ทางฝั่งเพลงสากลปี 2019 ที่เพิ่งผ่านมานี้ถือว่ามีความคึกคักมากมาย มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมีนัยยะสำคัญหากดูจากลิสต์ “ที่สุดอัลบั้มเพลงสากลแห่งปี” ที่เราได้จัดไว้จะเห็นว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นศิลปินหญิง คงจะต้องบอกว่าปีที่ผ่านมานี่เป็นปีแห่ง “พลังหญิง” จริง ๆ ไม่ใช่เพราะว่าเราอยากเอาใจ แต่ผลงานของพวกเธอนั้นมันได้ใจ โดนใจ และเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์จริง ๆ คงต้องบอกว่าปี 2019 นับเป็นปีทองของศิลปินหญิงเลยทีเดียวเชียวล่ะ

ส่วนที่ลิสต์นี้ต้องมี 11 เหตุผลไม่มีอะไรมาก แค่ว่าปี 2019 นั้นมีแต่อัลบั้มดี ๆ มันตัดใจไม่ได้จริง ๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับว่ามีอัลบั้มไหนของศิลปินคนใดบ้าง

 


“IGOR” – Tylor , The Creator


นี่คืออัลบั้มที่น่าสนใจที่มีการใช้ตัวละครสมมติมาเป็นแรงบันดาลใจในอัลบั้ม “Igor” อัลบั้มที่ห้าของแรปเปอร์ชาวอเมริกันนายไทเลอร์ ผู้รังสรรค์ (Tyler, the Creator) ได้นำเอาตัวละคร “Igor” ตัวละครโกธิคผู้ช่วยวายร้ายมาถ่ายทอดอารมณ์ด้านมืดฝั่งดาร์กของไทเลอร์ผู้เจ็บช้ำแต่ยังคงถวิลในรักอันร้างลาจากคนรักเก่า ทำให้งานเพลงในอัลบั้ม “Igor” เป็นบทเพลงโรแมนติกแต่ไม่ได้เศร้าหรือซึ้งแบบเฝือ ๆ แต่เจือไปด้วยคอนเซปต์และแนวคิดที่น่าสนใจ พร้อมลูกล่อลูกชนในงานดนตรีที่ทำให้มันมีมิติ

แถมงานนี้ยังมีผองเพื่อนนักดนตรีมาปาร์ตี้กันในอัลบั้มนี้เพียบทั้ง Playboi Carti, Lil Uzi Vert, Solange, Kanye West, Jerrod Carmichael, Santigold, Jessy Wilson, La Roux, CeeLo Green, Charlie Wilson, Slowthai, และ Pharrell Williams ซึ่งต้องชื่นชมว่านายไทเลอร์นั้นจัดสรรบทบาทของผองเพื่อนได้เป็นอย่างดีและช่วยสร้างสีสันให้กับอัลบั้มนี้ได้ดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Solange Knowles ที่มอบอารมณ์ลอยฟุ้งด้วยการฮัมในเพลง I THINK , I DON’T LOVE YOU ANYMORE รวมไปถึงไอดอลของไทเลอร์อย่าง Kanye West และ Pharrell Williams ที่เหมือนแวะมาให้นายไทเลอร์ได้คารวะและเจิมอะไรลงไปในอัลบั้มนี้เสียหน่อย

อัลบั้มนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี อย่าง “Eartquake” ซิงเกิลนำของอัลบั้มนี้ก็ไต่ไปถึงอันดับ 13 ของบิลบอร์ดชาร์ต แถมอัลบั้มนี้ยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีของปี 2020 ในสาขาอัลบั้มแรปด้วยนะ มันคือส่วนผสมทางดนตรีที่ลงตัวระหว่าง R&B ฟังก์ และ แรป แถมยังมีส่วนผสมของซินธ์อย่างจัดจ้านท่ามกลางเมโลดี้แบบนีโอโซลและเสียงร้องผสมออโตจูน เหมือนไทเลอร์จะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไรเลยพูดสรุปสั้น ๆ พร้อมวิธีการฟังเพลงในอัลบั้มนี้ที่เขาลงแรงกายแรงใจเขียนเนื้อ เรียบเรียงและโปรดิวซ์ด้วยตัวเองทั้งหมดนี้ว่า “อย่าคาดหวังว่านี่จะเป็นอัลบั้มเพลงแรป อย่าคาดหวังอะไรทั้งนั้น อย่ากดข้ามเพลง อย่าให้สิ่งใดมารบกวน อย่าเล่นโทรศัพท์มือถือ อย่าคุยกับใคร อย่าดูทีวี จงตั้งใจฟังให้ดี ตั้งใจฟังความเห็นของคิด ตั้งใจฟังความรู้สึกของคุณที่มีต่ออัลบั้มนี้”

Play video

 


“Anima” – Thom Yorke


“Anima” เป็นงานเดี่ยวชุดที่สามจาก Thom Yorke แห่งวง Radiohead  คำว่า “Anima” มีที่มาจากแนวคิดของนักจิตวิทยานาม “คาร์ล ยุง” ที่กล่าวถึงตัวตนอันแท้จริงภายในของบุคคล ซึ่งเปิดเผยตัวตนของมันผ่านทาง “ความฝัน”  ซึ่ง ธอม ได้นำมันมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานเพลงชิ้นนี้ ที่สะท้อนโลกภายในอันกอปรด้วยความกังวล สับสน หวาดกลัว กึ่งจริงกึ่งฝัน และนำเสนอออกมาในแนวคิดเหนือจินตนาการ

“Anima” เป็นงานเพลงที่ขับเคลื่อนด้วยท่วงทำนองของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อันสะท้อนภาพของโลกในอนาคตที่ฉายฉานเงาของมันมายังโลกในปัจจุบัน งานเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้อยู่ในระดับที่ฟังได้ดี มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ให้เราค่อย ๆ ฟังไป แต่มีอยู่เพลงหนึ่งซึ่งน่าจะฟังกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นนักฟังสายแข็งหรือไม่ นั่นก็คือเพลง “Dawn Chorus” บทเพลงที่คละเคล้าไปด้วยอารมณ์ทั้งหลายที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมี ความโหยหา ความกังวล สับสน ความหลงใหลและความเศร้าสร้อย มันคือบทเพลงที่น่าจำจดที่สุดของอัลบั้มนี้ ที่จะทำให้วันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปแล้วคนจะจดจำ “Anima” ได้ว่า อ๋อ มันคืออัลบั้มที่มีเพลง “Dawn Chorus” อยู่นั่นไง

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อฟังเพลงในอัลบั้มนี้แล้ว อย่าลืมดูหนังสั้นเรื่อง “Anima” ที่กำกับโดย พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่นำเอาเพลงสามเพลงจากอัลบั้มคือ “Not The News” , “Traffic” และแน่นอน “Dawn Chorus” ไปใช้ประกอบในหนัง ทั้งงานเพลงงานภาพ งานออกแบบท่าเต้น ทุกองค์ประกอบล้วนแล้วแต่พาให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

Play video


This Is How You SmileHelado Negro


“This is how you smile” เป็นอัลบั้มชุดที่หกหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นชุดที่พีคที่สุดเลยขอ  Helado Negro  หรือ Roberto Carlos Lange ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายเอกวาดอร์ที่เพิ่มความลุ่มลึกลงไปทั้งในการเขียนเพลงและจักรวาลแห่งดนตรีซินธ์โฟล์คของเขา จนออกมาเป็นผลงานอันเหนือชั้นและสามารถใช้คำว่า​“มาสเตอร์พีซ” กับมันได้เลย

ชื่ออัลบั้มนั้นมีที่มาจากเรื่องสั้นชื่อ  “Girl” ของ Jamaica Kincaid นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสาย  Antiguan โดยมาจากช่วงหนึ่งของเรื่องสั้นที่ตัวละครแม่กำลังสอนลูกสาวถึงการเป็นผู้หญิงที่ “ดูแลตัวเองได้” เช่นว่า​“นี่คือวิธีที่เราใช้กวาดบ้านทั้งหลัง นี่คือวิธีที่ลูกจะใช้ทำความสะอาดสนาม นี่คือวิธีที่ลูกจะยิ้มให้กับใครก็ตามที่ลูกไม่ชอบเอามาก ๆ และนี่คือวิธีที่ลูกจะยิ้มให้กับใครก็ตามที่ลูกไม่ชอบขี้หน้าเอาซะเลย” ซึ่งตัวผู้เขียนคือ Kincaid นั้นได้เคยกล่าวไว้ว่างานเขียนชิ้นนี้ด้านหนึ่งมันคือการเล่าความสัมพันธ์ของแม่ที่มีต่อลูกแต่ในขณะเดียวกันมันก็พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและที่ที่เขาจากมา” หรือนัยหนึ่งมันกำลังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความมีอำนาจและการไร้ซึ่งอำนาจนั่นเอง

Lange  รู้สึกชอบใจในไอเดียนี้ เขารู้สึกว่างานแบบนี้สามารถถักทอออกมาเป็นอารมณ์เฉพาะตัวของมันได้ อันเป็นสิ่งที่เขาสัมผัสรับรู้ได้จากตอนที่เขาเข้าถึงไอเดียที่ซ่อนไว้เบื้องหลังเรื่องราวนี้ เนื่องด้วยมันเป็นสิ่งที่เขารู้สึกเชื่อมโยงได้จากประสบการณ์และสิ่งที่เขาเป็น ซึ่ง Lange  คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งอันควรค่าในการใช้ถ่ายทอดแนวคิดนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี

งานดนตรีใน “This is how you smile” เกิดจากส่วนผสมทางดนตรีที่หลากหลายทั้ง ทรอปิคอลพอป,  ลาตินพอป, ฟังก์ และโซล ซึ่งในส่วนของเนื้อหาได้พาเราไปแตะต้องกับเรื่องราวส่วนตัวแบบลับเฉพาะทั้งในเรื่องอดีตของเขาและมรดกทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา รวมไปถึงห้วงอารมณ์แห่งความสุขและความเบิกบานใจจากการผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก เช่นการที่เขาเติบโตมาท่ามกลางค่ายผู้อพยพ ยิ่งทำให้งานเพลงชิ้นนี้สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสิ่งที่กระตุ้นและเชื้อเชิญให้เราไปสัมผัสและเรียนรู้ยิ่งนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างการมีอำนาจและการไร้อำนาจถูกคลี่คลายผ่านเรื่องราวและท่วงทำนองในบทเพลงทั้งหลายของอัลบั้มนี้อย่างสุภาพนุ่มนวล เป็นบทเพลงที่ไม่ว่าคนชนชาติไหนก็ควรฟัง เพราะในท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ Helado Negro อยากจะบอกผ่านงานเพลงชิ้นนี้ก็คือ ในตัวของเราทุกคนนั้นมีพลังและศักยภาพซุกซ่อนอยู่เสมอ เป็นเสียงที่จะนำทางเราทั้งหลายไปสู่วันข้างหน้า ขอเพียงว่าให้เราทำจังหวะชีวิตให้เนิบช้าและตั้งใจฟังมันก็เท่านั้นเอง

Play video

 


“I’m Easy To Find” The National


“I’m Easy To Find”  คือ สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 8 จากวงอเมริกันอินดี้ร็อกนาม “The National”  ซึ่งปล่อยออกมาตามหลังอัลบั้มก่อนหน้านี้ คือ Sleep Well Beast(2017) อยู่สองปี นอกจากจะเป็นอัลบั้มที่มีความยาวที่สุดอยู่ที่ 63 นาที แล้วยังอาจกล่าวได้ว่านี่คือเป็นอัลบั้มที่เยี่ยมที่สุด ณ ขณะนี้ของ The National ด้วย

ในอัลบั้มนี้ The National ได้ผู้กำกับมือดี ไมค์ มิลส์ (20th century women) มาร่วมโปรดิวซ์และเขียนเพลงด้วย อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในงานสร้างสรรค์ของอัลบั้มนี้ โดยมิลส์จะทำหนังสั้นความยาว 26 นาทีกว่า นำแสดงโดย อลิเซีย วิกันเดอร์ (The Danish Girl) เค้าคลอไปกับงานเพลงในอัลบั้ม ที่ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ประกอบเพลง หรือเอาเพลงมาประกอบหนัง หากแต่ทั้งสองส่วนเสริมส่งและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ความดีงามอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้อยู่ที่ การได้เสียงร้องจากศิลปินหญิงคุณภาพมากมายที่เลือกสรรมาอย่างดี เพื่อมาเข้าคู่กับเสียงทุ้มนุ่มบาร์ริโทน ของ Matt Berninger ฟรอนต์แมนของวงที่ฟังดูราวกับเป็น เลโอนาร์ด โคเฮนเวอร์ชันอินดี้ร็อกยังไงยังงั้นเลย การที่ได้เสียงร้องของศิลปินหญิงมาทำให้เกิดความสมดุลในงานเพลงของอัลบั้ม ทำให้แต่เดิมจากเสียงทุ้มนุ่มและการร้องราวกับการเอื้อนเอ่ยถ้อยกวีของ Matt นั้นทำให้เรามีความรู้สึกเหมือนฟังคนพูดคนเดียว แต่การที่ได้นักร้องสาวมาร่วมร้องด้วยนั้นทำให้มันกลายเป็น “บทสนทนา” โต้ตอบระหว่างชายหญิง ซึ่งนักร้องหญิงที่มาร่วมงานในครั้งนี้ก็มีทั้ง Lisa Hannigan (เธอคนนี้ล่ะที่เคยฝากเสียงเย็นสะกดใจไว้ในงานของ Damien Rice), Sharon Van Etten, Mina Tindle และ Kate Stables มีแต่เจ็บ ๆ เจ๋ง ๆ ทั้งนั้น และที่เป็นไฮไลต์เลยก็คือ Gail Ann Dorsey ที่เคยร่วมงานกับ David Bowie ในฐานะมือเบสและร้องแบ็กอัป ซึ่งเราจะได้ยินเสียงของเธอจากซิงเกิลแรกของอัลบั้มที่ปล่อยออกมาคือ  “You Had Your Soul with You” อีกทั้งยังมี Brooklyn Youth Chorus กลุ่มนักร้องประสานเสียงเยาวชนจากบรู๊กลินที่ฝากความประทับใจไว้ในบทเพลง “Dust Swirls in Strange Light” อันเป็นไอเดียบรรเจิดจาก ไมค์ มิลส์เอง นอกจากนี้การที่ได้ Carin Besser ภรรยาของ Matt มาร่วมเขียนเนื้อเพลงด้วยยิ่งทำให้มุมมองของอัลบั้มนี้มีความรุ่มรวยอย่างยิ่ง

การรับฟังบทเพลงทั้ง 15 เพลงจากอัลบั้มนี้ (รวมไปถึงชมภาพยนตร์สั้น “I’m Easy To Find” ) ได้มอบประสบการณ์ที่มีค่า ให้เราได้สัมผัสกับช่วงเวลาที่พาเราไปค้นพบค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ในท่วงท่าและลีลาที่สงบล้ำ ลึกซึ้ง งดงาม บนความเรียบง่ายที่น่าประทับใจ เราคงไม่อาจกล่าวได้ว่านี่จะเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของ The National ตลอดไปหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ในวันนี้มันคือ อัลบั้มที่ดีที่สุดจริง ๆ

Play video

 


Beware of the Dogs – Stella Donnelly


อัลบั้ม “Beware of the Dogs” ของ สเตลล่า ดอนเนลลี่ ศิลปินจากเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย คือหนึ่งในอัลบั้มตัวแทนแห่ง “พลังหญิง” ของปี 2019 ที่มาพร้อมดนตรีในสไตล์อินดี้พอปที่หวานแหวว เรียบง่าย ฟังสบาย แต่กลับมาพร้อมเนื้อเพลงแสบ ๆ คัน ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวร่วมสมัยในสังคมได้อย่างเจ็บแสบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรงจากผู้ชาย กฏหมายการทำแท้ง และอีกมากมาย จึงทำให้อัลบั้ม Beware of the Dogs ของเธอเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงไม่ว่าเราจะฟังแค่เอาเพลินทางดนตรี หรือ รับรู้ไปกับเรื่องเล่าสะท้อนสังคมของเธอ อย่างในเพลง “Boys Will Be Boys” ที่เป็นเพลงแจ้งเกิดของเธอนั้นมีเนื้อหาที่ต่อต้านการกระทำรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ที่มาในช่วงเวลาที่กระแส #metoo กำลังครุกรุ่นพอดีด้วย บทเพลงของเธอจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่ดังฟังชัดของผู้หญิงที่ได้รับการกดขี่จากผู้ชายในมิติต่าง ๆ  หรืออย่างเพลงเปิดของอัลบั้มนี้ “Old Man” ก็แสบใช่เล่น ท่วงทำนองของเพลงนี้มาในทีสนุกสนาน แถม MV ก็เป็นแบบนั้น แต่เนื้อหานี่กลับเป็นการประกาศกร้าวแทนผู้หญิงทั้งหลายที่ถูกอำนาจผู้ชายขมขี่ อำนาจที่ถือครองมานานถึงวันต้องสั่นคลอนแล้วคราวนี้  “ลุง” ทั้งหลายหากได้ฟัง คงหนาว ๆ ร้อน ๆ กันบ้าง

Play video

 


When we all fall asleep , Where Do We Go?” – Billie Eilish


อัลบั้มแรกในชีวิตของสาวอินดี้สุดแนว บิลลี อายลิช (Billie Eilish) ที่ปัจจุบันเจ้าตัวเพิ่งจะมีอายุแค่ 18 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่อนาคตไกลของวงการเลยล่ะ และ “When We All Fall Asleep, Where Do We Go?”  นี่ก็สมศักดิ์ศรีแก่การเป็นอัลบั้มแรกของศิลปินสาวคนนี้จริง ๆ เพราะมันได้เปิดเปลือยและสะท้อนตัวตนของเธอออกมาในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะด้านงดงาม แปลกประหลาด  โดดเดี่ยวเปล่าเปลี่ยว เห็นแก่ตัว และการหมกมุ่นครุ่นคิดในตัวตน ผ่านงานดนตรีและภาพลักษณ์ของความเป็นศิลปินพอปในอารมณ์แบบโกธิคเล็ก ๆ อันมีส่วนผสมของความงามและความดาร์กผสานกันไป

ในขณะที่วัยรุ่นทั่วไปมักทำเพลงเกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แต่บิลลี อายลิช กลับทำเพลงที่สะท้อนถึงความหลอกหลอนยามค่ำ การด่ำดิ่งในภาวะหม่นเศร้า ปัญหาการใช้ยา หรือ แม้กระทั่งปัญหาสภาวะอากาศผ่านดนตรีที่มีกลิ่นอายผสมผสานกันหลากหลายตั้งแต่ อัลเทอร์เนทีฟ พอป  ฮิป ฮอป ดั๊บสเตป แถมยังมีการใส่เสียงประหลาด ๆ อย่างเสียงมีดทำครัวของพ่อ สว่านเจาะฟัน อะไรแบบนี้เข้ามาในเพลงด้วย ส่วนการเรียงร้อยถ้อยคำและวิธีการเล่าเรื่องของเธอนั้นเล่าก็เปี่ยมเสน่ห์เหลือ ยิ่งมันถูกเล่าผ่านเสียงกระซิบกระซาบแผ่วราวกับเสียง ASMR ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เธอดูเป็นเด็กสาวผู้มีโลกเร้นลับอันลุ่มลึกที่เชื้อเชิญให้เราอยากเข้าไปสัมผัสเสียเหลือเกิน

Play video

 


“Atlanta Millionaires Club”- Faye Webster


อัลบั้มที่สามจากศิลปินหญิงอัลเทอร์เนทีฟโฟล์ควัย 21 ปี นาม “Faye Webster” ที่มาพร้อมบทเพลงรักเศร้าหวานที่ผสมความพอป, โฟล์ค, อาร์แอนด์บี ผสานเสียงร้องพลิ้วแผ่วหวานและแอบกวนเล็ก ๆ ในเนื้อเสียง ให้เข้ากันอย่างกลมกล่อมเต็มที่ ผ่านเสน่ห์ของเครื่องดนตรีอย่างเปียโนไฟฟ้า กีตาร์เหล็กและฮอร์น

Faye Webster นี่เป็นคนเก่งใช่เล่นนอกจากจะทำงานเพลงแล้ว เธอยังเป็นช่างภาพอีกด้วย โดยภาพสไตล์ที่เธอถ่ายส่วนใหญ่ จะเป็นภาพ portrait ของเหล่าแร็ปเปอร์ที่เธอรู้จัก  Faye เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี อิทธิพลทางดนตรีโฟล์ค, คันทรี่ และบลูกราสถูกส่งผ่านมาทางคุณแม่และคุณตาของเธอ เธอมีอัลบั้มแรกตั้งแต่อายุ 16 ขวบในชื่อ Run & Tell (2013) ที่มาในทางโฟล์คแบบเต็ม ๆ เลย ก่อนที่จะมาเซ็นสัญญากับค่าย Awful Records และปล่อยอัลบั้มที่สองออกมาในปี 2017 โดยใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อของเธอเอง ก่อนจะมาสู่อัลบั้มที่สาม “Atlanta Millionaires Club”

บทเพลงทั้ง 10 จาก “Atlanta Millionaires Club” ถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองความรักในชีวิตของเธอ โดยมีเมือง Atlanta ถิ่นอาศัยเป็นฉากของเรื่องราวในบทเพลงทั้งหมด  “Why won’t you come here to visit? / Why do you only speak of it? / When will you come to Atlanta? / I want to see you here in Atlanta” เธอเอื้อนเอ่ยเพื่อให้คนรักเก่าหวนคืนกลับมายังแอตแลนต้าผ่านท่วงทำนองที่มีลีลาของดนตรีอาร์แอนด์บีในเพลง “Come To Atlanta”

ตรงใจกลางอัลบั้ม ในเพลง “Jonny” เธอส่งสารรักผ่านท่วงทำนองแผ่วหวาน  “Jonny, did you ever love me? / Jonny, help me figure it out” เสียงฮอร์นที่ซึมแทรกผ่านท่วงทำนองอาร์แอนด์บีในเพลงนี้มันช่างบาดใจนัก จากนั้นเธอได้มาสรุปจบในเพลงสุดท้าย “Jonny (Reprise)”  “Jonny, why couldn’t you be ready, too? / I was ready, ready to be happy /  Ready for that long look that never ends/ And, now, I don’t know what to do… Goodbye, Jonny”

ดูเหมือนว่าทุกอย่างในอัลบั้มนี้จะลงตัวเต็มที่แล้ว เพราะ Faye เองก็ปรับแต่งมันจนเรียกว่า “เจ็บ” ได้ใจ เหมือนดังในเพลง “Hurts Me Too” แทร็dนี้ที่เราอยากแนะนำ ด้วยท่วงทำนองเหงาเศร้าหวานบาดใจ ที่จะต้องถูกหูผู้ฟังแน่นอน ในเพลงนี้เธอบอกว่า “And I am done changing words / Just so my songs sound prettier / I just don’t care if it hurts/ ‘Cause it hurts me too”

มั่นใจว่าทั้ง 10 เพลงจาก “Atlanta Millionaires Club” จะเป็นบทเพลงรักที่คุณจะต้องประทับใจและพร้อมเทใจให้เป็นอัลบั้มแห่งปีนี้แน่นอน

Play video

 


“Titanic Rising” – Weyes Blood


นี่คืออัลบั้มที่หลายสำนักในยุทธจักรดนตรี ต่างยกย่องว่ายอดเยี่ยม แต่หากจะให้นิยามว่า “Titanic Rising” ซึ่งเป็นงานเพลงสุดอินดี้อัลบั้มที่สี่จากศิลปินอินดี้สาว  Weyes Blood (ซึ่งมีชื่อจริงว่า Natalie Mering ) นั้นเป็นอย่างไร เรามาดูเธอให้คำตอบดีกว่า ซึ่งเธอบอกว่ามันคือ “The Kinks  ปะทะสงครามโลกครั้งที่สอง Bob Seger ปะทะ Enya” นี่มันอะไรกันเนี่ย ?

คงต้องบอกว่างานเพลงชุดนี้แจ่มจรัสมาก  แรกสุดเลยคือน้ำเสียงของเธอที่ชวนให้เราคิดถึงศิลปินหญิงผู้ลุ่มลึกในห้วงอารมณ์อันน่าลุ่มหลงอย่าง   Kate Bush , Joni Mitchell  หรือ Julia Holter ได้เมื่อแรกฟังเลยทีเดียว ส่วนในด้านดนตรีนั้น  “Titanic Rising” ได้ก้าวไกลไปกว่างานเพลงในอัลบั้มก่อน ๆ ด้วยองค์ประกอบที่มีความ cinematic ขึ้น ลุ่มลึกและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อันละเอียดอ่อน หนักแน่นแต่ชวนหวามไหว ซึ่งเธอตั้งใจให้เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้กระตุ้นให้ผู้คนครุ่นคิดถึงความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายที่พวกเรากำลังประสบอยู่แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องประกอบไปด้วยความรู้สึกของการมีอยู่ ความหวังและจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งเธอหวังว่าเราจะยิ้มได้แม้ในช่วงเวลาที่เลวร้าย และรู้สึกขอบคุณให้กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะ “ชีวิตยังคงสวยงาม” (นี่มันเพลง Bodyslam นี่ 555)

หากอยากรู้ว่า Weyes Blood ทุ่มเทให้กับการทำงานเพลงชิ้นนี้ขนาดไหน ดูแค่ปกอัลบั้มก็น่าจะเข้าใจ เพราะเธอเล่นจัดเซ็ตฉากเป็นห้องนอนที่ตกแต่งไว้สวยงามเรียบร้อย แล้วปล่อยน้ำเข้าไปจนเต็ม พร้อมเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย แถมยังมีผ้าม่านปลิวพลิ้วและแสงส่องสว่างใสมาจากหน้าต่างสร้างบรรยากาศที่ชวนฝันและฉงนฉงายไปในคราวเดียวกัน อีกทั้งชวนให้นึกถึงเรือไททานิคที่จมลงไปใต้ท้องน้ำ แถมเข้าคอนเซปต์ของงานเพลงที่พูดถึงการมีแสงสว่างสดใสในยามประสบปัญหาใหญ่ในชีวิตอีกด้วย  มันช่างลุ่มลึกและสุดล้ำเหนือจินตนาการจริง ๆ (ซึ่งความทุ่มเทและละเอียดอ่อนนี่ยังลามไปถึงการทำ MV ที่ต้อง 4K เท่านั้นด้วยแถมยังได้อารมณ์ ได้รสชาติราวกับชมภาพยนตร์สั้นดี ๆ)

Play video

 


Magdalene FKA Twigs


Magdalene คืออัลบั้มที่สองของนักร้องนักแต่งเพลงสาวชาวอังกฤษ “FKA TWIGS” อดีตหวานใจของแวมไพร์หน้าใส “โรเบิร์ต แพตทินสัน” ซึ่งเธอได้เปลี่ยนความช้ำจากรักล่มให้กลายเป็นแรงบันดาลใจในอัลบั้ม ”Magdalene” นี้

“ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าความปวดใจมันจะทำร้ายฉันได้ขนาดนี้ ฉันไม่เคยคิดเลยว่าร่างกายของฉันจะหยุดทำงานจนถึงจุดที่ฉันไม่สามารถแสดงออกทางร่างกายในวิถีทางที่ฉันรัก ฉันได้ฝึกตัวฉันให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ฉันก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในเวลานี้ ฉันไม่มีทางเลือกนอกจากต้องหยุดทุกขั้นตอน แต่กระบวนการในการทำอัลบั้มนี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้ฉันพบความเห็นอกเห็นใจในตนเมื่อฉันอยู่ในความอับอายสับสนและแตกหักที่สุด ฉันหยุดตัดสินตัวเองและในเวลานั้นฉันก็พบความหวังใน “แม็กดาลีน” ฉันขอขอบคุณเธอตลอดไป”

แมรี แม็กดาลีน คือหญิงสาวปริศนาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภรรยาของพระเยซู เธอถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจและตัวละครสมมติในเรื่องเล่าผ่านห้วงอารมณ์และดนตรีในอัลบั้ม ” Magdalene” นี้ที่หลอมรวมหลากหลายแนวดนตรีให้กลายเป็นศิลปะแขนงใหม่ ที่ละเอียดอ่อนละมุนละไมและงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความล้ำอันเข้มข้นไปด้วยอารมณ์

“MAGDALENE” คืองานที่ก้าวไกลไปกว่างานชิ้นใดของ FKA TWIGS มันคือสมดุลระหว่างความล้ำและนวัตกรรมทดลองทางดนตรีที่เธอเคยทำมา กับการเล่าเรื่องถ่ายทอดอารมณ์ที่มีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความดีเด่นของงานในอัลบั้มนี้ก็คือนอกจากมันได้พาเราไกลในเส้นทางดนตรี ทลายทุกขอบเขตจำกัดกั้นแต่ในขณะเดียวกันมันก็เข้ามาจับข้างในจิตใจ ที่ไม่ว่าใคร ๆ ได้ฟังก็สามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์สามัญของความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง

อย่างในเพลง “Cellophane” บทเพลงที่เธอถ่ายทอดความรักที่ไม่สมหวัง ที่ถึงแม้เธอพยายามจะกอบกู้มันเท่าไหร่ มันก็ไม่มีวันหวนคืนกลับมาดังเดิม ผ่านท่วงทำนองดนตรีเปียโนบัลลาดที่มีเครื่องสายและบีตบอกซ์เบา ๆ ผสานเสียงร้องสูงลึกพาใจไปสู่ห้วงอารมณ์เศร้าอันเร้นลับ มันคือบทเพลงที่เปิดเปลือยความรู้สึกของเธอออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม

Play video

 


“Punk” – Chai


พวกเธอคือผู้นิยามความน่ารักในแบบฉบับใหม่ ที่พวกเธอเรียกว่า NEO-KAWAII ผ่านงานดนตรีพอป สดใส แปลกใหม่และเปี่ยมไปด้วยพลัง พลังแห่ง “ความเป็นตัวของตัวเอง” อันลุกโชน

ในขณะที่อุตสาหกรรมความบันเทิงของญี่ปุ่น (และทั่วโลก) ต่างมุ่งไปที่ความน่ารัก อันเป็นมาตรฐาน เป็นคาวาอี้ขยี้ใจ แต่ CHAI กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สมาชิกทั้งสี่  คู่ฝาแฝด Mana (ร้องนำ/คีย์บอร์ด) และ Kana (กีตาร์), Yuki (เบส), และ Yuna (กลอง)  กลับนิยามความน่ารักแบบใหม่ ที่เปล่งพลังความสดใสออกจากภายใน งานดนตรีของพวกเธอมี ความเป็นตัวของตัวเองแบบไม่ง้อใคร ในบางครั้งหลายคนอาจยี้ใส่ และเมินมันได้ง่าย ๆ แต่หากลองหยุดสักนิดและคิดที่จะฟังเพลงของพวกเธอสักหน่อย เราอาจได้เห็นความงามจริงแท้ที่มันซ่อนอยู่ในนั้น เฉกเช่นเดียวกันกับตัวตนของพวกเธอ

“Punk” เป็นอัลบั้มที่สองต่อจาก “Pink” ชื่ออัลบั้มนั้นไม่ได้จะสื่อว่าพวกเธอทำเพลงแนวพังก์ แต่คำว่า “Punk” ของพวกเธอมันคือขบถ มันคือการแปลกแหวกแนว ไม่อยู่กับกรอบและความซ้ำซากจำเจ ในอัลบั้มนี้จะมีเพลงที่ฟังง่ายเป็นอินดี้พอปที่เก๋ไก๋ ไพเราะโดนใจอยู่สองเพลง คือ “It’s Me” กับ “Wintime”  ที่ทำให้เรารู้ว่าพวกเธอก็ทำเพลงเข้าหู โดนใจแบบนี้ได้ แต่จนแล้วจนรอด พวกเธอก็ไม่ยอมอยู่กับกรอบใด ๆ หากเราเดินทางผ่านบทเพลงของพวกเธอต่อไป จะพบกับความเซอร์ และความหลากหลายอีกมากมายที่รอเราอยู่

และจะบอกว่าวงนี้แสดงสดได้น่าประทับใจมากจากการได้ชมพวกเธอแสดงใน “Maho Rasop Festival 2019” ที่ผ่านมา ซึ่งมันไม่ได้มันส์ระเบิดระเบ้ออะไรนัก แต่ด้วยความน่ารักในแบบฉบับของพวกเธอ ผนวกด้วยการออกแบบโชว์ที่น่ารักมีเอกลักษณ์ทำให้เสน่ห์ NEO-KAWAII สะกดใจของผู้ชมได้ราวต้องมนต์เลยล่ะ

Play video

 


“Norman Fucking Rockwell!” – Lana Del Ray


“Norman Fucking Rockwell!” สตูดิโออัลบั้มจากนักร้องนักแต่งเพลงสาวเสียงหวานเศร้า ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey) เป็นอัลบั้มที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างฮือฮาและต่างยกย่องว่านี่คืออัลบั้มพอปสุดคลาสสิคของเดล เรย์ซึ่งได้แจ็ค อันโตนอฟฟ์ (Jack Antonoff) ที่เคยโปรดิวซ์ให้ Lorde (อัลบั้ม Melodrama) และ Taylor Swift (อัลบั้ม 1989 และ Reputation) มาโปรดิวซ์ให้ จึงอาจบอกได้ว่าแจ็คคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อัลบั้มนี้มีความลงตัวและสดใหม่อย่างยิ่ง

งานดนตรีในอัลบั้มนี้ของเดล เรย์มีส่วนผสมของดนตรีซอฟต์ร็อก ไซคีเดลิกร็อก และ เปียโนบัลลาดอันมีกลิ่นอายอย่างแรงกล้าของงานดนตรีในคลาสสิกร็อกในทศวรรษที่ 70s อาทิ “Cinnamon Girl” ของ Neil Young “Houses of The Holy” ของ Led Zeppelin รวมไปถึง The Eagles และนักร้องนักแต่งเพลงหญิงระดับตำนานอย่าง Joni MItchell

ทีเด็ดอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือปกที่เดล เรย์ปรากฏตัวพร้อมกับ ดุ๊ก นิโคลสัน (Duke Nicholson) หลานชายของนักแสดงดัง แจ็ก นิโคลสัน มาโพสต์ท่าเก๋ ๆ บนเรือใบโดยใช้สไตล์จากอเมริกันคอมิก ส่วนภาพปกนั้นถ่ายโดย ช่างภาพ ผู้กำกับ และนักแสดงสาว แคโรไลน์ แกรนต์ หรือ ชัค แกรนต์ (Chock Grant) ซึ่งเป็นน้องสาวของเดล เรย์ นั่นเอง

Norman Fucking Rockwell! คือความลงตัวอย่างงดงามระหว่างงานดนตรีที่มีพื้นเป็นพอปแต่เติมสีสันทางดนตรีที่หลากหลายเข้าไป ทำให้แต่ละบทเพลงในอัลบั้มนี้ต่างมีเสน่ห์อย่างงดงาม ท่ามกลางเสียงอันหวานเศร้าของเดล เรย์ นอกจากนี้การเขียนเพลงเชิงกวีที่เรียงร้อยถ้อยคำได้งดงาม ลงตัว และมีชั้นเชิงของเธอก็ยังทำได้ดีมากจนได้รับการยกย่องว่าเธอเป็น “นักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะปัจจุบัน” Norman Fucking Rockwell! คืองานเพลงพอปคลาสสิกอันเชื่อมโยงวัฒนธรรมพอป, สังคม, การเมือง และวิถีของชาวอเมริกันให้เข้ากันไปได้กับความสัมพันธ์ของมนุษย์ เสมือนงานของ Norman Rockwell ที่สะท้อนภาพของชาวอเมริกันที่สัมผัสและจับต้องเข้าถึงได้ จนอัลบั้มนี้อาจกลายเป็นมาสเตอร์พีซของเดล เรย์ ในที่สุด มันได้เข้าชิงอัลบั้มแห่งปีจากแกรมมี่อวอร์ดครั้งที่ 62 ในขณะที่ไตเติลแทร็กอย่าง Norman Fucking Rockwell ได้เข้าชิงสาขาบทเพลงแห่งปี

Norman Fucking Rockwell  เปิดหัวเพลงมาด้วยท่อนสุดอื้มมม “Goddamn, man-child You fucked me so good that I almost said “I love you”” มันคือบทเพลงที่เธอพูดถึงผู้ชายที่ไม่รู้จักโตและไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไป ทำให้เธอแค่ “เกือบ” จะรัก แต่บางสิ่งที่เขาเป็นกลับทำเธอ “เศร้า” เสียก่อน “’Cause you’re just a man /It’s just what you do /Your head in your hands /As you color me blue”  ชื่อของเพลงนี้เดล เรย์ได้แรงบันดาลใจมาจาก “Norman Rockwell” ศิลปินอเมริกันนักวาดภาพประกอบแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งเธอบอกว่าเขาคือ “ศิลปินอัจฉริยะ” โดยในเนื้อเพลงพูดถึงการที่เธอถูกทาให้เป็นสีฟ้า สีฟ้านั้นหมายถึงความ “เศร้า”  ซึ่งมันถูกใช้ในบริบทนี้ในเพลง “Venice Bitch” ด้วย

“Venice Bitch” คือเพลงโฟล์คร็อกและไซคีเดลิกพอปที่มีความยาวกว่า 9 นาที 36 วินาที เป็นบทเพลงที่ยาวที่สุดของเดล เรย์ มันคือส่วนผสมอันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีบัลลาดแห่งห้วงรักอันวาบหวามของหนุ่มสาวและท่วงทำนองดนตรีอเมริกานาอันมีส่วนประกอบของเสียงอะคูสติกกีตาร์และเครื่องสาย ก่อนที่จะผันกลายไปสู่ไซคีเดลิคพอปสุดเข้มข้นที่พาเราดำดิ่งในห้วงอารมณ์ไปจนจบเพลง

บทเพลงทั้งหลายในอัลบั้มนี้ได้ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งชัวโมงกว่าที่เราได้รับจาก Norman Fucking Rockwell! เหมือนการได้ชมภาพยนตร์ดี ๆ เรื่องหนึ่งทั้งเพลิดเพลิน เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ มีการเล่าเรื่องและชั้นเชิงที่น่าสนใจดึงความสนใจเราไปได้จนสุดทางจริง ๆ

Play video

 

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส