แปลจากบทความของ ลุยส์ สเตเปิล นักเขียนของ Vice.com ที่จะเป็นตัวแทนให้หลาย ๆ คนที่ต่างก็เคยตั้งข้อสงสัยนี้เช่นกัน ลุยส์ ทำการบ้านเยอะมาก ด้วยการถามความคิดเห็นจากหลายคน หลากตำแหน่ง หน้าที่ในฮอลลีวู้ดก็ได้คำตอบที่อ่านแล้วชวนให้คล้อยตามว่า “เออจริงแฮะ” และหลาย ๆ ปัจจัยที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ปัจจัยแรก ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมในวงกว้างให้ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องใหม่ ๆ ได้ ก็คือชื่อของนักแสดงนำ ที่เคยมีผลงานประทับใจมาในอดีต หรือไม่ก็เป็นนักแสดงคุณภาพที่มีรางวัลออสการ์หรือลูกโลกทองคำมาการันตี และบ่อยครั้งเช่นกันที่เราเลือกดูหนังเพราะรายชื่อดาราแม่เหล็กเหล่านี้ แล้วก็พบว่าหนังเรื่องนั้นมันช่าง “ห่วย” เสียเหลือเกิน ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่าเพราะเหตุใดดาราคุณภาพที่เราชื่นชอบเหล่านี้ถึงได้ยอมมาเล่นหนังคุณภาพแย่อย่างนี้ เพราะเมื่อหนังออกฉายก็จะโดนนักวิจารณ์ออกมาโขกสับ คนดูโพสต์ด่าบนโลกโซเชียล สุดท้ายหนังก็เจ๊ง แล้วชื่อหนังเหล่านี้ก็กลายเป็นจุดด่างพร้อยอยู่ในเครดิตของดาราเหล่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนล่าสุดก็คือ “Serenity” มีดารานำน่าสนใจมาก เป็นการประกบคู่ระหว่าง แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ ดีกรี 1 ออสการ์จาก Dallas Buyers Club (2013) และ แอน แฮทธาเวย์ คนสวย 1 ออสการ์จาก Les Misérables (2012) แถมด้วยทีมนักแสดงสมทบที่มากฝีมือ จิมอนด์ ฮุนด์ซู , เจสัน คลาร์ค และ ไดแอน เลน หนังเขียนบทและกำกับโดย สตีเวน ไนท์ มือเขียนบทมากประสบการณ์ ที่เขียนบททั้งภาพยนตร์และทีวีซีรีส์มากมากว่า 30 เรื่อง หนังออกฉายทั่วโลกเมื่อปลายเดือนมกราคม ล้มเหลวทั้งเสียงตอบรับจากคนดู , นักวิจารณ์ และรายได้ หนังใช้ทุนสร้างไป 25 ล้านเหรียญ แต่ทำเงินทั่วโลกได้เพียง 8 ล้านเหรียญ ได้คะแนนจากเว็บมะเขือเน่าไปที่ 19% ซึ่งก็ย้อนไปที่คำถามเดิมว่าทำมั้ยดาราอย่าง แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ และ แอน แฮทธาเวย์ ถึงตัดสินใจเอาชื่อตัวเองมาเสี่ยงกับหนังเรื่องนี้

เมื่อมองย้อนกลับไปเพื่อหาตัวอย่างหนังในกรณีเช่นนี้ ก็พบว่ามีหนังจำพวกนี้อีกมากที่นำมาอ้างอิงถึงได้มากมาย Trespass(2011) รับบทนำโดย นิโคล คิดแมน นิตยสาร Time Out บรรยายไว้ว่า “หนังเดินหน้าไปอย่างย่ำแย่มาก และไม่ได้สร้างความบันเทิงเลย” , Catwoman (2004) ที่มี แฮลลี เบอร์รี รับบทนำ นิตยสาร The New Yorker บรรยายว่า “หนังอีกเรื่องที่เราได้เห็นทุนสร้างกว่าร้อยล้านเหรียญไหลลงท่อระบายน้ำไปอย่างน่าเสียดาย” , Just Getting Started (2017) ที่มี มอร์แกน ฟรีแมน รับบทนำ The New Yorker ก็บอกว่า “หนังอ่อนแอมากทั้งในด้านดราม่าและอารมณ์ขัน” นี่แค่ส่วนหนึ่ง ยังมีรายชื่ออีกหลายเรื่องมาก ที่เข้าข่ายหนังประเภทนี้ ก็ยิ่งชวนให้สงสัยต่อว่าทำไมจึงมีหนังทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คริสโตเฟอร์ ฮูตัน นักเขียนประจำเว็บไซต์ independent ก็เคยตั้งข้อสงสัยเดียวกันนี้ในปี 2016 โดยคริสโตเฟอร์ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างมากคือ “โรเบิร์ต เดอนีโร” นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ของฮอลลีวู้ดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นอีกคนที่มีหนังแย่ ๆ ในเครดิตของเขาหลายเรื่องเลย คริสโตเฟอร์ สรุปได้ว่าปัจจัยอย่างหนึ่งก็มาจากสตูดิโอผู้ผลิตหนังนั่นล่ะ ที่เลือกจะสร้างหนังแย่ ๆ ออกมาในช่วงหลังนี้ ให้มองย้อนกลับไปในปี 1974 เป็นปีพาราเมาท์สร้างหนังยอดเยี่ยมอย่าง The Godfather: Part II แล้วส่งให้ โรเบิร์ต คว้าออสการ์ดารานำชายตัวแรก ในปีเดียวกันนั้น พาราเมาท์ยังมี Chinatown อีกหนังคลาสสิคที่ได้เข้าชิงถึง 10 ออสการ์ และคว้ามา 1 ตัวจากสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม แล้วมามองพาราเมาท์ใน 40 ปีต่อมาสิ ในปี 2016พาราเมาท์ก็สร้างหนังห่วย ๆ อย่าง Teenage Mutant Ninja Turtles: Out of the Shadows และ Zoolander 2 ออกมา เมื่อถามความเห็นของคริสโตเฟอร์ ฮูตัน ว่าทำไมดาราดี ๆ เหล่านี้ถึงได้ไปเล่นหนังแย่ ๆ ได้ล่ะ “ก็เพราะงานแสดงมันไม่มีให้เลือกมากนัก นั่นคือประเด็นสำคัญเลยล่ะ ทำให้เราได้เห็นหนังทุนต่ำหลาย ๆ เรื่องแต่กลับมีชื่อดาราใหญ่มารับบทนำ ก็เพราะหนังดี ๆ มันไม่ค่อยมีใครสร้างออกมามากนัก”

เราลองไปคุยกับนักแสดงดูบ้าง อิลลีนา ดักลาส เป็นนักแสดงหญิงที่เคยร่วมงานกับโรเบิร์ต เดอนีโร มาแล้วหลายเรื่องอย่าง Goodfellas, Cape Fear และ Guilty By Suspicion ซึ่งล้วนเป็นหนังขวัญใจนักวิจารณ์และผู้ชมทั้งสิ้น แต่แล้วเราก็ได้เห็นโรเบิร์ต เดอนีโร ไปแสดงในหนัง “Dirty Grandpa” ที่โดนนักวิจารณ์ควักไส้ควักพุงเสียเละ เราถามอิลลีนาว่า ทำไมนะโรเบิร์ตถึงลดคุณค่าตัวเองมาเล่นในหนังเกรดแบบนี้ “มันมีองค์ประกอบมากมายหลายอย่างที่ทำให้งานแสดงของเราออกมามีคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งงานทรงคุณค่าแบบนี้ล่ะ มันท้าทายความสามารถของนักแสดงอย่างเรา แต่มาถึงวันนี้มันไม่มีใครสนเรื่องพวกนี้ แล้วเราจะแคร์ไปทำไมล่ะ แต่ลึก ๆ แล้วมันก็ยังเป็นความต้องการอยู่ในนักแสดงทุกคน แต่มันอยู่ที่คุณต้องสร้างงานดี ๆ พวกนี้ออกมาให้เขา”

เรามาถึงจุดที่ว่านักแสดง นักวิจารณ์ชี้นิ้วไปที่สตูดิโอว่าเป็นผู้อนุมัติสร้างหนังแย่ ๆ เหล่านี้ออกมา ก็พาไปถึงคำถามต่อไปว่า แล้วเมื่อหนังออกมาล้มเหลวแบบนี้ ใครล่ะจะเป็นผู้รับผิดชอบ? เฮเล็น โอ’ฮารา นักวิจารณ์มืออาชีพให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ต้องอ้างอิง “ทฤษฎีผู้สร้างสรรค์” ถ้าพิจารณาในกระบวนการสร้างหนังแล้ว “ผู้กำกับ” ก็คือตำแหน่งของผู้สร้างสรรค์นั่นแหละ ผู้กำกับคือผู้ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ทางศิลปะของเขาออกมาเป็นภาพให้ทุกคนได้รับชม “ไม่มีใครอยากจะให้หนังมันออกมาแย่หรอกนะ แต่เมื่อนักแสดงได้จบงานของเขาไปแล้ว อำนาจสิทธิ์ขาดก็อยู่ในมือผู้กำกับแล้วว่าจะกำหนดให้หนังมันออกมาอย่างไร ชั้นถึงรู้สึกแย่ทุกครั้งเวลาที่มีคนชี้นิ้วโทษไปที่นักแสดงเวลาหนังมันออกมาห่วย มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา นักแสดงพิจารณาจากบทหนังที่ดีแล้วก็มอบการแสดงที่ดีของพวกเขาไปแล้ว แต่หลาย ๆ ครั้งที่มันแย่ลงก็เพราะฝ่ายบริหารเข้ามาจัดการแก้ไขนั่นนี่หรือไม่ก็เป็นผลมาจากฝีมือผู้กำกับนั่นแหละ” เฮเล็น ยังอธิบายต่ออีกว่า หนังบางเรื่องมันออกมาแย่เพราะองค์ประกอบอื่น ๆ ที่นอกเหนือขอบเขตของนักแสดง “พอผลลัพธ์ของหนังมันออกมาแย่ บทวิจารณ์ก็ออกมาในทางลบ บางฉากในหนังที่เราดูแล้วรู้สึกว่ามันแย่มาก นั่นอาจจะเพราะขั้นตอนตัดต่อที่ผู้กำกับไม่ได้เลือกเทคที่ดีที่สุดมาใช้ บางเรื่องก็มีเวลาจำกัดไม่ได้ให้โอกาสนักแสดงได้ลองเล่นเทคที่ 2 เทคที่ 3 ตามที่พวกเขาต้องการ บางครั้งสตูดิโอก็เข้ามายุ่มย่ามจัดการแก้ไขบท เรื่องราว หรือบางทีก็เปลี่ยนผู้กำกับ”

คลาริส โลห์รีย์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์อีกท่านหนึ่งก็ให้ความเห็นสอดคล้องถึงอิทธิพลของสตูดิโอที่ทับทบาทอย่างมากต่อคุณภาพหนัง “หนังบางเรื่องนะ ใช้เวลาเตรียมงานสร้างเป็นสิบปี มีเวลาเหลือเฟือที่จะแก้นั่นแก้นี่ แต่บางเรื่องก็กดดันมากต้องเร่งให้เสร็จทันกำหนดฉายที่ประกาศไปแล้ว ยกตัวอย่างหนังที่เรารู้จักกันดี The Hobbit ปีเตอร์ แจ็คสัน ต้องถ่ายทำหนังไปโดยที่สตอรี่บอร์ดยังเขียนไม่เสร็จเลย เขาต้องฝืนถ่ายทำไปกับบทภาพยนตร์ที่เขาไม่พอใจด้วยซ้ำ ปีเตอร์ต้องโดดเข้ามากำกับเองแบบปัจจุบันทันด่วน เพราะกีเยร์โม เดล โตโร ถอนตัวออกไปกะทันหัน แล้วสตูดิโอก็ไม่ยอมเลื่อนกำหนดฉายอีกด้วย

เจค กราฟ นักแสดงและผู้กำกับ เล่าว่างานสร้างภาพยนตร์มันเป็นกระบวนการที่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย จากประสบการณ์ที่เขาเคยนั่งกับช่างตัดต่อภาพยนตร์มาแล้ว 8 เรื่อง ผู้กำกับจะมีบทบาทอย่างมากในการตัดต่อเวอร์ชั่นสุดท้าย แต่กับหนังทุนสูงนั้นจะมีผู้อำนวยการสร้างกับผู้บริหารมายุ่งด้วย “มันน่าจะเป็นความเห็นร่วมกันจากหลาย ๆ คน แต่ความเห็นของผู้บริหารคือเด็ดขาดในที่สุด ก็แน่ล่ะมันเงินของพวกเขานี่นะ ถ้าหนังมันออกมาแย่คนที่ขาดทุนก็คือพวกเขานั่นแหละ”

อัมรู อัล-คาดีห์ นักแสดง,นักเขียน และผู้กำกับชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ได้ออกมาชี้ให้เห็นถึงอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพของภาพยนตร์ “คนดูและนักวิจารณ์น่ะ ลืมคิดไปว่าการสร้างภาพยนตร์นั้นเป็นกระบวนการที่ประหยัดและรัดกุมมาก พอบทภาพยนตร์เสร็จ ก็จะถูกส่งไปที่ฝ่ายขาย ทีมเซลก็จะประเมินกันว่าหนังเรื่องนี้น่าจะมีศักยภาพทำเงินได้สักเท่าไหร่ แล้วน่าจะใช้ทุนสร้างประมาณเท่าไหร่ ข้อผิดพลาดมันเกิดในขั้นตอนนี้แหละ เวลาที่เขาประเมินทุนสร้างออกมา พวกเขาไม่ค่อยคิดถึงขั้นตอนหลังการถ่ายทำสักเท่าไหร่นัก มันมีกระบวนการอีกมากในขั้นตอนนี้ ทั้งการตัดต่อ ทำดนตรีประกอบ การออกแบบเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนมีผลต่อคุณภาพของหนังที่ออกมา ถ้าเราให้ความสำคัญกับกระบวนการเหล่านี้มันก็มีผลอย่างมากกับคุณภาพหนัง”

ย้อนกลับมาที่คำถามตั้งต้นว่าทำไมนักแสดงถึงเลือกรับเล่นหนังห่วย ๆ คลาริส โลห์รีย์ ก็อธิบายว่าที่จริงแล้ว นักแสดงแต่ละคนกว่าจะรับแสดงหนังสักเรื่องก็มีปัจจัยมากมายในการพิจารณารับงานนะ ไม่ใช่สักแต่ว่ารับ “หนังเรื่องนั้นมีสิทธิ์ว่าจะสานต่อไปเป็นแฟรนไชส์หลายภาคไหม ทำให้พวกเขามีงานแสดงต่อไปยาว ๆ หรือไม่ บทที่เขาได้รับเป็นบทเด่นที่ผู้ชมจะจำได้และส่งผลบวกในอาชีพนักแสดงต่อไปหรือไม่ กองถ่ายใกล้บ้านไหม นี่ก็สำคัญถ้านักแสดงคนนั้นมีครอบครัวเขาก็จะได้ทำงานและได้ใช้เวลากับครอบครัวไปด้วยได้ เห็นมั้ยว่ามันมีปัจจัยให้พิจารณาเยอะแยะ”

คาสปาร์ แซลมอน นักวิจารณ์ภาพยนตร์อีกท่านมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านักแสดงแต่ละคนก็มีเงื่อนไขในการเลือกงานต่างกันไป “นักแสดงบางคนก็ดูว่าบทที่เขาได้รับมีความสำคัญแค่ไหน มีเวลาบนจอนานแค่ไหน ส่วนบางคนก็อยากได้บทที่เปิดโอกาสให้เขาหรือเธอได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ตนเองดูบ้าง ก็มีที่บางคนเลือกบทในแนวทางที่เขาถนัด ผมคิดว่าทุกวันนี้เมอรีล สตรีพ ก็เลือกแบบนี้นะ เธอหาหนังที่เธอสนุกไปกับมันด้วยได้ ทุกวันนี้เธอสนใจแต่บทที่เธอได้รับมากกว่าจะไปสนใจว่าเรื่องนี้ใครกำกับ หรือว่าหนังเรื่องนี้จะมีไอเดียสร้างสรรค์ในเชิงศิลป์หรือไม่ ถึงแม้เธอจะไม่ซีเรียสกับบทที่ได้รับแล้ว แต่กับนักแสดงคนอื่นก็ยังคงให้ความสำคัญกับชื่อของเมอรีล สตรีพอยู่ดี ถ้าหนังเรื่องไหนมีเธอแสดง การติดต่อทาบทามนักแสดงคนอื่นก็เป็นเรื่องง่าย”

พูดถึงดารามากฝีมือที่มักไปอยู่ในหนังแย่ ๆ ในช่วงนี้หลายเรื่องก็มีชื่อ แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ นี่ล่ะ ก่อนหน้า Serenity ที่เราหยิบมาพูดถึงกัน ก็มี The Sea of Trees ในปี 2015 หน้าหนังออกมาดูดีมาก มีดาราร่วมแสดงอย่าง นาโอมิ วัตต์ ที่เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง และยังมี เคน วาตานาเบ้ มาร่วมด้วย หนังกำกับโดย กัส แวนแซนต์ ผู้กำกับที่เคยมีผลงานคลาสสิกอย่าง Good Will Hunting (1997) ไว้ในเครดิต , The Sea of Trees เป็นหนังที่วี่แววออกมาดีมากตอนเป็นบทภาพยนตร์ แต่เมื่อสำเร็จเป็นหนังกลับออกมาแย่มาก ก็ถือได้ว่าอาชีพนักแสดงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่นอกจากใช้ฝีมือการแสดงของตัวเองแล้วยังจะต้องเสี่ยงดวงว่าสุดท้ายหนังจะออกมาโดนโขกสับจากนักวิจารณ์ หรือ กลายเป็นหนังที่ได้รับการยกย่องชื่นชม ซึ่งผลลัพธ์มักไม่ออกมาสวยหรูเสมอไป แต่สำหรับนักแสดงออสการ์อย่างแมทธิว เขากลับเปรยกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมยังไม่เคยแสดงหนัง ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนอย่างที่ใจผมเคยนึกไว้เลย” เชื่อได้เลยว่า แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ ไม่ใช่นักแสดงคุณภาพคนสุดท้ายหรอก ที่จะต้องเจอกับชะตากรรมแบบนี้ในวงการภาพยนตร์ เพราะเส้นทางสู่ความหายนะบนจอภาพยนตร์ยังทอดยาวไปอีกไกล