อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีใหม่แล้ว แถมในปีนี้นอกจากจะย่างเข้าศักราชใหม่แล้ว ยังเข้าสู่ทศวรรษใหม่อีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นการข้ามปีที่มีความสำคัญมาก ๆ เลย

และในช่วงปลายปีแบบนี้ก็เป็นเวลาอันดีที่เราจะได้ย้อนกลับไปทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ดู ได้ฟัง ได้ประสบพบมาตลอดช่วงหนึ่งปีที่กำลังจะพ้นผ่าน สำหรับบทความเกี่ยวกับเพลงของ What The Fact ในช่วงท้ายปีเราก็จะมีสรุปสุดยอดผลงานมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน ดูสิว่ามีผลงานไหนเป็นผลงานโดนใจเหมือนกันกับเพื่อน ๆ บ้าง สำหรับลิสต์แรกในอันดับแห่งปี ขอเริ่มที่ “บทเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี” และ “อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี” แล้วกันนะครับ โดยขอเป็นอย่างละ 5 อันดับ จะเป็นเพลงไหน อัลบั้มไหนบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ


“บทเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี”

 

5. The Lion King – “Spirit”

อีกหนึ่งบทเพลงดีงามจากดิสนีย์ในปีนี้ ที่ก็น่าจะเป็นตัวเต็งเข้าชิงสาขา Best Original Song จากเวทีออสการ์ ด้วยเช่นกัน มันคือส่วนผสมอันลงตัวระหว่างห้วงอารมณ์ดรามาเปี่ยมอารมณ์แบบเพลงดิสนีย์ เสียงร้องเปี่ยมเสน่ห์ในกลิ่นอาร์แอนด์บีของขุ่นแม่ Beyonce และกลิ่นอายของดนตรีแอฟริกันรวมไปถึงเสียงขับขานภาษาสวาฮีลีในตอนต้นเพลง ยิ่งเพิ่มเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ให้กับบทเพลงนี้ ผนวกด้วยความหมายของเพลงที่เป็นการปลุกพลังใจให้เรามองฟ้าอันกว้างไกลและแสงทองที่ส่องลงมาขับจิตวิญญาณอันเร่าร้อนภายใน ให้เป็นแรงพลังในการก้าวเดินต่อไป ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมเปี่ยมไปด้วยพลังใจ สมแล้วที่จะเป็นบทเพลงอันยอดเยี่ยมแห่งปีนี้

Play video


4. Frozen II – “Into the Unknown”

หลังจากความสำเร็จของ “Let It Go” ในภาคก่อนที่ไปไกลจนได้รับรางวัล Best Original Song จากเวทีออสการ์มาแล้ว กลับมาภาคนี้ก็ยังมี “Into the Unknown” ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเต็งในปีนี้ที่จะเข้าชิงรางวัลในสาขานี้เช่นเดียวกัน เพลงนี้จับเอาคนที่ให้เสียงเอลซ่า  อีดิน่า เมนเซล (Idina Menzel)  มาฟีเจอริ่งกับ นางพราย AURORA ที่มาร้องท่อนสุดหวิว “อ้า อา อ้า อา” ทั้งเพลงแค่นี้เลย แต่ผลที่ได้คือดีสุด ๆ ไม่ใช่ว่า AURORA ร้องแค่นี้ดีแล้ว แต่ต้องชมว่าเธอมาแค่นี้แต่มันทำให้เพลงนี้มีความน่าขนลุกและมีพลังสุด ๆ เสียงของ AURORA เป็นตัวแทนของเสียงเพรียกอันลึกลับที่จะกล่อมใจให้หลุดไหลไปในความพ่ายแพ้ แต่เอลซ่าก็ได้แสดงพลังด้วยการเอาชนะมันและปลดปล่อยพลังใจไปด้วยเสียงทรงพลังจาก อีดิน่า เมนเซล ที่โหมไปพร้อมกับการบรรเลงจากออร์เคสตราที่พาใจเราฟูฟ่อง ฟังเพลงนี้แล้วอยากจะออกวิ่ง พุ่งทะยานไปไกล ๆ เลย (แต่ไปไหนก็ไม่รู้นะ Into The Unknown เลย 555)

ซึ่งหากมาเปรียบกับเวอร์ชันของเกาหลีที่แทยอนแห่ง girls generation ร้องนั้น มันจะมีความแตกต่างกันเลย ในเวอร์ชันแทยอนเธอจะร้องหมดทุกท่อนทั้งท่อนร้องปกติและท่อนร้อง “อ้า อา อ้า อา” ที่ในเวอร์ชันต้นฉบับเป็นเสียงของ AURORA มันทำให้ขาดกิมมิคของการต่อสู้กันระหว่างเสียงเพรียกหลอนร้ายจากภายนอกกับเสียงร้องอันเข้มแข็งจากภายใน ซึ่งเวอร์ชันดั้งเดิมนี้ถือว่าคิดมาดีและลงตัวมากแล้ว

Play video


3. Doraemon Nobita’s Chronicle of the Moon Exploration – THE GIFT

ชอบเพลงนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง รู้สึกว่ามันไม่เหมือนเพลงประกอบโดราเอม่อนเรื่องอื่น มันไปไกลจาก “อั๊ง อัง อัง” เยอะเลย นั่นคือความคลาสสิกที่ต้องยกไว้ ส่วนเพลงนี้มันคือความร่วมสมัยที่งดงาม ท่วงทำนองของเพลงมันละมุนไปด้วยความรัก ความผูกพัน ความคิดถึงและความทรงจำที่งดงาม มันเหมาะแล้วที่จะอยู่กับการ์ตูนที่เป็นเพื่อนในวัยเด็กของเรา (และยังคบหาสมาคมกันจนมาถึงทุกวันนี้) ถึงแม้อารมณ์เพลงมันจะชวนให้รู้สึกเหมือนเป็นการร่วมร่างกันของ Tears in Heaven ของ Eric Clapton กับ How Deep Is Your Love ของ Bee Gees รวมไปถึงกลิ่นอายของเพลงพอปฝรั่งในยุคอดีตก็เถอะ แต่ด้วยเหตุปัจจัยนี้ล่ะมันทำให้เพลงโดราเอม่อนเวอร์ชันนี้ของฮิราอิ ได เป็นอะไรที่ชวนน่าหลงใหลและทำให้เราหวนกลับไปคิดถึงคืนวันเก่า ๆ อย่างช่วยไม่ได้ ฟังไปฟังมาก็พาลน้ำตาจะไหลเอา

Play video


2. Weathering With You – Is There Still Anything That Love Can Do?

ปีนี้เราให้เพลงประกอบจากแอนิเมชันเรื่องเยี่ยมของ ชินไค มาโคโตะ “Weathering With You” ได้ทั้งเพลงแห่งปี และ ดนตรีประกอบแห่งปี ต้องยกความดีให้ Radwimps ที่เคยร่วมงานกับชินไคมาตั้งแต่เรื่องก่อนคือ “Your Name” ซึ่งน่าประทับใจมาก และคราวนี้พวกเขาก็ยังรักษามาตรฐานไว้ได้อยู่ แถมเอาจริง ๆ มันยกระดับเข้าไปอีก หากจะให้ยกเพลงจากอัลบั้มนี้มาหนึ่งเพลง Is There Still Anything That Love Can Do? นี่ล่ะคือตัวอย่างที่ดีเลย มันมีท่วงทำนองที่เรียงร้อยมาดีแล้ว และผสานเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับจังหวะจะโคนในแอนิเมชัน เพลงญี่ปุ่นเนี่ยถ้าพูดถึงเมโลดี้แล้วมันหายห่วงเลย มันสวยงาม ไพเราะ น่าประทับใจ และเพลงนี้มันมีแรงขับแบบเดียวกับที่หนังมี คือพอเวลาเราฟังแล้วมันพาเราลอยได้ ลอยได้เหมือนตัวละครในเรื่องเลย เป็นแบบนั้นเลย งดงามจริง ๆ ครับ

Play video


1.ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – ทิ้งแต่เก็บ

มีความรู้สึกอยากให้เพลงไทยติดอันดับสักหนึ่งเพลง เลยลองมานั่งนึกดูว่าที่ผ่านมาในปีนี้ประทับใจเพลงไหนบ้าง จนมาวิ้งกับ “ทิ้งแต่เก็บ” ของ The Toys ที่แต่งให้กับเต๋อ นวพลในหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง ฯ ซึ่งหนังจะฉายวันที่ 26 นี้ ถึงแม้จะยังไม่ได้ดูตัวหนัง และยังไม่รู้ว่าเพลงจะทำงานอย่างไรในหนัง เพียงแค่เพลงที่ปล่อยออกมา เราก็รู้สึกว่าอยากยกตำแหน่งเพลงแห่งปีให้กับเพลงนี้แล้ว หนึ่งเลยเพลงมันมีเสน่ห์ด้วยความเรียบง่าย จากปลายนิ้วที่พรมลงไปบนเปียโน แผ่นหวาน เปลี่ยวเหงา แบบเดียวกันกับที่เพลงประกอบหนังหรือซีรีส์เกาหลีดี ๆ จะมอบให้กับเราได้ แถมยังมีทรัมเป็ตโซโล่พ่วงเข้ามาเพิ่มความเหงาลึกให้กับบทเพลงเข้าไปอีก ทีเด็ดอีกอย่างอยู่ที่การตีความของนาย ทอย ที่ให้คำตอบของการทิ้งครั้งนี้ไว้ว่า “ทิ้งเอาไว้ที่เดิม” ซึ่งนั่นมันก็แปลว่า “เก็บ” นั่นล่ะ เป็นการเล่นคำได้อย่างลุ่มลึก แถมยังสะท้อนสภาวะโหยหาอดีตและความอยาก​”กักเก็บ” ความทรงจำของมนุษย์ได้อย่างเข้าถึงใจ เชื่อเลยว่าในชีวิตของใครต่อใคร คงมีหลายสิ่งที่อยากทิ้งไว้…ที่เดิม หรือ “ทิ้ง…แต่…เก็บ” นั่นล่ะ

Play video

 


“อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี”

6. Ford v Ferrari (Marco Beltrami & Buck Sanders)

จริง ๆ ตอนแรกจะจัดมาแค่ 5 อันดับแต่รู้สึกว่าตัดใจทิ้งอัลบั้มนี้ไม่ได้เลยจริง ๆ เลยขอห้อยไว้เป็นอันดับที่ 6 นะครับ รู้สึกประทับใจตั้งแต่ตอนที่ได้ฟัง “Le Mans 66” รู้สึกว่ามันมีความเร่าร้อนรุนแรง ยังไงบอกไม่ถูก ชอบการเรียบเรียงดนตรีที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนรถแข่ง ท่วงทำนองแบบดนตรีร็อกที่ผสานไปกับความเท่จากเมโลดี้ของเครื่องเป่า และเสียงกีตาร์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเราได้ยินเสียงรถกำลังเร่งเครื่อง อารมณ์เพลงเหมือนจับเอาเจมส์ บอนด์ย้ายจากขับ Aston Martin ไปนั่งขับ Formula-1 ยังไงยังงั้น รายละเอียดดนตรีเยอะมาก ฟังดูแล้วเหมือนมันจะรกนะ มีเสียงนู่นนี่เต็มไปหมด แต่เรียบเรียงและมิกซ์ออกมาได้สบายหูเลย มันไม่มั่วไม่พันกัน แถมในช่วงท้ายเพลงไลน์กีตาร์ยังพาใจผ่อนคลายอีกต่างหาก งงมากว่าเร่าร้อนขนาดนี้จบลงแบบนิ่ม ๆ ได้ยังไง ลงตัวสุด ๆ ส่วนเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มมันก็มีความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป อย่าง “Wide View” นี่ก็เพลงแอมเบียนต์ดี ๆ เลย ส่วน “Driving In The Rain” นี่ก็โดดเด่นด้วยเครื่องเคาะทั้งหลาย แถมยังรักษาคอนเซ็ปต์ด้วยการใส่เสียงเหมือนรถแข่งวิ่งเข้ามาอีกต่างหาก หรือ “Ferrari Factory” นี่ก็แจ๊สมาเลย อัลบั้มนี้วาไรตี้มาก แต่นี่ล่ะคือจุดดีที่ทำให้มันฟังเพลินสุด ๆ

Play video


5. Ad Astra (Max Richter)

แม็กซ์ ริคเตอร์ (Max Richter) คือนักแต่งเพลงสายมินิมอลและแอมเบียนต์ที่มีผลงานอันน่าประทับใจ และเขาได้มอบสัมผัสทางเสียงสุดสงบงันอันล้ำลึกให้กับห้วงอารมณ์อันเวิ้งว้างของ Ad Astra ในขณะที่บทเพลงของริคเตอร์สะท้อนภาพการเดินทางอันเวิ้งว้างในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ไร้ที่สิ้นสุด มันก็ได้สะท้อนความถวิลหาภายในอันไร้จุดจบด้วยเช่นกัน เสียงดนตรีของเขามีทั้งความเศร้าและความหวังอยู่ภายในขับกล่อมห้วงอารมณ์ของความรักและการสูญเสียได้อย่างเข้าถึงหัวใจ งดงามมาก ๆ ครับ

Play video


4. Hope Frozen (Chapavich Temnitikul)

ถ้าทางฝั่งตะวันตกมี Ad Astra ทางฝั่งไทยก็มี Hope Frozen ของ ฟิว ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและชื่อเสียงขจรไกล ที่เคยสร้างผลงานที่น่าประทับใจเอาไว้ใน “มะลิลา”  เราโชคดีที่มีโอกาสได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ ที่หาดูได้ยากยิ่ง เราได้ฟังเพลงประกอบอัลบั้มนี้ก่อนที่จะไปดูหนัง ซึ่งถ้าฟังแยกออกมาเราอาจมองว่ามันคืออัลบั้มเพลงมินิมอล แอมเบียนต์ชั้นดีอัลบั้มหนึ่งได้เลย แต่เมื่อมันไปอยู่ในหนังมันก็ทำงานได้งดงามนัก เป็นแรงกระเพื่อมทางอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวอันน่าทึ่ง สะเทือนใจ ชวนขบคิดทำความเข้าใจ  และน่าประทับใจ บทเพลงของฟิว คือ สิ่งที่วางอยู่บนทวิภาวะในหลายระดับในด้านอารมณ์มันมีความเศร้าก็แต่แฝงไว้ด้วยความหวัง ในด้านรายละเอียดดนตรีมันมีส่วนผสมระหว่างเครื่องดนตรีจริงและซาวด์สังเคราะห์อิเล็กทรอนิก สะท้อนแก่นของหนังอันว่าด้วยการมาพบกันระหว่างความเชื่อในเรื่องของวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ ส่งผลให้เกิดความงดงามทั้งตัวหนังและตัวเพลงจริง ๆ หากอยากหาอัลบั้มเพลงประกอบดี ๆ ผมขอแนะนำอัลบั้มนี้จากใจเลยครับ

Play video


3. Us (Michael Abels)

ภาพยนตร์เรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ตอนที่ได้ชมและได้ฟังเพลงประกอบรู้สึกเลยว่านี่จะต้องเป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงประกอบที่น่าประทับใจของปีนี้ ผลงานจาก ไมเคิล อาเบลส์ (Michael Abels) ที่เคยมอบความหลอนไว้ตั้งแต่ใน “Get Out” ผลงานจากผู้กำกับคนเดียวกัน “จอร์แดน พีล”  ถึงแม้อาเบลส์จะทำงานเพลงหนังมาไม่มาก แต่จากผลงานสองชิ้นที่เขาทำกับพีล ต้องบอกว่าเขาได้สร้างเสียงแห่งความหลอนที่น่าประทับใจมาก สมแล้วที่สปีลเบิร์กแนะนำพี่เค้ามาให้กับพีล โดยเชื่อว่าจะเข้าขากันเหมือนตัวเองกับจอห์น วิลเลียม อาเบลส์ต่อยอดความหลอนจากสไตล์ “Gospel Horror” ใน Get Out มาสู่เสียงสะท้อนแห่งตัวตนสองด้าน งานเพลงนี้จึงมีลักษณะทวิภาวะอันเข้ากันกับแก่นของหนัง หนึ่งเลยมันสะท้อนความรวดร้าวหลอนลึกของฝั่ง “เงา” แต่อีกด้านมันก็สะท้อนความหวาดกลัว สับสน ของฝั่งมนุษย์ โดยที่บทเพลงของอาเบลส์ไม่ได้หยิบยื่นให้แต่ความหวาดกลัว แต่มันกลับมอบความรู้สึกที่จับต้องได้ราวรับความเข้าอกเข้าใจที่มีให้กับตัวละครทั้งสองฝั่ง ในแง่ของความสร้างสรรค์อาเบลส์ทำได้แปลกใหม่น่าสนใจอย่างในเพลง “Anthem” ที่ใส่ท่อนร้องไม่เป็นภาษาจากนักร้องประสานเสียงเด็ก สร้างสัมผัสอันเย็นเยียบขึ้นมาทันที ก่อนที่อารมณ์ค่อย ๆ โหมเข้ามา เสียงเคาะกรุ้งกริ้ง จังหวะของกลอง เสียงร้องประสานของผู้ใหญ่  และเสียงเครื่องสาย ใส่เข้ามาจนเราต้องร้องในใจว่ากลัวแล้วจ้าาา

Play video


2.Weathering With You – RADWIMPS

การได้ฟังอัลบั้มเพลงประกอบแอนิเมชันเรื่องเยี่ยมเรื่องล่าสุดจากชินไค มาโคโตะอย่าง “Weathering With You” ที่รังสรรค์โดย RADWIMPS นั้นเป็นอะไรที่อิ่มเอมใจสุด ๆ  บทเพลงของพวกเขาสะท้อนภาพของท้องฟ้า  สายลม แสงตะวัน ดวงไฟ สายฝน เรื่องราวความรัก ความผูกพันอันงดงาม โรแมนติกและแฟนตาซีในงานของชินไค มาโคโตะได้เป็นอย่างดี แต่ละบทเพลงสอดรับกับภาพและห้วงอารมณ์ของเรื่องราวได้อย่างแนบสนิทกัน เมื่อภาพของสองตัวละครล่องลอยขึ้นไปบนฟ้าท่ามกลางแสงตะวันเจิดจ้า ดนตรีก็พาใจเราลอยไปในห้วงอารมณ์สุดประทับใจด้วยเช่นกัน แถมยังเติมความแปลกใหม่ด้วยการให้นักแสดงสาว “โทโกะ มิอุระ” (Toko Miura) มาถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงร้องแสนหวานสุดไพเราะในบทเพลง Grand Escape และ Celebration ยิ่งทำให้บทเพลงจากแอนิเมชันเรื่องนี้มีความบริบูรณ์อิ่มเอมและครอบคลุมความรู้สึกจากทั้งสองตัวละครหลักของเรื่อง บทเพลงจากอัลบั้มนี้ได้มอบความอบอุ่นจากแสงตะวันอันเจิดจ้าให้ตกลงมากระทบที่ใจของเรา อบอุ่นและอิ่มเอมใจดีแท้

Play video


1.Joker (Hildur Guonadottir) / Chernobyl (Hildur Guonadottir)

ที่ยกมาทั้งสองอัลบั้มเลยก็เพราะว่ามันเป็นผลงานจากศิลปินคนเดียวกันคือ “Hildur Guðnadóttir” นักดนตรีและนักแต่งเพลงสาวชาวไอซ์แลนด์ พอพูดถึงงานดนตรีในภูมิภาคนี้เราจะต้องนึกถึงสุ้มเสียงของความเหน็บหนาว เปลี่ยวเหงา ลุ่มลึกเข้าไปถึงจิตใจ เช่นที่เราได้ยินจากเพลงของ Sigor Ros

“Hildur Guðnadóttir” ได้ใช้เสียงอันหม่นเศร้าของเชลโล่สะท้อนผ่านห้วงอารมณ์ของเรื่องราวออกมาได้อย่างถึงแก่น อย่างในกรณีของ Joker เธอได้ทำหน้าที่ในการชักพาเสียงจากภายจิตใจของอาร์เธอร์ เฟล็กออกมาให้พวกเราได้รับรู้ว่ามันรวดร้าวรุนแรงมากแค่ไหน ยิ่งน่าประทับใจเมื่อรู้ว่าบทเพลงของเธอเป็นส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดฉากเต้นในห้องน้ำของโจ๊กเกอร์ เพราะว่าผู้กำกับเอามันไปเปิดในฉากแล้ววาคีนก็ร่ายรำมันสด ๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลย นี่คือตัวอย่างหนึ่งว่าเพลงนี้มันทำหน้าที่กับหนังและอารมณ์ของเราได้ดีแค่ไหน ส่วนในกรณีของมินิซีรีส์เรื่อง Chernobyl ของทาง HBO  ที่มีรางวัล Emmy การันตีอยู่แล้ว วีรกรรมที่เธอทำก็เช่นไปบันทึกเสียงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดตัวไปแล้วและแปรเปลี่ยนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กลายเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดนตรีประกอบของเธอคือส่วนสำคัญที่ทำให้ซีรีส์เรื่องเยี่ยมเรื่องนี้เป็นที่น่าจดจำ

Play video

Play video

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส