(บทความนี้เรียบเรียงจาก “ป๋าเต็ดทอล์ก SS.2” เรื่องสำคัญที่ ‘ป๋าเต็ด’ อยากคุยกับผู้ชมทุกคน | FINAL EP. PART1 |)

หลังจากที่ “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” ได้สัมภาษณ์ศิลปินในวงการดนตรีมามากมายในรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ทั้งสองซีซัน นี่คือครั้งแรกที่ป๋าเต็ดจะหันหน้าออกมาเจอกับผู้ชม และเล่าเรื่องถึง “เรื่องสำคัญ” นั่นก็คือเรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิด เจตนา และเป้าหมายที่แท้จริงของรายการนี้ด้วยตัวของเขาเองบ้าง

“สวัสดีครับ ผมยุทธนา บุญอ้อมนะครับ”

“ทั้งซีซัน 1 และซีซัน 2 ที่ผ่านไป ผมยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณผู้ชมเลย ก็เพราะว่าแต่ละตอนเราก็จะพูดคุยกับศิลปินที่เชิญมา เนื่องในโอกาสที่ซีซัน 2 ที่เพิ่งจบลงไป และกำลังจะเริ่มต้นซีซัน 3

ก็เลยถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาพูดคุยกันสักครั้งหนึ่ง เดี๋ยวต่อไปเมื่อขึ้นซีซัน 3 จะได้ติดตามกันอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น แม้กระทั่งการจะย้อนกลับไปดูซีซัน 1 และซีซัน 2 ก็อาจจะดูด้วยมุมมองที่ต่างออกไป”

เรื่องสำคัญลำดับที่ 1 – จุดเริ่มต้นของ “ป๋าเต็ดทอล์ก”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ป๋าเต็ดได้ให้สัมภาษณ์ใน Suthichai Live ของคุณสุทธิชัย หยุ่น เกี่ยวกับชีวิตในด้านงานสื่อสารมวลชน และเรื่องสุขภาพของป๋าเต็ดอย่างที่เราทราบข่าวกันดี ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น คุณสุทธิชัยถามป๋าเต็ดถึงเรื่องของ “ความฝันในบั้นปลายชีวิต” ซึ่งป๋าเต็ดนึกถึงเมื่อคราวที่เขาได้ตอบคำถามเดียวกันนี้ กับนักข่าวเมื่อครั้งที่เขายังเป็นดีเจที่คลื่น Hot Wave เมื่อราว ๆ 20-30 ปีก่อนว่า

“ผมอยากมีบ้านริมทะเลที่มีห้องจัดรายการ แล้วก็นั่งจัดรายการที่บ้าน นั่งจัดรายการวิทยุแล้วก็ส่งรายการไปที่ไหนก็ได้”

ในช่วงประมาณยุค 80’s ถึง 90’s ความฝันแบบที่ป๋าเต็ดอยากได้นั้นออกจะเกินฝัน และเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ในวันนี้ วันที่เขาตอบคำถามของคุณสุทธิชัยที่เขาชื่นชมและเคารพในฐานะสื่อสารมวลชนรุ่นบุกเบิก เขานึกถึงบ้านของเขาที่ปราณบุรี และก็นั่งจัดรายการจากที่ไหนก็ได้ เขาพบความเป็นไปได้ว่า “เฮ้ย มันไม่ได้ยากขนาดนั้นนี่หว่า จริง ๆ เราทำได้แล้วนี่หว่า” ด้วยความสะดวกสบายของเครื่องมือไม่ว่าจะ Facebook และ YouTube ซึ่งนั่นเป็นจุดประกายครั้งแรกที่ทำให้เขารู้สึกว่า ทำไมไม่ทำรายการอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ความฝันที่เขาเคยพูดไว้ในอดีต (ที่น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้จริง) เสียที

“เฮ้ย เรามีรายการเป็นของตัวเองได้ง่ายมาก”

ป๋าเต็ดเล่าว่าเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วที่ Hot Wave เขามีหน้าที่สัมภาษณ์ศิลปินที่กำลังจะมีอัลบั้มใหม่เกือบทุกคนในวงการในช่วงของเขาเองที่ชื่อว่า “เปิดอัลบั้ม” รูปแบบของรายการคือ ถ้ามีอัลบั้มจะวางแผงวันพรุ่งนี้ ในรายการวันนี้คือการเปิดอัลบั้มให้ฟังกันก่อนทั้งอัลบั้มเป็นการรีวิว ก่อนที่จะตัดสินใจว่าพรุ่งนี้จะไปซื้ออัลบั้มหรือไม่ซื้อ ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ทำให้เขาได้สัมภาษณ์ศิลปินเกือบทุกคนที่ออกอัลบั้มในยุคนั้น ทำให้เขาเข้าใจถึงความเป็นมาของแต่ละอัลบั้ม วิธีคิดของแต่ละศิลปิน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน ที่แม้เขาจะทำเทศกาลดนตรี แต่เขาก็ไม่ได้รู้จักศิลปินมากนัก รู้แต่เพียงว่าวงนี้ดัง วงนี้คนชอบเยอะก็เอามาเล่น

วง “ละอ่อน” วงดนตรีจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย วงดนตรีชนะเลิศการประกวด Hot Wave Music Award ซึ่งในปัจจุบันคือวง “บอดี้สแลม”

โจอี้ บอย กับอัลบั้ม Bangkok (2541)

เจ เจตริน วรรธนะสิน กับอัลบั้ม J-Day (2541)

โลโซ ในช่วงอัลบั้ม Loso Entertainment (2541)

สินเจริญ บราเธอร์ส

โมเดิร์นด็อก กับอัลบั้ม “คาเฟ่” (2540)

Pause กับอัลบั้ม “Evo. & Nova” (2541)

โลโซ และ FLY

Silly Fools

ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์

อัสนี – วสันต์ กับอัลบั้ม “บางอ้อ” (2540)

เขาอยากรู้สิ่งที่ลึกกว่านั้น ว่าความเป็นมาของเขาเป็นอย่างไร และเขาเป็นคนอย่างไร

“ผมอยากทำความรู้จักกับพวกเขามากกว่านั้น”

เรื่องสำคัญลำดับที่ 2 – ทำไมเราต้องรู้จักมากกว่านั้น?

สิ่งที่ป๋าเต็ดรู้สึกอย่างหนึ่งคือ “คนเราควรจะเข้าใจกันมากขึ้น” เพราะมีอะไรหลาย ๆ เรื่องในบ้านเราที่ทำให้รู้สึกว่าคนไทยบางคน อาจสับสนกับความหมายของคำสองคำ นั่นคือคำว่า

“เข้าใจ” กับ “เข้าข้าง”

“คือบางทีเราจะเข้าใจ เราก็ต้องเข้าข้างเขาด้วย ซึ่งมันไม่จริง หรือถ้าเราไม่เข้าข้างเขา แล้วเราต้องไม่เข้าใจเขา ซึ่งนั่นก็ไม่จริงเข้าไปใหญ่เลย

“แม้ว่าสองคำนี้จะเป็นคำที่ต่างกัน แต่มันอยู่ด้วยกันได้นะครับ เราสามารถไม่เข้าข้างคนที่เราเข้าใจก็ได้ ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจก่อน ว่าทำไมเขาถึงคิดไม่เหมือนเรา เข้าใจว่าทำไมเขาทำเพลงที่เราไ่ม่ชอบเลย ทำไมเขาแต่งเพลงในแบบที่เราจะไม่มีทางฟังเป็นอันขาด หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ได้”

ด้วยประเด็นที่เขาอยากให้เกิดความ “เข้าใจ” ที่ถูกควรขึ้นในสังคม และประกอบกับเขามีความรู้สึกว่าพอจะมีความเชี่ยวชาญและความถนัดในการพูดคุยเพื่อขุดคุ้ยความเข้าใจออกมา และยิ่งถ้าสามารถทำรายการที่ทำให้คนเราสามารถเข้าใจกันมากขึ้น สามารถเข้าใจได้แม้แต่กระทั่งคนที่ไม่รู้จัก หรือคนที่เราไม่ได้เห็นด้วย น่าจะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ และได้บทเรียนอะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้บ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของรายการที่เขาเรียกว่าเป็น “การสนทนาเชิงลึก” หรือว่า “Deep Conversation” ในชื่อว่า “ป๋าเต็ดทอล์ก”

เขายังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า รายการวางตัวให้เป็นรายการที่คุยลึกเข้าไปถึงที่มา แรงบันดาลใจ เหตุผลที่เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เหตุผลที่เขาเลือกแบบนี้ เขาไม่เลือกแบบนั้น เหตุผลที่เขาชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจ และตัดสินใจเลือกเอง ว่าจะทำอะไรกับความเข้าใจนั้นที่ได้มาจากการพูดคุย

เรื่องสำคัญลำดับที่ 3 – เข้าใจเพื่อก้าวข้าม “ความกลัว”

ในความคิดของป๋าเต็ด ความกลัวเกิดจากความไม่รู้และความไม่เข้าใจ ความกลัวนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ได้อยู่บนหลักของสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง และทำให้ตัดสินใจผิด ๆ ตลอด ยกตัวอย่างเช่นในสมัยโบราณ คนไม่รู้ว่าไฟคืออะไร แล้วคนก็จะกลัวไฟ ยกให้ไฟเป็นเทพเจ้า แต่เมื่อรู้ว่าไฟเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เรารู้วิธีก่อไฟ รู้วิธีควบคุมไฟ รู้ว่าไฟมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาจนถึงทุกวันนี้ เราก็จะไม่กลัว

หรือถ้าเรานอนอยู่ในคืนวันที่ฝนตกหนัก เห็นลมพัดข้างหน้าต่าง และเห็นเงา เราก็นึกว่าผี แล้วก็กลัว เพราะว่าเราไม่กล้าที่จะทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่ข้างหน้าต่างนั้น แต่ถ้าเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าลมพัดแรงเพราะว่าฝนตกหนัก ต้นไม้ที่อยู่ใต้หน้าต่างมีลมพัด แล้วไฟจากข้างถนนพาดผ่านเข้ามาก็เลยเห็นเป็นเงาของต้นไม้ เราก็จะรู้ว่าไม่ใช่ผี แต่มันคือต้นไม้นั่นเอง เราก็จะไม่กลัว และเราก็จะตัดสินใจอะไรได้อย่างถูกต้อง นอนหลับฝันดี

“นั่นคือเหตุผลที่ผมอยากทำรายการที่ก่อให้เกิด “ความเข้าใจ” โดยเฉพาะเข้าใจคนที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ค่อยชอบ
หรือมีความรู้เกี่ยวกับตัวเขาน้อยมาก”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ป๋าเต็ดทอล์ก ซีซันที่ 1 เลือกที่จะพูดคุยกับศิลปินฮิปฮอปรุ่นใหม่ที่กำลังมีชื่อเสียงและดังมาก ๆ ในยุคนั้น (จนถึงขนาดที่ Big Mountain Music Festival ปีที่แล้ว ต้องทำเวทีฮิปฮอปขึ้นมาโดยเฉพาะ และคนมาดูกันล้นหลาม) แม้ว่าเขาจะรู้ว่าศิลปินฮิปฮอปเหล่านี้ดังมาก ๆ แต่เขาก็อยากจะรู้จากปากของพวกเขาเองว่า เขาเป็นใคร มาจากไหน แล้วทำไมเขาถึงดัง เขาถึงตัดสินใจแต่งเพลงแต่ละเพลงด้วยเหตุผลอะไร ทำไมเขาถึงเลือกใช้วิธีการร้องแบบนี้ ทำไมเขาถึงใช้วิธีการร้องแบบนี้ ซึ่งหลายอย่างเขาก็ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่แค่ยังไม่เข้าใจเฉย ๆ เขาจึงเริ่มต้นสัมภาษณ์ศิลปินฮิปฮอปเหล่านั้นใน “ป๋าเต็ดทอล์ก ซีซัน 1” เพื่อที่เขาหวังว่า ตัวของเขาเองและคนดู จะได้ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

แต่แม้ว่าเขาจะได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศิลปินฮิปฮอปที่มีชื่อเสียงมากมาย แต่พอเข้าสู่ซีซัน 2 ที่เปลี่ยนมาสัมภาษณ์ศิลปินร็อก เขาได้เห็นคอมเมนต์จากผู้ชมหลาย ๆ คนที่เพิ่งเข้ามาดูซีซัน 2 เป็นครั้งแรกเพื่อจะดูศิลปินที่ชื่นชอบ คอมเมนต์ถึงศิลปินฮิปฮอปว่า อย่าเอามาเลย ไม่ดีเลย สู้ศิลปินที่มีประสบการณ์เยอะ ๆ เช่นศิลปินร็อกเช่น Silly Fools หรือ Big Ass ไม่ได้

“ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะบอกไปถึงน้อง ๆ หรือผู้ชมเหล่านั้นที่คอมเมนต์แบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนที่คอมเมนต์แบบนี้แปลว่าไม่ได้ดูเทปการสัมภาษณ์ศิลปินฮิปฺฮอปเหล่านั้น หรือดูก็ดูไม่จบ”

“ถ้าได้เข้าไปดูเทปการสัมภาษณ์จริง ๆ แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจไป ผมว่าคุณจะเข้าใจมากขึ้น และผมว่าวิธีคิดและวิธีการทำงานของเขาในการที่จะทำให้ได้งานออกมา บางทีก็อาจจะไม่ได้ต่างจากศิลปินร็อกที่คุณชื่นชอบอยู่ก็เป็นได้ ลองทำความเข้าใจดู

“ต้องเข้าใจก่อน ชอบหรือไม่ชอบค่อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เรื่องสำคัญลำดับที่ 4 – ความเข้าใจ ≠ ความรู้จัก

เนื่องจากในซีซันที่ 1 ศิลปินส่วนใหญ่ที่ป๋าเต็ดได้มีโอกาสสัมภาษณ์ มักจะเป็นศิลปินที่เขาไม่ค่อยรู้จัก หรือกับบางคน เต็มที่เขาก็ได้เจอกันตามเวทีคอนเสิร์ต ไม่เคยได้คุยด้วยซ้ำไป ซึ่งพอเข้าสู่ซีซันสอง เขาจึงอยากพูดคุยกับคนที่เขารู้จักอยู่แล้ว เพื่อจะพิสูจน์ว่าบางทีความเข้าใจก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้จัก

ป๋าเต็ดเสริมว่า แม้ว่าเราจะรู้จักใครบางคนมานานมาก พูดคุยกับใครบางคนมาเยอะมาก ๆ แต่ก็อาจจะไม่เข้าใจเขาเลยก็เป็นได้ หรือเราอาจจะเข้าใจและไม่เข้าใจเขาเฉพาะในบางเรื่อง จึงนำไปสู่หัวข้อการสัมภาษณ์ที่ว่าด้วยเรื่องของ “การแตกสลายของวงร็อก”

จริง ๆ แล้วเขาจะตั้งใจสัมภาษณ์สมาชิกวงดนตรีที่มีปัญหาและแยกย้ายกันไปมากกว่าสองวง แต่สาเหตุที่เขาเลือกที่จะสัมภาษณ์ Silly Fools และ Big Ass ก่อน เพราะในความคิดของเขา ตอนที่พวกเขาแยกย้ายกัน ทิ้งช่วงเวลาจากช่วงนั้นมาถึงช่วงนี้ นานพอที่จะทำให้หลายเรื่องอาจจะตกตะกอนแล้ว พวกเขาเริ่มสามารถที่จะวิเคราะห์สิ่งที่เขาประสบพบเจอออกมาเป็นคำตอบได้ชัดเจนขึ้น

กับบางเรื่อง ถ้าเพิ่งจะเกิด บางทีอาจจะคิดไม่ทัน เพราะว่าแผลยังสดอยู่ หรือบางทีก็อาจจะคิดได้ แต่ถ้าทิ้งช่วงไป คำตอบที่ได้ก็อาจจะดีกว่า ด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้มากกว่า

และจุดที่สำคัญคือ ข่าวการแยกย้ายของทั้ง Silly Fools และ Big Ass เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมาก เพราะเป็นวงดนตรีที่มีแฟนเยอะมาก ตัวเขาเองก็เป็นแฟนเพลงสำคัญของทั้งสองวงนี้ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นสัมภาษณ์ เขาเริ่มการสัมภาษณ์บังโต (วีรชน ศรัทธายิ่ง อดีตสมาชิกวง Silly Fools และ Hangman) เป็นคนแรก

จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากสัมภาษณ์บังโตเป็นคนแรก เพราะเขารู้ว่าการสัมภาษณ์บังโต ณ วันนี้เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ได้ยากเพราะว่าเขาดูเป็นคนที่น่ากลัว (เพราะเขาเองก็รู้จักกับบังโตพอสมควร) แต่สิ่งที่เขากลัวคือ ด้วยสถานะของบังโตในปัจจุบันที่มีเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ในนั้นมาก เพราะฉะนั้น การสัมภาษณ์ การใช้คำถาม จะต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งหากพลาด ก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจมากกกว่าที่จะเกิดความเข้าใจ นั่นจึงทำให้ผู้ชมหลายคนที่ได้ชม คอมเมนต์บอกว่าตอนที่ป๋าเต็ดสัมภาษณ์ ป๋าดูมีอาการเกร็ง ๆ

“ผมค่อนข้างเกร็งจริง ๆ นะครับ”

แต่เมื่อเริ่มต้นจากสิ่งที่ยากที่สุด นั่นเป็นข้อดีที่เมีอการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น เขากับทีมงานคิดคล้าย ๆ กันว่า พวกเขากำลังทำสิ่งที่ใหญ่เกินตัวไปมาก พวกเขากำลังทำสิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะส่งผลต่อใครหลาย ๆ คนกว่าที่คิด และเมื่อเขาได้สัมภาษณ์ตั้งแต่บังโต หรั่ง-ต้น สมาชิกวง Silly Fools แด็กซ์ อดีตสมาชิก Big Ass และ กบ-อ๊อฟ สมาชิกวง Big Ass แม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาตั้งใจจะสัมภาษณ์หลาย ๆ วง แต่ด้วยความที่เนื้อหาของการสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ครบถ้วนในเกือบทุกเรื่อง กับทั้ง Silly Fools และ Big Ass มีความคล้ายในความต่าง ระหว่างเหตุที่เกิดขึ้นกับทั้งสองวง และเป็นบทเรียนให้กับเรื่องอื่น ๆ ได้เกือบทั้งหมดแล้ว เขาจึงหยุดการสัมภาษณ์ในซีซัน 2 ไว้เพียงเท่านี้

“ผมจะไม่สปอยล์นะครับ เพื่อที่ว่าใครที่ยังไม่ได้ดู จะได้กลับไปดูแล้วทำความเข้าใจด้วยตัวเองว่า ความคล้ายที่ว่าคืออะไร ความต่างที่ว่าคืออะไร แต่ผมว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่สามารถเอาไปใช้ได้กับอะไรหลาย ๆ อย่าง และมันก็น่าจะนำมาซึ่งเข้าความเข้าใจมากกว่าความไม่เช้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น”

หลังจากปล่อยคลิป เขาอ่านเกือบทุกคอมเมนต์ทั้งใน Facebook และใน YouTube เท่าที่เวลาจะอำนวย โชคดีที่รายการของเขาสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชม ยังมีส่วนน้อยที่ยังคงไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าข้างไปได้ ยังคงเลือกที่จะเข้าข้างมากกว่าเข้าใจ ซึ่งตัวเขาเองเข้าใจในปรากฏการณ์นี้ และเชื่อว่าเวลาจะช่วยเปลี่ยนความคิดของพวกเขาเหล่านั้นที่เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงชวนทะเลาะอยู่

ซี่งในความคิดของป๋าเต็ด นี่เป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่า “ไม่จำเป็นและไม่ควร”

Play video

“จุดสำคัญคือต้องดูให้จบ และดูให้ครบ อย่ากดข้าม และก็อย่าดูแบบอคติ ต้องดูแบบเปิดใจ แล้วคุณจะรู้ว่ามีเรื่องที่ทำให้คุณเข้าใจมากมาย และมันสามารถนำเอาไปใช้ได้กับชีวิตจริงกับเรื่องอื่น ๆ ที่คุณต้องเจอได้เป็นอย่างดี – ป๋าเต็ด”

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส