พอปล่อยตัวอย่างออกมาก็เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรเลยกับ “Wonder Woman 1984” ที่นอกจากจะมาพร้อมชุดที่มีความไฉไลแล้วเรื่องราวในภาคนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงยุค 80 อีกต่างหาก ซึ่งผู้กำกับ  Patty Jenkins ได้ให้เหตุผลว่ายุค 80s ที่ตนเกิดมานั้นมีหน้าตาและความรู้สึกเฉพาะเป็นของตัวเอง อันแสดงให้เห็นทั้งด้านที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เป็นยุคที่มีทั้งความสง่างาม จุดกำเนิดดนตรีชั้นยอด ซึ่งหากจับเอาวันเดอร์วูแมนมาอยู่ในยุคนี้มันคงจะเก๋ไก๋ไฉไลไปเลย

Play video

 

ไฉไลสุด ๆ

และก็เป็นอย่างที่ว่าเพราะในตัวอย่างหนังที่เพิ่งปล่อยออกมาได้ใช้เพลงประกอบที่โดนใจและเข้ากับยุค 80s ที่เป็นช่วงเวลาตามท้องเรื่องในภาคนี้ได้เป็นอย่างดี เพลงที่ว่านั่นก็คือ “Blue Monday” ของวง “New Order” นั่นเอง ดูจากตัวอย่างหนังและแนวคิดของผู้กำกับแล้วเชื่อเลยว่าสุนทรียะแห่งยุค 80 จะต้องลอยอบอวลและเข้ามามีส่วนในการสร้างสีสันในหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว งั้นเราควรมาเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปทำความรู้จักกับบทเพลง “Blue Monday” กันเป็นการอุ่นเครื่องเสียแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า (เพราะหนังฉายวันที่ 5 มิถุนายน 2020)

โลกแห่งสีสันของยุค 80

“Blue Monday” เป็นบทเพลงจากวง “New Order” แห่งเกาะอังกฤษ ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1983 (หนึ่งปีก่อนเรื่องราวใน Wonder Woman 1984) และถูกบรรจุเอาไว้ในอัลบั้มชุดที่สองของวงที่มีชื่อว่า “Power, Corruption & Lies” (1983)  Blue Monday ออกเผยแพร่ครั้งแรกในรูปแบบของซิงเกิล 12 นิ้ว และมียอดขายถล่มทลายกว่า 3 ล้านแผ่นทั่วโลก เป็นซิงเกิล 12 นิ้วที่มียอดขายสูงสุดที่สุดเป็นประวัติการณ์

ปกซิงเกิล Blue Monday ออกแบบโดย Peter Saville

วง New Order ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 หลังการเสียชีวิตของ “เอียน เคอร์ติส” (Ian Curtis) นักร้องนำแห่งวง Joy Division ทำให้สมาชิกสามคนที่เหลือคือ เบอร์นาร์ด ซัมเนอร์, สตีเฟน มอร์ริส และ ปีเตอร์ ฮุค ร่วมกันตั้งวงขึ้นมาใหม่โดยบวก กิลเลียน กิลเบิร์ต เข้าไปอีกคน

สมาชิกวง New Order จากซ้ายไปขวา : สตีเฟน มอร์ริส ,ปีเตอร์ ฮุค ,กิลเลียน กิลเบิร์ต และ เบอร์นาร์ด ซัมเนอร์

จากวงดนตรีที่ทำเพลงแนวโพสต์พังก์ใน Joy Division คราวนี้สมาชิกทั้ง 4 แห่ง New Order ได้ขยับขยายขอบเขตทางดนตรีจากโพสต์พังก์ก้าวเข้าไปสู่พรมแดนของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์ จนมีผลงานออกมาครอบคลุมในแนวซินธ์พอป แดนซ์ร็อก อัลเทอร์เนทีฟแดนซ์ อิเล็กโทรนิกา และแดนซ์ร็อก มีผลงานมาแล้วทั้งสิ้น 10 อัลบั้ม และปัจจุบันก็ยังคงเดินหน้าทำงานเพลงต่อไป โดยมีการเปลี่ยนสมาชิกไปบ้าง คือ ปีเตอร์ ฮุค ออกไปในปี 2007 และมี ฟิล คันนิงแฮม กับ ทอม แชปแมน เข้ามาในปี 2011

Blue Monday ถือว่าเป็นย่างก้าวที่สำคัญของ New Order และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมยุค 80 บทเพลงนี้ถูกเรียงร้อยในท่วงท่าและลีลาของดนตรีซินธ์พอปและอัลเทอร์เนทีฟแดนซ์ เริ่มต้นท่วงทำนองด้วยเสียงกระเดื่องโปรแกรมจากเครื่องดรัมแมชชีน “Oberheim DMX”  จากนั้นกิลเลียน กิลเบิร์ตได้ใส่เมโลดี้จากคีย์บอร์ดเข้ามาในอินโทรได้เท่โดนใจ ในท่อนร้องจะมีเสียงกระเพื่อมซินธ์เบสเป็นจังหวะเร้าใจจากเครื่องซินธ์ของ Moog ที่ทาบทับไปกับไลน์ลีดส์เบสจาก ปีเตอร์ ฮุค ไลน์ซินธ์เบสถูกวางซีเควนซ์ไว้ในเครื่อง Powertran Sequencer ที่ซัมเนอร์ทำขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ยังมีเสียงร้องไร้อารมณ์ในสไตล์แบบโพสต์พังก์จากซัมเนอร์ด้วย ส่วนโครงสร้างเพลงนั้นก็นับว่ามีความน่าสนใจเพราะมันไม่ได้เดินตามขนบท่อนร้อง-คอรัสแบบเพลงทั่วไป หลังจากท่อนอินโทรอันยาวเหยียด ก็ตามมาด้วยท่อนร้องที่หนึ่งและสองซึ่งแยกจากท่อนร้องที่สามด้วยเสียงซาวด์เอฟฟเฟคสั้น ๆ จากนั้นจึงตามมาด้วยท่อน breakdown สั้น ๆ หลังท่อนร้องที่สาม ซึ่งนำไปสู่ท่อน outro ท้ายเพลง เพลงนี้เขียนขึ้นในคีย์ D minor และมีทางเดินคอร์ดแบบง่าย ๆ คือ Dm-F-C-Dm-G-C

Play video

 

รู้หรือไม่ว่าการที่เพลง Blue Monday เฟี้ยวฟ้าวได้ขนาดนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันเกิดจากเบ้าหลอมแห่งแรงบันดาลใจที่หลากหลาย อาทิเช่น เพลง “Our Love” จากอัลบั้ม “Bad Girls” ของ Donna Summer (ซึ่งเราจะพบว่าเสียงบีทตื๊ด ตื๊ดของสองเพลงนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง) ส่วนการเรียบเรียงเพลงนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก “Dirty Talk” ของ Klein & M.B.O. ไลน์ซินธ์เบสมาจาก “You Make Me Feel (Mighty Real)” ของ Sylvester และจากเพลง “Uranium” ของ Kraftwerk  แค่นี้ยังไม่พอแม้แต่ไลน์เบสของฮุคก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากซาวด์แทร็กของ Ennio Morricone สุดยอดนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์จากแดนสปาเก็ตตีอีกต่างหาก

แรกเริ่มเดิมที New Order ตั้งใจเขียนเพลงนี้จากเหตุการณ์ที่แฟนเพลงหัวร้อนก่อจลาจลเนื่องจากทางวงไม่เคยเล่น encore เลย แต่เนื่องจากทางวงไม่ชอบการเล่น encore เลยจริง ๆ ก็เลยตั้งใจเขียนเพลงนี้ไว้ใช้ในช่วง encore แบบแค่ขึ้นไปกดเล่นซินธ์ที่โปรแกรมไว้แล้วก็หนีลงเวทีไป แต่พอพัฒนาเพลงไปเรื่อย ๆ กลับรู้สึกชอบมันขึ้นมา ก็เลยถูกพัฒนามาเป็นซิงเกิลในที่สุด หลังจากนั้นทางวงก็ไม่ลืมปณิธานที่ตั้งใจไว้ก็เลยใช้เพลงนี้ในช่วง encore จริง ๆ บางครั้งก็ใช้เป็นเพลงปิดท้ายโชว์ แต่บางครั้งก็ใช้ในช่วงก่อน encore อย่างในเซ็ทลิสต์ช่วงทัวร์ในปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Blue Monday ถือได้ว่าเป็นเพลงที่ New Order ใช้เล่นในโชว์มากที่สุดเพลงหนึ่ง เกือบแทบจะทุกโชว์เลยก็ว่าได้

