“Low” เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของเดวิด โบวี (David Bowie) ซึ่งออกกับทาง RCA Records เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2520

“Low” บันทึกเสียงหลังจากโบวีย้ายไปเบอร์ลินตะวันตกหลังจากประสบปัญหาติดยาเสพติดและรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในจิตใจ  “Low”  เป็นหนึ่งในสามอัลบั้มที่โบวีร่วมงานกับโปรดิวเซอร์มือฉมัง ไบรอัน อีโน (Brian Eno) มือคีย์บอร์ดจากวง Roxy Music ผู้บุกเบิกงานดนตรีแนวแอมเบียนต์ และ โทนี วิสคอนติ (Tony Visconti) โดยมีอีกสองอัลบั้มตามมาคือ Heroes (1977) และ Lodger (1979))ซึ่งอัลบั้มทั้งสามนี้ถูกขนานนามว่า “ไตรภาคแห่งเบอร์ลิน”

ถึงแม้โบวีจะอยู่ที่เบอร์ลินแต่งานเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้กลับมีการบันทึกเสียงกันที่ Château d’Hérouville ในฝรั่งเศส และถือได้ว่าอัลบั้มนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางดนตรีของโบวีไปสู่งานดนตรีที่ผสมผสานความเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกและแอมเบียนต์ซึ่งจะถูกพัฒนาต่อไปในอัลบั้ม “Heroes” (1977) และ Lodger (1979)

Château d’Hérouville

 

โบวีกำลังอัดเสียงอยู่ที่ Château d’Hérouville เครดิต: Marie Claude Magne

งานเพลงในอัลบั้ม Low ได้รับแรงบันดาลใจจากวงการเพลงเยอรมันโดยเฉพาะวง Tangerine Dream, Cluster , Kraftwerk และ Neu!  โบวีเริ่มให้ความสนใจกับวงดนตรีเหล่านี้ตั้งแต่ตอนที่ร่วมงานกันกับ Iggy Pop ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาที่มีชื่อว่า The Idiot  แนวคิดของงานเพลงชุดนี้เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่โบวีแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง “The Man Who Fell To Earth” ภาพยนตร์ไซ-ไฟจากปี 1976 ผลงานการกำกับของ Nicolas Roeg ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์สยองขวัญอันลือลั่นเรื่อง “Don’t Look Now” ที่ในตอนนั้นโบวีตั้งใจจะทำเพลงใหม่เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้  แต่สุดท้ายมันก็ได้กลายมาเป็นอัลบั้มใหม่ของเขาแทน (ภาพปกของอัลบั้ม “Low” จะเป็นภาพโบวีหันข้างซึ่งมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “The Man Who Fell To Earth” นั่นเอง)

Play video

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “The Man Who Fell To Earth”

งานเพลงในอัลบั้ม Low จะแบ่งออกเป็นสองส่วนที่มีความแตกต่างกัน side A จะเป็นเพลงสั้น ๆ ในแนว avant-pop ส่วน side B จะเป็นเพลงบรรเลงที่มีความความยาวกว่าและมีห้วงอารมณ์แบบดนตรีแอมเบียนต์ที่เน้นบรรยากาศอันล่องลอย ล้ำลึก ราวกับมาจากซาวนด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ไซ-ไฟสุดล้ำลึกสักเรื่อง ภาพปกงานชิ้นนี้สื่อถึงแนวคิดของอัลบั้มได้เป็นอย่างดี เราเห็นโบวีได้เพียงด้านเดียวจากการหันข้างของเขา แต่อีกด้านที่ถูกซ่อนไว้กลับมีเสน่ห์อย่างล้นเหลือและขับเน้นให้ตัวตนในภาพรวมของเขาอย่างโดดเด่นเป็นสง่า เฉกเช่นที่งานดนตรีอันมหัศจรรย์ในหน้า B ได้เสริมส่งงานดนตรีในหน้า A ทำให้ “Low” คือตัวตนของโบวีที่สะท้อนออกมาได้อย่างงดงาม เราพบว่างานหน้า A นั้นฟังเพลินดีแถมยังมีความล้ำ ส่วนงานหน้า B นั้นพาใจเราดำดิ่งไปในห้วงอารมณ์อันล้ำลึกและมหัศจรรย์กระตุ้นจินตนาการผู้ฟังอย่างเราให้เพลิดเพลินและก้าวไกล อย่าง “Subterraneans” แทร็กปิดอัลบั้มนั้นก็สุดมหัศจรรย์เมื่องานดนตรีแอมเบียนต์ อิเล็กทรอนิก มาผสานเข้ากับกลิ่นอายของแจ๊สมันช่างงดงาม ล่องลอย และชวนจิตใจจินตนาการไกลไปในห้วงของดนตรีอย่างไม่มีขีดจำกัด

Play video

นอกจากนี้ทั้ง 4 บทเพลงจากหน้า Bยังถ่ายทอดเรื่องราวและห้วงอารมณ์ของเยอรมันในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี “Warszawa” เป็นเรื่องเกี่ยวกับวอร์ซอว์และบรรยากาศเยือกเย็นที่โบวีได้รับจากเมืองนี้ “Art Decade” สื่อถึงเบอร์ลินตะวันตก  เมืองที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ศิลปะและวัฒนธรรมโดยไร้ซึ่งความหวังใด “Weeping Wall” เป็นเรื่องเกี่ยวกับกำแพงเบอร์ลินและความหดหู่ของมัน ส่วน “Subterraneans” นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกจับได้ในเบอร์ลินตะวันออกหลังจากที่ชาวเยอรมันถูกแยกออกจากกัน เสียงแซ็กโซโฟนแจ๊สผะแผ่วจึงเป็นเสมือนตัวแทนของความทรงจำและความรู้สึกโหยไห้ในช่วงเวลานั้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในงานดนตรีของอัลบั้มนี้คืออิทธิพลของแนวดนตรีที่เรียกว่า “Kosmische Musik” อันเป็นดนตรีแนวทดลองสไตล์มินิมอลที่มีความหลอนล้ำสะกดจิตสะกดใจ ซึ่งต่อมาสื่ออังกฤษในยุค 70s ได้เรียกมันว่า “Krautrock”

ดนตรีแนวนี้ได้ก่อกำเนิดขึ้นในเยอรมันตะวันตกโดยมีช่วงพัฒนาการในยุค 60s-70s ซึ่งมีปัจจัยมาจากสภาวะล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยอรมันพ่ายแพ้และล่มสลายทั้งทางจิตใจและเศรษฐกิจ ในตอนนั้นกลุ่มนักดนตรีร็อกในเยอรมันได้หาวิธีที่จะถ่ายทอดความรู้สึกที่มีออกมา Edgar Froese แห่งวง Tangerine Dream ผู้เป็นหนึ่งในแนวหน้าของดนตรีแนวนี้ได้เคยพูดไว้อย่างน่าสนใจในสารคดีของ BBC เรื่อง “Krautrock: The Rebirth of Germany” ไว้ว่า

“ชาวเยอรมันอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก คุณไม่สามารถลืมมันได้เลย กับความโง่เขลาและความผิดบาปจากการเป็นผู้ก่อสงครามถึงสองครั้งสองครา ในความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันยังมีจุดดีอยู่หนึ่งจุด ยกโทษให้ผมด้วยที่ผมพูดแบบนี้นะ จุดนี้ที่ว่านั่นก็คือ เราไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว เราสูญเสียทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อเราคิดถึงการทำดนตรีในรูปแบบที่แตกต่าง มันจึงมีเพียงรูปแบบเดียวนั่นคือ รูปแบบที่อิสระ รูปแบบอันเป็นนามธรรมนั่นเอง”

ด้วยเหตุนี้งานดนตรีในแนว “Krautrock” จึงผสมผสานไว้ด้วยกลิ่นอายของไซคีเดลิคร็อก ดนตรีอิเล็กทรอนิก และ อิทธิพลจากศิลปะแนว avant-garde โดยหนีห่างจากโครงสร้างดนตรีร็อกในรูปแบบดั้งเดิมที่พัฒนามาจากดนตรีบลูส์และโครงสร้างดนตรีร็อกแบบอเมริกัน และแทนที่มันด้วยท่วงทำนองหลอนล้ำและสุ้มเสียงอันเปี่ยมสีสันและล้ำสมัยของซินธิไซเซอร์ โดยมี Neu!, Can, Faust, Kraftwerk, Cluster, Ash Ra Tempel, Popol Vuh, Amon Düül II, Tangerine Dream, และ Harmonia เป็นผู้แผ้วถางเส้นทางแห่งดนตรีในแนวนี้

เดวิด โบวีเคยให้สัมภาษณ์ถึงความหลงในงานดนตรีของ “Kraftwerk” ไว้ว่า “สิ่งที่ผมหลงใหลในคราฟต์เวิร์กคือความมุ่งมั่นเฉพาะตัวของพวกเขาที่จะแยกออกจากทางเดินคอร์ดแบบอเมริกันแบบที่นิยมทำกันและโอบกอดด้วยความรู้สึกของชาวยุโรปเอาไว้แล้วแสดงมันออกมาผ่านทางดนตรีของพวกเขา…งานของผมคือการถ่ายทอดงานดนตรีที่มีการแสดงออกทางอารมณ์และบรรยากาศโดยมีตัวเอก (ตัวผมเอง) ที่ละทิ้งตัวเองจากแนวคิดของความเป็นสมัยนิยมและควบคุมชีวิตตนเองให้น้อยที่สุดหรือปราศจากการควบคุมเสียเลย” และเพื่อให้แนวคิดของเขาปรากฏเห็นเป็นรูปธรรมเดวิด โบวีจึงเชื้อเชิญให้ Brian Eno มาชี้แนะแนวทางและพาเข้าไปสู่ห้วงแห่งดนตรีที่เขาได้จินตนาการถึงนั่นเอง

เดวิด โบวี

 

ไบรอัน อีโน

ในตอนแรก RCA ปฏิเสธที่จะปล่อยอัลบั้มนี้และดองไว้เป็นเวลากว่าสามเดือนเพราะกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้ก็แซงหน้าความสำเร็จของอัลบั้มก่อนหน้าที่มีชื่อว่า “Station to Station” (1976) โดยไต่ขึ้นไปถึงอันดับ 2 ในชาร์ตเพลงของสหราชอาณาจักร ในทศวรรษถัดมา Low ได้รับยกย่องว่าเป็นงานเพลงที่ “มาก่อนกาล” และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดของโบวี และมักปรากฏอยู่ในลิสต์ของ “อัลบั้มที่ดีที่สุด” ของสำนักต่าง ๆ รวมไปถึงสายแข็งอย่าง “Pitchfork” ที่จัดอันดับให้อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มอันดับ 1 ในลิสต์ 100 อัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งยุค 70s อีกทั้งยังให้อัลบั้มนี้มีคะแนนเต็ม “10” ซึ่งหากใครติดตาม Pitchfork จะรู้ว่าการให้คะแนนนั้นโหดหินแค่ไหน ซึ่งการที่ได้เต็ม 10 นั้นย่อมเป็นการการันตีว่าอัลบั้มนั้นเป็นอัลบั้ม “ระดับเทพ” อย่างแน่นอน  แค่นี้ยังไม่พอ “Low” ยังติดอันดับ 14 ของ100 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของอังกฤษ และก็เป็นอันดับที่ 14 เช่นกันในลิสต์อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของ NME นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งใน 500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของ Rolling Stone อีกด้วย

วันนี้อัลบั้ม “Low” ของเดวิด โบวี มีอายุ 43 ปีแล้ว แต่ยังล้ำหน้า โดดเด่น เป็นสง่าและยืนหยัดเหนือกาลเวลาได้อย่างงดงามอยู่เลย.

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส