ในขณะที่สถานการณ์โรคจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) หรือโรค COVID-19 ยังคงทวีความรุนแรงในการแพร่ระบาดอย่างหนัก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศระดับความเสี่ยง “สูงมาก” ต่อการระบาดไปทั่วโลก และในไทยเองก็มีการออกราชกิจจานุเบกษาประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย (ล่าสุดวันที่ 1 มี.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิตรายแรกในไทยแล้ว) นอกจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ที่จะได้รับผลโดยตรงเนื่องจากการเดินทางขนส่งเป็นช่องทางแพร่ระบาดสำคัญของเชื้อตัวนี้ สถานที่ปิดอย่างโรงมหรสพต่าง ๆ ที่รวมผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ปิด เช่น งานคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หลายงานยกเลิกการจัดไปด้วยความจำเป็น และอีกหนึ่งวงการที่น่าจะได้รับผลกระทบมากหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นคือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยจุดน่าสนใจคือเว็บไซต์ Deadline ได้ประเมินว่าจะเกิดผลกระทบกับวงการหนังทั่วโลกต้อง

สูญเสียรายได้ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๆ 126,120,000,000 บาท) เลยทีเดียว

สถานการณ์ในต่างประเทศ

ประเทศจีน พื้นที่การระบาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ยังเป็นตลาดหนังที่มูลค่าของบ็อกซ์ออฟฟิศสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย ในขณะนี้ธุรกิจหลายอย่างรวมถึงโรงหนังหยุดชะงักลงมาหลายอาทิตย์นับแต่การระบาดเริ่มในวงกว้าง เพราะโรงหนังเป็นห้องปิดที่มีระบบอากาศถ่ายเทภายในง่ายต่อการระบาดของเชื้อโรคหากไม่มีการป้องกันที่ดี ซึ่งตรงนี้ก็กระทบกับหนังในประเทศจีนเองมากที่สุดเพราะสถานการณ์เริ่มต้นในช่วงตรุษจีนซึ่งเป็นช่วงทำรายได้สูงสุดช่วงหนึ่งของปีสำหรับวงการหนังจีน หนังใหญ่อย่าง Vanguard หน่วยพิทักษ์ฟัดข้ามโลก ของ เฉินหลง เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ประกาศเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดทั้งในจีนและต่างประเทศ ขณะที่หนังต่างประเทศที่ได้โควต้า 3 เรื่องต่อเดือน (เฉลี่ยจากที่รัฐบาลจีนกำหนดโควต้าหนังต่างประเทศไว้ที่ 35 เรื่องต่อปี) ในช่วงเดือนมกราคมยังไม่สาหัสนักเนื่องจากหนัง 3 เรื่องที่เข้าอย่าง Dr. Dolittle, 1917 และ Little Women ล้วนแต่เป็นหนังที่ไม่ได้หวังกำไรมหาศาลจากจีนอยู่แล้ว

Vanguard หน่วยพิทักษ์ฟัดข้ามโลก

Vanguard หน่วยพิทักษ์ฟัดข้ามโลก

เฟซบุ๊กแฟนเพจอย่าง Chinese Box Office ที่คอยอัปเดตตารางหนังทำงานแต่ละสัปดาห์ได้หยุดการอัปเดตไปตั้งแต่วันที่  25 มกราคม โดยในสัปดาห์นั้นภาพรวมจากการที่โรงหนังทั้งหมดกว่า 70,000 โรงเริ่มปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ราววันที่ 23 มกราคม ก็ทำให้มูลค่าการซื้อตั๋วในภาพรวมลดลงจากราว 6-7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อน ๆ หน้า ลดลงเหลือแค่ 2-3 แสนเหรียญเท่านั้นจากโรงที่ยังปิดบริการล่าช้าอยู่

โดยทางเพจได้วิเคราะห์ให้เห็นความรุนแรงว่า ในปี 2019 ช่วงตรุษจีนบ็อกซ์ออฟฟิศจีนมีมูลค่ารวมกว่า 934.1 ล้านเหรียญ และคาดการณ์เดิมว่าตรุษจีนปีนี้น่าจะทำเงินรวมทะลุ 1 พันล้านเหรียญได้สำเร็จ แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้วันแรกของช่วงหยุดยาวทำเงินจริงไปได้แค่ 6 แสนเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น และที่น่าเศร้าคือในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ทางเพจได้อัปเดตตารางหนังทำเงินในจีนว่า

บ็อกซ์ออฟฟิศจีนทำเงินรวม 0 เหรียญ และน่าจะเป็นเช่นนี้อีกหลายสัปดาห์

หนังฮอลลีวูด 2 เรื่องที่น่าจะบาดเจ็บมากที่สุดในช่วงนี้คือ Sonic the Hedgehog ที่ทำเงินในอเมริกาได้มาก และน่าจะหวังกำไรในตลาดจีนได้มากเช่นกัน (ขนาดมีฉากโซนิกวิ่งบนกำแพงเมืองจีนด้วย) โดยเดิมมีกำหนดฉายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นหมันไปยาว ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือหนัง Mulan ฉบับคนแสดงที่ได้ หลิวอี้เฟย มาแสดงนำของดิสนีย์ แม้จะยังมีเวลาพิจารณาเรื่องเข้าฉายไปได้อีกพักหนึ่งเพราะเดิมมีกำหนดฉาย 27 มีนาคม แต่จากแนวโน้มการขายตั๋วล่วงหน้าและวี่แววที่โรงหนังจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง (และถึงแม้จะเปิดแล้วความน่ากังวลว่าคนจะกลับมาดูหนังโรงเลยหรือไม่ก็ยังคงมี) ก็เชื่อว่าหนังน่าจะมีแววขาดทุนสูงทีเดียว ต้องดูว่าทางดิสนีย์จะตัดสินใจเลื่อนการฉายในจีนหรือไม่ และจะเลื่อนการฉายทั่วโลกพร้อมกับจีนเลยด้วยไหม เพราะปัญหาสำคัญคือการฉายในจีนภายหลังที่อื่น ๆ นาน ๆ ก็เสี่ยงจะเสียรายได้ไปให้กับพวกหนังเถื่อน รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นจากหนังใหญ่ของจีน และของฮอลลีวูดเองที่ตารางการฉายจะเลื่อนไปอัดชนกันหมดด้วยเช่นกัน

ภาพเคาน์เตอร์ขายตั๋ว Mulan ในจีนซึ่งยังคงขึ้นแบนเนอร์ฉายตามเดิม ขณะที่พนักงานสวมหน้ากากอนามัย (ภาพจาก nbcnews.com)

ภาพเคาน์เตอร์ขายตั๋ว Mulan ในจีน (ภาพจาก nbcnews.com)

โดยหนังที่ยังต้องลุ้นและเสี่ยงจะกระทบก็ยังมีหนังเจมส์ บอนด์ No Time to Die หนังมาร์เวล Black Widow และหนังซิ่งรถเหนือมนุษย์ในตระกูลฟาสต์ อย่าง F9 ที่มีกำหนดฉายถัดไปในช่วงต้นเมษายน ปลายเมษายน และปลายพฤษภาคมตามลำดับด้วยเช่นกัน

007 no time to die

หนังบล็อกบัสเตอร์ที่วันฉายใกล้สุดอย่าง 007 จะได้ผลกระทบหรือไม่?

แต่ทั้งนี้เว็บ IndieWire ก็เชื่อว่าสถานการณ์ในจีนอาจไม่กระทบกับวงการฮอลลีวูดหนักอย่างที่กลัว ที่น่ากังวลน่าจะเป็นวงการหนังในจีนเองมากกว่า ทั้งยังเป็นโอกาสดีสำหรับหนังฮอลลีวูดด้วยหากวงการหนังจีนฟื้นตัวช้าและขาดหนังป้อนตลาดเพียงพอ ทว่าสิ่งที่น่ากังวลจริง ๆ สำหรับหนังฮอลลีวูดน่าจะมาจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคุภายในอยู่มากกว่า เพราะมีโอกาสที่หนังจากสหรัฐจะถูกตัดตอนเลยเช่นกัน

แล้วสำหรับวงการหนังใหญ่สุดของโลก อย่างในอเมริกาล่ะ จะเจอผลกระทบขนาดไหน?

ฮอลลีวูด ตลาดหนังในอเมริกามีข้อแตกต่างจากจีนอยู่มาก ปัจจัยสำคัญที่สุดคือระบบการบริหารที่ให้อำนาจรัฐแต่ละรัฐจัดการเอง ดังนั้นโอกาสการปิดโรงหนังแบบทั่วประเทศพร้อมกันอย่างที่รัฐบาลจีนทำจึงเป็นไปได้ยาก ธุรกิจโรงหนังในแต่ละพื้นที่ต้องแสวงหาทางรอดทางธุรกิจอย่างหนัก ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายของรัฐสั่งปิดพื้นที่สาธารณะอย่างโรงหนัง หรือไม่เกิดเหตุการระบาดในโรงหนังโรงใดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะมีการปิดบริการแบบวงกว้าง (แม้แต่มีการระบาดในโรงหนังก็เชื่อว่าจะปิดแค่โรงที่เกิดเหตุเท่านั้น) ผลกระทบจากยอดขาดตั๋วในอเมริกาจึงน่าจะไม่เกิดแบบหักดิบกลายเป็น 0 เหรียญเลยอย่างจีน แต่ก็อาจส่งผลกระทบที่มีโรงฉายลดลงบ้าง หรือคนกังวลกับการระบาดแล้วเลี่ยงจะไปดูในโรงหนัง

กรณีมีเหตุขึ้นกับโรงหนังหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับกรณีการกราดยิงในโรงหนังเมืองออรอรา รัฐโคโลราโด เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2012 ขณะที่ฉายหนัง The Dark Knight Rises ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน จะเห็นว่าในสัปดาห์ดังกล่าวตารางบ็อกซ์ออฟฟิศก็ไม่มีผลกระทบอย่างใด โดยมองเทียบกับการเข้าฉายในช่วงเดียวกันของหนัง The Dark Knight (2008) ก็จะเห็นว่าใกล้เคียงกันทั้งรายได้เปิดตัวสัปดาห์แรก และเปอร์เซนต์รายได้ที่ลดลงในสัปดาห์ถัดมา เรียกว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สื่อประโคมความกังวลเรื่องการเลียนแบบในขณะนั้นไม่มีผลกับคนดูอเมริกาเลยด้วย

The-Dark-Knight-Rises

The Dark Knight Rises

และเมื่อย้อนดูในประวัติศาสตร์อเมริกา แม้จะในช่วงวิกฤตเพียงใด โรงหนังเป็นธุรกิจที่แทบไม่เคยปิดบริการเลย ไม่ว่าจะช่วงที่มีคำสั่ง บลูลอว์ ให้หยุดกิจกรรมวันอาทิตย์ทั้งหมดในอดีต โรงหนังก็เป็นธุรกิจที่ยังคงเปิดอยู่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสัปดาห์ที่ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกลอบสังหาร โรงหนังยังเปิดอยู่ ตลอดจนในช่วงการก่อการร้าย 911 โรงหนังที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งหมดยังเปิดเช่นเดิม หรือจะเทียบกับช่วงภัยพิบัติต่าง ๆ มันก็หยุดให้บริการเฉพาะพื้นที่ที่เปิดไม่ได้จริง ๆ เช่นกัน โอกาสเดียวที่โรงหนังอเมริกาจะเป็นอัมพาตคงเป็นเพียงมาตรการจากส่วนกลางที่บังคับใช้ทั้งประเทศพร้อมกัน (นึกภาพทรัมป์ประกาศกฎอัยการศึกจากเหตุดังกล่าวน่าจะใกล้เคียงสุด และคงต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมายไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญมันคงต้องเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดแบบน่าสยดสยองแล้วเท่านั้น)

และโดยเนื้อแท้แล้วธุรกิจโรงหนังยังคงมองว่าการมาของบริการสตรีมมิงนั้นเป็นศัตรูเบอร์ 1 ของโรงหนังมากกว่าด้วย ยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้คนนอนดูหนังอยู่บ้านมากกว่าได้ แต่อย่างไรโรงหนังก็ยังมีข้อได้เปรียบตรงเป็นช่องทางแรกที่ได้สิทธิ์ในการฉายหนังใหญ่ใหม่ ๆ อยู่ดี

ผลกระทบที่น่าสนใจจริง ๆ ต่อวงการอุตสาหกรรมฮอลลีวูดจึงเป็นเรื่องของค่ายที่สร้างหนังมากกว่าช่องทางการฉาย ตอนนี้หนังที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โคโรนาแล้วที่ชัดเจน เช่น หนัง Mission: Impossible 7 ที่มีคิวถ่ายในเมืองเวนิสประเทศอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่เกิดการระบาดสำคัญในยุโรปแห่งหนึ่ง ก็จำเป็นต้องเลื่อนการถ่ายทำในอิตาลีออกไปอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้สถานการณ์ในเมืองลอสแอนเจลิสเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกาอันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหนังใหญ่ที่สุดของโลกนาม ฮอลลีวูด ก็พบผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว 2 รายด้วยกัน และยังเฝ้าจับตาดูกว่า 8,400 คนในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ซึ่งต้องจับตาว่าจะเกิดการระบาดมากกว่านั้นหรือไม่ และถ้าไวรัสเล่นงานพื้นอันเป็นหัวใจของวงการหนังอเมริกาก็อาจเกิดผลกระทบต่อการสร้างหนังบ้างพอสมควร (และหวังว่าจะไม่มีบุคลากรสำคัญของวงการติดเชื้อขึ้นมาด้วย) แต่ในขณะนี้ด้วยเคสที่พบก็นับว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาค่ายใหญ่ต่าง ๆ ในฮอลลีวูด รวมถึงสหภาพแรงงานกลุ่มนักแสดงและทีมงานในฮอลลีวูดก็ได้ออกแถลงการณ์ความตื่นตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว และพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัดด้วย

Mission: Impossible

กองถ่าย Mission: Impossible 7 ในอิตาลีต้องเลื่อนการถ่ายทำ

กลุ่มประเทศเสี่ยงอื่น ๆ

ที่ชัดเจนในขณะนี้คงเป็น อิตาลี เกาหลี และญี่ปุ่น ที่เป็นพื้นที่ระบาดแล้ว โดยอิตาลีได้ปิดโรงหนังไปแล้วราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ขณะที่เกาหลีใต้พื้นที่การระบาดอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้ นับตั้งแต่พบกรณีคุณป้าหมายเลข 31 ในเมืองแทกูเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ก็เห็นได้ชัดว่าโรงหนังลดรอบฉายลงไปราว 40 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบสัปดาห์ก่อนหน้าและหลังข่าวการพบเชื้อ ทั้งนี้รายได้รวมต่อสัปดาห์ยังลดลงจาก 11 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 4 ล้านเหรียญต่อสัปดาห์เท่านั้น ต่างกับสถานการณ์ในญี่ปุ่นที่โรงหนังยังคงได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบจากเดือนมกราคมรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐจากเดิมที่เคยได้อยู่ราว 10-15 ล้านเหรียญ

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกประการมาจากการประกาศจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าเทศกาลยังคงกำหนดการเดิมคือวันที่ 12-23 พฤษภาคม และคณะจัดงานจะติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิดโดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมงานและชาวเมืองเป็นสำคัญ นั่นเท่ากับว่ายังไม่ปิดประตูสำหรับโอกาสที่จะเลื่อนการจัดงาน โดยยังเหลือเวลาอีกราว 2 เดือนครึ่งที่จะพิจารณาก่อนวันจัดงาน ซึ่งหากมีการเลื่อนหรือยกเลิกจะกระทบตลาดการซื้อขายหนังระดับโลกพอสมควรทีเดียว

และนี่คือสถานการณ์วงการหนังทั่วโลกที่รวบรวมมา ซึ่งต้องประเมินต่อไปว่าเหตุการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่สุดในโลกยุคปัจจุบันครั้งนี้จะสร้างความเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ที่ 4 พันล้านเหรียญ หรืออาจจะทุเลาความรุนแรงลงได้ในเร็ววันนี้ ต้องติดตามและเอาใจช่วยทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดต่อไป และประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในสถานการณ์นี้จะทำให้บริการสตรีมมิงหนังชนโรงเกิดไวขึ้นด้วยหรือไม่ หากคนกังวลกับการออกนอกบ้านอย่างนี้เป็นเวลานานติดต่อกัน น่าสนใจทีเดียว

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส