เราคงมิอาจปฏิเสธ (หรือไม่อยากปฏิเสธ) ว่าซิลลี่ ฟูลส์ (Silly Fools) คือหนึ่งในวงร็อกระดับตำนานของวงการดนตรีไทย ผู้มีงานเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และไม่เคยล้าสมัยไปตามกาลเวลา เรื่องราวของซิลลี่ ฟูลส์ยังคงเป็นที่สนใจของนักฟังชาวไทยเสมอมา และบทเพลงของซิลลี่ ฟูลส์ก็ถูกเปิดเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีวันสร่างซา บทความนี้คือการรวบรวมประวัติวงซิลลี่ ฟูลส์อย่างละเอียดและพยายามเติมเต็มในทุกรอยต่อของเรื่องราว คุณจะได้พบกับเรื่องราวการเดินทางอันนาวนานของวงดนตรีวงนี้ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย ราวกับชีวิตของพวกเขาคือบทเพลงบทหนึ่งหรือภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจเรื่องหนึ่งที่มีหลากรสชาติและจะสร้างความประทับใจให้กับเราแบบไม่รู้ลืม

(บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก Season 2 Ep 3 EP.3 “ต้น”และ“หรั่ง” กับเส้นทางที่ไม่ง่ายของวงดนตรีที่มีชื่อว่า “Silly Fools” และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ )

Play video

วง “ซิลลี่ ฟูลส์” (Silly Fools)  แต่เดิมมีชื่อว่า ซิลลี่ ฟูลลิช (Silly Foolish) แต่ด้วยชื่อที่ฟังดูยาวไป จึงตัดทอนลงมาเป็นซิลลี่ ฟูลส์ ความหมายของชื่อวงเป็นการเล่นกับคำว่า “โง่”  โดยคำว่า “Silly” เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า “โง่เขลา หรือ ไร้สาระ” ส่วนคำว่า “Fool” นั้นเป็นคำนามแปลว่า “คนโง่” พอเติม s เข้าไปกลายเป็น Silly Fools จึงหมายความว่า “คนโง่กลุ่มหนึ่ง” นั่นเอง (ซึ่งชื่อเดิมคำว่า Foolish เป็นคำคุณศัพท์แปลว่าโง่เขลาจึงทำให้ซ้ำความหมายกับ Silly แถม Silly Foolish เป็นคำคุณศัพท์ซ้อนกันสองคำโดยไม่มีคำนามมารับจึงทำให้ผิดไวยากรณ์ด้วย เพราะฉะนั้นชื่อ Silly Fools นี้ถือว่าดีแล้ว)

สมาชิกยุคแรกเริ่มของวงนั้นมีกันอยู่ 4 คนได้แก่ ต้น จักรินทร์ จูประเสริฐ (กีตาร์) เต้ย กอบภพ ใบแย้ม (กลอง) สองสมาชิกผู้ริเริ่มตั้งวง หรั่ง เทวฤทธิ์ ศรีสุข (เบส) และ สมาชิกคนสุดท้ายผู้เข้ามาหลังสุด โต ณัฐพล พุทธภาวนา (ร้องนำ)  (ปัจจุบันโตเปลี่ยนชื่อเป็น วีรชน ศรัทธายิ่ง)

พ.ศ. 2539 “EP”

ในตอนนั้นผลงานเพลง EP ชุดแรกของซิลลี่ ฟูลส์ถูกวางจำหน่ายในรูปแบบของการ “ทดสอบความนิยม” โดยค่าย Bakery Music โดยตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 แผ่น หากยอดไม่ถึงเป้า วงจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด

EP ชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งในโพรเจกต์ Bakery Sampler ซึ่งมีศิลปินร่วมโพรเจกต์อีกสองวง คือวงวิเศษนิยมกับวงสโตนโซล ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็น “อัลบั้มทดลองขาย” ทั้งนั้น ผลสุดท้ายปรากฏว่ายอดขายอัลบั้ม EP ของซิลลี่ ฟูลส์นั้นไม่เข้าเป้าที่วางไว้ จึงทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ไม่ได้เซ็นสัญญากับทางค่าย Bakery Music

ด้วยแนวดนตรีที่มีรากมาจากเมทัลอันดุเดือดดิบและการร้องคำรามสำรอกที่ฟังไม่รู้เรื่อง จึงทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ในวันนั้นยังมีฐานแฟนเพลงที่น้อยนิด และต้องพบกับประสบการณ์ชวนชีช้ำมากมายอาทิ การโดนเขวี้ยงไม้กลองกลับคืนมาหลังจากโยนลงไปให้แฟนเพลงที่ด้านล่างเวที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วงต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง จากที่เคยคิดว่าพวกแฟนเพลงนั้น “ไม่เข้าใจในศิลปะ” และยึดมั่นในอัตตาของตนอย่างเหนียวแน่น จนทำให้รู้สึกเริ่มไม่มีความสุขกับการเล่นดนตรี

“ยิ่งคนดูไม่มีความสุขกับเพลงเรามากเท่าไหน เรายิ่งรู้สึกไม่มีความสุขมากกว่าอีก”

นั่นคือห้วงคิดที่ทำให้วงเริ่มหันกลับมาหาแฟนเพลงและมุ่งเป้าเพื่อทำให้แฟนเพลงมีความสุขกับเพลงของพวกเขา ซึ่งในท้ายที่สุดความสุขก็จะคืนกลับมาที่พวกเขาเช่นกัน หลายสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเช่นต้นที่เคยเข้าใจว่าการโซโลกีตาร์เร็ว ๆ นั้นจะทำให้สาวกรี๊ด ก็มาเข้าใจในที่สุดว่าการโซโลช้า ๆ แต่เข้าถึงใจนั้นสำคัญกว่าเป็นไหน ๆ พวกเขากำลังจะเปลี่ยนจากการเล่น “แนวดนตรีที่ไม่ตอบสนองใครนอกจากตัวเอง” จนถูกเมินเป็น “ยิ่งกว่าฝุ่นผง” ขนาดตั้งโต๊ะแจกลายเซ็นก็ไม่มีใครมาเซ็น ก่อเกิดเป็นความรู้สึกพ่ายแพ้และยิ่งมองตนเองเป็นคน “ขี้แพ้” เมื่อเอาตนไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จนความเจ็บปวดนี้เกือบนำพามาซึ่งจุดจบของวงแล้ว

แต่ถึงแม้อัลบั้ม EP จะมียอดขายที่ไม่ดีนัก และยังไม่สามารถสร้างฐานแฟนเพลงได้ในวันนั้น แต่ในทุกวันนี้อัลบั้มนี้คือหนึ่งอัลบั้มหายากที่แฟนเพลงตามหามากที่สุด และงานเพลงในอัลบั้มก็ยังถูกกล่าวขานถึงด้วยความเลื่อมใสและชื่นชม ยกตัวอย่างเช่นบทเพลง “รอยยิ้ม” ที่มีสองภาคคือ ภาคปฏิบัติ และทฤษฎี โดยทั้งสองภาคมีเนื้อหาเหมือนกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียดของดนตรีที่ภาคทฤษฎีจะมีการเรียบเรียงให้เป็นดนตรีร็อกกลิ่นโปรเกรสซีฟที่เข้มข้น มีสัดส่วนรายละเอียดของดนตรีที่มีลูกเล่นน่าสนใจและชวนตื่นใจเมื่อได้ฟัง รวมไปถึงสไตล์การร้องของโตที่เป็นเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น แปลกใหม่และน่าประทับใจ ส่วนภาคปฏิบัติจะมีบรรยากาศของความล่องลอย มีการผสานซาวด์อิเล็กทรอนิก ลดรายละเอียดของกลองลง ส่วนเบสก็ยังดุ่มเดินหนักแน่นไปตามท่วงทำนอง หากแต่ไม่ได้ขับเน้นออกมาให้พุ่งเด่น ส่วนกีตาร์ก็ทำหน้าที่เป็นตัวดำเนินคอร์ดเป็นฐานของเพลงและลดรายละเอียดลูกเล่นต่าง ๆ ลงไปแต่เติมเสริมซาวด์ที่สร้างบรรยากาศฟุ้งฝัน ล่องลอยเข้ามาผสานไปกับเสียงร้องของโตที่ภาคนี้ฟังออกมาได้ชัดเจน แม้กระทั่งเสียงสูดลมก่อนออกเสียงแต่ละวรรคแต่ละตอนซึ่งได้อารมณ์มาก มอบบรรยากาศและรสชาติที่แปลกต่างออกไปจากภาคทฤษฎี

Play video

Play video

 

พ.ศ. 2541 “I.Q.180”

หลังจากพลาดหวังจากการเซ็นสัญญากับทางค่าย Bakery Music ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ต้อง “เคว้ง” และแยกย้ายกันไปทำงานหาเลี้ยงชีพ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี จน พี่ป้อม อัสนี โชติกุล ได้เปิดค่ายมอร์มิวสิค ในเครือของแกรมมี่ ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์เริ่มมองเห็นแสงแห่งความหวัง จึงได้นำเอาเดโมเพลงที่ต่อมาได้กลายเป็นอัลบั้ม  “I.Q.180” ไปเสนอ

 

“ยินดีต้อนรับสู่มอร์มิวสิค”

 

ราวกับเสียงสวรรค์ หลังจากที่พี่ป้อมได้ฟังเพียงไม่นานก็ตกลงตอบรับซิลลี่ ฟูลส์เข้าสู่การเป็นศิลปินในสังกัดมอร์มิวสิค และเซ็นสัญญาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัวครั้งแรกและวางจำหน่ายอัลบั้มชุดแรกอย่างเป็นทางการ “I.Q.180” อัลบั้มเต็มชุดแรกของวงที่ทำให้เราได้รู้จักกับเพลงฮิตอันเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ของซิลลี่ ฟูลส์อย่าง “เมื่อรักฉันเกิด” และ “สู้ไม่ได้” (ที่มีการร้องเร็วรัวลิ้นในท่อนหนึ่งซึ่งจะทำให้เพลง “ก่อนฤดูฝน” ของ The Toys ต้องสะท้าน) โดยอัลบั้มชุดนี้มียอดขาย 40,000 แผ่น ซึ่งถือว่าเยอะกว่าตอน EP มากนัก แต่ก็ยังนับว่าน้อยมากหากเทียบกับอัลบั้มอื่น ๆ ในแกรมมี่ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในยุคนั้น อีกทั้งยังมีงานแสดงแค่ 4 โชว์ในหนึ่งปี แถม 2 ใน 4 โชว์นี้ยังเป็นงานฟรีอีกต่างหาก

“I.Q.180” เป็นอัลบั้มแรกที่ซิลลี่ ฟูลส์เริ่มมีเพลงช้า ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาได้นิยามว่ามันคือ “เพลงตุ๊ด” แต่ก็ด้วยเพลงตุ๊ดอย่าง “เมื่อรักฉันเกิด” นี่ล่ะที่ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์เริ่มเป็นที่จดจำในกลุ่มคนฟังและกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการดนตรีไทย

Play video

 

พ.ศ.2542 “Candy Man”

 

หลังจาก “I.Q.180”  พี่ป้อมได้เข้ามาช่วยดูงานเพลงในอัลบั้มต่อมา

“ทุกคนมีความดังเป็นของตัวเอง ซิลลี่ ฟูลส์ต้องหาให้เจอ”

เหมือนประโยคนี้จากพี่ป้อมได้ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์บรรลุเกิดพุทธิปัญญา จากนั้นมาพวกเขาก็มุ่งค้นหา “เพลงฮิตแบบซิลลี่ ฟูลส์” ซึ่งก็คือ เพลงที่วงชอบและแฟนเพลงก็ชอบด้วยเช่นกัน จนคลอดออกมาเป็นอัลบั้มเต็มชุดที่สอง “Candy Man” ที่มาพร้อมบทเพลงฮิตระดับตำนานของวงมากมายอาทิ “อย่าบอกว่ารัก” “ไหนว่าจะไม่หลอกกัน” “เพียงรัก”  “ฝัน” “นางฟ้า” และ “Hey” เป็นต้น ผลก็คืออัลบั้มนี้มียอดขายถล่มทลาย และได้ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์กลายเป็นวงร็อกหัวแถวของประเทศในที่สุด

นอกจากจุดเปลี่ยนเรื่องแนวทางการทำเพลงของวงแล้ว อัลบั้มนี้ยังมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือการเปลี่ยนสมาชิกวงในตำแหน่งมือกลองจาก เต้ย กอบภพ ใบแย้ม มาเป็น ต่อ ต่อตระกูล ใบเงิน หนึ่งในมือกลองขวัญใจของแฟนเพลงชาวไทย (ทุกครั้งที่เห็นชื่อจริงของมือกลองสองคนของซิลลี่ ฟูลส์ แล้วจะรู้สึกประหลาดใจทุกครั้งเพราะทั้งชื่อเล่นและนามสกุลของทั้งสองคนมีบางสิ่งคล้ายคลึงและสอดคล้องกัน)

Play video

 

พ.ศ. 2543 “Mint”

หลังจากความสำเร็จของอัลบั้ม “Candy Man” ซิลลี่ ฟูลส์ได้ก้าวมาสู่จุดสูงสุดของวงร็อกไทย มีโชว์มากมายจนเล่นทุกวันไม่หวาดไม่ไหวและเป็นวงแรกที่มีการจับฉลากกันในกลุ่มร้านผับบาร์ที่อยู่ในย่านเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีการตัดหน้าและเกิดปัญหาขัดแย้งกัน

สิ่งที่ทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ประสบความสำเร็จนั้นมาจาก “ความตั้งใจจริง ทีมเวิร์กที่ดี ความมุ่งมั่นและมีการวางแผนที่ดี” ในการแต่งเพลงทางวงจะต้องวางแผนว่าในหนึ่งอัลบั้มนั้นเพลงไหนจะทำหน้าที่อะไร ให้อารมณ์แบบใด และในตอนไปเล่นโชว์เพลงไหนจะปลุกอารมณ์คนดูได้ เพลงไหนจะทำให้คนดูสนุกและมีอารมณ์ร่วมไปกับวงได้

หากพูดถึงในเรื่องความเป็นทีมเวิร์กถือว่าซิลลี่ ฟูลส์เป็นวงหนึ่งที่เล่นเข้าขากันดี ในการทำงานอาจมีความขัดแย้งบ้างแต่เป็นในระดับของเรื่องงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อาจมีทะเลาะกันบ้างเป็นธรรมดาแต่ไม่รุนแรงจนถึงขนาดไม่พูดคุยกันเลย นอกจากนี้ซิลลี่ ฟูลส์ยังเป็นวงที่มีวินัยดีและไม่เที่ยวเล่นปาร์ตี้หรือทำอะไรที่เสียการเสียงาน เรียกได้ว่ามีความเป็นมืออาชีพแบบเต็มรูปแบบ

สำหรับอัลบั้ม “Mint” นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นอัลบั้มที่แฟนซิลลี่ ฟูลส์รักมากที่สุดอัลบั้มหนึ่ง เนื่องจากความลงตัวในการแต่งและเรียบเรียงเพลงแต่ละเพลง โดยรวมรสชาติของเพลงในอัลบั้มนี้ให้ความรู้สึกเหมือนชื่ออัลบั้มคือ สดชื่น เย็น ซาวด์งานโดยรวมให้ความรู้สึกสด ใหม่ กระฉับกระเฉง ส่วนเพลงช้าก็ไม่หม่นหมองจนเกินไป อย่างเพลง “คิดถึง” ถึงแม้จะเป็นเพลงเศร้าแต่ก็มีท่วงทำนองที่งดงามฟังแล้วรู้สึกเหงาแต่ก็รู้สึกเย็นเยียบอยู่ในใจไม่รุ่มร้อน อัลบั้มนี้เป็นที่เฝ้ารอของแฟน ๆ เป็นอย่างมากจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผง เพลงดังของอัลบั้มนี้มีมากมายอาทิ “จิ๊จ๊ะ” “ฟังดูง่ายง่าย” “คิดถึง” “150 c.c.” “ไม่” และ “เพลงนี้เกี่ยวกับความรัก”

Play video

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้งานเพลงของซิลลี่ ฟูลส์ได้รับความนิยมก็เนื่องมาจากการเรียบเรียงเพลง ที่มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้ง่ายจนเกินไป ทำให้ผู้ฟังมีความสุขที่จะฟังเก็บรายละเอียดไปในแต่ละครั้ง ส่วนคนที่เล่นดนตรีก็รักที่จะแกะเพลงของซิลลี่ ฟูลส์เล่นเนื่องจากเล่นไม่ยากจนเกินไป แต่ได้สำเนียงเสียงที่มีความไพเราะโดนใจและไม่ล้าสมัยแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม

พ.ศ.2545 “Juicy”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกอัลบั้มที่มีชื่อว่า “Juicy” อันเป็นอัลบั้มที่มีความเข้มข้น หนักแน่น กว่างานในอัลบั้มก่อน แต่ก็ไม่ถึงขนาดหนักหน่วงแบบในอัลบั้ม EP หรือ I.Q.180 ในอัลบั้มนี้ยังคงมีเพลงฮิตอยู่มากเหมือนเช่นเคยอาทิ  “บ้าบอ” “ผิดที่ไว้ใจ” “แกล้ง” “น้ำนิ่งไหลลึก” “ขี้หึง” “หน้าไม่อาย” และ “วัดใจ” โดยเฉพาะ “วัดใจ” ที่เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่รวดเร็วร้อนแรงที่สุดของซิลลี่ ฟูลส์ในยุคหลังทั้งไลน์ดนตรีที่มีความเร็วระห่ำและการร้องที่แหลมสูงสะใจ ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ท้าทายให้ใครต่อใครที่มีใจรักดนตรีต้องแกะเพลงนี้เล่นให้ได้ รวมไปถึงได้กลายเป็นเพลงชาติของชาวคาราโอเกะไปแล้ว โดยรวมรสชาติของเพลงในอัลบั้มนี้มีรสชาติจัดจ้านสมดังชื่อ “Juicy” เลย

Play video

ด้วยความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและมีเพลงฮิตมากพอสมควร จึงถึงเวลาอันเหมาะสมที่ซิลลี่ ฟูลส์จะมีคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเองสักครั้ง และคอนเสิร์ตแรก (และเป็นครั้งเดียวของสมาชิกวงชุดนี้) ก็คือ ” Fat Live : V3 ขบวนการ Silly Fools “ ซึ่งจัดขึ้นโดย 104.5 Fat Radio คลื่นวิทยุดนตรีของมหาชนคนอินดี้ทั้งหลาย ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ได้ขนเอาเพลงฮิตจากทุกอัลบั้มมาบรรเลงอย่างเต็มที่ไม่มียั้งและแถมท้ายด้วยเพลง “รักด้วยน้ำตา” บทเพลงของโจ-ก้องจากอัลบั้มชุดที่สาม “สดุดี” ซึ่งโต ซิลลี่ ฟูลส์ได้เป็นคนแต่งให้ทั้งเนื้อร้องและทำนอง โดยในอัลบั้มนี้ยังมีเพลง “ไม่กล้าบอกเธอ” อีกหนึ่งเพลงที่แต่งโดยโต

 

Play video

สามารถเข้าไปฟังเพลงจากอัลบั้มบันทึกการแสดง “Fat Live : V3 ขบวนการ Silly Fools” ได้ที่นี่ครับ

พ.ศ. 2547 “King Size”

เหมือนจะเป็นสเต็ปไปแล้วว่าซิลลี่ ฟูลส์จะออกอัลบั้มทุก ๆ สองปี ดังนั้นหลังจาก “Juicy” ในปี 2545 ก็มี “King Size” ตามมาในปี 2547 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัลบั้มที่พาชื่อเสียงและความนิยมของซิลลี่ ฟูลส์พุ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก นอกจากกระแสเพลงฮิตในอัลบั้มก่อน ๆ ที่ยังไม่ซาไป งานเพลงในอัลบั้มใหม่ก็มาเติมกระแสความฮิตอีกอาทิ “น้ำลาย” “คนที่ฆ่าฉัน”  “แล้วแต่แป๊ะ” “หนึ่งเดียวของฉัน”และ “ไม่หวั่นแม้วันมามาก”  อย่าง “น้ำลาย” นี่ถือได้ว่าฮิตถล่มทลายด้วยงานดนตรีที่มีสีสันทั้งในท่วงทำนองและเนื้อร้อง อีกทั้งยังไม่ยากจนเกินไปหากจะแกะเล่นตาม จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพลงที่นักดนตรีทั้งหลายนำไปเล่นอยู่เสมอ

Play video

 

ในตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่านี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของซิลลี่ ฟูลส์ในชุดสมาชิกคลาสสิกนี้ โดยปกติแล้วสไตล์การแต่งเพลงซิลลี่ ฟูลส์หากไม่เริ่มจากต้นหรือหรั่งแล้วส่งดนตรีไปให้โตเขียนเนื้อ ก็จะเริ่มที่โตที่จะส่งเนื้อร้องและทำนองมาให้สมาชิกคนอื่น ๆ เรียบเรียง ดังนั้นความเป็นเอกลักษณ์ของซิลลี่ ฟูลส์จึงมาจากทุกคนหากขาดใครคนใดคนหนึ่งไปเอกลักษณ์ของวงจะเกิดมีบางสิ่งพร่องไปในทันที และสิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นเมื่อโตได้ขอยุติบทบาทและลาออกจากวงไปหลังจากที่ในช่วงหลังโตเริ่มเก็บตัวเงียบและเริ่มไม่เปิดใจพูดคุยกับเพื่อนในวงอีกต่อไปเนื่องมากจากเหตุผลและความคิดส่วนตัว (ซึ่งเราได้รับรู้กันไปแล้วจาก “ป๋าเต็ดทอล์ก ep 1 และ ep 2 ) ทำให้ทุกคนต้องรับมือกับปัญหาการร้างลาที่ยังไม่ได้เตรียมใจ รู้สึกเหมือนกับ “คนอกหัก” กะทันหันไม่มีเวลาเตรียมใจ

พ.ศ. 2550 “Mini”

หลังจากที่โตได้ออกจากซิลลี่ ฟูลส์ ไปโตก็ยังคงมีผลงานทางดนตรีเป็นชิ้นสุดท้ายกับวง “Hangman” ออกอัลบั้มมาหนึ่งชุดในชื่อเดียวกันอันมีเพลงฮิตอย่าง “ช็อกโกแลต” “รักเธอหัวทิ่มบ่อ” และ “พยายามกี่ครั้งก็ตามแต่” เป็นต้น ซึ่ง Hangman เกือบจะมีผลงานออกมาอีกชุด อัดดนตรีเป็นที่เรียบร้อยเหลือแต่อัดร้องของโต แต่โตได้ตัดสินใจยุติบทบาทไปเสียก่อน ทำให้มาสเตอร์งานเพลงในอัลบั้มนี้ที่โตบอกว่า “แปลกใหม่และไม่เคยมีใครทำมาก่อน” ต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับสมาชิกทั้งสามของซิลลี่ ฟูลส์ที่เหลือคือ ต้น ต่อ หรั่ง ก็ยังคงโอบอุ้มชื่อ “ซิลลี่ ฟูลส์” เอาไว้และตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ในตอนแรกนั้นทั้งสามตัดสินใจที่จะให้ ปู Blackhead มาเป็นนักร้องนำ นอกจากนี้ยังมีอีกคนที่เกือบจะเป็นนักร้องนำซิลลี่ ฟูลส์แล้วนั่นก็คือ เดวิด อัชเชอร์ (David Usher) นักร้องหนุ่มชาวแคนาดาลูกครึ่งไทยเจ้าของเพลงฮิต “Alone In The Universe” ที่มีท่อนร้องภาษาไทยในท่อนฮุคว่า “เราอยู่กันตรงนี้ กันอย่างลำพัง เราอยู่กันตรงนี้กับคำถามในใจ เราอยู่กันตรงนี้ เธอว่าไง กลางจักรวาลยิ่งใหญ่ เราอยู่กันลำพัง” ซึ่งได้รับการแนะนำมาจากผู้จัดการวงที่แคนาดา โดยทางวงก็ได้บินไปพูดคุยแล้วเหมือนกันแต่ด้วยปัญหาอะไรหลายอย่างทำให้ทางวงคิดว่าอัชเชอร์จะอยู่กับวงได้ไม่ยาวก็เลยปฏิเสธไป จนสุดท้ายปู Blackhead ได้แนะนำ “เบน” เบนจามิน จุง ทัฟเนล (Benjamin Jung Tuffnell) ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ที่มีเสียงแหบกังวานอันเป็นเอกลักษณ์ มาเป็นนักร้องนำคนต่อมา และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของซิลลี่ ฟูลส์

สำหรับใครที่สงสัยว่าหากปู Blackhead ได้กลายมาเป็น “ปู ซิลลี่ ฟูลส์” แล้วจะเป็นอย่างไร ลองมาฟังในคลิปนี้ได้เลยครับ

Play video

 

เมื่อ “เบน” เบนจามิน จุง ทัฟเนล ได้มาเสริมทัพให้กับซิลลี่ ฟูลส์ หลายอย่างก็ได้เปลี่ยนไป หลายคนรู้สึกรักในผลงานช่วงนี้เหมือนกัน เนื่องจากมันยังคงมีกลิ่นของซิลลี่ ฟูลส์อยู่อย่างแน่นอนหากแต่เป็นในระดับที่มีความอินเตอร์เนื่องจากเมื่อเราเอาภาคดนตรีของซิลลี่ ฟูลส์ไปผสมกับเนื้อร้องและการร้องที่เป็นภาษาอังกฤษสิ่งที่ได้ก็คือเพลงร็อกชั้นดีที่มีความอินเตอร์ หากใครผ่านมาฟังเพลงของซิลลี่ ฟูลส์ในยุคนี้โดยที่ไม่รู้จักซิลลี่ ฟูลส์มาก่อน เชื่อได้เลยว่าร้อยทั้งร้อยจะต้องคิดว่าเป็นเพลงระดับสากลจากวงต่างประเทศอย่างแน่นอน

“Mini” คืออัลบั้ม EP ชุดแรกของซิลลี่ ฟูลส์ในเซ็ตใหม่นี้ โดยออกกับทางค่าย “สนามหลวงการดนตรี” (ในเครือของแกรมมี่) มีเพลงอยู่ทั้งหมด 5 เพลงเป็นเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมด มีเพลง “Stay Away” เป็นเพลงเปิดตัว หากว่ากันตามตรงแล้วดูเหมือนว่าเนื้อหาของเพลงนี้ต้องการจะสื่อสารความอัดอั้นตันใจบางอย่างที่ทางวงมีอยู่ในช่วงเวลานั้น

 

You hide behind your lies

Shallow eyes and hallow heart

Have to tear us apart

Your cover will be blown

 

คุณซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังคำลวงทั้งหลาย

กับดวงตาต่ำตื้นและดวงใจที่เป็นหลุมลึก

คุณฉีกทึ้งพวกเราออกจากกัน

แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่ปิดซ่อนคุณเอาไว้มันจะต้องถูกปัดเป่าออกไป

 

Stay away from me

Stay away from me

Stay away from me

I don’t wanna hear your name

 

ไปให้พ้น

ไปให้พ้น

ไปให้ไกลจากฉัน

ฉันไม่อยากได้ยินแม้แต่ชื่อของคุณอีกแล้ว

 

Play video

 

ความพิเศษของอัลบั้มชุดนี้คือการจัดทำซีดีจำหน่ายเพียง 3,000 แผ่น โดยที่ 300 คนแรกจะได้เข้าชมมินิคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มใหม่และนักร้องใหม่ ก่อนที่จะทำการวางขายอัลบั้มชุด Mini ทั่วประเทศจำนวน 2,000 แผ่น โดยปกอัลบั้ม Mini นี้มีให้เลือก 4 ปกตามสมาชิกของวงแต่ละคน

 

พ.ศ.2551 “The One”

หลังจากนั้นซิลลี่ ฟูลส์ก็ได้เดินหน้าต่อไป และโยกย้ายบ้านใหม่มาอยู่ที่ “RS” และมีผลงานออกมาหนึ่งอัลบั้มเต็มคือ “The One” ซึ่งทำออกมาเป็นสองเวอร์ชันคือเนื้อร้องภาษาไทยและเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าแรกเริ่มเดิมทีทางวงตั้งใจจะทำเป็นภาษาอังกฤษแบบ Mini แต่เพื่อเอาใจฐานแฟนเพลงทั่วไปจึงต้องทำเป็นภาษาไทยด้วย หากพูดกันตามตรงแล้วเวอร์ชันภาษาไทยของงานเพลงในชุดนี้นั้นไม่เวิร์กเท่าไหร่อาจจะด้วยปัญหาการออกเสียงของเบนและความเข้ากันระหว่างเสียงของคำในภาษาไทยและท่วงทำนองดนตรี หลายคนไม่รู้ว่าอัลบั้มนี้มีเวอร์ชันภาษาอังกฤษด้วยซึ่งเราขอแนะนำเป็นอย่างมาก แล้วคุณจะพบว่า “The One” คือหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของซิลลี่ ฟูลส์ที่นำเอาไปเทียบชั้นกับวงร็อกระดับสากลได้สบายหายห่วงเลย

อัลบั้มนี้มีเพลงฮิตคือ  “โง่” “เราเป็นคนเลือกเอง” “รั้งรอ” และ “เหนื่อยแล้ว” เป็นต้น

Play video

ตอนนั้นทางวงออกแบบลุคตัวเองออกมาเป็นเป็นหุ่นยนต์เท่มาก ๆ เลย

สามารถเข้าไปฟังอัลบั้ม The One ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษได้ที่นี่ครับ

 

พ.ศ. 2554-2556 “สุญญากาศ”

หลังจากอัลบั้ม “The One” ซิลลี่ ฟูลส์ได้ออกซิงเกิลกับทางอาร์เอสอีกหนึ่งเพลงคือ “ทำร้าย” แต่ด้วยเคมีที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ตัดสินใจที่จะออกจากอาร์เอสและเริ่มต้นเดินทางใหม่อีกครั้ง ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นช่วง “สุญญากาศ” ของชีวิต นอกจากจะไม่มีค่ายอยู่แล้ว ชื่อเสียงที่เคยสั่งสมมาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ซิลลี่ ฟูลส์ไม่สามารถกลับมายังจุดสูงสุดของวงได้อีก ค่าตัวถูกลดจาก 150,000 ไปสู่ต่ำสุดคือ 50,000  จะให้เลิกเล่นดนตรีไปเลยก็ทำไม่ได้ เพราะมันคือ “อาชีพ” คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้

 

“จะให้เลิก บางทีเราอยากจะเลิก แต่ว่ามัน

มันเลิกไม่ได้ ชีวิตมันบีบคั้น

มันคือสิ่งที่เราทำได้ดี

แล้วเราก็ยังรักในสิ่งนี้อยู่”

 

แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2555 ซิลลี่ ฟูลส์ก็ได้มีผลงานออกมาหนึ่งซิงเกิลแบบไร้สังกัดอันมีชื่อว่า “สุญญากาศ”  แต่งโดยนักแต่งเพลงชั้นเซียนของวงการอย่าง บอย โกสิยพงษ์ และบินไปมิกซ์ไกลถึงประเทศแคนาดา โดยมีค่ายวอร์นเนอร์ มิวสิค ประเทศไทยดูแลเรื่องการตลาดให้

เสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ที่การเป็นเพลงแบบซิลลี่ ฟูลส์ที่มีรสชาติดนตรีแบบอะคูสติก พอปและร็อกเข้ามาผสานกันอย่างลงตัว โดยมีเนื้อเพลงของบอย โกสิยพงษ์ เข้ามาเติมแต่งให้มีรสชาติแปลกใหม่ออกไปอีกด้วย

Play video

 

ซึ่งหลังจากปล่อยเพลง “สุญญากาศ” มาไม่นาน ต่อ มือกลองของวงได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกวง เนื่องจากภาระครอบครัว และได้ไปเป็นมือกลองแบ็กอัปให้กับเสก โลโซ ในปี 2556 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ก็ได้รัตน์ โกบายาชิ อดีตมือกลองวงดีเซมเบอร์ (Dezember) เข้ามาเป็นสมาชิกวง ในตำแหน่งมือกลองแทนต่อ นับเป็นการเปลี่ยนมือกลองครั้งที่ 3 ของวง โดยประเดิมซิงเกิลแรกคือ “Standing Tall” 

พ.ศ. 2557- ปัจจุบัน “วงร็อกสวมหน้ากาก”

ถึงแม้ซิลลี่ ฟูลส์จะไม่สามารถกลับมาสู่จุดสูงสุดแบบเดิมได้อีก แต่ชีวิตก็ยังมีขึ้นมีลง และยังคงมีงานเข้ามาจนอยู่ในระดับที่เลี้ยงชีพได้ จากนั้น “เบน” ได้ออกจากการเป็นสมาชิกวงเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอลทำให้เอ็นขาดและไม่สามารถกระโดดโลดเต้นหรือปล่อยพลังได้เต็มเหนี่ยวกับการเล่นโชว์ได้อีกจึงขอถอนตัวออกไป จนในที่สุดซิลลี่ ฟูลส์ได้มาเจอกับนักร้องนำคนใหม่ “ริม กฤษณะ ปานดอนลาน” (อดีตนักร้องนำวง WOIZE ) ผู้มีสำเนียงเสียงร้องคล้ายกับโต ซิลลี่ ฟูลส์ ทำให้สามารถอุดปัญหารอยรั่วจุดใหญ่ที่แฟนเพลงชาวไทยมักรู้สึกเสมอมา นั่นคือที่ผ่านมาไม่ว่าเบนจะร้องดีแค่ไหน แต่ด้วยเนื้อเสียงและสไตล์มันจะแตกต่างกับโตอย่างมาก เสียงและการร้องของเบนนั้นเหมาะกับการชุด Mini และ The One มาก ส่วนงานเพลงเก่า ๆ นั้นมันต้องมีเสียงแหลมสูงทรงเสน่ห์ในแบบของโต ซึ่งยากนักที่จะมีใครมีเนื้อเสียงและการร้องแบบนั้นแต่แล้วฟ้าก็ได้ส่ง “ริม” มาและทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ได้กลับมาทำเพลงใหม่อีกครั้งในส่วนผสมแบบใหม่ ได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ จนเกิดมาเป็นผลงานในช่วงหลังอย่าง “แป๊ะอย่าร้อง” “จงเรียกเธอว่านางพญา” และ “20 ตุลา” ยิ่งเพลงหลังยิ่งมีความแปลกใหม่จากงานที่ผ่านมาของซิลลี่ ฟูลส์เรียกได้ว่าเป็นงานที่บางเบาแต่ร้าวลึกและเข้าถึงอารมณ์ที่สุดเพลงหนึ่ง ซึ่งส่วนผสมใหม่นอกจากริมแล้วยังมีอีกเคมีสำคัญนั่นคือ “ฟองเบียร์” ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ขั้นเทพอีกคน ผู้มีฝีไม้ลายมือในการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงได้เฉียบขาด เขาได้มาเติมแต่งเรื่องเล่าในบทเพลงของซิลลี่ ฟูลส์ได้อย่างงดงามและน่าประทับใจอันเราจะเห็นได้จากผลงานล่าสุดอย่าง “20 ตุลา”

Play video

 

ในตอนนี้ซิลลี่ ฟูลส์เป็นศิลปินในสังกัดของค่าย Me Records ของฟองเบียร์ ซึ่งเซ็นสัญญากันตั้งแต่ปี 2558 ก่อนจะออกซิงเกิล “แป๊ะอย่าร้อง” ในยุคหลังนี้ซิลลี่ ฟูลส์ได้ปรับลุคใหม่ด้วยการแต่งตัวและสวมหน้ากากในสไตล์ Stream Punk ซึ่งเป็นแนวโปรดของหรั่ง อันมีเหตุผลมาจากสองสาเหตุคือในช่วงแรกทางวงยังไม่อยากเปิดเผยนักร้องใหม่จึงให้ริมใส่หน้ากากที่ออกแบบโดยหรั่งเอาไว้แถมยังมีชุดแบบจัดเต็มอีก ทำให้ตัวริมมีความโดดเด่นเกินหน้าสมาชิกคนอื่น ๆ ซึ่งแต่งตัวธรรมดาบ้าน ๆ จนดูราวกับเป็นวงเล่นแบ็กอัป เมื่อสมาชิกวงได้ดูคลิปที่ไปเล่นที่ร้านคลองเพลง 3 จึงตัดสินใจกลับมาออกแบบชุดและหน้ากากให้กับสมาชิกทั้งวงและปรับลุคให้กลายเป็นวงร็อก Stream Punk กันไปเลยซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากแฟน ๆ ผนวกกับกระแสการทายนักร้องนำคนใหม่ที่มีเสียงคล้ายกับโตและสามารถร้องเพลงในชุดเก่า ๆ ได้เป็นอย่างดีนั้นว่าเป็นใครทำให้ซิลลี่ ฟูลส์ได้รับความนิยมอีกครั้ง

Play video

 

credit : ช้าง น้อย 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ซิลลี่ ฟูลส์สามารถนำบทเพลงเก่า ๆ มาบรรเลงใหม่ได้อย่างถึงใจอีกครั้ง อีกทั้งยังมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นครั้งแรกคือ “Leo Presents Silly War II Concert ‘สงครามของคนโง่’”ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 นับเป็นคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งนับแต่คอนเสิร์ต FaT Live : V3 ซึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้ Silly Fools ขนเพลงดังมากมายจากอัลบั้มเก่า ๆ มาเล่นให้แฟนเพลงหายคิดถึงไม่ว่าจะเป็น จิบเดียวก็ซึ้งแมน ,พ่อ-แม่-ลูก , เบื่อ ,นางฟ้า, เซ็ง และ ช่วงท้าย ริม นักร้องนำได้ถอดหน้ากาก นับได้ว่าเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะนักร้องนำคนใหม่ของวง Silly Fools จากนั้นซิลลี่ ฟูลส์ก็ได้มีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งด้วยการจับมือกับวงร็อกรุ่นน้องอย่าง Zeal ในคอนเสิร์ต “LEO Presents Zealy Fools Concert” ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานอกจากจะขนเพลงฮิตจากอัลบั้มเก่า ๆ แล้วยังนำเอาเพลงของ Zeal มาแลกกันเล่นด้วย แถมยังมีซิงเกิลใหม่สุดอย่าง “Mist” ที่บรรเลงร่วมกันกับ Zeal อีก เรียกได้ว่านี่คืออีกหนึ่งช่วงเวลาประทับใจของแฟนซิลลี่ ฟูลส์จริง ๆ และมันก็เป็นสัญญาณอันดีว่าซิลลี่ ฟูลส์ยังคงเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางสายดนตรีที่พวกเขารักอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหนมา “วัดใจ” พวกเขาก็จะปีนป่ายต่อไป ไม่ว่ามันจะสูงแค่ไหนเราก็เชื่อว่าพวกเขาจะ “ไปถึง” อย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าในวันนี้พวกเขาจะไม่อยากปีนป่ายภูเขาลูกไหนแล้ว แค่เพียงแต่ทำเพลงและเลี้ยงชีวิตต่อไป เราก็รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่มองย้อนกลับไปในวันเก่า ไม่คิดว่ามันมีความผิดพลาดใด หากแต่ก้าวย่างต่อไปในวันนี้อย่างเต็มที่และมีความสุข

 

“ความสุขปัจจุบันมันคือสิ่งที่จับต้องได้

ความสุขในอนาคตหรือความสุขในอดีต

มันแค่อยู่ในความฟุ้งซ่าน

ถ้ายิ่งฟุ้งซ่านมาก ๆ คุณก็จะไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง

อยู่ตรงนี้แหละ มีความสุขที่สุด”

Source

ป๋าเต็ดทอล์ก Season 2 Ep 3 EP.3 “ต้น”และ“หรั่ง” กับเส้นทางที่ไม่ง่ายของวงดนตรีที่มีชื่อว่า “Silly Fools”

วิกิพีเดีย “ซิลลี่ ฟูลส์”

ใต้หน้ากากมนุษย์ดัดแปลงปริศนา SF No.3 : ฟร้อนท์แมนคนใหม่ และการเดินทางของSilly Fools ที่ยัง”ไม่เคย”สิ้นสุด

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส