ป๊อบ ปองกูล สืบซึ้ง หรือ ป๊อบ (อดีต) Calories Blah Blah คือหนึ่งในนักร้องคุณภาพของวงการเพลงไทย ตลอดช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมาในวงการเพลงพอปได้สร้างสรรค์บทเพลงฮิตติดหู ติดใจคนไทยทั้งประเทศมามากมายไม่ว่าจะเป็น คนที่ไม่เข้าตา , ฤดูอกหัก , แพ้คำว่ารัก , ปล่อย , ภาพจำ และล่าสุดกับ Happy Ending

นอกจากบทเพลงที่เข้มข้นไปด้วยอารมณ์แล้วเรื่องราวชีวิตของป็อบเองก็เข้มข้นไม่แพ้กัน การเจอคำดูถูก.. การแยกวง.. และการเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ จนเป็นที่มาของวลีฮิต “โลกสองใบ”

เรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงฉากสุดท้ายของบทสำคัญในชีวิต “ป๊อบ ปองกูล” ศิลปินที่อยู่ในวงการมา 16 ปีคนนี้ กำลังรอให้เราเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้กับโลกใบนี้ของเขาแล้วครับ

[บทสัมภาษณ์นี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก SEASON 3 EP.7 ป๊อบ ปองกูล .. กับชีวิต 16 ปีในวงการเพลง]

 

Play video


The Beginning

จุดเริ่มต้นของป๊อบ


 

“ผมไม่เคยฝันที่จะเป็นนักร้อง”

 

ป๊อบแค่เป็นคนที่ชอบฟังเพลง มีความสุขกับการฟังเพลง ไม่เคยคิดที่จะเป็นนักร้อง หรือ ร้องเพลงได้ แค่เป็นคนที่ชอบในเสียงดนตรี แม่เคยอัดเทปเอาไว้ตอนป๊อบร้องเพลง “ตาผุยชุมแพ” เป็นเสียงเด็กน้อยตั้งแต่ตอนยังเพิ่งพูดได้ และเวลาที่แม่เปิดเพลงเก่าป๊อบชอบพูดขึ้นมาว่า

 

“แม่นั่นเสียงอะไรน่ะ เหมือนเสียงสวรรค์เลย”

 

นี่คงเป็นสัญญาณเริ่มต้นของเด็กคนหนึ่งที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในนักร้องแนวหน้าของเมืองไทย

 

“เราคงเป็นต้นไม้ที่เกิดมาเพื่อการร้องเพลง เข้าใจอารมณ์ของมัน”

ป๊อบในวัยเด็ก

ครอบครัวของป๊อบไม่ใช่ครอบครัวดนตรี ห้ามมีเทปเพลงในบ้านเสียด้วยซ้ำ พ่อเป็นทหารแม่เป็นครู ที่สุดของระเบียบชีวิต พอป๊อบเป็นวัยรุ่นพ่อแม่ก็พยายามผลักสิ่งที่เป็น “ทางเสี่ยง” ออกไปให้มากที่สุด โอกาสที่จะฟังคือในรถ ถ้าซื้อเทปก็จะโดนดุ แต่ด้วยความที่มันยากจึงทำให้ป๊อบมีความสุขกับมัน เทปชุดแรกที่ป๊อบซื้อคือ “อินคา” ช่วง 2-3 ทุ่มก็แอบเอาเข้าไปฟังในรถ

เริ่มรู้ตัวว่าร้องเพลงได้และชอบเล่นดนตรีเมื่อ เริ่มฟังเพลงและเห็นเพื่อนเอากีตาร์มาเล่น ไปห้องซ้อมด้วยกัน วันแรกเข้าไปกัน 20 คน ยืนมองกลองมองเบส แบบอิหยังวะ ? คือทุกคนเล่นได้แต่กีตาร์ ก็เลยมีคนไปตีกลองเล่นมั่ว ๆ ป๊อบก็ไปดีดเบสดึ๊ง ๆ เล่นดู พอโรงเรียนมีจัดประกวดก็เลยลองฟอร์มวงเล่น ๆ กัน ป๊อบร้องเพลง “หวาน” ของ Nursery Sound แบบร็อก ๆ จำได้ว่าตื่นเต้นมากมีเด็กมาจากหลายโรงเรียน ขึ้นไปแล้ว อะดรีนาลีนมันหลั่งไหล ฉีกเสื้อผ้าตัวเอง เตะรองเท้าออก พอคนกรี๊ดยิ่งมันส์ สิ่งนี้เลยฝังลงไปในความรู้สึก

 

“มันมีเชื้อบางอย่างเกิดขึ้นกับเราแล้ว”

 

สเต็ปต่อมา ป๊อบไปเรียนประวัติศาสตร์ที่สงขลา เพราะดูหนังเยอะ เลยอยากอินดี้ เหงา ๆ หน่อย เลยเลือกที่จะไปสงขลา ปรากฏว่าเหงาจริง ป๊อบชอบขับมอร์เตอร์ไซต์ไปทะเล เอาซาวนด์อะเบาท์หนีบไปฟังด้วย วิน (อัศวิน ดุริยางกูร) รูมเมทของป๊อบที่ต่อมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวง Calories Blah Blah ลองพยายามชวนคนมาเล่นดนตรีด้วยทั้งหอแล้วแต่ไม่มี จนเห็นป๊อบชอบฟังเพลงก็เลยชวนไปเล่นร้านอาหารกัน พ่อแม่ชอบบอกป๊อบว่าเงินมันสำคัญ ป๊อบเลยอยากจะทุ่มเทให้เต็มเม็ดเต็มแหน่วยกับการร้องเพลงในครั้งนี้

พอเริ่มร้องเพลงได้ฝีมือก็เริ่มพัฒนา ป๊อบรู้สึกขอบคุณร้านแรกที่ให้โอกาส เป็นร้านที่แขกเหมือนกันทุกวันตลอดสามปี ป๊อบเลยเติบโตมากับคนเหล่านี้ ถูกขอให้เล่นเพลงของ กะลา โมเดิร์นด็อก ทุกวัน ป๊อบได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เริ่มเล่นตั้งแต่ค่าจ้างวันละ 60 บาท ไปจนถึงเดือนละหมื่นบาท

พอเรียนจบป๊อบตั้งใจจะตัดทิ้งเลย ไม่ได้คิดจะสานต่อ ตอนนั้นคิดที่จะทำงานเกี่ยวกับกรมศิลปากร พอยื่นไปก็ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับ พอผ่านไป 3-4 เดือน วินก็มาชวนป๊อบไปเล่นที่กรุงเทพ ฯ

ป๊อบผู้คุ้นชินกับแขกที่สงขลา ก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่เมื่อมาเล่นที่กรุงเทพ ฯ​ วินโทรตามจนป๊อบไม่กล้าปฏิเสธอีก เลยให้เพื่อนที่ชื่อตี๋รับโทรศัพท์แทน ตี๋ผู้ไม่ได้เตี๊ยมกับป๊อบก่อนก็เลยตอบรับแทนป๊อบ ป๊อบเลยต้องมากรุงเทพ ฯ โดยจำยอม พอขึ้นมากรุงเทพ ฯ ก็เริ่มออดิชั่นและทำงานที่กรุงเทพ ฯ

 

“First Stage Show”

ตอนที่มาประกวดป๊อบยังไม่มีความมั่นใจเท่าไหร่เลย รู้สึกเหมือนขึ้นเขาเหลียงซาน ทางเดินจากลิฟต์ไปถึงที่สมัครเจอแต่คนเทพ ๆ กำลังวอร์มกันอยู่

ป๊อบบอกว่าถึงทุกวันนี้ป๊อบก็ไม่ได้มั่นใจในการร้องของตัวเองนัก เขามองว่าตัวเองไม่ได้มีสกิลในการร้อง ต้องใช้ความพยายามทำความเข้าใจในทุกเพลงที่ร้องเสมอ ตอนที่เข้าสู่การประกวดจริงจังก็รู้สึกเครียด อยากเล่นให้มันจบ ๆ  ไม่ได้มีความมั่นใจว่าจะเอาชนะใครได้

มีช่วงรอบสุดท้ายที่ทำให้ป๊อบรู้สึกว่าตนเองได้เข้าใกล้ความรู้สึกของการเป็นนักร้องเข้าจริง ๆ มันเป็นรอบที่แต่ละคนเลือกเพลงอะไรก็ต้องไปทำสิ่งนั้นให้ดี ป๊อบเลือกเพลง “คิดถึง” ของ Silly Fools ป๊อบต้องเข้าใจลึกซึ้งใน “อารมณ์” ของเพลง ป๊อบถูกพาไปเรียนแอคติ้งโค้ชต้องเข้าใจในทุกคำทุกความหมาย ถูกสมมติให้เป็น “สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาล” ป๊อบเข้าใจมันและดิ่งลงไปจนเข้าใจใน mood and tone ของการร้องเพลงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่เดิมป๊อบพยายามร้องให้เพราะ แต่มันไม่ได้เติมเต็มความหมาย แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่าการร้องออกมาจากใจจริง ๆ  นั้นเป็นเช่นไร หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ตอนนั้นป๊อบกำลังรู้สึกเหมือนกับ ตัวละครหุ่นกระป๋องผู้อ้างว้างโดดเดี่ยว Wall – E เหตุการณ์นี้เหมือนปลดล็อกประตูที่ปิดตายในการเป็นนักร้องของป๊อบ จนสุดท้ายเมื่อมันถูกเปิดออกสิ่งที่อยู่ข้างในก็พรั่งพรูออกมา ผลสุดท้ายป๊อบได้รางวัลที่สองจากการประกวดนี้

ตอนนั้นป๊อบก็อยากจะเหลิงกับความสำเร็จนี้เหมือนกัน แต่ไม่นานกลุ่ม AF (Academy Fantasia) รุ่นแรกก็เกิดขึ้นมา ซึ่งมีแต่คนเก่ง ๆ ทั้งนั้น ซึ่งในนั้นก็มี “อ๊อฟ ปองศักดิ์” ที่ต่อมาได้กลายเป็นน้องชายคนสนิทในชีวิตของป๊อบ

 


FACE THE INSULT

เผชิญกับคำดูถูก


 

ป๊อบเคยเจอคำพูดกระทบจิตใจอยู่หลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดที่รู้สึกเป็นแผลเกิดขึ้นเมื่อ ตอนป๊อบไปเยี่ยมแผงเทปที่สงขลา ตอนนั้น “ไอซ์ ศรัญญู” ดังมาก (จากการชนะการประกวด First Stage Show) มีคนมารุมที่แผง 3-4 ร้อยคน ป๊อบเองก็ไม่ได้มั่นใจว่าตัวเองดังมากนัก เลยพยายามทำตัวเหนียม ๆ จนพี่ที่ไปด้วยบอกให้ป๊อบเดินมาข้างหน้า คนที่ถ่ายรูปอยู่พูดขึ้นมาว่า

 

“เปลืองฟิล์ม เปลืองแฟลชมากเลยอ่ะ จะบังทำไมจะถ่ายรูปไอซ์”

 

ป๊อบอยากจะบอกเลยว่า “กูไม่ได้อยากจะมายืนตรงนี้” พยายามยืนข้างหลังแล้วด้วยซ้ำ

ตอนที่ออกเพลงแรก “คนที่ไม่เข้าตา” ป๊อบบอกกับทาง “กรีนบีน” (ค่ายเพลงย่อยของแกรมมี่ที่ป๊อบสังกัดอยู่) ว่าขอออกแต่เสียงได้ไหม ปล่อยแบบไม่ให้คนรู้ว่าป๊อบเป็นใคร ป๊อบไม่ได้เจอคำกระทบจิตใจแค่ครั้งนั้นครั้งเดียว ยังเจออีกเรื่อย ๆ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเยียวยาตัวเองได้

ครั้งหนึ่งเคยไปเสนอตัวเป็นกลุ่มที่ค่ายเพลงค่ายหนึ่ง แล้วเจอคนในนั้นสบประมาทป๊อบว่าไม่มีคนเลือกเขาไปปั้นอย่างแน่นอน “ไอ้….ไม่มีใครเลือกมึงหรอก” เหตุการณ์นี้ได้สอนป๊อบว่าเราไม่ควรตัดสินใครโดยที่ยังไม่รู้จักความสามารถที่แท้จริงของเขาเสียก่อน ส่งผลให้ตอนที่ป๊อบต้องเป็นโค้ชหรือกรรมการในรายการประกวดร้องเพลงทั้งหลาย เขาจะไม่มีทางตัดสินใครก่อนอย่างแน่นอน

 

“เพราะในวันนึงถ้ามันเป็นไปได้ เดี๋ยวมึงจะเสียหมา”

 

จนกระทั่งในที่สุดป๊อบก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้คนปากหมาทั้งหลายได้เห็นว่าเขาทำมันได้ และ เราก็เชื่อเลยว่าคนเหล่านั้นทุกวันนี้ก็ต้องฟังเพลงของป๊อบ ซึ่งมันอาจจะเป็นเพลงโปรดของคนพวกนี้เสียด้วยซ้ำ

จากนั้น “Calories Blah Blah” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ป๊อบต้องเผชิญกับคำดูถูกเหล่านั้น วงดูโอที่มีป๊อบเป็นนักร้องนำ มีวินเพื่อนสนิทเป็นมือกีตาร์ พวกเขาถ่ายทอดความรู้สึกที่มีในตอนนั้น ออกมาผ่านบทเพลงอย่าง “คนที่ไม่เข้าตา” ที่ประสบความสำเร็จมากพอสมควรและทำให้เสียงของป๊อบเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

Calories Blah Blah

 

จะมีใครใครรัก

คนหน้าตาอย่างฉัน

ที่มันธรรมดา

ไม่เข้าตาเหมือนใครใคร

จะมีใครใครไหม

ที่จะมองแต่หัวใจ

จะมีไหมใครเข้าใจรักกัน

 

Play video

 

จากนั้นทั้งคู่ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงต่อมาอีก 7 อัลบั้ม มีเพลงฮิตติดหูผู้ฟังชาวไทยมากมาย อาทิ คนที่ไม่เข้าตา , ฤดูอกหัก , แพ้คำว่ารัก จนในที่สุดเส้นทางที่เดินร่วมกันมาเป็นเวลากว่า 6 ปีก็ต้องถึงวันสิ้นสุด

 


FACT THE BREAKUP

เผชิญความแตกหัก


แนวคิดในช่วงแรกของการทำงานของ Calories Blah Blah คือการคิดว่าทำอย่างไรที่จะวางเสียงของป๊อบให้เข้ากับเพลงที่หนึ่ง ณรงค์วิทย์ แต่ง มันมีเท่านั้น แต่นานวันป๊อบเริ่มมีความรู้สึกอยากไปให้ไกลกว่านั้น อยากไปให้มากกว่าวงที่เล่นแต่เพลง easy listening มันทำให้ป๊อบกับวินเริ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ด้วยความที่เป็นดูโอการทำงานมันเป็น 50-50 ยากที่จะหาข้อสรุปให้กับเรื่องใด ๆ ถ้าไม่มีใครยอมกัน จนสุดท้ายทั้งคู่ก็ไปถึงจุดที่ไม่ยอมคุยกัน

อีกรอยแตกร้าวก็เกิดจากการทำเพลงที่สื่อสารได้ไม่ตรงกัน เพราะป๊อบเองไม่ได้มีความรู้เรื่องดนตรีแต่มีไอเดีย พอไปเสนอไอเดียกับวินก็จะถูกตอบกลับมาว่ามันทำไม่ได้ด้วยเหตุผลนี้เหตุผลนั้นในทางดนตรี มันเลยทำให้ไปต่อไม่ได้ นอกจากนี้ป๊อบยังเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องเวลามาก ซึ่งตรงข้ามกับวินที่เป็นคนสบาย ๆ ซึ่งป๊อบเองก็ชอบในความเป็นวินตรงจุดนี้ แต่พอมันมาอยู่ในเรื่องของงาน การแสดงไม่ตรงเวลามันทำให้ป๊อบหงุดหงิดและก็ไปพูดไปบังคับอะไรวินไม่ได้ เพราะวินเองก็ถือว่าเป็นเจ้าของวงอีกครึ่งหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งทำให้รอยแตกร้าวนั้นแผ่ขยายมากยิ่งขึ้น

จนวันหนึ่งที่จุดแตกหักได้เกิดขึ้น เมื่อป๊อบรอวินอยู่ในรถตู้ ส่วนวินนั้นไปปาร์ตี้กับเพื่อนต่อหลังเสร็จงานซึ่งในช่วงหลังวินมักเป็นแบบนี้ประจำ ป๊อบขอให้วินบอกว่าจะกลับมากี่โมงเพื่อให้คนขับรถตู้ได้รู้เวลา จะได้พักผ่อนก่อนแล้วค่อยมารับทีหลัง แต่วินไม่ได้บอกทำให้คนขับต้องรอเป็นเวลานานและไม่ได้พัก ยิ่งทำให้ป๊อบกังวลใจว่ามันอาจเกิดอันตรายได้หากคนขับไม่ได้พักผ่อน พอวินกลับมาป๊อบจึงได้ต่อว่าวิน วินเกิดอาการไม่พอใจจึงเขวี้ยงแก้วลงพื้นเสียงดัง ณ จุดนั้นเหมือนสติของป๊อบขาดผึง จึงโผตัวไปชกวินในทันที ในความเป็นเพื่อนมันทำให้วินรู้สึกเสียใจที่ป๊อบทำแบบนี้กับตัวเอง จากนั้นทั้งคู่ต้องรอให้ทุกอย่างเย็นลงจึงหาโอกาสออกมาคุยกันว่าคงไปด้วยกันไม่ได้ จนตัดสินใจไปคุยกับทางแกรมมี่อีกที ถือเป็นอันสิ้นสุดการทำงานร่วมกันจากนี้ไป

หลังจากนั้นป๊อบก็ต้องออกแสดงโชว์เพียงลำพังกับวง โดยไร้วิน บางครั้งยังเผลอเรียกชื่อวินบนเวที แต่วินไม่ได้อยู่ด้วยกันตรงนี้แล้ว ป๊อบเองอยู่กับความรู้สึกผิดมาโดยตลอด เพราะสิ่งที่วินทำนั้นมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การไม่เป๊ะกับเรื่องเวลา การปาร์ตี้ แต่ว่าสิ่งที่ป๊อบทำนั้นมันรุนแรง ทุกวันนี้ป๊อบยังรู้สึกติดค้างกับ “คำขอโทษ” ที่เขายังไม่เคยมีโอกาสได้บอกกับวินเลย

 

จริง ๆ มันมีสิ่งที่ติดค้างที่ผมอยากพูดกับมันเยอะ สิ่งสำคัญที่ผมควรจะพูดก็คือ ‘กูไม่ได้เกลียดมึงเลย และสิ่งที่กูทำน่ะแม่งไม่ได้ดีด้วย มันเป็นสิ่งที่กูเสียใจจนทุกวันนี้ว่าแบบ…กูลืมวันที่เราไปแต่งเพลงข้างถังขยะได้ยังไงวะ และเรามาถึงจุดที่เราไม่คุยกันได้ยังไงวะ”

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มิตรภาพที่เคยมี ช่วงเวลาดี ๆ ที่มีให้กัน ช่วงเวลาเหล่านั้นคิดเมื่อใดมันก็สุขใจทุกครั้ง ถึงแม้วันนี้จะไม่มีอีกแล้วก็ตาม แต่ทุกสิ่งในชีวิตมันย่อมเป็นไป บางทีมันอาจถูกลิขิตไว้ให้เป็นไปแบบนี้…

 


REBORN

เกิดใหม่…ในฐานะศิลปินเดี่ยว


เมื่อป็อปได้กลายมาเป็นศิลปินเดี่ยวสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ “วิธีคิดในการทำเพลง” ซึ่งป๊อบจะไม่ได้เริ่มจากการคิดว่าเพลงนี้จะฮิตหรือจะเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่หรือไม่ แต่จะเริ่มจากความต้องการ จากความชอบของตัวเอง

 

“อย่างน้อยเพลงที่ผมทำออกมา ฟังแล้วผมต้องชอบมัน เพราะเมื่อผมปล่อยออกไปแล้วไม่มีใครชอบมันเลยในโลกนี้ ก็ยังมีผมคนนึงที่ชอบ มันจะไม่เป็นเพลงที่น่าสงสารขนาดนั้นครับ”

 

เพลงแรก ๆ ที่ป๊อบใช้วิธีคิดแบบนี้ก็คือเพลง “ปล่อย” (เขียนเนื้อร้องโดย อะตอม ชนกันต์) และ “ภาพจำ” ซึ่งพอเราได้ฟังเราจะพบเลยว่ามันมีความแปลกใหม่ไปจากงานเดิม ๆ กับท่วงทำนองดนตรีที่มีความเข้มข้นขึ้น เนื้อหาที่จริงจังขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเสียงร้องที่นุ่มนวลชวนฟังในแบบฉบับของป๊อบอยู่

Play video

Play video

อีกเอกลักษณ์ของป๊อบที่ทุกคนจะนึกถึงคือการเป็นคน “คุยสนุก” และเมื่อมาใส่สิ่งนี้เข้ากับบทเพลงที่มันมีความเข้มข้นและมีเรื่องเล่าของมันเอง จึงอาจทำให้จังหวะและอารมณ์ของโชว์นั้นไม่สมูท ป๊อบจะกลับมาทบทวนถึงโชว์ที่ได้แสดงไปและจะคิดใหม่ว่าในแต่ละช่วงของเพลงควรที่จะพูดอะไร อยากจะพูดอะไร อยากใส่อะไรลงไปจึงจะเหมาะสมกับอารมณ์ของเพลงนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โชว์ของป๊อบมีความสมูทในจังหวะที่เขาได้เป็นคนกำกับมันเอง

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาป๊อบงานโชว์น้อยลง จึงทำให้ต้องมาคุยกับทีมงานและวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่ามันเป็นเพราะอะไร ปัจจัยภายนอกก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยภายในนั้นต้องพร้อม การวิเคราะห์ครั้งนี้ทำให้ป๊อบรู้ว่าฐานแฟนเพลงของตนเองมีใครบ้าง และแฟนเพลงแต่ละกลุ่มชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำให้ป๊อบมีสคริปต์โชว์อยู่ถึง 5-6 แบบเพื่อปรับใช้ให้เหมาะกับแฟนเพลงแต่ละกลุ่ม

 

“ผมจะคุยกับวงบ่อยมาก ว่าเราเสียโชว์นี้เพราะอะไร เราทำตรงนี้ไม่ได้เพราอะไร ถ้ามันเป็นเรื่องซาวนด์ผมจะแก้ซาวนด์ ถ้ามันซื้ออะไรได้ผมจะซื้อ ถ้าเป็นในเรื่องโชว์ผมจะแก้โชว์ ถ้าเป็นที่เรื่องสคริปต์ วันนี้พูดอันนี้ไปคนดูไม่ชอบ หรือว่าคนดูชอบแต่คนที่เราพูดถึงเขาไม่ชอบ ก็ต้องกลับมาเปลี่ยน”

 


INSIDE POP

โลกส่วนตัวของ ป๊อบ ปองกูล



ป๊อบมองว่าตนเองเป็นคนที่ทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ช้า กว่าจะเข้าใจต้องใช้เวลากลับมานั่งคิด วิเคราะห์ทบทวน มันทำให้ป๊อบต้องสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อกันพื้นที่ส่วนตัวไว้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ  แม้กระทั่งคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ป๊อบก็จะมีการจัดสรรเวลาว่าเวลาใดจะใช้กับตัวเอง เวลาใดถึงจะมาใช้กับครอบครัว

 

“Happy Ending”

ภาพป๊อบตอนแถลงข่าว “โลกสองใบ” ป๊อบ ปองกูล ชายร่างใหญ่ดูตัวเล็กทันใดเมื่อนั่งอยู่กลางวงล้อมของเหล่านักข่าวที่มารุมล้อมเพื่อฟังความจริงจากปากของเขา

 เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งใหญ่ในชีวิตของป๊อบและส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง

 

“สิ่งที่มันหนักคือเราทำลายโลกใบนึง แล้วเราเห็นเค้าอยู่ในนั้นตอนเราทำลาย โมเมนต์ที่เราเห็นเค้าระเบิดออก มันคือโมเมนต์ที่แย่ที่สุดในชีวิตที่ผมนึกออกเลย”

 

หากเปรียบความรู้สึกตอนที่ “ทำลายโลกใบนั้น” กับตอนที่ป๊อบนั่งอยู่กลางวงล้อมนักข่าว ป๊อบพบว่าความรู้สึกในตอนนั้นเทียบไม่ได้กับตอนที่ทำลายทำร้ายใจใครสักคนเลย ในตอนที่แถลงข่าวจิตใจเขาแทบหลุดลอยไปแล้ว เหมือนไม่รู้สึกอะไรเลย แม้แต่ตอนที่ป๊อบไปสารภาพและขอโทษกับครอบครัวของโบ ตอนนั้นความรู้สึกของเขาก็ยังไม่กลับมา

จนวันที่ป๊อบได้ทำเพลง “งานเต้นรําในคืนพระจันทร์เต็มดวง” กับลูกปลา – อารียา โรจนดิษฐ์ ลูกทีมของป๊อบในรายการ The Voice ในบทเพลงนั้นเหมือนมี easter egg ที่ป๊อบซ่อนเอาไว้อยู่ ซึ่งลูกปลาที่จะขึ้นแสดงเพลงนี้ก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อบทเพลงมันได้ถูกบรรเลงออกมา ป๊อบรู้สึกได้ทันทีว่า บางอย่างที่ถูกปิดตายไว้มันได้ถูกทลายออกมา ความรู้สึกข้างในหลั่งไหลพรั่งพรู เขาได้กลับมารู้สึกถึงมันอีกครั้ง

Play video

 

ป๊อบผ่านช่วงเวลาของการเยียวยามาด้วยความเข้าใจจากทั้งทางฝั่งภรรยาคือ ปลา และอดีตคนรักคือ โบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีมุมที่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ป๊อบมีพื้นที่ที่ยืดหยุ่นในการที่จะประคับประคองรักษาความรู้สึกของแต่ละฝ่ายและข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่รุนแรงต่อใจของป๊อบและโบมากจนต้องขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์

ป๊อบใช้เวลาร่วมสามเดือนจึงกลับมารู้สึกมีความสุขกับบางสิ่งในชีวิตได้บ้าง ป๊อบยังคงอัปเดตความเป็นไปของโบอยู่ผ่านทางเพื่อนของโบ ป๊อบอยากประคับประคองอยู่ไกล ๆ เพราะหากเข้าไปใกล้มันคงทำให้เรื่องยิ่งแย่ จึงทำให้ป๊อบต้องติดต่อคนหลายคนที่วันนี้เขารู้สึกขอบคุณมาก บางคนเป็นผู้ใหญ่ในวงการที่ป๊อบไม่คาดคิดว่าจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ก็ยอมช่วยเข้าไปประสานกับโบให้ป๊อบ มันทำให้ป๊อบซาบซึ้งและสำนึกรู้ในบุญคุณที่คนรอบตัวมีให้กับเขา

 

“ผมกลายเป็นคนที่มองโลกดีขึ้นหลังจากเหตุการณ์นั้น ผมรู้สึกว่า ‘โลกมันสวยกว่าที่มึงคิดอีกนะไอ้ป๊อบ’ พอควันมันหายมันเลยเริ่มมีความสุขได้จริง ๆ”

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นความโชคดีของป๊อบคือผู้หญิงทั้งสองคนคือปลาและโบนั้นต่างเป็นคนที่เข้มแข็งและมีพลังของตนเองสูง จึงสามารถข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้ อย่างปลาเองเธอบอกกับป๊อบว่าเธอจะขอ “ร้องไห้แค่วันเดียว” แล้วหลังจากนั้นจะไม่พูดถึงมันอีก ซึ่งเธอก็ทำมันได้จริง ๆ แม้กระทั่งวันที่ไปคืนชุดแต่งงาน ทุกสายตาก็ต่างจับจ้องมองเธอ แต่เธอก็ยังคงเข้มแข็งและจัดการเรื่องทุกอย่างไปได้อย่างดี เธอได้บอกกับป๊อบว่า

 

“ถ้านี่คือทางที่เราเลือกกัน เราจะไม่หันไปมองข้างหลังแล้ว”

 

โมเมนต์ที่ป๊อบดีใจที่สุดและรู้สึกว่าเรื่องนี้ผ่านไปแล้วจริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อป๊อบได้ไปถ่ายงานที่ตลาดบางกะปิและเจอพี่ของโบ ซึ่งเข้ามาทักอย่างเป็นมิตร ป๊อบรู้สึกขอบคุณคนดี ๆ ที่มีอยู่ในชีวิต ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่า “จะไม่ให้มองว่าโลกนี้ดีได้อย่างไร” หากป๊อบต้องจัดการเรื่องต่าง ๆ เพียงลำพังเขาอาจจะไม่สามารถข้ามผ่านมันไปได้ก็ได้

 

“ถ้าเป็นน้องผมโดนทำแบบนี้บ้าง ผมคงทำแบบเค้าไม่ได้ เค้าเป็นคนที่มีใจประเสริฐกับเราจริง ๆ”

 

ถึงแม้จะผ่านเรื่องราวไปนาน แต่ก็ยังมี feedback ด้านลบส่งมาที่ป๊อบอยู่เรื่อย ๆ ก่อนนี้เวลาโดนด่าเรื่องอะไรมันจะทำให้ป๊อบนอยด์มาก แต่หลังจากเรื่องนี้เวลาป๊อบโดนด่าเขากลับรู้สึกว่า “มึงมันสมควรโดนแล้ว” มันเลยยิ่งทำให้เขาฟื้นตัวเร็วมากยิ่งขึ้น

บทเรียนที่สำคัญที่ป๊อบได้รับจากเหตุการณ์นี้คือ “ต้องชัดเจน”  เรื่องนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ปลาบอกกับป๊อบว่าหากช่วงที่เธอไปโฟกัสเรื่องเรียน ถ้ามีใครเข้ามาป๊อบสามารถไปได้เลยนะ ซึ่งประโยคนี้มันได้ทำให้ป๊อบตัดสินใจเปิดตัวเองจนโบได้เข้ามาในชีวิต ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนป๊อบเองก็ไม่กล้าบอกความจริงให้แต่ละฝ่ายรับรู้ ทำให้มันกลายเป็นปัญหาสะสมรอเวลา “ระเบิด” ออกมาในที่สุด

เมื่อได้ฟังเพลง “Happy Ending” เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่าเพลงนี้ป๊อบตั้งใจแต่งให้ใครคนหนึ่ง แต่วันนี้ป๊อบได้เฉลยความจริงแล้วว่ามันเป็นบทเพลงที่เขาแต่งให้ “ตัวเอง” เพื่อเป็นการบอกว่าการที่เขาผ่านเรื่องนี้มาได้โดยที่ยังมีแฟนเพลงอยู่ มีคนที่รอฟังเพลงของเขาอยู่ รอดูเขาแสดงคอนเสิร์ตอยู่ มันคงไม่มีตอนจบใดสวยงามมากไปกว่านี้แล้ว

 

“จบแบบนี้ดีที่สุดแล้ว”

 

จึงเป็นประโยคตั้งต้นที่เป็นที่มาของเพลงนี้ เพลงที่ป๊อบต้องการจะใช้มันเพื่อเป็น “ตัวหยุด” ที่บอกเขาให้รู้ว่า เขาควรจบเรื่องนี้ได้แล้ว ควรเดินหน้าต่อไปได้แล้ว

 

“ผมอยากปลดล็อกตัวผมเองว่า ผมต้องหยุดคิดเรื่องนี้ได้แล้ว มึงต้องหาสิ่งนึงมาจบ full stop เรื่องนี้ของมึง มึงจะได้ทำงานในฝั่งของป๊อบ ปองกูลรับใช้คนที่เป็นแฟนเพลงของป๊อบ ปองกูลต่อไป”

 

ในช่วงที่ป๊อบพัฒนาบทเพลงนี้ในช่วงแรก ตัวเพลงที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่เราได้ฟังกัน มันออกจะ “ขุ่น” เสียด้วยซ้ำ เพราะป๊อบยังไม่ได้ปล่อยให้มันตกตะกอน หากปล่อยออกมาตอนนั้นมันจะต้องมีบางถ้อยคำที่ทำให้ใครบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งคนฟังก็อาจจะบาดเจ็บในสิ่งที่เขาได้สัมผัส จนวันที่ป๊อบสะดุ้งตื่นขึ้นมาพร้อมคำว่า “จบแบบนี้ดีที่สุดแล้ว” ขึ้นมาในใจ มันจึงทำให้เขาตัดสินใจได้ว่าอยากจะทำเพลงในแบบที่เราได้ฟังใน “Happy Ending” ออกมา จึงได้รีบส่งข้อความไปหา แอ้ม อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ คนเขียนเนื้อเพลงนี้ทันที

หลังจากได้พูดคุยกันในรายละเอียดป๊อบไม่อยากให้เพลงนี้มีความเป็น “เรื่องส่วนตัว” เขาอยากให้มันเป็นเพลงที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกคนได้ จึงพยายามคิดหาทางที่จะเล่ามันออกมา จนพี่ทีมงานคนหนึ่งได้พูดถึงซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของสามีภรรยาที่อยู่กินกันมานาน สามีเริ่มรู้สึกว่าภรรยาเปลี่ยนไปกลายเป็นคนอ้วนเผละ ขี้ริ้วขี้เหร่ จึงคิดขึ้นมาในใจว่าหากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ยอมตกล่องปล่องชิ้นกับผู้หญิงคนนี้เด็ดขาด จนในที่สุดก็เกิดเหตุมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้ชายคนนี้ได้ย้อนเวลากลับไปจริง ๆ เขาจึงพยายามที่จะหนีผู้หญิงคนนี้ แต่ยิ่งหนีเขากลับพบว่าเธอยิ่งสวยมีคนมารุมล้อมตามจีบมากมาย จนทำให้เขาอดใจไม่ได้ที่จะเข้าไปหาเธอและชอบเธอจนได้ในที่สุด แต่สุดท้ายซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้ข้อสรุปตรงที่ว่าผู้ชายนั่นล่ะที่ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น “เพราะฉะนั้นในวันที่มันจบลงแบบนี้มันอาจจะเป็นจุดจบที่ดีที่สุดสำหรับเค้าแล้วก็ได้”

กับป๊อบเองก็เช่นกันคำว่า “Happy Ending” สำหรับป๊อบมันไม่ได้หมายความว่าเขาลอยตัวเหนือปัญหา ไร้มลทิน ไร้ความผิดแล้ว เขายังคงยืนยันว่าเขานั่นล่ะเป็นคนที่ผิด แต่คำว่า “Happy Ending” สำหรับป๊อบนั้นมันคือการที่เขาได้รับบทลงโทษที่สาสมแล้วและมันยังดำเนินอยู่ แต่ตอนนี้เขาเพียงแต่ได้รับการปลดล็อกแล้ว และชีวิตมันต้องดำเนินต่อไป คอมเมนต์ของโบจึงเป็นเหมือนสัญญาณของมิตรภาพดี ๆ ที่ทั้งคู่ยังมีให้กัน และเป็นการตอบในตัวว่า “จบแบบนี้มันดีที่สุดแล้ว”

Play video

 ก่อนจบบทสนทนาป๊อบได้ทิ้งท้ายด้วยการสรุปแนวคิดในการทำงานของตนเองเพื่อฝากให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ไว้ว่า

 

“ผมเป็นคนไม่ชอบเก็บเกี่ยว ผมเป็นคนที่ชอบสร้างลำต้น เวลาที่ผมเห็นว่าดอกผลนี่มันน่าเก็บน่ากินจังเลย สิ่งแรกที่ผมจะทำก็คือเลี่ยงมันก่อน เพื่อให้ลำต้นมันโตได้ ผมก็จะตัดดอกและผลมันทิ้ง บางครั้งผลประโยชน์มันหอมหวนแต่เราต้องตัดมันทิ้ง เพื่อให้ลำต้นมันโต”