ไพร่า (PYRA) หรือ พิมพ์-พีรลดา สุขวัฒก์ เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นในเทศกาล “Burning Man” หนึ่งในเทศกาลไลฟ์สไตล์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้เธอยังทำงานร่วมกับ Sean Hamilton โปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานให้กับ Justin Bieber , H.E.R. และเป็นเจ้าของรางวัลทางดนตรีอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น Joox Spotlight Artist 2018 , Apple Music Best New Artist 2016 , 1st Redbull Music Artist from Thailand , Winner of Sunkist Freshly Music Contest 2018 และได้แสดงคอนเสิร์ตในอีกหลายประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นผู้ฟังชาวไทยก็รู้จักกับเธอน้อยเหลือเกิน บทสัมภาษณ์ในรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำความรู้จักกับศิลปินไทยระดับอินเตอร์คนนี้ที่ชื่อว่า “PYRA”

[บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ใน “ป๋าเต็ดทอล์ก SEASON 3 EP.6 PYRA | ประสบการณ์ Burning Man และเส้นทางสู่เทศกาลดนตรีระดับโลก” และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม ]  

Play video

ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นทำความรู้จักกับเธอด้วย 3 บทเพลงแนะนำจากไพร่า คือ “White Lotus” “Let It Go” และ “Regret Me” และอีกหนึ่งบทเพลงแนะนำโดยป๋าเต็ด “Levitate”

เพิ่มเติมด้วย Live แสดงสดในงาน Zer01ne festival ที่เกาหลี ซึ่งนอกจากงานนี้เธอก็ได้ไปแสดงในงาน Zandari Festa ที่กรุงโซลประเทศเกาหลี เทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินอินดี้จากทั่วโลกด้วย

Play video


“Burning Man”  ไลฟ์สไตล์มิวสิคเฟสติวัล

 

มันคือเทศกาลที่จัดกลางทะเลทราย Black Rock Desert แถวเนวาดา สหรัฐอเมริกา คนต้องมีจักรยานเพราะขนาดมันใหญ่มาก ไม่สามารถเดินได้ทั่ว  มีผู้คนร่วมกันมาสร้างเป็น pop-up city ในช่วงสั้น ๆ ที่จัดงาน กลายเป็นเมืองเนรมิตขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ศิลปินที่ไปแสดงอย่างไพร่าก็ต้องอยู่อาศัยในรถ RV ที่เช่ามา ส่วนน้ำที่จะใช้ต้องคำนวนให้ดีและขนไปเอง เงินเอาไว้ซื้อกาแฟกับน้ำแข็งที่ center camp ส่วนอย่างอื่นก็ไปขอคนอื่นเอา เช่นข้าว บางคนก็เตรียมมาเพื่อแจกคนอื่น แต่ละแคมป์ก็มีของเตรียมมาแจกคนอื่น ๆ แตกต่างกันไปเช่น อาหารกลางวัน เหล้า น้ำ  สิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะขอคนอื่นได้ก็มีเช่น ขอจักรยาน ขอให้ดูหมอ อยากได้อะไรก็ไปบอก ๆ ไว้ มันจะต้องมีสักคนล่ะที่มีในสิ่งที่เราต้องการ  “This is a place where you give people” เป็น culture ที่ทุกคนต้องการมาให้อะไรอยู่แล้ว ที่นี่จะไม่มีการทิ้งขยะ ทุกคนต้องเก็บข้าวของให้เรียบร้อย ของที่ยืมไปก็ต้องเอาไปคืน มีทั้งจิตวิญญาณและจิตสำนึกที่ดีเป็น “Positive Vibe Only”

 

Play video

 

 

ใน Burning Man จะมีเวทีการแสดงกว่า 100 เวที เวทีที่มีคนดูมากที่สุดก็ราว  ๆ 500 คน ที่นี่ผู้ฟังจะเข้ามาให้กำลังใจกับศิลปินโดยตรงเลย จะแตกต่างจากผู้ชมในเอเชียที่จะอาย ๆ และไม่กล้าพูดกับศิลปิน  ที่นี่จะมี Official Stage เพียง Stage เดียวคือ Center Camp ซึ่งไพร่าได้เล่นที่เวทีนี้ด้วย นอกจากการแสดงดนตรี ยังมีงานศิลปะ แสง สีเสียงให้ได้ชมมากมาย ราวกับหลุดไปอยู่ในโลกอื่น ส่วนที่มาของชื่อ “Burning Man” นั้นมาจากการที่หลังเสร็จงาน จะมีการเผาหุ่น “The Man” ทุกคนจะมาช่วยกันสุมไฟในความมืด พร้อมทั้งมีพลุไฟ เป็นภาพที่น่าตื่นใจมาก

ไพร่าได้ไปเล่นในงานนี้ด้วยการส่งอีเมลแนะนำตัวเอง เธอบอกว่าสามประโยคแรกต้องฮิตตีหัว และต้องมี press kit แนบไปด้วยเสมอ สิ่งสำคัญคือตัวศิลปินต้องมีความเข้ากันได้กับงาน ซึ่งงานของไพร่ามีความเป็น spiritualism , cosciousness ซึ่งเข้ากันกับแนวทางของงานนี้ แต่ปัญหาคือที่นั่นฝุ่นรุนแรงมาก ไพร่าป่วยเป็นไซนัสอักเสบหลังกลับมาเลย


The Beginning จุดเริ่มต้นของไพร่า

 

ไพร่าเริ่มต้นความฝันของเธอตั้งแต่ตอน 9 ขวบ พ่อแม่ส่งเสริมให้เรียนพิเศษ หนึ่งในนั้นคือเรียนร้องเพลง ไพร่าได้ขึ้นเวทีประกวดตั้งแต่นั้น และก็ชนะทุกครั้งจนสร้างความมั่นใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เธอทำได้ดี แต่พ่อแม่อยากให้มันเป็นเพียงแค่กิจกรรมไม่ได้ตั้งใจให้เธอมุ่งหน้าไปทางนี้

[รู้หรือไม่ ? : ไพร่าเคยร้องเพลง “ค่าน้ำนม” และ “ดอกไม้ในหัวใจ” เวอร์ชันอัลบั้ม “ให้แม่” ซึ่งเป็นอัลบั้มพิเศษสำหรับวันแม่ของแกรมมี่โดยใช้ชื่อจริงว่า “ ด.ญ.พีรลดา สุขวัฒก์” ในเครดิต ซึ่งตอนนั้นเสียงของเธอยังเป็นเด็กน้อยอยู่เลย]

 

Play video

Play video

 

 

แต่เธอก็ยังคงเก็บฝันนี้ไว้ต่อไป จนอายุ 16 เธอได้ไปแอลเอเป็นครั้งแรกมีเพื่อนที่เป็นคนทำ Film Score ก็เลยพาไพร่าไปซื้ออุปกรณ์ในการทำ Music Production เลยเริ่มเรียนรู้การทำเพลงตั้งแต่นั้น ไพร่ามีความมุ่งมั่นที่จะ โปรดิวซ์เพลงเองอยู่แล้วเนื่องจาก เธอพยายามวิเคราะห์จุดที่ศิลปินหญิงคนอื่นยังไม่มีเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับตนเอง และเธอก็พบว่า การโปรดิวซ์เพลงเองนั่นล่ะคือสิ่งสำคัญ

จากนั้นไพร่าก็เรียนรู้และเริ่มทำเพลงด้วยตัวเองซอฟต์แวร์ทำเพลงอย่าง ableton , logic ,  protools นี่เธอทำได้หมด จากนั้นเธอได้เข้าไปสังกัดในค่ายเพลง ค่ายแรกที่เธออยู่ยังไม่ได้ออกผลงานเธอเลยขอออกมา จนมาถึงค่ายที่สองเธอทำเพลงในฐานะศิลปินกลุ่มไม่ใช่เดี่ยว ตอนนั้นยังไม่มีความมั่นใจเท่าในวันนี้จึงไม่กล้าที่จะต่อรองเพื่อทำชิ้นงานเองทั้งหมด อีกทั้งแนวทางดนตรียังไม่ตรงแนวกับเธอ เพราะค่ายทำแนว EDM ซึ่งความตึ๊ดไม่ใช่แนวทางของไพร่าที่ชอบไปทางอิเล็กทรอนิกส์พอปหรือ R&B กับ Soul มากกว่าที่จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ เธอจึงขอออกอีกครั้งจากนั้นก็เป็นศิลปินอิสระตลอดมาจนเพิ่งมีสังกัดในปีนี้กับ Warner Music Asia

 

ไพร่าเป็นศิลปินอิสระตั้งแต่ปี 2016 –  ต้นปี 2020 ปัจจุบันเธอได้รับการเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด Warner Music Asia

 

การเป็นศิลปินอิสระสิ่งสำคัญคือการต้องอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง ทุกอย่างต้องออกเงินเองทั้งหมด อย่างค่า MV ที่จะหารกับเพื่อนร่วมวงก็ต้องออกเองทั้งหมด

ไพร่าค่อย ๆ สร้างสมประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับศิลปินมากมายทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนในที่สุดเธอก็ได้คิดชื่อ “PYRA” เพื่อเป็นชื่อที่ไว้ใช้ในฐานะศิลปินตลอดมา ซึ่งแต่เดิมเธอจะตั้งชื่อว่า PERA มาจากสองพยางค์แรกของชื่อจริง “พีรลดา” แต่มันฟังดูแมนไปเลยใช้ PYRA ที่มาจาก PYRO ที่แปลว่าไฟ และศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงส่วนใหญ่มักลงท้ายด้วยตัว A จึงเปลี่ยนเป็น “PYRA” ซึ่งเหมาะและเข้ากับเธอมาก

เพลงแรกที่ไพร่าปล่อยออกมาคือ “Stay” ที่ได้ Twopee Southside มาฟีเจอริ่ง

 

Play video

 

 

แต่งานเพลงแรกที่เป็นผลงานเดี่ยวของเธอแบบเต็ม ๆ ก็คือ “Levitate” อันเป็นงานดนตรีในแนวที่เป็นที่นิยมของกลุ่มคนฟังอินดี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ไพร่าทำมันออกมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วนับว่าผลงานของเธอนั้นล้ำหน้าไปมากพอสมควร

 

Play video

 

 

งานเพลงของไพร่าอาจจะไม่ถูก taste ของคนในแถบ South East Asia นักและไม่ได้ตรงเทรนด์ที่คนชอบฟังอย่าง hip-hop หรือ chillwave สิ่งที่เธอทำก็คือการนำเสนอตัวตนของเธอ นำเสนอสิ่งที่เธออยากสื่อออกมาโดยใช้เพลงเป็นสื่อ

 

“ไพร่าเป็นศิลปินค่ะ ศิลปินคือการ express ตัวเอง เราไม่ใช่ไปคิดก่อนว่าคนฟังอยากฟังอะไร อันนั้นคือการหาเงินค่ะ แต่ที่ไพร่าเป็นศิลปินเพราะต้องการจะ express อะไรบางอย่าง ที่เราไม่สามารถพูดออกมาได้ แต่เราสามารถนำเสนอเป็นดนตรีแทน”

 

แม้ว่าผลงานของไพร่า จะไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากนักแต่เพลง “White Lotus” ที่เธอลงมือทำด้วยตัวเอง กลับเป็นที่สนใจของผู้คนในวงการจนทำให้เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับ “Sean Hamilton” โปรดิวเซอร์ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้กับศิลปินระดับโลก อย่าง Justin Bieber และ H.E.R.

 

Play video

 

 

ถึงแม้ไพร่าจะไม่ได้ดังในกลุ่มคนฟังทั่วไป แต่เธอมีชื่อเสียงในกลุ่มของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีนั่นทำให้เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับคนมีฝีมือระดับโลก อย่างในงาน Bangkok Music City ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2019 ไพร่าก็ได้รับโหวตให้เป็นศิลปินที่คนดนตรีชื่นชอบมากที่สุด

 

 

สำหรับงานร่วมงานกันในครั้งนี้ทีมของ Sean Hamilton เป็นคนติดต่อมาหลังจากที่ได้ฟังเพลง “White Lotus” Sean Hamilton เป็นโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาก  จนถึงทุกวันนี้ Sean ก็ไม่เคยบอกว่าสนใจอะไรในตัวไพร่า และตอนที่เสนอตัวเข้ามาทำ เขาไม่เคยพูดเรื่องเงินกับเธอเลย ระบบการทำงานในอเมริกานั้นแตกต่างจากในเอเชีย มันเหมือนการทำงานกลุ่มที่ทุกคนร่วมกันทำหน้าที่ตัวเอง มีส่วนในผลงานร่วมกันและนำเอาเพลงไปขาย ดังนั้นจึงเหมือนว่าทุกคนลงทุนในเพลงร่วมกัน โดยมีความเชื่อมั่นในกันและกัน

 

บรรยากาศการทำงานกับ Sean Hamilton

 

ไพร่าเริ่มต้นจากการคุยกับ Sean ว่าต้องการอะไรและบินไปคุยที่แอลเอการบินไปคุยนี่ก็คือการลงทุนที่ไพร่าต้องจ่าย ตอนไปมีเดโมสมบูรณ์เหมือนมาสเตอร์ เพราะระหว่างทางได้ทำงานกันผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ไปถึงที่นั่นก็ไปอัดเพียงอย่างเดียว

 

ไพร่าในขณะบันทึกเสียง

 

[ ในคลิปสัมภาษณ์ในรายการ สนามหลวงชวนคุย EP 36 : My name is “PYRA”  ไพร่าได้พูดถึงขั้นตอนและแนวคิดการทำงานเพลงของเธอเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปฟังเพิ่มเติมได้ครับ ]

 

Play video

 

สิ่งที่ได้รับจากการทำงานกับโปรดิวเซอร์ระดับโลกก็คือ ความเร็วและความสบายในการทำงาน ไพร่าอัด 13 เพลงใน 5 วัน ตก 2-3 เพลงต่อวัน ที่เร็วเพราะโปรดิวเซอร์ทำงานให้ง่ายสำหรับนักร้อง ละไม่พยายามบีบให้อัดใหม่ แค่ให้ฟีลลิ่งมันได้ก็เพียงพอแล้ว

 

“She’s an amazing artist to work with”

 

คือ feedback ที่ Sean มอบให้กับไพร่า

เสร็จออกมาเป็นอัลบั้ม 13 เพลง ไพร่าตั้งใจปล่อยออกมาปลายปี 2020 นี้ ตอนนี้ยังไม่มีซิงเกิลจากอัลบั้มนี้ปล่อยออกมาเลย แต่หากได้ชมการแสดงสดช่วงหลัง ๆ ของไพร่าจะได้ยินเพลงจากอัลบั้มนี้กันบ้าง


GOAL : COACHELLA

สู่เป้าหมาย : การได้แสดง ณ หนึ่งในเทศกาลดนตรีที่โด่งดังที่สุดในโลก

 

ในปี 2019 มีค่ายใหญ่ระดับโลกติดต่อไพร่ามา แต่เธอปฏิเสธเพราะเธอมีความฝันที่จะไปเล่นที่ Coachellaเทศกาลดนตรีชั้นแนวหน้าของโลก เพราะฉะนั้นมันง่ายมากสำหรับเธอที่จะ say no สำหรับ deal ที่ไม่พาเธอไปสู่เส้นทางที่ฝันไว้ ไม่ว่า deal นั้นมันจะหอมหวานสักแค่ไหนก็ตาม

ไพร่าเป็นคนที่มี mindset , การวางแผนและตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ดีมาก อย่างในตอนที่เธออายุ 16 เธอก็มีการวางแผนและวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งเพื่อพัฒนาตนเอง ส่วนในตอนนี้เธอก็ได้วางความฝันระยะใกล้ ระยะไกลเอาไว้ โดย COACHELLA คือฝันระยะ 3 ปีของเธอ ส่วนรางวัล Grammy คือฝันระยะไกลในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้ ที่เธอจะต้องไปให้ถึงให้ได้

 

เครดิตภาพ : onlypyra

“อยากได้ Grammy Nomination ด้วยค่ะ จริง ๆ ไม่อยากบอกเลย เพราะมันดูยิ่งใหญ่ บางคนฟังแล้วอาจจะคิดว่า ‘บ้าป่ะเนี่ย’ แต่ก็ต้องบ้าล่ะค่ะ”

 

เหตุผลที่ไพร่าคิดว่าค่ายใหญ่จะไม่พาเธอไปถึง Coachella เพราะว่า ค่ายเหล่านั้นต้องการทำการตลาดแค่เพียงในประเทศไทย ไม่ได้วาง positioning เธอเป็นศิลปินระดับโลก ซึ่งเธอก็ได้คุยเรื่องเป้าหมายของเธอไปแล้ว แต่ทางค่ายก็ไม่ได้ตอบรับความคิดนี้ของเธอ ไพร่าซึ่งมี mindset ที่แข็งแรงและชัดเจนในตัวเองจึงตอบปฏิเสธไปอย่างไม่เสียดาย

 

“ไพร่าเป็นคนที่กลัวเรื่อง Commitment มาก ๆ เพราะว่าถ้าเราเซ็นปุ๊บเราจะต้องอยู่ที่นั่น 4 ปี และตอนนี้เราอายุ 27 แล้วไม่ใช่ 17 ถ้าเราเสีย Golden Year ของเราตอนนี้แล้วมันไม่ make it มันก็ยากแล้วล่ะที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อ”

 

แต่มีค่ายหนึ่งที่มีความฝันเดียวกับไพร่า ซึ่งในตอนสัมภาษณ์เธอกำลังคุยกับค่ายนี้อยู่ (คาดว่าคงจะเป็น Warner Music เพราะตอนนี้เธอสังกัดอยู่ค่ายนี้แล้ว) และตอนนี้เธอก็กำลังดำเนินการอยู่ในความฝันระยะใกล้อันนี้ของเธออยู่

 

“ไพร่าเชื่อในการเลือกทีมที่ใช่อ่ะค่ะ เพราะถ้าเราทำงานกับคนที่ vision ไม่ตรงกัน มันก็ลำบาก แต่ถ้าทุกคนที่อยู่บนเรือลำเดียวันมีความฝันว่าจะเอาคนนี้ไป Coachella ในปี 2022 พร้อมกันมันเป็นไปได้สูงอ่ะค่ะ”

 

การไปเล่น Cocahella เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากว่าศิลปินคนนั้นประสบความสำเร็จในระดับ global success เหมือนแค่บอกว่า ”ชั้นเคยไปเล่นที่ Coachella แล้ว” คนก็จะเข้าใจได้ทันทีเลยว่าเราเป็นศิลปินระดับไหนแล้ว (เช่นการที่ Blackpink ได้ไปเล่นที่ Coachella เมื่อปีที่แล้วก็คือการการันตีอย่างดีว่าพวกเธอคือศิลปินระดับโลกที่แท้จริง)

ไพร่าคิดว่าอัลบั้มที่เธอจะปล่อยออกมา คนไทยคงไม่ชอบ เพราะเพลงที่เธอทำไม่ใช่กระแสในไทย แต่เป็นที่นิยมใน US ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะไป Coachella แล้ว ตามปกติเอเชียมักนิยมอะไรตาม US ราว ๆ 2-3 ปี เช่นในกรณี Levitate  ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่คนไทยชอบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ไพร่าทำมันออกมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วซึ่งถือว่าล้ำหน้าไปกว่าเทรนด์ดนตรีในไทย แต่ถึงแม้คนจะเพิ่งมาชอบแต่เธอก็ดีใจมากแล้ว

 

“เราเป็นคนไทยพยายามนำเสนออะไรที่เป็นไทยแล้วคนไทยชอบ ถึงช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร”

 

อัลบั้มที่กำลังจะออกมาเป็นแนว Urban Music มาได้เหมือนกับ Levitate เพลงทั้ง 13 เพลงทั้งหมด 32 นาทีมีความยาวเฉลี่ยต่อเพลงราว ๆ 1-2 นาทีต่อเพลง เป็นเพลงที่สามารถโพสต์ในอินสตาแกรมได้

ตอนนี้ไพร่ามีผู้จัดการคนใหม่คือ “Chris Craker” เจ้าของ Karma Sound Studios ซึ่งเป็นคนทำงานระดับโลกที่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้นักประพันธ์เพลงประกอบหนังระดับเทพอย่าง Hans Zimmer มาแล้ว !! ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินในดวงใจของไพร่า

 

Chris Craker

 

ศิลปินที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วย ตัวศิลปินเอง โปรดิวเซอร์ และผู้จัดการ และทั้งสามต้องทำงานกันอย่างสอดประสานกันอย่างมาก น้อยศิลปินนักที่จะมีครบสาม หรือมีผู้จัดการที่ดี คนที่ป๋าเต็ดยกตัวอย่างว่ามีผู้จัดการที่เยี่ยมมากก็คือ “พี่เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ นอกนั้นคำว่าผู้จัดการในบ้านเราจะไม่ได้รับบทบาทแบบที่ “ผู้จัดการ” ควรจะเป็น แต่ศิลปินระดับโลกอย่าง The Beatles, U2,  The Rolling Stones มักจะมีผู้จัดการที่สุดยอดกันทั้งนั้น ซึ่งในทุกวันนี้ไพร่ามีองค์ประกอบของความสำเร็จครบถ้วน และเธอขอเพิ่มเติมอีกหนึ่งองค์ประกอบนั่นคือ “ค่ายเพลง” ที่สังกัดอยู่ เพราะว่าสิ่งที่เราจะก้าวไปข้างหน้ามันต้องใช้เงินเยอะ ต้องได้ค่ายที่เข้าใจ vision และพร้อมจะลงทุนลงแรงให้เราได้ก้าวไปสู่ฝัน

ไพร่าใช้เวลากว่า 11 ปีจากจุดเริ่มต้นในวัย 16 จนถึงวันนี้ที่เธอมายุ 27 ที่เธอได้เจอ “ดรีมทีม” ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ  เธอเลยรู้สึกว่าตนเองโชคดีมาก


“น่าหมั่นไส้”

 

ด้วยท่าทีที่มั่นใจจนอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกหมั่นไส้ จึงทำให้ไพร่าได้รับ feedback ด้านลบอยู่เรื่อย ๆ

 

“บ่อยเลยค่ะ เหมือนถ้าไพร่าจะเดินเข้ามาในฉากเฉย ๆ ทุกคนก็จะแบบ ‘อีนี่แม่ง’ ‘She’s a bitch!’”

 

อันนี้เป็น basic reaction ที่ได้จากคนไทย แต่ในภายหลังก็จะมีคนเข้ามาขอโทษที่มองเธอผิดไป นั่นทำให้เธอรู้ว่าหน้าเธอที่มันไม่ “friendly” นั้นมันเป็นเรื่องจริง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไพร่าดูน่าหมั่นไส้นั่นเป็นเพราะว่าในสายตาเด็กที่โตจากโรงเรียนไทย จะรู้สึกว่าเธอมีความมั่นใจเกินไปและไม่ชอบในสิ่งนั้น รู้สึกว่า “ทำไมมันมีความมั่นใจขนาดนั้นวะ”  ซึ่งไพร่าก็พยายามปรับในระดับหนึ่ง อย่างแรกคือเวลาเจอใครก็จะไหว้ก่อน แสดงความสุภาพไว้ก่อน ซึ่งเธอเพิ่งปรับเมื่อโตขึ้นมา แต่ในวัยเด็กเพราะเธอโตจากโรงเรียนนานาชาติเลยไม่ได้ปฏิบัติธรรมเนียมแบบนี้ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ไม่ได้ทำเพลงไทย เพราะเรียนภาษาอังกฤษแต่เด็ก ถ้าทำเพลงที่ใช้ภาษาไทยอาจจะทำได้ไม่ถึง

จริง ๆ แล้วไพร่าชอบหลายอย่างในความเป็นไทย เธอชอบใส่ผ้าไทยขึ้นไปเล่นบนเวทีโลกเสมอ ดนตรีที่ทำถึงแม้จะเป็นภาษาอังกฤษแต่ก็ใช้เครื่องดนตรีไทยเช่น ระนาด หรือ ขลุ่ย แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ เพราะเธอผสมมันลงไปแบบเนียน ๆ แม้กระทั่งเนื้อหาของเพลงอย่าง “White Lotus” ก็เกี่ยวกับคำสอนเรื่อง “บัวสี่เหล่า” ในศาสนาพุทธ

 

เครดิตภาพ : onlypyra

 

อย่างเพลงในอัลบั้มใหม่เธอก็ยังยืนยันที่จะใช้เครื่องดนตรีไทย ทำให้มันเป็น Asian Sound


“บทเรียนที่สำคัญที่สุด”

 

เครดิตภาพ : onlypyra

 

บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ไพร่าได้รับตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ “อย่าสร้างศัตรู” “อย่าใจร้อน” ตอนวัยรุ่นไพร่าใจร้อนเหมือนวัยรุ่นทั่วไป บางอย่างเหมือนเป็นการ “เผาสะพาน” ตัวเอง

 

“บางอย่างเหมือนเราเผาสะพานตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่าถ้าเราก้าวพลาดกับคนนี้ เราอาจหมดโอกาสบางอย่าง เคยคิดไหมว่าคนคนนี้อีกหน่อยเค้าจะเป็นใคร เพราะว่าทุกคนที่อยู่ในวงการนี้มันก็มี passion แบบนี้กันหมด มันก็วนเวียนกันอยู่ไม่กี่บริษัทแล้วมันก็เจอกัน ความจริงทั้งโลกเลยด้วยซ้ำ วงการดนตรีมันแคบ แล้วบางคนที่เราเผาสะพานไป เค้าก็เป็นอะไรแล้วในแบบที่เราต้องพึ่งเค้า แต่เราไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือได้เพราะว่า อีเด็กบ้าคนนี้ตอนเด็กดันไปเหวี่ยงใส่เค้าไปแล้ว”

 

ความผิดพลาดนี้ทำให้ไพร่าให้ความใส่ใจในเรื่องความสัมพันธ์มากขึ้น เริ่มกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดไป อย่างคนที่ไพร่าเคยเหวี่ยงไว้เธอก็มีความตั้งใจที่จะกลับไปขอโทษ แต่คงไม่ใช่ตอนนี้เพราะมันจะชัดเจนเกินไปว่าเธอกลับไปขอโทษเพื่อหวังผลซึ่งอาจดูไม่จริงใจ เลยอยากรอเวลาที่ดีกว่านี้


“เราทุ่มเทให้ดนตรี แต่ดนตรียังไม่รักเรากลับ”

 

ไพร่าทุ่มเททุกอย่างให้ดนตรีโดยไม่มีแผนสำรองใด ๆ ทุ่มเทแรงกายแรงใจและแรงเงินไปหมด

 

“บางทีมันก็เหมือนกับ gamble เหมือนการพนัน เราพนันว่าเราทำได้ เราก็แค่ต้อง invest ทุกอย่างในชีวิต เงิน เวลา หยาดเหงื่อ น้ำตา และเลือด”

 

ตอนนี้มันก็เริ่มออกดอกผลแล้ว ไพร่าเริ่มรู้สึกว่าที่เริ่มจาก “0” ตอนนี้เริ่มมาถึง “1” แล้ว (จาก “100” แสดงว่าเธอวาดหวังไว้ว่าจะต้องเดินต่อไปอีกไกล)

คำว่า “ดนตรีรักเรากลับ” เกิดจากความรู้สึกที่ไพร่าเปรียบดนตรีเหมือนกับเงิน เหมือนเรารักและทุ่มเทให้กับใคร เราก็อยากได้ใจจากเขาเหมือนกัน ซึ่งการที่มีคนฟัง หรือคนที่เข้าใจในดนตรีของเธอก็เป็นการเติมเต็มความปรารถนานี้

เครดิตภาพ : onlypyra


“เป้าหมายสูงสุดของการเป็น PYRA”

 

ไพร่าอยากเปลี่ยนโลก อยากกอบกู้โลกด้วยตัวของเธอ เพราะศิลปินเป็นคนที่ “เสียงดัง” มีอิทธิพลต่อคนได้ เธอรู้สึกว่าบทเพลงทั่วไปที่ได้ฟังมันวุ่นวายอยู่แต่กับความลุ่มหลงในวัตถุ ยาเสพติด เซ็กส์ เรื่องรักเรื่องใคร่ ต่าง ๆ นานา เธอจึงปรารถนาที่จะให้บทเพลงของเธอเป็นหนึ่งเสียงที่มอบพลังด้านบวก โน้มน้าวใจไปในทางที่ดี โน้มน้าวใจให้คิดดีทำดีแต่นำเสนอจากในมุมที่มันเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตัวเอง อยากจะนำเสนอว่า

 

“ถึงชีวิตเราจะแย่ แต่เราไม่จำเป็นต้อง turn out เป็นคนที่แย่ก็ได้”

 

 

สามารถติดตามผลงานและให้กำลังใจไพร่าได้ที่

onlypyra

Pyra youtube 

 

ผลงานเพลงของ Pyra

อัลบั้ม Stray (2016)

อัลบั้ม EP “Better Being : Suriya” (2018)

 

Source

EP.6 PYRA | ประสบการณ์ Burning Man และเส้นทางสู่เทศกาลดนตรีระดับโลก | ป๋าเต็ดทอล์ก SEASON 3

สนามหลวงชวนคุย EP 36 : My name is “PYRA” 

https://www.fungjaizine.com/article/pyra

https://www.facebook.com/onlypyra/

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส