[รีวิว]  งู : ประสบการณ์อันตรายของพระกินคน คนกินคน และหนังทำร้ายสายตาคนดู
Our score
2.5

งู

จุดเด่น

  1. หนังสร้างจากนวนิยายต้นฉบับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ

จุดสังเกต

  1. นักแสดงทุกคนพร้อมใจเล่นแข็งอย่างเสมอหน้ากัน
  2. บทหนังใช้จังหวะการเล่าเรื่องคล้ายๆ การเล่าของหนังสือ ซึ่งไม่ได้ผล
  3. คุณภาพงานด้านภาพของหนังเรื่องนี้อยู่ในระดับต่ำมาก
  4. เสียดายที่หนังเรื่องนี้ไม่พยายามขยี้เรื่องศาสนาให้ชัดกว่านี้ กลับเล่าเรื่องแบบกลาง ๆ แตะแล้วผ่าน แล้วก็จบแบบเซอร์ ๆ ไปเลย
  • ความสมบูรณ์ของบท

    3.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    2.5

  • คุณภาพนักแสดง

    2.5

  • ความสนุก

    3.0

  • คุ้มเวลาดู

    1.5

หมวดหมู่ : ดราม่า/แอ็กชัน

ผู้กำกับ : กฤษณ์ บุญประพฤกษ์ (แจ๊สสยาม)

นักแสดง : อภิชาติ จีนประชา นนท์ รัชชานนท์ รัตน์ฟ้า วีรยุพรัตน์ น้ำริน พรมหลวง นันทพงศ์ อุลิศ พศวัต เล็กสัมมา ลลิตา ไพศาล ไกรลาศ เกรียงไกร พอเจตต์ แก่นเพชร โกวิท วัฒนกุล

Play video

สนับสนุนข้อมูลโดย SF Cinema City

เรื่องย่อ หลวงพ่อเนียน (นนท์ รัชชานนท์) เจ้าอาวาสใหม่แห่งวัดโคกพระนาง พยายามสร้างเรื่องปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านเชื่อถืองมงายเพื่อฉกทรัพย์สินเงินทองทำบุญ โดยใช้พระประธานในอุโบสถหลอกชาวบ้านโคกพระนางว่ามี “พระกินคน” และมีส่วนทำให้ยี่สุ่น (อภิชาติ จีนประชา) ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากคุกเป็นจำเลยของสังคมในข้อหาตัดเศียรพระพุทธรูปไปขาย นอกจากนั้นยังฉก “จันทร” (พศวัต เล็กสัมมา) ผัวของ “กระถิน” (รัตน์ฟ้า วีรยุพรัตน์) น้องสาวของยี่สุ่นไปบวชกับตนโดยไม่ยอมสึก รวมทั้งกำนันฤทธิ์ (นันทพงศ์ อุลิศ) ที่ฉก “แตง” (น้ำริน พรมหลวง) เมียของยี่สุ่น ฉกเอาพรหมจารีของ “เตย” (ลลิตา ไพศาล) น้องสาวของแตง และยายนวลก็ฉกเอาเงินที่ยี่สุ่นหาได้จากการจับงูไปขายเพื่อไปทำบุญกับหลวงพ่อเนียน ยี่สุ่นจึงต้องหาทางที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน และพิสูจน์ว่าพระประธานไม่ได้กินคนอย่างที่หลวงพ่อเนียนสร้างเรื่องขึ้น

ถ้าหากจะพูดถึงชื่อชั้นของ “แจ๊สสยาม” เขาไม่ใช่ผู้กำกับหน้าใหม่ แต่เป็นผู้กำกับรุ่นเก๋าที่เคยมีผลงานภาพยนตร์ในยุคก่อนหน้ามาหลายเรื่องในช่วงยุค 70’s จนถึงยุค 90’s เช่น ดอกโสนบานเช้า (2521) อารีดัง (2522) กตัญญูประกาศิต (2525) คนทรงเจ้า (2532) คือฉัน (2533) ขอเก็บหัวใจเธอไว้คนเดียว (2538) และทิ้งช่วงไปนานหลายสิบปี ก่อนที่เขาจะกลับมาพร้อมกับไอเดียหนังเรื่อง “งู” ที่หยิบเอานวนิยายชื่อเดียวกัน ที่เขียนโดยนักเขียนรางวัลซีไรต์อย่าง “วิมล ไทรนิ่มนวล” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2527 และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2531 มาทำในรูปแบบภาพยนตร์ ซึ่งในช่วงที่วางแผง เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แตกออกเป็นสองฝั่ง บ้างบอกว่าเป็นนิยายที่สะท้อนภาพที่แท้จริงของศาสนาพุทธในไทยที่แม้เปลือกนอกจะดูสวย แต่ภายในกลับฟอนเฟะ และแน่นอนว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ออกมาโจมตีด้วยข้อหาบ่อนทำลายศาสนา ทำให้ศาสนาแปดเปื้อน ซึ่งต่อมานวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นด้วย

แน่นอนว่าด้วยความที่ตัวหนังนั้นเป็นหนังที่เคลมว่า “เป็นหนังที่นายทุนไม่กล้าให้ทำ” ตัวหนังก็เลยออกมาในสภาพที่เรียกว่าเป็นหนังทุนต่ำ เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยได้ยินก็ว่าได้ ขนาดผมเองยังเพิ่งเคยได้ยินจากบรรณาธิการที่มอบหมายให้ผมไปดูหนังเพื่อกลับมาเขียนรีวิว ลำพังข้อมูลก็ค่อนข้างหายาก แถมยังจำกัดโรงฉายเฉพาะที่ SF อีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ “ลับแล” ซะยิ่งกว่า “เลว 2018” ซะอีกนะครับ คือต้องยอมรับว่าเลว 2018 เนี่ย คุณภาพหนังก็อีกเรื่องนะ แต่หน้าหนังนี่คนแชร์ในโซเชียลมีเดียเยอะมาก ๆ จนกลายเป็นกระแสในโซเชียลได้ ส่วนหนังเรื่องนี้มีเพียงแค่แฟนเพจที่มีข้อมูลน้อยมาก ๆ และการประชาสัมพันธ์ที่เงียบกริบจนคนส่วนใหญ่ก็อาจไม่รู้ว่าเคยมีหนังเรื่องนี้อยู่

มาว่ากันที่ตัวหนังบ้าง โดยปกติแล้วเวลาผู้กำกับหยิบหนังสือมาทำหนัง ก็มักจะมีข้อพิพาทระหว่างนักเขียนกับผู้กำกับในแง่ของการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างในหนังสือให้เหมาะกับการทำหนังเสมอ แต่กับหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าน่าจะค่อนข้างอะลุ้มอล่วยกัน ผลที่ออกมาในหนังก็คือการหยิบเอาหนังสือมาทำเป็นหนังแบบตรง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเล่าเรื่องของทุกซีนดูมีความเป็นหนังสือมาก ๆ อีกทั้งตัวหนังยังเล่าทุกอย่างเป็นส่วนๆ แล้วตีจากกันแบบห้วน ๆ เล่าแตะ ๆ แล้วจากไปเลย ซึ่งมันทำให้เนื้อเรื่องดูแยกส่วนและกระจัดกระจายกันจนปะติดปะต่อเรื่องราวได้ยากมาก ๆ รวมถึงการปูเรื่องราวที่นานมาก กว่าที่ตัวละครแต่ละตัวจะโผล่มาและเข้าสู่ใจกลางของเรื่องก็นานมากโขแล้ว แถมประเด็นเรื่อง “พระกินคน” ที่หลวงพ่อเนียนกุเรื่องขึ้นเพื่อหลอกชาวบ้านให้เกรงกลัวก็เป็นการเล่าแบบแตะผ่าน ๆ ที่กว่าจะโผล่มาให้คนดูรับรู้ก็ปาเข้าไปท้ายเรื่องแล้ว เรียกว่าถ้าดูหนังนี่แทบไม่รู้ว่าพูดถึงเรื่องของพระกินคนด้วย

ซ้ำร้าย การเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่มาก ๆ ซึ่งพร้อมใจกันเล่นแข็งกันทุกภาคส่วน คือเล่นแข็งได้พอ ๆ กันทุก ๆ คน ตั้งแต่หลวงพ่อเนียน ยี่สุ่น นางเอกต่าง ๆ ผู้ใหญ่ฤทธิ์ ฯลฯ ต่างเล่นแข็งกันได้อย่างพร้อมเพรียงมาก ๆ ซึ่งพอมาเจอไดอะล็อกที่ราวกับว่าถอดออกมาจากหนังสือ คือเป็นภาษาเขียนที่ปกติเราไม่ใช้พูดกัน ยิ่งเสริมพลังให้นักแสดงที่เล่นแข็งอยู่แล้ว แข็งโป๊กยิ่งขึ้นไปอีก และที่ไม่น่าเชื่อคือ แม้ว่าจะมีนักแสดงอาชีพรุ่นเก๋ามาร่วมแสดงด้วยถึงสามคน (ไกรลาศ เกรียงไกร, พอเจตต์ แก่นเพชร และ โกวิท วัฒนกุล) แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้แก่พลังของไดอะล็อกแข็ง ๆ เลยพลอยให้แสดงแบบแข็ง ๆ และไม่เปล่งประกาย ดูไม่มีความสำคัญเอาเสียเลย อีกอันที่ผมรู้สึกขัดใจมาก ๆ คือการกระทำ เล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวละครหลาย ๆ ตัวที่ดูไม่ธรรมชาติ เช่นการถือจับปืนของกำนันฤทธิ์ที่ดูประหลาดและไม่เท่เอาเสียเลย เสียงพากษ์มวยไทยที่ฟังแล้วรู้เลยว่าไม่มีความรู้เรื่องมวย มรรคนายกชาวอีสานที่พูดอีสานในตอนแรก แต่พูดภาษากลางในตอนท้าย รวมถึงฉากเซ็กซี่ของเตย น้องสาวของแตง (มีอยู่ในตัวอย่างหนัง) ที่ไม่มีความจำเป็นต่อเส้นเรื่องใด ๆ เลย ใส่มาให้พอมีอะไรวูบวาบ ๆ แค่นั้นเอง

เอาจริง ๆ ผมรู้สึกนับถือหัวใจของอาแจ๊สสยาม ที่หยิบเอานวนิยายที่สุ่มเสี่ยงเอามาสร้างหนังในแบบที่ว่าสร้างเองแบบไม่ง้อนายทุนนะครับ เพราะไม่ใช่คนทำหนังทุกคนที่จะทำอย่างนี้ได้ รวมถึงการหยิบยกเอานวนิยายที่ตีแผ่เรื่องราวและตั้งคำถามกับศรัทธาของผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธมาสร้างเป็นหนัง แต่ความน่าเสียดายของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ถ้าตัวหนังเองประกาศตัวว่ามีความอิสระ และกล้าที่จะเคลมว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่นายทุนไม่กล้าให้ทำ และเป็นหนังที่โปรโมทว่าเป็นหนังที่ตีแผ่ศาสนาพุทธและความเชื่อ (แบบงมงาย) ของพุทธศาสนิกชนไทย อย่างที่นวนิยายเคยทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากในสังคมได้แล้ว ตัวหนังก็น่าจะมีความกล้าหาญมากพอที่จะหยิบจับเรื่องศาสนามาขยี้และตีแผ่อย่างจริงจังกว่านี้ ทั้งการกระทำปาราชิกของพระสงฆ์ ตั้งแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ การกุเรื่อง “พระกินคน” เพื่อหลอกชาวบ้านให้กลัวเพื่อหวังเงินทำบุญ หรือเรื่องของ “คนกินคน” อย่างการเสพเมถุน และความงมงายของคนที่เชื่อในการทำบุญเพื่อหวังผลชาติหน้า มากกว่าการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้บังเกิดผลในชาตินี้ รวมไปถึงเรื่องราวข้าง ๆ อย่างเรื่องของฆราวาสที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบและเห็นแก่ตัว พร้อมที่จะทำลายความเป็นมนุษย์เพื่อเข้าฉกฉวยครอบงำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้เป็นเพียงการเล่าทั้งสองเส้นเรื่องเพียงแตะผ่าน ๆ และหนังก็จบลงกันแบบดื้อ ๆ เหมือนจะสรุปแต่ก็ไม่สรุป ราวกับว่าคนดูคง (น่าจะ) รู้อยู่แล้ว (ละมั้ง) ว่าเกิดอะไรขึ้น และ (น่าจะ) รู้ว่าใครเป็นคนทำ (แล้วละมั้ง) ถ้างั้นก็ อ่ะ รีบจบแบบทิ้ง ๆ เลยแล้วกัน เป็นการจบที่เซอร์มาก ๆ เพราะตัวหนังเองก็ไม่พยายามขมวดปมหรือพยายามสรุปอะไรสักอย่างเพื่อที่จะดึงไปสู่การสรุปจบที่แท้จริงอย่างที่หนังควรจะเป็นเลย เป็นเพียงการเล่าเรื่องเพื่มขึ้น ๆ แล้วก็จบไป

และถ้าหากอันตรายของงูคือการมีพิษ หนังเรื่องนี้ก็มีอันตรายในส่วนของงานด้านภาพ ถ้าหากว่าหนังเรื่อง Life of Pi (2012) ของอั้ง ลี่ คือหนังที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานด้าน Color Correction (การปรับสีฟุตเตจหนังให้เป็นธรรมชาติ และแก้ไขสีภาพที่บกพร่องให้สมบูรณ์) และ Color Grading (การเกลี่ยสีภาพให้ตรงกับมู้ดแอนด์โทนที่เหมาะสมกับตัวหนัง) จนออกมาสวยสดงดงามเหนือจริง หนังเรื่องนี้ก็คืออะไรที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวหนังนั้นผิดพลาดอย่างร้ายแรงกับงานด้านภาพอยู่หลายประการ ตั้งแต่การถ่ายภาพที่ใช้มุมภาพแคบในแบบที่จะว่าจะสร้างบรรยากาศความอึดอัดแบบฟิล์มนัวร์ก็ไม่น่าจะใช่ (เพราะว่ามันแคบกันทั้งเรื่องเลยจ้า) อาการหลุดโฟกัสทั้งบางส่วนของภาพ และเบลอทั้งภาพในบางช็อต และการพยายามใช้ Focus Pulling ในแบบที่ไม่แคร์เวิลด์ คือภาพในเฟรมเดียวกัน แต่นึกจะเบลอตรงไหนก็เบลอ อยากชัดตรงไหนก็ชัด การถ่ายฉากกลางคืนที่ถ้าหลุดจากแหล่งแสง เช่นไฟฉายหรือตะเกียง ก็คือมืดทั้งจอ

รวมทั้งการพยายาม Grading ภาพจนหนังกลายเป็นหนังสีตุ่น ๆ ที่ไม่สวยเอาเสียเลย มุมกล้องที่ส่ายวืดวาดจนเวียนหัวในฉากต่อยมวยไทย รวมถึงความโป๊ะแตกของหนังอย่างที่สุดก็คือ ไฟล์ภาพแตกและเกรนขึ้นเกือบทั้งเรื่องในแบบที่ให้อภัยไม่ได้จริง ๆ แถมยังมีเรื่องภาพกราฟิกและซีจีที่ปราศจากความเหมือนจริงใด ๆ เช่นการแต่งภาพทิวทัศน์บ้านนาให้เพี้ยนจนเกินคำว่าสวย ซีจีไฟและควันจากเชิงตะกอนเผาศพ ควันจากกระบอกปืน และแน่นอนว่าต้องมีซีจีงูเห่า ที่ดูยังไงก็ปลอม รวมไปถึงการเอาคลิปจากเว็บ Video Stock ท้องฟ้าที่โคตรจะไม่เข้ากันกับฟุตเตจอย่างแรงมาใช้ ซึ่งทั้งหมดที่ผมสาธยายมานี้ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า งานด้านภาพของหนังเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ๆ ซึ่งส่งผลทำให้การดูหนังเรื่องนี้เป็นไปอย่างทรมานสายตาแบบสุด ๆ เป็นหนังที่ทำให้ผมรู้สึกตาลายได้ทันทีที่ออกจากโรง คือถ้าดูตัวอย่างหนังในจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ก็คงไม่เห็นอะไรหรอกครับ แต่พอมันขึ้นจอหนังใหญ่ ๆ มันเลยพ่นพิษจนทำให้สายตาของผมต้องทำงานหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นกับหนังเรื่องไหนมาก่อน

สรุป ถ้าจะหวังว่าจะได้ดูหนังตีแผ่ ล้วงลูก ล้วงลึกความโสมมของศาสนาพุทธแบบไทย ๆ ก็คงต้องลดความหวังลงมาหน่อย เพราะตัวหนังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการนี้ ไม่ได้ปรับเรื่องราวและพัฒนาจากหนังสือเพื่อเล่าเรื่องประเด็นนี้ อย่างที่ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือนิยายควรจะเป็น แต่เป็นการหยิบเอาหนังสือมา “อ่าน” ให้ฟังและทำท่าแสดงไปด้วยเพียงเท่านั้น ส่วนงานด้านภาพนั้น ผมขอเตือนด้วยความปรารถนาดี สำหรับใครที่อยากจะไปพบกับประสบการณ์ทรมานสายตาเหมือนกับผม แนะนำว่า ก่อนไปควรพักผ่อนเยอะ ๆ กินอาหารบำรุงสายตา ระหว่างดูก็หมั่นพักสายตาเป็นระยะ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าดูรอบดึก ถ้าปกติเป็นคนตาแห้ง ก็อย่าลืมพกน้ำตาเทียมไปด้วย เชื่อว่าน่าจะทำให้ดูหนังเรื่องนี้ได้โดยไม่ตาลายซะก่อน

*ภาพยนตร์เข้าฉาย 2 มกราคม 2563 ที่โรงภาพยนตร์ในเครือ SF เท่านั้น 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส