หนังเรื่องนี้พี่ดูระบบไหนดี  GEMINI MAN ในระบบ HFR 3D+
Our score
8.8

Gemini Man 3D+

จุดเด่น

  1. ภาพในระบบ 3D+ ทำให้ฉากแอ็คชันดูตื่นตาตื่นใจด้วยรายละเอียดความคมชัดที่มากขึ้น
  2. เห็นมิติภาพชัดเจนทุกเฟรม

จุดสังเกต

  1. ทำให้ฉากแอ็คชั่นต่อสู้ดูเหมือนภาพตอนซ้อม
  2. อาจต้องปรับสายตาตอนเริ่มต้นชม
  • เหมาะมั้ยกับ HFR3D+

    7.0

  • มิติภาพด้านลึก

    10.0

  • ภาพเด้งทะลุจอ

    8.0

  • ถอดแว่นมองภาพเบลอ

    10.0

  • ความปลอดภัยต่ออาการวิงเวียนศีรษะ

    9.0

ล่วงเข้ามาสู่เดือน พฤศจิกายน ก็ได้เวลาที่ค่ายพาราเมาต์จะปล่อยหนังไซไฟแอ็กชันที่มีดาราหนุ่มผิวสีขวัญใจคนไทยอย่าง วิล สมิธ ออกมาเรียกแขกด้วยพลอตสุดล้ำ เพราะคราวนี้เราจะไม่ได้ดูแค่ วิล สมิธ คนเดียว แต่ได้ดู วิล สมิธ วัยดึกซัดกับ วิล สมิธ วัยหนุ่ม ใน GEMINI MAN แถมคราวนี้ไม่ได้ฉายระบบธรรมดาอย่างเดียว แต่พร้อมยกระดับด้วยการฉายระบบ  3D+ หรือ ทรีดีพลัส ว่าแต่มันคืออะไร ก่อนจะให้คะแนนเราขอท้าวความกันก่อนนะครับ

ระบบ 3D+ ก็คือการทำหนังสามมิติโดยนำเทคโนโลยีการถ่ายทำแบบ  HIGH FRAME RATE  หรือ การถ่ายทำที่สูงกว่าปกติมาใช้ ซึ่งปกติหนังที่เราดูจะถูกถ่ายแบบ 24 เฟรมต่อวินาที คือใน 1 วินาทีเนี่ยจะมีภาพนิ่ง 24  ภาพเรียงต่อกันจนเราเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งหนังก็ถ่ายแบบนี้มาเป็น 100  ปีตั้งแต่ยุคที่หนังถ่ายด้วยฟิล์มเซลลูลอยด์แล้วนะครับ แต่ทีนี้พอวงการภาพยนตร์เข้าสู่ยุคดิจิทัล กฎเกณฑ์เดิม ๆ ก็เริ่มถูกท้าทายโดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี 3D หรือ 3 มิติ แต่ปัญหาคือการที่หนังที่ถ่ายมาด้วย 24 เฟรมเมื่อมาฉายแบบ 3D ปรากฎว่าการกะพริบของภาพที่ต้องตัดสลับระหว่างตาซ้าย ตาขวา เพื่อหลอกสมองเราให้เห็นภาพ 3มิติ  นูนออกมากลับเจอปัญหาภาพมืดลงบ้าง หรือ อาการสายตาอ่อนล้าจากการชมบ้าง เนื่องจากการกะพริบของภาพไปรบกวนการรับชมปกติของสายตา

จนกระทั่งปี 2012 ปีเตอร์ แจ็คสัน ได้แนะนำให้โลกรู้จักกับระบบถ่ายทำที่สูงกว่า 24 เฟรมต่อวินาทีครั้งแรกกับ The Hobbit An Unexpected Journey  โดยถ่ายทำด้วยจำนวนเฟรมมากกว่าเดิม  2  เท่าคือ  48 เฟรมต่อวินาที โดยตั้งชื่อว่า High Frame Rate หรือเรียกสั้น ๆ HFR ครับ ซึ่งผลปรากฎว่ามันให้ภาพเคลื่อนไหวนุ่มนวลและที่สำคัญคือภาพ 3D นอกจากภาพที่ทะลุจอชัดขึ้น ยังดูสว่างนวลตาและไม่ปวดล้าสายตาเหมือนเดิมเพียงแต่ใครที่ไม่คุ้นเคยก็จะมองว่ามันเหมือนดูทีวีรุ่นใหม่ ๆ หรือเหมือนเล่นเกมเพลย์สเตชันมากไปหน่อยเท่านั้นเองครับ

และหลังจากจบไตรภาค The Hobbit ไปในปี 2014  กว่าอังลีจะได้มาสานต่อระบบ HFR  ก็ปาเข้าไปปี 2016 เลยกับ Billy Lynn’s Long Halftime Walk ที่ท้าทายศักยภาพของระบบด้วยการถ่ายทำด้วยอัตรา 120 เฟรมต่อวินาทีด้วยความละเอียด 4K ในระบบ 3D แต่ผลลัพธ์กลับได้คำวิจารณ์ในแง่ลบเสียมากกว่า แถมเทคโนโลยี HFR ที่นำมาใช้ยังทำให้การแสดงดูประหลาดอีกด้วย แต่กระนั้นก็ใช่ว่า อังลี จะยอมแพ้เพราะปีนี้เขากลับมาถ่ายทำด้วยระบบ HFR3D อีกครั้งแถมยังขนานนามระบบเสียสวยหรูว่า 3D+ หรือทรีดีพลัส แต่เอ๊ะ…ระบบนี้จะถูกใจคอหนังหรือไม่ หนังเรื่องนี้พี่ดูระบบไหนดี รีวิวแบบงานละเอียดให้เลย…

Play video

เหมาะมั้ยกับระบบ 3D+

ภาพข้อมูลเทคนิคจากเว็บไซต์ IMDB

จากข้อมูลด้านเทคนิคของหนังทำให้เห็นว่า อังลี และ ดิออน เบบี ผู้กำกับภาพตั้งใจถ่ายแบบ HFR 3D+ ตั้งแต่ต้นแถมยังเป็น 120 เฟรมแบบ 4K ทั้งกล้อง Alexa SXT-M และ Phantom Flex 4K และเอาจริง ๆ ด้วยพลอตมันคือหนังแอ็กชันไซไฟเชย ๆ เรื่องนึงเลยล่ะ แต่ด้วยความโอเวอร์ของฉากแอ็กชันนี่แหละเลยทำให้หนังเหมาะมากกับการดูแบบ 3D+ เพราะมันทำให้เรารู้สึกเหมือนใกล้ชิดกับตัวละครเสมือนเดินตามตัวละครแล้วเห็นคนยิงกันอุตลุตเลย ซึ่งการถ่ายภาพด้วยอัตราความเร็ว 120 เฟรมต่อวินาทีทำให้ภาพสามารถจับทุกความเคลื่อนไหวได้คมชัดมาก ๆ ซึ่งข้อดีก็คือทำให้การเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ในฉากแอ็กชันอย่างซีนไล่ล่าที่คาตาเฮเนีย โคลอมเบีย หรือ ฉากในสุสานใต้ดินที่ฮังการี เราจะเห็นรายละเอียดได้ดี ภาพไม่มืด แต่ข้อเสียสำคัญคือมันก็ชัดเกินไปนั่นแหละ แถมไอ้การเคลื่อนไหวแบบสมูธ ๆ ยังให้คงให้ความรู้สึกเหมือนดูทีวียังไงยังงั้น ยิ่งฉากแอ็กชันเตะต่อยกลับทำให้เหมือนเห็นตัวละครซ้อมคิวบู๊กันมากกว่าจะดูรวดเร็ว สมจริง เหมือนระบบปกติที่เป็นแบบ 24 เฟรมต่อวินาที ซึ่งผิดกับช็อตที่ถ่ายจากใต้น้ำแล้วเห็นศพค่อย ๆ ถูกทิ้งจากผิวน้ำ และซีนแอ็กชันสุดท้ายที่มีการยิงปืนกลจนเห็นเป็นลำแสง ที่พอชมในระบบ HFR3D+ ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความแปลกใหม่ของงานภาพแบบ HFR แต่เหนืออื่นใดทั้งหมดเหตุผลที่แม้การฉายแบบ 3D+จะให้ความตื่นตาตื่นใจของฉากแอ็กชันแค่ไหนแต่จุดหนึ่งที่ต้องรู้ไว้คือ เมืองไทยยังไม่มีเครื่องฉายที่สามารถฉายแบบ 120 เฟรมต่อวินาทีระบบเดียวกับการถ่ายทำได้แต่จะฉายแบบ 60 เฟรมต่อวินาทีแทนซึ่งผลลัพธ์คือภาพจะมีการกะพริบเล็กน้อยดูแล้วไม่รู้สึกมาก แต่ก็ไม่ได้ฉายในระบบเดียวกับตอนถ่ายอยู่ดี ดังนั้นข้อนี้เลยขอให้คะแนนที่ 7 คะแนนแล้วกัน

 

มิติภาพด้านลึก

แม้ซีนในสุสานใต้ดินจะมืดแค่ไหน ก็ยังเห็นรายละเอียดเห็นมิติภาพชัดเจนอยู่ดี

ข้อนี้อวยได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า ทำได้ดีมาก เพราะในขณะที่หนังเรื่องอื่นเลือกถ่ายแบบชัดตื้นเพื่อให้ตัวละครเหลื่อมกับฉากด้านหลังชัดเจน แต่ GEMINI MAN  ภาพถ่ายมาแทบจะชัดลึกทั้งเรื่องทำให้เห็นรายละเอียดฉากหลังชัดเจน โดยเฉพาะฉากในสุสานใต้ดินที่ฮังการีที่ต้องยอมรับว่าด้วยการฉายแบบ HFR ต่อให้ภาพเคลื่อนไหวเร็วแค่ไหน แต่รายละเอียดโครงกระดูก หัวกระโหลก ยังชัดตลอดต่อให้แสงน้อยแค่ไหนก็ตาม และในซีนที่เป็นฉากกลางวัน เรายังเห็นมิติของภาพในทุกขนาดภาพทุกเฟรมได้มิติสวยงามมาก ดังนั้นจุดนี้ให้ 10 คะแนนเลย

 

ภาพเด้งแค่ไหน

ฉากแอ็กชันตื่นตาขึ้นในระบบ 3D+

ต้องบอกก่อนว่างานภาพใน GEMINI MAN ไม่ได้เน้นขว้างปา หรือ มีอะไรกระเด็นทะลุจอมากนัก จะมีเพียงฉากปะทะกันครั้งแรกของสองวิล สมิธ ที่คาตาเฮนา โคลอมเบีย ที่มีการใช้ระเบิดแล้วเห็นเศษไม้กระเด็นออกมาบ้างแต่ก็ไม่เยอะ แต่กระนั้นด้วยมิติของภาพที่ดีมาก ๆ เราก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่าเหมือนตัวละครได้มีพื้นที่เหลื่อมออกมานอกจอ หรือ ฉากแอ็คชันเองก็มีมิติที่ไม่ได้แบนเหมือนหนัง 3D คุณภาพต่ำสมัยก่อน ดังนั้นต่อให้ไม่มีอะไรเด้งมานอกจอชัดเจนก็ยังรู้สึกได้ถึงความนูนออกมาอยู่ดี ดังนั้นข้อนี้ขอให้คะแนนที่ 8 คะแนนแล้วกัน

 

ถอดแว่นมองภาพเบลอ

เพราะหนัง 3D แท้ ๆ เมื่อถอดแว่นภาพต้องเบลอ

ในการชมผมจะถอดแว่นทุกฉาก ฉากละ  2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อยและผลลัพธ์ของการชม GEMINI MAN 3D+ ก็น่าพึงพอใจสมกับที่หนังถ่ายทำมาแบบ 3D แท้ ๆ เพราะเมื่อถอดแว่นจะเห็นภาพเบลอสนิททุกเฟรมจริง ๆ ก็นับได้ว่ายังไงข้อนี้ก็ต้องให้ 10 คะแนนเต็มล่ะนะ

 

ความปลอดภัยต่ออาการเวียนศีรษะ

ด้วยระบบการถ่ายทำแบบ HFR 3D+ ทำให้การดูหนังสามมิติง่ายขึ้นเยอะ

แม้ระบบ HFR3D+ จะทำได้จริงในแง่ของการลดอาการล้าของสายตาในการดูหนังสามมิติ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือในระยะแรกของการชม สายตาอาจต้องการการปรับให้รับกับความเร็วภาพที่มากกว่าปกตินิดนึง ดังนั้นเพื่อให้ดูหนังได้อย่างราบรื่นเราแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ และจ้องจอมือถือหรือทีวีให้น้อยที่สุดก่อนเข้าโรง แต่เห็นเตือนแบบนี้อย่าเพิ่งกลัวว่าหนังแอ็กชันที่ฉากเคลื่อนไหวเร็ว ๆ เรื่องนี้จะทำร้ายสายตาหรือทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะนะครับ เพราะอย่างที่บอก การถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วที่มากขึ้นย่อมจับภาพที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้ชัดเจนทุกเฟรมและปรับให้สายตาเรารับภาพที่ความเร็วสูง ๆ ได้ลื่นไหลขึ้น และยิ่งฉายด้วยความเร็วเฟรมต่อวินาทีสูงเท่าไหร่ก็ย่อมชดเชยเฟรมที่ตกไประหว่างการสลับปิดภาพบนแว่นด้านซ้าย-ขวาได้ดีเท่านั้น ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องสุขภาพเราก็ให้ไปเลย 9 คะแนน

สรุปควรดูไม่ควรดูเนี่ย

ราคาบัตรชมภาพยนตร์ในระบบ HFR3D+ แต่ละสาขา

ความจริงการดูหนัง 3D ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว แต่สำหรับ  GEMINIMAN 3D+  ต้องบอกว่ามันจะให้ประสบการณ์การชมภาพยนตร์ 3D ที่ท้าทายกับความคุ้นเคยของสายตาคนดู ซึ่งแน่นอนว่ามันจะสูญเสียความเป็นภาพยนตร์ในแบบที่เราคุ้นเคยแต่จะใกล้เคียงกับภาพจากเกมเพลย์สเตชัน4 ที่ดูลื่นไหลจนเป็นวีดีโอมากกว่า ซึ่งหากให้สรุปอย่างเป็นกลางที่สุด เอาเป็นว่าถ้าใครอยู่ใกล้สาขาไหนที่สามารถฉายแบบ HFR3D+ ก็แนะนำให้ลองประสบการณ์ใหม่นี้ดู ซึ่งจากที่ผมสุ่มเช็กราคาจากแอป Major Super App ก็พบว่าสาขาที่ฉายในระบบ 3D+ ได้แก่ พารากอน, ไอคอนสยาม, เมกาบางนา, พาราไดซ์, ซีคอนสแควร์ ก็พบว่าราคาเท่ากับตั๋วหนังปกติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าต้องซื้อแว่นสามมิติเพิ่มในกรณีที่ไม่เคยซื้อติดตัวไว้ แต่ถ้ามันลำบากขนาดต้องนั่งรถข้ามจังหวัดมาดูในกรุงเทพมหานคร เราไม่แนะนำเท่าไหร่ยกเว้นแต่ว่าจะอยากลองเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นประสบการณ์จริง ๆ แต่อย่างที่บอกไปว่า เมืองไทยจะฉาย  HFR3D+ ได้ที่ 60 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส