[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน
Our score
6.8

The Cave นางนอน

จุดเด่น

  1. รายละเอียดจากเรื่องจริงเก็บมาเล่าได้เยอะดีในเวลาที่จำกัด
  2. มีใช้คนจริงในเหตุการณ์มาร่วมแสดงเยอะมาก ให้เกียรติฮีโรตัวจริงสุด ๆ
  3. ภาพสวยดนตรีเด่น โพรดักชันใหญ่มากแทบจำลองเหตุการณ์จริงมาอีกรอบเลย
  4. การเสียดสีราชการไทยมีความน่าจดจำ

จุดสังเกต

  1. เล่นแข็งกันเยอะ หลายคนทำเอาไม่อินหนังไปเลย
  2. ให้เวลาแต่ละส่วนน้อย ไม่ทันได้รู้สึกกับตัวละครไหนสักตัวเลย
  3. การเล่าตัดต่อบางช่วงมีความงง ๆ แผนการช่วยเหลือก็ไม่ชัดมาก
  4. เอาดารารุ่นใหญ่มาใช้แบบเสียของมาก
  • ความสมบูรณ์ของบท

    7.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.5

  • คุณภาพนักแสดง

    5.0

  • ความสนุกน่าติดตาม

    7.0

  • คุ้มเวลา ค่าตั๋ว

    6.5

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ สร้างจากเหตุการณ์จริง “ภารกิจถ้ำหลวง” บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนผ่านมุมมองของอาสาสมัครที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายของหมูป่าทั้งสิบสามคน ความเสียสละและความมุ่งมั่นของพวกเขา เพียงเพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 คนให้รอดปลอดภัยไม่ว่าจะอันตรายเพียงใดก็ตาม

Play video

ปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้วในนาม ภารกิจช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวหลายต่อหลายชิ้น ทั้งรูปแบบสารคดี ที่ทั้งช่องโทรทัศน์ทั้งไทยทั้งเทศต่างแย่งกันนำเสนอ ตลอดจนฉบับภาพยนตร์บันเทิง (Fiction Film) ที่ค่ายต่าง ๆ รุมล้อมแย่งกันซื้อสิทธิ์ถ่ายทำจนในที่สุดก็มี 2 ค่ายสำคัญที่จะสร้างหนังจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือมินิซีรีส์โดยเน็ตฟลิกซ์ที่เป็นเจ้าใหญ่ที่ดีลผ่านทางรัฐบาลไทย และอีกฉบับคือหนังยาวฉบับของผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช นาม ทอม วอลเลอร์ (Tom Waller) ผู้เคยทำหนังอย่าง ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murderer (2011) และ เพชฌฆาต The Last Executioner (2014) ไปล่ารางวัลมาหลายเวทีในระดับนานาชาติ ก็ล้วนถูกจับตามองไม่แพ้กัน ด้วยความเป็นหนังที่ลงมือถ่ายทำฉับไวจากการเก็บเรื่องราวโดย แคทรินา กรอส (Katrina Grose) กับ ดอน ลินเดอร์ (Don Linder) สองนักเขียนบทที่เคยร่วมงานกับวอลเลอร์ในเพชฌฆาตมาแล้ว และหนังเรื่องนี้ก็จะออกฉายแซงหน้าฉบับของเน็ตฟลิกซ์เป็นเจ้าแรกของโลกด้วย

The Cave นางนอน

ผกก. ทอม วอลเลอร์ (ขวา)

ซึ่งการทำงานเก็บข้อมูลของทีมสร้างนั้นก็ถือว่ารอบด้านหลากหลายมุมทีเดียว ทั้งมุมข้าราชการไทย มุมชาวต่างชาติที่พยายามเข้ามาช่วย ชาวบ้านที่ยอมเสียสละที่นาให้น้ำขัง ตลอดจนคนไทยที่เดินทางมาแสนไกลเพื่อช่วยเหลือแม้โดนกีดกันก็ตาม น่าเสียดายเพียงว่าด้วยตัวเรื่องที่มีรายละเอียดบุคคลและเหตุการณ์เยอะมาก ๆ หนังจึงได้แต่จับนิดดึงหน่อยมาประกอบ ๆ เพื่อเล่า และทำให้สัดส่วนของแง่ลึกของตัวละครนำทั้งนักประดาน้ำที่เข้าไปช่วย หรือเหล่าเด็ก ๆ ที่ติดในถ้ำหลวงนั้น ออกจะผิวเผินไปสักหน่อย ยากที่จะทำให้คนดูอินเอาใจช่วยได้ และเหตุการณ์จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างกรณีจ่าแซมก็ไม่คุ้มแก่เวลาที่เล่าเลยเพราะทำคนดูรู้สึกน้อยมาก จริง ๆ มันก็ลำบากกับการเล่าเรื่องที่คนดูรู้ดีอยู่แล้วทั้งอารมณ์ร่วมและรายละเอียดรายวันในช่วงเหตุการณ์จริงก่อนหน้านี้ แต่หนังมีเวลาจำกัดและผู้สร้างก็เลือกตัดตอนมาเล่าได้ไม่ดีพอเลยยิ่งไปกันใหญ่

The Cave นางนอน

ปัญหาใหญ่ของหนังที่ต้องพูดถึงอีกอย่างคือ แม้จะได้ตัวจริงเสียงจริงหลากหลายคนมาร่วมแสดงทั้ง จิม วอร์นีย์ (Jim Warny) ซึ่งเป็นนักดำน้ำชาวเบลเยียม เอริก บราวน์ (Erik Brown) ครูสอนดำน้ำชาวแคนาดา ถันเซี่ยวหลง (Tan Xiaolong) ครูสอนดำน้ำในถ้ำชาวจีน มิกโก พาซี (Mikko Paasi) นักดำน้ำชาวฟินแลนด์ และ นภดล นิยมค้า ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของเครื่องสูบน้ำพญานาคจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ร่วมปฏิบัติการจริงมาแสดงเป็นตัวเอง และได้ แม่ครูจำปา แสนพรม จากกลุ่มสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาตัวจริงมาร่วมถ่ายทอดจิตวิญญาณชาวเจียงฮายในฐานะชาวบ้านที่ยอมสละที่นาให้ระบายน้ำจากถ้ำ ในด้านดีคือเราได้สัมผัสฮีโรตัวจริงมาปรากฏบนแผ่นฟิล์มทำให้คนที่รู้จักเรื่องราวดีติดตามใกล้ชิดรู้สึกถึงความสมจริง แต่ในแง่ร้ายของดาบสองคมนี้กลับเด่นชัดกว่าเพราะเมื่อไม่ใช้นักแสดงอาชีพมาเล่น ก็ต้องยอมรับในขีดจำกัดการสื่อสารของตัวละครว่าคงจะเล่นอารมณ์ให้เข้าถึงหัวใจคนดูได้ยาก แน่นอนมีบางคนสอบผ่าน บางคนพอถูไถ และบางคนไม่อาจเล่นได้เลย แต่ทีมสร้างก็ดันทุรังผลักบุคคลตัวจริงเหล่านี้ให้ยิ่งมีบทเด่นบทนำเข้าไปอีก ทำให้กระแสการเล่าเรื่องที่เบาบางอยุ่แล้วยิ่งจืดจางทางอารมณ์เข้าไปอีกอย่างน่าเสียดาย

The Cave นางนอน

(ซ้าย) มิกโก พาซี (ขวา) จิม วอร์นีย์ ตัวจริงเสียงจริงร่วมแสดงเป็นตัวเอง

ด้านนักแสดงมืออาชีพชาวไทยก็มาร่วมโชว์ฝีไม้ลายมือกันทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่อย่าง เบสต์ เอกวัฒน์ นิวัฒน์วรปัญญา ในบทสำคัญ โค้ชเอก ก็ถือว่าพอมีฉากให้โชว์นิดหน่อย แต่อย่างว่าเพราะหนังไม่ได้เปิดโอกาสให้บทนี้จริงจังก็เลยจบไปแค่นั้น ส่วนดาราที่ไม่รู้เชิญมาทำร้ายทำไมนั้นก็คงต้องยกให้ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ที่มีฉากปรากฏตัวอยู่ 2-3 วินาที ในบทข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สักคนที่เข้าพื้นที่ในวันแรก ๆ ซึ่งหลังจากนั้นหนังก็ไม่กล่าวถึงอีกเลย เรียกว่าเสียของสุด ๆ พอมองในแง่นักแสดงแบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้กำกับเลือกแนวทางสายสารคดีมาผสมแนวเรื่องแต่ง แต่ก็กลับถูกวิสัยทัศน์ตัวเองทำลายงานตัวเองเสียฉิบ อาจเพราะชั่งจุดดีจุดเสียของการใช้ดาบสองคมนี้ไม่ขาดด้วย

The Cave นางนอน

สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับหนังเรื่องนี้ก็มีหลายส่วนเช่นกัน ทั้งการถ่ายภาพที่สมจริงแบบแฮนด์เฮลด์ราวหนังสารคดี ดั่งผู้ชมได้เข้าไปยืนไปคลุกวงในภารกิจอย่างใกล้ชิด มีการดีไซน์มุมกล้องที่น่าสนใจหลายครั้งและเหมาะสมกับฉากที่นำเสนอทั้งฉากการดำน้ำ ฉากเปลลำเลียงที่ถูกส่งออกไป และฉากโดรนต่าง ๆ ที่สวยงามแปลกตามาก ด้านเพลงเองก็มีการใช้แนวดนตรีไทยประยุกต์ได้อย่างหวนให้เข้าบรรยากาศแห่งการโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง เรียกว่าเพลงไทยขึ้นมาทีไรเป็นได้เด่นเข้าหูเสียทุกครั้งทีเดียว

และไม้เด็ดที่หนังทำออกมาได้เกือบดีมาก ๆ คือการแอบไปเสียดสีระบบราชการไทยที่ทุกคนรู้ดีทั้งขั้นตอนซับซ้อนเชื่องช้า ลำดับการให้ความสำคัญที่ดูไม่เข้าท่าไร้เหตุผลอยู่พอสมควร ประเด็นนี้หนังเอามาขยี้หลายครั้งทั้งผ่านสายตาอาสาสมัครชาวไทยเองและต่างชาติด้วย (ลองดูในคลิปด้านล่างนี้นะ) โดยเฉพาะฉากของลุงนายกนี่ไม่รู้ว่าจงใจขนาดไหนแต่ดูจะมีอิมแพกต์ต่อคนดูได้มากทีเดียวทั้งผู้ชมชาวไทยและต่างชาติที่มาดูรอบสื่อ ไม่น่าเชื่อว่าลุงตู่ของเราเป็นคาแรกเตอร์ที่สื่อสารได้ในระดับสากลทีเดียว เป็นฉากที่น่าจดจำมากที่สุดฉากหนึ่งในหนังเลยล่ะ มาดูฉากนี้ฉากเดียวก็คุ้มนะ 555

Play video

สรุป ก็เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกร่วมน้อยเหมือนดูสารคดีเหมือนดูข่าวที่จำลองเหตุการณ์ตามคำบอกเล่ามาตัดสลับรัดรวบย่อให้อยู่ในเวลาชั่วโมงครึ่งเสียมากกว่า พอดูได้แต่ให้ดีรอดูมินิซีรีส์ยาว ๆ กว่านี้น่าจะอินกว่า

นางนอน หรือจะสู้นอนดูหนังสนุก ๆ เลือกที่นั่งสบาย ๆ ก่อนใคร กดที่รูปด้านล่างได้เลย

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส