แล้ววันนี้

Play video

ฟัง “No Words Left”

Apple Music

Spotify