บนโลกใบนี้มีลุงอยู่หลายประเภท บ้างก็เป็นลุงที่สุขุมนุ่มลึกดูสง่าสมวัย บ้างก็เร่อร่าเด๋อด๋าเอะอะมะเทิ่งหงุดหงิดโวยวายได้ตลอดเวลา บ้างก็ปล่อยให้ความชราชุดดึงรั้งพลังใจให้ห่อเหี่ยวไปวันๆ หรือบางลุงกลับทำตรงกันข้ามด้วยการทุ่มเทแรงใจใส่ลงไปในสิ่งที่รักและฝันไว้ ซึ่งลุงที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้คือ ลุงในแบบหลังที่ยังคงมีพลังทุ่มเททำตามสิ่งที่รักด้วยความสร้างสรรค์อย่างเปี่ยมล้นไปด้วยแรงใจไฟฝันอยู่เสมอ ซึ่งเราจะพบความเป็นลุงแบบนี้ได้ใน 3 ลุงพันธุ์ร็อคจากแดนปลาดิบที่รวมตัวกันในนาม “นินเง็น อิสุ (Ningen Isu)”

นินเง็น อิสุ (Ningen Isu) เป็นวงดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยสมาชิกสามคนได้แก่ ชินจิ วาจิมะ (Shinji Wajima-กีตาร์ ร้อง) เคนอิจิ สุซุกิ (Kin-ichi Suzuki-เบส ร้อง) และ โนบุ นาคาจิมะ (Nobu Nakajima-กลอง ร้อง)ทั้งสามคนเกิดที่เมืองฮิโรซากิในจังหวัดอาโอโมริของประเทศญี่ปุ่น  ชื่อวง “นินเง็น อิสุ” นั้นแปลว่า “เก้าอี้มนุษย์” ทางวงหยิบยืมมาจากชื่อเรื่องสั้นในปี 1924 ของเจ้าพ่อนิยายแนวสยองขวัญ ลึกลับ สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นนาม “เอโดงาวะ รัมโป (Edogawa Rampo)”  [ คำว่า ‘เอโดงาวะ’ ในชื่อของ ‘เอโดงาวะ โคนัน’ ก็มาจากนักเขียนคนนี้นี่ล่ะ / เรื่องสั้นเรื่องนี้มีแปลไทยด้วยอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “สยองขวัญ” ของเอโดงาวะ รัมโป สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เรื่องนี้แนะนำให้ลองหามาอ่านกันดูนะครับ ผมอ่านดูแล้วเรื่องเรียบง่ายมากแต่ขนลุกบรื๋อส์เลยสยองสุดๆ]

วงดนตรีวงนี้มีประวัติอันยาวไกลย้อนกลับไปตั้งแต่ในยุค 70-80 นู่น เมื่อวาจิมะและสุซุกิที่กำลังเพิ่งเข้าศึกษาอยู่ในระดับม.ปลาย ทั้งคู่ได้พบกันในที่เล่นดนตรีแห่งหนึ่ง ในตอนนั้นสุซุกิได้ขอยืมแผ่นเพลงของวง Kiss มาจากวาจิมะ ผู้ที่ชอบฟังเพลงของวงร็อคชื่อดังในยุคนั้น อาทิเช่น The Beatles , King Crimson , Deep Purple และ Led Zeppelin  ส่วนสุซุกินั้นจะมาสายหนักหน่อยชอบฟัง Kiss , Sazon และ Judas Priest  สุซุกินั้นมีความประทับใจในฝีไม้ลายมือการแต่งเพลงและเขียนเนื้อร้องของวาจิมะในบทเพลง “Demon” มากๆ ซึ่งสุซุกิเองก็มีเพลงที่เขียนไว้เหมือนกันโดยมีชื่อว่า “Tetsugōshi Mokushi-roku” (Apocalypse of Iron Grill)

2 ปีต่อมา วาจิมะและสุซุกิได้เข้าเป็นสมาชิกวง Shine Shine Dan (แปลว่า วงตายตาย – ชื่อโหดเถื่อนมาก) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มสมาชิกในที่เล่นดนตรีที่ทั้งสองคนพบกันนั่นเอง จากนั้นวงนี้ก็ตระเวนเล่นเพลงร็อคตามงานเทศกาลดนตรีต่างๆ

ต่อมาในปี 1985 ทั้งคู่ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ว่าเรียนกันคนละที่ ทั้งคู่ได้ตั้งวงฮาร์ดร็อคขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “นินเง็น อิสุ” นั่นเอง  หลังจากนั้นทั้งคู่ก็มีมือกลองเข้ามาร่วมด้วยนั่นคือ โนริโยชิ คามิดาเตะ (Noriyoshi Kamidate) และเริ่มมีชื่อเสียงจากเมื่อครั้งที่ได้บรรเลงบทเพลง Injū (Strange Beast)  ทางรายการโทรทัศน์ในช่วงปี 1989 ที่มีชื่อว่า “Miyake Yuji no Ikasu Bando Tengoku” (“Yuji Miyake’s Rising Band Heaven”) หรือ  “Ika-Ten” ซึ่งรายการ อิกะ-เท็นนี้เป็นรายการดนตรียอดนิยมในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นในปลายยุค 80 ซึ่งในช่วงเวลานั้นวงเมทัลส่วนใหญ่มักจะเล่นเร็วตามสไตล์ของสปีดและแทรชเมทัล  ส่วนนินเง็น อิสุนั้นมีความโดดเด่นและแตกต่างจากวงอื่นๆเพราะเน้นเล่นช้าแต่แน่นตามแบบฉบับของ “Black Sabbath” วงในดวงใจของพวกเขา จนได้รับฉายาว่าเป็น “Black Sabbath แห่งญี่ปุ่น”

อัลบั้มแรกของ นินเง็น อิสุ ใช้ชื่อเดียวกันกับวงออกเมื่อปี 1990  หลังจากนั้นอีกสองปีให้หลังอัลบั้มที่สอง “Ōgon no Yoake” ก็ถูกปล่อยออกมา โดยในช่วงนั้น คามิดาเตะมือกลองก็ลาออกจากวงพอดี ต่อมาได้มือกลองคนใหม่ มาสุฮิโระ โกโตะ (Masuhiro Goto) ซึ่งได้เข้ามาช่วยในการบันทึกเสียงอัลบั้มที่สามที่มีชื่อว่า “ราโชมอน (Rashōmon)” (1993) [ราโชมอน คือเรื่องสั้นของสุดยอดนักเขียนชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อาคุตางาวะ ที่ต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ผลงานการกำกับของ อาคิระ คุโรซาว่า” ] ต่อมาในช่วงปี 1995-1996 ก็ได้มีการเปลี่ยนมือกลองอีกครั้งเป็น อิวาโอะ สึชิยะ (Iwao Tsuchiya) และเปลี่ยนกลับมาเป็น โกโตะอีกครั้งยาวเลยจนกระทั่งปี  2003  จึงลาออกจากวงและได้มือกลองคนปัจจุบัน โนบุ นาคาจิมะ เข้ามาในปี 2004

สมาชิกชุดปัจจุบันของ Ningen Isu จากซ้าย : ลุงสุซุกิ , ลุงวาจิมะ และ ลุงโนบุ

ถึงแม้จะออกผลงานมานานแล้ว แต่ชื่อเสียงของ นินเง็น อิสุ ก็ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง อย่างวง L’Arc~en~Ciel , X-Japan หรือ Luna Sea ออกจะมาในเชิงอินดี้ๆเสียมากกว่า แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าวงกลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงไม่กี่ปีมานี้  แถมยังเคยไปเล่นคอนเสิร์ตในต่างประเทศอีกด้วย อย่างในปี 2013 ก็ได้ไปเล่นที่งาน Ozzfest ที่จัดขึ้นโดยขาร็อคตัวพ่ออย่าง ออสซี่ ออสบอร์น (Ozzy Osbourne) ซึ่งพวกเขารู้สึกตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นแฟนตัวยงของวง Black Sabbath อยู่แล้ว  [แนวคิดการตั้งชื่อวงก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Black Sabbath ที่ตั้งชื่อตามภาพยนตร์สยองขวัญของ Mario Bava ในปี 1963 ส่วน นินเง็น อิสุ ก็ตั้งชื่อตามเรื่องสั้นสยองขวัญของ เอโดงาวะ รัมโป]

และในปี 2017 พวกเขาก็ได้มีซิงเกิ้ลที่ไต่ไปถึงอันดับที่ 18 ในโอริกอนชาร์ต สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของวง นั่นคือซิงเกิ้ล “Ijigen kara no Hōkou”

เพลงของนินเง็น อิสุนั้นได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากวงฮาร์ดร็อคและเมทัลสุดคลาสสิคอย่าง Black Sabbath ,Led Zeppelin , Kiss, Budgie , King Crimson และวงอื่นๆในแนวนี้  ทำให้งานเพลงของวงเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของฮาร์คร็อคยุค 70 ที่เจือกลิ่นของร็อคแอนด์โรล สโตนเนอร์ ไซคีเดลิค โปรเกรสซีฟ และดูมเมทัล ซึ่งเราจะเห็นได้จากริฟฟ์กีตาร์อันดุเดือดในแบบของเฮฟวี่และสปีดเมทัล !!!

ฟังดูอาจจะนึกว่าเพลงของลุงๆเค้าฟังยาก แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเพลงของ นินเง็น อิสุ นั้นถึงแม้จะเป็นเพลงที่หนักหน่วงแต่กลับฟังง่ายและมีความไพเราะ

“ถึงแม้ซาวด์ของเรา จังหวะของเรามันอาจจะฟังดูยาก แต่มันกลับง่ายที่จะเข้าใจและมีท่อนฮุคที่ติดหู เราพยายามที่จะทำเพลงให้เป็นเช่นนั้น” ลุงวาจิมะกล่าว “ผมคิดว่ามันคงจะเจ๋งไม่น้อยเลยหากเราทำให้เพลงที่มันเล่นยากฟังแล้วดูง่าย”

ส่วนเนื้อหาในเพลงของ นินเง็น อิสุ มักเกี่ยวข้องกับวรรรกรรมคลาสสิคของญี่ปุ่นอาทิเช่น งานของ โอซามุ ดาไซ ริวโนะสุเกะ อาคุตางาวะ จุนอิชิโระ ทานิซากิ เป็นต้น และมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธ นรก จักรวาล และ การพนันขันต่อ วาจิมะและสุซุกิเป็นคนจังหวัดอาโอโมริจึงทำให้มีสำเนียงเหน่อๆแบบที่เรียกว่า “Tsugaru” ซึ่งทำให้เพลงของพวกมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างในอัลบั้ม “Kaidan: Soshite Shi to Eros” (“Ghost Stories: Death and Eroticism”) (2015) นินเง็น อิสุ ก็หยิบจับเอาเรื่องผีของญี่ปุ่นมาเล่าเพื่อสะท้อนความน่ากลัวของสังคมปัจจุบัน

“โลกเราในทุกวันนี้มันน่ากลัวมากๆ ผมเชื่อว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สูญหายไป หนึ่งในนั้นก็คือความงดงามตามแบบฉบับของญี่ปุ่น” ลุงวาจิมะ กล่าว

ส่วน “Soshite Shi to Eros (Death and Eroticism)” ที่ต่อจากคำว่า Kaidan ในชื่ออัลบั้มนั้น นำเสนอด้านทั้งสองของเหรียญแห่งชีวิตมนุษย์อันเป็นสิ่งที่เรามักไม่กล้าที่จะพูดถึงมันทั้งๆที่มันยึดโยงอยู่กับชีวิตเราอย่างเหนียวแน่นและเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต และสำหรับคนที่ชีวิตล่วงเข้าสู่วัยเลข 5 ความตายดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากเราเท่าใดนัก

“เหตุผลที่เราหยิบธีมเรื่องความตายมาชูขึ้นนั้นก็เป็นเพราะว่า เรารู้ว่าเรากำลังเข้าใกล้มันไปทุกขณะ และด้วยการคิดถึงความตาย มันจะทำให้คุณสนุกได้กับชีวิต”

ในทางตรงกันข้ามกับความตาย อัลบั้มนี้ได้พูดไปถึงแนวคิดเรื่อง “ความต้องการทางเพศ” ด้วย ซึ่งลุงวาจิมะได้มองมันเปรียบเทียบกับแก่นสารของศิลปะและชีวิต

“พวกเรามาอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะพลังทางเพศอันกระตุ้นการมีอยู่ของชีวิต ทั้งความตายและความต้องการทางเพศล้วนแล้วแต่มีระดับของความโศกเศร้าเคล้าอยู่ในมัน การที่เราได้พูดถึงมัน ผมหวังว่ามันจะทำให้ผู้คนครุ่นคิดถึงเรื่องชีวิตของตนเองมากขึ้น การพูดถึงความตายและความต้องการทางเพศจริงๆแล้วเหมือนเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ในดนตรีร็อคและศิลปะคุณามารถพูดถึงสิ่งเหล่านี้ได้” 

นี่คือตัวอย่างแนวคิดในงานเพลงจากหนึ่งอัลบั้มที่มีความลึกซึ้งและคมคายยิ่งนัก

ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับคุณลุงขาร็อคทั้งสามกันให้ชัดๆ พร้อมเอกลักษณ์สุดแนวเฉพาะตัว

คนแรก ชินจิ วาจิมะ  หรือ วาซซี่ (Wazzy) เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปี 1965 ปัจจุบันอายุ 54 ปี ตำแหน่ง ร้อง กีตาร์ แต่งเพลง และเขียนเนื้อเพลงหลัก

ลักษณะเด่นคือมักจะแต่งตัวตามแบบฉบับของปรมาจารย์นักเขียนแห่งยุคเมจิ

คนที่สอง เคนอิจิ สุซุกิ หรือ สุซุเคน เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1966 ปัจจุบันอายุ 53 ปี ตำแหน่ง เบส ร้อง แต่งเพลงและเขียนเนื้อ

ลักษณะเด่นคือ มักทาหน้าขาวและแต่งตัวดูราวกับเป็นพระญี่ปุ่น และชอบใส่ “Fundoshi” หรือกางเกงในแบบญี่ปุ่นโบราณที่เกิดจากการใช้ผืนผ้ามาพันมาห่อเป็นข้ามต้มมัดไว้โดยมักใส่ไว้ใต้กิโมโน  เมื่อตอนหนุ่มๆลุงสุซุเคนมักจะแต่งตัวเหมือน เนซุมิโอโตโกะ (Nezumiotoko) หรือมนุษย์หนูจากการ์ตูนเรื่อง “อสูรน้อยคิทาโร่ / Ge-Ge-Ge no Kitaro” โดย ชิเงรุ มิซุกิ (Shigeru Mizuki)

เนซุมิโอโตโกะ

 

อสูรน้อยคิทาโร่

ที่พี่เสือใส่อยู่นี่ล่ที่เรียกว่า “ฟุนโดชิ”

 

Play video

 

มาที่คนสุดท้าย โนบุ นาคาจิมะ หรือ โนบุ เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายนปี 1966 ปัจจุบันอายุ 53 ปี ตำแหน่ง กลอง ร้อง และเขียนเนื้อ

ลักษณะเด่นคือชอบใส่เสื้อมีลวดลายและสวมแว่นกันแดด ไว้ผมทรงรีเจ้นท์ดูแล้วเหมือนยากูซ่าสุดๆ

อย่างในเวลาเล่นคอนเสิร์ต ลุงวาซซี่กับลุงสุซุเคนก็จะใส่ชุดตามแบบสไตล์ของแกเลยคือทั้งเท่และมีความเป็นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน (น่าจะมีวงร็อคบ้านเราแต่งชุดไทยขึ้นเล่นคอนเสิร์ตและโยกหัวไปด้วยนะครับ ท่าจะมันมากๆเลย) ส่วนลุงโนบุนี่บางครั้งก็จะถอดเสื้อหวดกลองแบบป๋าโยชิกิเลย เดือดปุดๆเลยคร้าบ

 

Play video

 

Play video

 

ล่าสุดลุงๆเค้าเพิ่งปล่อย MV เพลงใหม่ Mujou no Scat (無情のスキャット; Heartless Scat) จากอัลบั้มใหม่ที่ชื่อว่า Shin Seinen (新青年; New Youth) ออกมา

Play video

ใครได้ดูแล้วคงรู้เลยว่าลุงเค้าระห่ำเดือดแค่ไหน เพลงมันสะใจมาก แถมยาวตั้ง 8 นาทีกว่า เป็นบทเพลงที่สกัดมาจากก้นบึ้งแห่งความเศร้าโศก ความเหงาและปวดร้าวใจ อันแฝงไว้ด้วยแนวคิดทางพระพุทธศาสนา  โดยนำเสนอผ่านบทสนทนากับเทพเจ้าและพระพุทธองค์

いずこか仏が御座すのなら
If a Buddha sits (in meditation) anywhere  / หากพระพุทธองค์ทรงสมาธิอยู่ ณ ที่แห่งใด 
私の元にもお慈悲をくれ
Give mercy to my soul as well / ทรงโปรดประทานความเมตตาแก่จิตวิญญาณของข้าด้วยเถิด
めぼしい物など何も待たず
Without waiting for some important thing / โดยปราศจากการรอคอยในสิ่งอันสำคัญทั้งหลาย 
侘しく 寂しく しくじり ばかりのこの私に
For me, a wretched lonely failure / สำหรับข้าผู้พ่ายแพ้ที่โดดเดี่ยวและน่าเวทนา 

満ち足りる日は来るだろうか
The day will come when we will be content, will it not? /  วันนั้นวันที่เราจะพอใจในชีวิต จะมาถึงใช่หรือไม่?
夢の叶う日あるだろうか
There will be a day when dreams come true, will there not? / จะมีวันที่ฝันเป็นจริง ใช่หรือไม่?
仏様
Buddha-sama / ท่านพระพุทธองค์ 

เห็นประวัติมายาวนานแบบนี้คงสงสัยล่ะสิ ว่านินเง็น อิสุ ออกผลงานมาแล้วกี่อัลบั้ม คำตอบก็คือ 21 อัลบั้มเต็มๆ !!!  นี่ถ้ารวมอัลบั้มใหม่ Shin Seinen (新青年; New Youth) ที่เพิ่งออกไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ ก็จะเป็น 22 อัลบั้มพอดี !!!  โหดมาก

อัลบั้มที่ 22 : Shin Seinen (New Youth)

กว่าจะมีวันนี้ เส้นทางสายดนตรีของลุงๆนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเต็มไปด้วยขวากหนามแห่งชีวิต ด้วยใจรักที่จะทำเพลงแม้ไม่ได้เงินมากนัก แต่ก็พยายามทำต่อไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกนินเง็น อิสุออกอัลบั้มกับค่ายใหญ่ได้ 4 อัลบั้ม แต่ต่อมาตัดสินใจออกมาอยู่กับสังกัดที่เล็กลงแต่มีอิสระมากขึ้นอย่าง Tokuma Japan Communications ที่อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อให้สามารถทำงานปกติเพื่อหาเลี้ยงชีพและทำเพลงไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน จนสามารถออกอัลบั้มได้อย่างสม่ำเสมอราว 2 อัลบั้มต่อ 3 ปี

“สำหรับผม วงนี้ทำให้เราทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง ทั้งได้เขียนเพลง แต่งเพลง เล่นกีตาร์และร้องเพลงเหล่านี้  มันทำให้เราได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองอย่างถึงที่สุด” ลุงวาจิมะ กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ยังเล่นดนตรีมาจนถึงทุกวันนี้

“ด้วยเหตุนี้ผมเลยรู้สึกชอบที่มันทำเงินน้อยกว่างานปกติของเรา ซึ่งการที่เราไม่โด่งดัง  บางครั้งมันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับทำมันฟรีๆ แต่รู้มั้ยว่ามันเยี่ยมมากเลยนะ การที่มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเงินทอง ถึงวงจะไม่มีเงินแต่พวกเราก็ได้ทำในสิ่งที่รัก ผมรู้สึกโชคดีที่ได้มีสิ่งนี้อยู่ในชีวิต มันเป็นที่ที่ทำให้คุณได้กลายเป็นตัวตนที่บริสุทธิ์”

น่าประทับใจและทำให้เราอยากติดตามให้กำลังใจลุงๆ “นินเง็น อิสุ” ทั้งสามไปตลอดเลย ซึ่งหากใครประทับใจในตัวตนและบทเพลงของนินเง็น อิสุก็สามารถตามไปฟังอัลบั้มเต็มชุดใหม่กันได้เลยนะครับ !!!  และอย่าลืมไปฟังอัลบั้มก่อนๆหน้านี้ของลุงๆเค้าด้วยนะครับ มีอีกตั้ง 21 อัลบั้ม (แต่รู้สึกว่าในสตรีมมิ่งจะมีประมาณ 15 อัลบั้ม แต่แค่นี้ก็เยอะแล้ว !!!)

อย่าให้เสียเวลาไปฟังกันเลยดีกว่าครับ !!!

Shin Seinen (新青年; New Youth)

Apple Music 

Spotify 

Source