ในส่วนมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้มีหลายเวอร์ชันตามเวอร์ชันของเพลงที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละยุค ในเวอร์ชันแรก mv ทำขึ้นในปี 1983 ประกอบไปด้วยคลิปภาพกองทัพที่มีสีผิดเพี้ยน กราฟิกง่าย ๆ สไตล์ 8 bit (ที่มีภาพจากเกม Zaxxon ด้วย) รวมไปถึงเส้นและทรงเรขาคณิต ภาพดิจิทัลวิดีโอสมาชิกวงแบบความละเอียดต่ำ และบล็อกสีที่ออกแบบโดย Peter Saville (คนออกแบบปกอัลบั้ม Unknown Pleasures ของ Joy Division) ซึ่งเป็นคนออกแบบปกซิงเกิล Blue Monday (ที่ทำเป็นปกสวมโดยเอาแบบมาจากรูปทรงของฟลอปปีดิสก์) และอัลบั้ม Power, Corruption & Lies โดยใช้ตัวอักษรที่เป็นโค้ดสีซึ่งเขาเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง โดยโค้ดสีบนปกสามารถถอดความได้เป็นชื่อวง ชื่อเพลง และรายละเอียดต่าง ๆ ของอัลบั้ม ล้ำโคตร ๆ

ปกซิงเกิล Blue Monday และโค้ดสีของ Peter Saville

 

Play video

ส่วน mv อีกเวอร์ชันคือ “Blue Monday’ 88” ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่อยู่ในอัลบั้ม “Substance” (1987) ประกอบไปด้วยภาพสเก็ตช์จากตากล้อง William Wegman และเจ้า “Fay Ray” สุนัขพันธุ์ไวมาราเนอร์ (Weimaraner) ของเขามาเป็นนายแบบใน mv นี้ด้วย โดยมีการตัดสลับกันกับแอนิเมชันวาดมือจาก Robert Breer และ เหล่าสมาชิกวงในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น นั่งเปิดสมุดฟลิปบุ๊ก

Play video

 

ต่อจากนั้น Blue Monday ก็ไปปรากฏตัวอีกครั้งในเวอร์ชัน “Blue Monday 95” จากอัลบั้ม “The Rest of New Order” (1995) ส่วน mv ของเวอร์ชันนี้ก็ติสต์สุดฤทธิ์ด้วยภาพกราฟิก 3D เส้น รูปทรงและสี รวมไปถึงใบหน้าของเหล่าสมาชิกวงที่ถูกย้อมเป็นสีฟ้าตามชื่อเพลง

Play video

 

เรื่องราวเกี่ยวกับ Blue Monday นั้นยังมีอะไรที่น่าสนใจและน่าทึ่งอีกมาก เช่น กว่าจะได้เพลงนี้มาทางวงต้องสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาเองเพื่อบันทึกเสียงเพลงนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีดนตรีเท่าที่มีในเวลานั้นยังไม่ล้ำพอดังใจต้องการ โดยซัมเนอร์ได้จ้างนักวิทยาศาสตร์มาโปรแกรมเจ้าเครื่องซีเควนเซอร์ตัวใหม่โดยใช้เลขฐานสอง (Binary Code) เป็นการผนวกรวมเทคโนโลยีและดนตรีเข้าด้วยกันอย่างล้ำเลิศ นอกจากนี้ด้วยความสำเร็จและยอดขายที่มีอย่างถล่มทลายทำให้ทางวงตัดสินใจนำเงินที่ได้ไปสร้างไนต์คลับที่มีชื่อว่า The Haçienda ในแมนเชสเตอร์บ้านเกิดของพวกเขา เพื่อเอาใจเหล่า “Madchester” ผู้กระหายในดนตรีแดนซ์ จนทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ฮิปที่สุดแห่งหนึ่งในยุค 80s

ภายนอก The Haçienda credit : manchestereveningnews.co.uk

ภายใน The Haçienda credit : manchestereveningnews.co.uk

ปัจจุบันบทเพลง Blue Monday มีอายุกว่า 36 ปีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังดูเดิ้นและพร้อมที่จะทำให้เราลุกขึ้นออกสเต็ปเต้นตามมันไปได้อยู่เสมอ เชื่อว่ามันคงจะไม่ได้อยู่แค่ในตัวอย่างหนังของ Wonder Woman 1984 เป็นแน่ และถ้าอยู่ในตัวหนังจริง ๆ แล้วจะเป็นยังไงน้า แค่คิดก็รู้สึกอยากดูขึ้นมาแล้วล่ะครับ

Source

Wikipedia “New Order” 

Wikipedia “Blue Monday”

How New Order’s ‘Blue Monday’ Changed Music Forever

Genius

10 Things You Never Knew About New Order’s “Blue Monday” 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส