[รีวิว] Midsommar: แรงจนต้องพกบัตรประชาชนไปชม
Our score
8.9

Midsommar

จุดเด่น

  1. ความสยองแนวลัทธิแนวพิธีความเชื่อ สร้างความอยากรู้อยากเห็นได้ตลอด
  2. ความแปลกใหม่ของพลอต และฉากหลังที่ไม่มีเวลากลางคืนติดต่อกันยาวนาน
  3. ภาพสมจริงมาก โดยเฉพาะพวกศพต่าง ๆ
  4. งานดีไซน์ที่น่าจดจำทั้ง ฉากศิลป์ ถ่ายภาพ เสียงดนตรี

จุดสังเกต

  1. หนังได้เรท ฉ.20 แรงสุด จึงมาครบทั้งภาพสยองโคตรรุนแรง และฉากเปลือยกายทำรักกัน
  2. ปูเรื่องนาน และมีความอืด ๆ ตามสไตล์ผู้กำกับ ต้องทนนิดหนึ่ง
  3. จุดเฉลยพอเดาได้ตั้งแต่กลาง ๆ เรื่อง
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    9.5

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.5

  • ความสนุก

    8.5

  • คุ้มเวลา+ค่าตั๋ว

    9.0

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ ดานี่ และ คริสเตียน คู่รักที่เดินทางมายังประเทศสวีเดนตามคำชักชวนของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ที่นั่นพวกเขาและเพื่อน ๆ วางแผนที่จะไปเที่ยวเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูร้อนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและร้างไร้ผู้คน เทศกาลนี้จะจัดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 90 ปี เป็นเวลา 9 วัน และเป็น 9 วันที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน แต่ยิ่งพวกเขาคลุกคลีอยู่กับดินแดนที่เหมือนจะสดใสแห่งนี้เท่าไร ก็ยิ่งค้นพบเรื่องราวสุดแปลกประหลาด และชวนขนหัวลุกขึ้นเรื่อย ๆ และกว่าจะรู้ตัวก็แทบจะสายเกินไป

Play video

ผู้กำกับจอมโหดผู้นำความสยองขวัญสั่นประสาทยุคใหม่อย่าง แอรี แอสเตอร์ จากหนังเขย่าตับไตไส้พุงผู้ชมอย่าง Hereditary ได้กลับมาพร้อมผลงานที่กลมกล่อมลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ โดยได้นำแนว Folk Horror หรือแนวสยองขวัญที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อของคติพื้นเมืองต่าง ๆ โดยเมื่อมาผูกกับความไม่คุ้นชินทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกับคติสากล ก็จะเป็นส่วนประสมสำคัญในหนังแนวสยองที่อาศัยความยากจะเข้าใจ ความน่าสงสัย ไม่น่าไว้วางใจ และเรื่อยไปจนถึงความขัดแย้งเชิงพฤติกรรมที่กระตุ้นคนธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งอื่น

โจทย์สำคัญนอกจากโฟล์ค หรือตำนานพื้นเมืองแล้ว ผู้กำกับแอรี แอสเตอร์ ยังตั้งความท้าทายสำคัญที่ว่าหนังสยองไม่จำเป็นต้องอาศัยความมืดและเวลาค่ำคืนในการหลอนหลอก แม้ความมืดจะเป็นสูตรตายตัวที่ใช้สำเร็จเสมอในหนังขนบนี้ เพราะเราทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์ร่วมในยามค่ำคืนที่กลัวต่อความไม่รู้ว่ามีสิ่งใดอยู่นอกแสงสว่างในบ้านออกไป หรือฉากมืด ๆ ที่เหมือนจะมีบางอย่างซ่อนอยู่และพร้อมจู่โจมออกมาหาตัวละคร จริงแล้วความมืดก็คือ กล่องปริศนา ที่นักเล่าเรื่องสยองขวัญสะดวกใจใช้งาน ทั้งสร้างความอยากรู้ และทำให้ตกใจไปในตัว แต่ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายการใช้งาน กล่องปริศนา ก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการมองไม่เห็นเท่านั้น แต่การมองเห็นที่ไม่เข้าใจก็สร้างประสบการณ์ขนหัวลุกได้มากเช่นกัน และนี่ก็คือการจับหัวใจของการเล่าความสยดสยองที่แอรี แอสเตอร์กลั่นกรองมาอย่างดี ว่าจะหลอกผู้ชมใต้แสงอาทิตย์สว่างสดใส ในบรรยากาศหมู่บ้านกลางหุบเขาที่สวยงามราวภาพวาดของศิลปิน โดยชวนให้นึกถึงงานระดับตำนานอย่าง Black Narcissus (1947) ที่คว้า 2 ออสการ์ และ The Wicker Man (1973) รวมถึงงานของโรมัน โปลันสกี ซึ่งล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่ผู้กำกับอ้างถึงในการสร้างหนังเรื่องนี้

ข้อดีที่ต้องสละไปเพื่อความท้าทายนี้ ก็คงเป็นบรรดาฉากหลอก ฉากหลอน ตามขนบหนังผี หรือฉากสยองแบบใน Hereditary เองนั้น ก็จะลดน้อยลงไปอย่างมาก เพราะการดีไซน์กลางคืนนั้นย่อมง่ายกว่ากลางวันอยู่แล้ว เรียกว่าเราจะได้ดูฉากที่หวือหวาจริง ๆ เพียงไม่กี่ฉาก แต่ก็เป็นไม่กี่ฉากที่คุณจะจำไปฝันร้ายได้เลยเช่นกัน ใครที่นิยมหนังผีสไตล์ เจมส์ วาน ก็อาจมองว่าไม่สาแก่ใจเอาเสียเลยล่ะนะ

และปัญหาสำคัญอีกอย่างของหนังที่เราเห็นชัดคือสไตล์การเล่าเฉพาะตัวของผู้กำกับ ที่เน้นการหล่อหลอมบรรยากาศขึ้นอย่างละเมียดเพื่อค่อย ๆ ให้เราอินกับสภาพการณ์ที่ตัวละครเผชิญ ซึ่งจังหวะการฟูมฟักนี้ มันอืดและเชื่องช้าเสียเหลือเกินสำหรับคอหนังฮอลลีวูด กว่าที่หนังจะมีอะไรให้เรารู้สึกว่ากำลังดูหนังสยองขวัญก็ปาเข้าไปค่อนเรื่องที่เข้าสู่หมู่บ้านลึกในสวีเดนนู่น และก่อนหน้านั้นก็ทำได้เพียงทนเฝ้ามองอิฐปูนที่ยังไม่ประกอบเป็นบ้าน อันใช้วัสดุที่เรียกว่าดราม่าที่แสนชืดเชยอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง ถึงชั่วโมงนั่นล่ะ ซึ่งถามว่าจำเป็นมั้ยก็คงจำเป็นล่ะ เพราะเราต้องผูกกับตัวละครกลุ่มนี้นำพาไปจนจบ และหากไม่ผ่านปูเรื่องตรงนี้ไปก็คงยากจะยอมรับการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างในภายหลัง ทว่าลีลาการเล่านั่นล่ะที่อาจมากไปจนเกินจำเป็น

ตรงนี้แอรี แอสเตอร์ ก็คงรู้ดีเขาจึงพยายามสร้างสรรค์ฉากปูเรื่องให้มีความอึนด้วยสถานการณ์ชวนประหลาดใจ ด้วยฉากสะเทือนขวัญที่ไม่คาดคิด และเขาก็รู้งานดีว่าแม้จะเดินทางสู่หมู่บ้านมันก็ไม่สามารถจู่โจมผู้ชมให้ติดตามได้ทันที จึงจำเป็นต้องใช้โพรดักชันดีไซน์ที่สวยงาม แปลกประหลาด และน่าติดตาม ราวกับเราได้ไปทัวร์วัฒนธรรมอันพรึงเพริศและน่าสนใจในต่างแดน ด้วยฝีมือการเนรมิตของ เฮนริก สเวนสัน  มาพยุงไว้ นอกจากนี้การดีไซน์ดนตรีประกอบ หรือเสียงต่าง ๆ ในหนัง ก็ยังเป็นรสปรุงพิเศษที่สร้างความน่าหวาดผวาและความเคลือบแคลงได้อย่างดี ต้องชมงานดีไซน์ในหนังจริง ๆ ที่เอาผู้ชมอยู่ ให้จดจ่อกับเรื่องได้ในโมงยามที่ไร้สิ่งเร้าทางเรื่องราว และบางครั้งตัวของประกอบฉากเองก็เล่าเรื่องได้มากกว่าด้วย โดยเฉพาะลวดลายภาพวาดทางความเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในผืนผ้านุ่ง ตามฝาบ้านฝาอาคาร ถ้าสังเกตให้ดีจะพบความพองขนขึ้นอีก และบางทีมันสะอิดสะเอียนมากกว่าภาพที่เห็นอย่างโจ่งแจ้งเสียด้วย ตรงนี้เลยยิ่งทำให้เราต้องจดจ่อกับภาพตรงหน้าอยู่ตลอด และถ้าคุณเชี่ยวชาญเรื่องราวตำนานนอร์สของฝั่งสแกนดิเนเวีย ก็บอกเลยว่ายิ่งโคตรได้เปรียบเข้าไปใหญ่ เพราะแอบใส่รายละเอียดไว้เยอะมาก

สำหรับการรับชมหนังเรื่องนี้ก็คงสรุปได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะคำถามที่ตั้งทดสอบความเป็นสังคมปกติของเราว่าหากถูกท้าทายด้วยคติบางอย่าง เราจะยอมรับความต่างได้มากน้อยเพียงใด เช่นว่าสังคมที่พ่อแม่ไม่ได้มีความสำคัญ หากทุกคนในสังคมถือเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันภายใต้คอมมูนเดียว ความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาจะมีค่าอันใด ซึ่งในส่วนของคำถามนี้ก็น่าสนใจ ดีไม่ดีจะน่าสนใจกว่าตัวหนังเสียด้วย แม้จะไม่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ แต่ทว่าโดยระหว่างบรรทัดที่หนังตั้งใจถามเราตลอดเวลานั้น มันทั้งรุนแรง เชือดเฉือนคตินิยมของเราอยู่ตลอด สุดท้ายขอบเขตของคุณงามความดี ศีลธรรม ตลอดจนการเปิดใจรับความต่างวัฒนธรรมมันมีอยู่จริงหรือไม่ นี่คือลิ่มไม้ใหญ่ที่ตอกเราจุกกลางใจแม้หนังจะได้ร่ำลาเราไปแล้วก็ตาม

สยองใต้แสงอาทิตย์กับ Midsommar ได้เพียงกดที่รูปสวย ๆ ซ่อนสยอง ด้านล่างเลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส