นาทีนี้เชื่อว่าใครหลายคนคงทำงานอยู่บ้าน ไม่ก็หลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น เพื่อความอภิรมย์ในการทำงานที่บ้านและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ การจัดบ้านหรือพื้นที่ภายในบ้านให้โปร่งโล่งเป็นสัดเป็นส่วนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เลยขอรีวิวประสบการณ์จัดพื้นที่ทำงานที่นำหลักการของหนังสือ 108 เวทมนตร์แห่งการจัดบ้าน ของ คนโด มาริเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านอันดับหนึ่งของโลก มาย่อยให้เข้ากับเนื้อเพลงฮิตลองปรับใช้กันดู ใครกักตัวอยู่บ้านเบื่อ ๆ มีเวลาเหลือเฟือก็ลุกขึ้นมาจัดบ้านแก้เซ็ง หรือถ้าอยากเพิ่มพลังสมองและการตัดสินใจ การจัดบ้านยังช่วยจัดลำดับความคิด ช่วยบูทพลังไอเดียให้บรรเจิดสุด ๆ อีกด้วย เอาละ ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย !

ทิ้งไว้ที่เดิม หรือทิ้งที่ไหนดี… แค่อยากจะขอเก็บไว้ที่เก่า และไม่บอกใครให้มันเป็นเรื่องราว…

โนวววว ไม่ได้เด็ดขาดเลย สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะให้เรามีสเปซ คือต้องเอาของเดิมออกก่อน งดร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ How to ทิ้ง ขณะเก็บของเป็นการชั่วคราว หากมีท่อนนี้โผล่มาเมื่อไหร่ให้เปลี่ยนมาท่องข้อความนี้แทนซะนะ

“เลือกเก็บเฉพาะของที่หยิบขึ้นมาแล้วมีความสุขและได้ใช้งานแน่ ๆ ไม่ใช่คิดว่า ‘จะ’ ใช้ในอนาคต”

แค่นี่แหละ ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรใช่ไหม แต่มันได้ผลมากกกกก ทิ้งของกระจุยโนรีเทิร์นกันเลยทีเดียว ก่อนทิ้งก็ขอบคุณของเหล่านั้นด้วยนะ จะช่วยให้ใจใสไร้กังวลและทิ้งของเหล่านั้นได้ลงจริง ๆ หากคิดว่าของที่ทิ้งยังเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ ให้คัดแยกแล้วนำไปบริจาคซะ จะยิ่งตัดใจได้ง่ายขึ้นเป็นเท่าทวี

คำถามที่ตามมาคือ จะเริ่มจากอะไรก่อนดี พวกของที่มีคุณค่าทางใจล่ะ จะเลือกยังไง ก่อนอื่นแยกของเหล่านี้ออกเป็นประเภทก่อน เคล็ดลับคืออย่าเพิ่งนั่งรำลึกความหลัง หรืออ่านรายละเอียดต่าง ๆ ของสิ่งของเหล่านั้น ให้เลือกทิ้งเลือกเก็บเป็นประเภทตามลำดับดังนี้

หนังสือ>>เอกสาร>>ของจิปาถะ>>ของที่มีคุณค่าทางใจ

 

เล่มนี้ก็โดน เล่มนั้นก็ปัง อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน(เล่ม)

แม้เป็นด่านแรก แต่ก็ทำใจยากพอดูสำหรับหนอนหนังสืออย่างเรา คุณคนโดบอกว่า กับดักอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไม่ยอมทิ้งหนังสือ เพราะคิดว่า “สักวันจะหยิบมาอ่านอีกครั้ง” ในความเป็นจริงแล้วสักวันที่ว่านั้นแทบจะไม่เคยมาถึง (เข้าหลักการสั้น ๆ ที่ว่าด้านบนเป๊ะ) คนเราอ่านหนังสือเพราะอยากสัมผัสประสบการณ์ในการอ่าน ถ้าอ่านแล้วก็เท่ากับได้สัมผัสประสบการณ์นั้นแล้ว ถ้าคำนวนดูจากเวลาพักผ่อน เวลาทำงาน เวลาที่ต้องใช้ไปกับการอ่านหนังสือเล่มใหม่ที่วางกองรออยู่ แค่นี้ก็ทำให้รู้แล้วว่า หนังสือที่จะหยิบมาอ่านซ้ำนั่นมีเพียงน้อยนิด ทำให้ตัดใจให้หนังสือกับคนอื่นหรือบริจาคให้ห้องสมุดไปได้ไม่ยากเลย ส่วนเล่มที่สำคัญหรือจำเป็นกับคุณจริง ๆ เน้น คำว่า “จำเป็น” จริง ๆ ก็ให้เก็บไว้ได้

ในขั้นตอนนี้ให้รื้อหนังสือทั้งหมดออกจากชั้น สัมผัสหนังสือทีละเล่ม และพิจารณาตามหลักการที่ว่ามา จากนั้นนำหนังสือที่เหลือแบ่งเป็นหมวดหมู่แล้วนำกลับเข้าชั้นอีกครั้ง อาจจะแบ่งออกเป็นหนังสือเพื่อความบันเทิง หนังสืออ้างอิง นิตยสาร หรือจะย่อยลงป็นนิยาย การ์ตูน ความรู้ทั่วไป ก็ได้ตามสไตล์และความมากน้อยของหนังสือของแต่ละคน ช่วยให้เวลาที่ต้องการใช้งานหรือนึกจะหยิบมาอ่านหาไอเดีย หยิบใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

แถมทริคสำหรับคอการ์ตูน ให้หยิบทุกเล่มของเรื่องนั้นมากองไว้แล้วกอดหนังสือทั้งกอง เรื่องไหนรู้สึกดีมาก ๆ จำความรู้สึกได้ว่าอ่านแล้วสนุกสุด ๆ ช่วยเพิ่มพลังใจได้ให้เก็บไว้ ที่เหลือโละขายหรือบริจาคไปเลย เพราะเอาเข้าจริงไม่อ่านอีกแน่นอน และที่สำคัญคืออย่าเปิดอ่านระหว่างเลือกเด็ดขาด อ่านแค่เรื่องย่อท้ายเล่มหรือบทนำพอ แค่นี้ก็รู้แล้วว่าควรเก็บหรือไม่ ไม่งั้นจะเก็บของไม่เสร็จสักที (โดนมาแล้ว ขยายเวลาเก็บของไปอีกหลายวันเลยล่ะ)

เอกสารสำคัญคืออะไร ตับไตไส้พุง ?

หลายคนอาจจะคิดแบบหัวข้อนี้ เพราะขึ้นชื่อว่าเอกสารแล้วก็รู้สึกว่ามันสำคัญไปหมดเลย แต่จริง ๆ แล้ว หลักการคือ “ทิ้งไปให้หมด” ไม่ใช่ทิ้งไปหมดจริง ๆ นะ แต่ให้ท่องไว้ว่าต้องทิ้งให้เกลี้ยง เพราะถ้าไม่ตั้งใจแล้วเราจะเผลอคิดว่า แค่กระดาษแผ่นเดียวเอง ไป ๆ มา ๆ ก็จะเก็บไว้มากแบบงง ๆ และต้องตั้งเป้าเก็บเฉพาะเอกสารที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บ แบ่งออกเป็นประเภทใส่กล่องแยกจากกันชัดเจน คือ

  • เอกสารที่ใช้งานอยู่ เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบแจ้งยอดบัตรเครดิต เอกสารที่เกี่ยวกับงานที่กำลังทำ หรือแม้กระทั่งลอตเตอรี่ เอกสารพวกนี้ถ้าใช้เสร็จ ตรวจเช็คหรือทำบันทึกไว้แล้วก็ทิ้งโลดดด
  • เอกสารที่ต้องเก็บไว้ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ใบรับประกันสินค้า ให้รวมไว้ที่เดียวกันให้หมด เป็นแฟ้มใสยิ่งดี จะได้หยิบจับเปิดเช็คง่าย ถ้าหมดอายุรับประกันแล้วจะได้ทิ้งได้ทันที
  • เอกสารที่ต้องเก็บตลอดไป เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนรถ สมุดบัญชี พาสปอร์ต ประเภทนี้ก็วางรวมกันแยกเก็บไว้ได้เลย หากมีภารกิจจะต้องนำออกมาใช้ให้ย้ายไปไว้รวมกับเอกสารประเภทแรก เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ให้นำกลับมาเก็บที่เดิม

และเฉพาะเอกสารประเภทสุดท้ายที่ควรจะวางที่ลับตานิดนึง ส่วนสองแบบแรกวางให้เห็น ๆ ไปเลยจะได้สะดวกไม่ต้องรื้อหาให้วุ่นวาย ทำให้หยิบทิ้งได้ง่ายด้วย

อยากจะเอาของจิปาถะ ไปบังเส้นผม ไม่ให้ใครชื่นชมแม้เส้นเดียว

หลายคนคงเคยประสบปัญหา “วางอยู่บนโต๊ะนั่นแหละ แต่ดันหาไม่เจอ” กันมาก่อน เหตุก็เพราะของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เราวางระเกะระกะไว้มันบังตานั่นเอง เวลาเริ่มจัดจึงขอให้โฟกัสไปที่เครื่องเขียน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และเครื่องใช้ไฟฟ้าบนโต๊ะหรือพื้นที่ทำงาน ถ้าเจอของประเภทอื่นให้เอาออกไปจากพื้นที่นี้ให้หมด จากนั้น นำมาวางแยกเป็นประเภทไว้แล้วให้ตรวจเช็คว่า ยังใช้งานได้อยู่หรือไม่ ใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป ใช้ได้แต่ไม่น่าจะได้ใช้ให้บริจาค

  • การจัดเรียงเครื่องเขียนให้เป็นระเบียบ ไม่ยากเลย ให้ใช้กล่องสี่เหลี่ยมขนาดพอเหมาะ จัดพื้นที่เป็นช่อง วางของประเภทเดียวกันให้อยู่ด้วยกัน และวางในแนวตั้งเท่านั้น เท่านี้ของก็จะไม่กระจัดกระจาย หยิบใช้ง่ายช่วยให้ทำงานคล่องขึ้นแล้ว
  • อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอื่น ๆ เช่น แฟ้ม โพสต์อิต สมุดจด ถ้าใช้เสร็จแล้วก็ให้ทิ้งไปได้เลย ส่วนที่เหลือให้วางไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมลักษณะตะแคงเอาสันขึ้นหรือวางแนวตั้ง แยกเป็นประเภทไว้ และเก็บไว้บนชั้นหรือที่ ๆ หยิบดึงออกมาได้ง่าย เมื่อจะใช้ก็ค่อยนำออกมา
  • สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า พิจารณาว่ายังใช้อยู่หรือไม่ ไม่ใช้แล้วก็นำไปขายเป็นสินค้ามือสองหรือบริจาค ส่วนที่เก็บไว้ถ้ามีมาก ให้แยกประเภทวางเป็นหมวดหมู่ เช่น กล้องและอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้อง เป็นต้น และให้จับคู่สายไฟกับเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วเก็บไว้ด้วยกัน ถ้าไม่เข้าพวก ไม่เข้าคู่กับอะไรก็ให้ทิ้งไปได้เลย

เก็บอารมณ์ เก็บเอาเรื่องราว นั้นทิ้งไป…

เก็บเอาแรงที่จะใช้รักใครไว้กับตัวเอง ดีกว่าเอาไปเสียน้ำตาาาา เนื้อเพลงช่างเข้ากับหัวข้อนี้มาก ๆ แค่เปลี่ยนท่อน ‘เสียน้ำตา’ เป็น ‘เสียน้ำยาทำความสะอาด’ ก็ยิ่งตรงสุด ๆ เพราะหลายคนมักเลือกเอาของมีคุณค่าทางใจหลายอย่างมากองไว้ในพื้นที่ทำงานเพื่อเสริมสร้างพลังใจ แต่ที่จริงแล้วควรเหลือไว้ให้น้อยที่สุด เพราะของเหล่านี้มักอมฝุ่น กักเชื้อโรคทำความสะอาดยากสุด ๆ ไปเลย

หลักการเลือกทิ้งของประเภทนี้คือ สิ่งใดที่ทำให้เราจมอยู่กับอดีต เช่น โน้ตบอกรักจากแฟนเก่า รูปคู่ ให้ทิ้งไปซะ แต่ถ้าเป็นของที่ใช้งานได้ และสามารถเอามาใช้ได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไรแล้วก็สามารถนำมาใช้งานได้ คุณคนโดบอกว่า ถ้าเรายังฝืนเก็บของจากแฟนเก่าอยู่ คนใหม่ ๆ ก็จะไม่เข้ามาสักที (ใครยังนกอยู่รีบเคลียร์ด่วน) ส่วนพวกสมุดเฟรนด์ชิป ของขวัญที่เพื่อนให้ ภาพถ่าย โปสการ์ด การ์ดอวยพร ให้เลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่กระตุ้นพลังใจได้จริง ๆ อาจจะเลือกบางชิ้นมาทำเป็นอัลบั้มรวมก็ได้ เหตุเพราะจุดมุ่งหมายของของพวกนี้คือส่งมอบความปราถนาดีมาให้เรา ซึ่งในชั่วขณะที่เราได้รับก็ถือว่า ของชิ้นนั้นได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว การที่มันสามารถกระตุ้นความรู้สึกสุขสุด ๆ เมื่อนำมาหยิบอ่านอีกครั้งถือเป็นของแถมที่จะเกิดเฉพาะบางชิ้นบางอย่างเท่านั้น และเพื่อจำกัดปริมาณของที่เลือกเก็บ ให้ตั้งเป้าไว้ว่า จะเก็บของจำพวกนี้ลงกล่องเพียง “กล่องเดียว” เท่านั้น (อันนี้ยากมากจริง แต่ถ้าจัดตามลำดับที่แนะนำแต่แรก จะช่วยให้ตัดสินใจได้เฉียบคมยิ่งขึ้น)

สำหรับของที่ใช้เป็นกำลังใจระหว่างทำงาน อาทิ ภาพถ่าย ฟิกเกอร์ โมเดล วางไว้บนโต๊ะสักสองสามชิ้นให้หัวใจกระชุ่มกระช่วยก็เพียงพอแล้ว และอย่าหาของมากองเพิ่ม ปัจจุบัน มีสื่อบันเทิงและวิธีเก็บสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบไฟล์มากมาย ทั้ง E-book ภาพยนตร์และเพลงออนไลน์ แนะนำให้ใช้บริการในส่วนนั้น และลงทุนกับพื้นที่เก็บแบบดิจิตอลแทนน่าจะเข้ากับสถานการณ์ขณะนี้มากกว่า แต่ถ้าใครมีตู้โชว์หรือพื้นที่อีกมากให้เก็บของรักของหวงแยกจากพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะอันนั้นก็เป็นข้อยกเว้นไป

***แถมท้าย แต่สำคัญยิ่ง***

ห่างกันสักพัก ห่างกันสักพัก เว้นพื้นที่ไว้ ป้องกัน(เชื้อ)โรคง่ายกว่า…

อาจจะเป็นตอนรับเงินทอนมาจากร้านค้าแถวหน้าหมู่บ้านหรือเปล่านะ หรือช่วงที่หยิบบัตรพนักงานขึ้นมาสแกนหลังจากเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้า เอ๊ะ หรือชั่วขณะรถเมล์เบรกเอี๊ยด ทำให้คนที่ยืนอยู่ข้างกันเผลอจับกระเป๋าเราพอดี… (เขียนไปก็นึกถึงเพลงพี่บี้ท่อนสร้อยปิดท้ายไป ใช่รึเปล่า ใช่รึเปล่า 555) ด้วยโมเมนต์มหาศาลของการที่จำต้องออกจากบ้านในแต่ละวัน ทำให้เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สิ่งของที่เรานำติดตัวออกนอกบ้านไปด้วยจะติดเชื้อไวรัสหรือไม่ จะเช็ดทำความสะอาดของทุกชิ้นทุกวันก็ลำบากลำบนไปสักหน่อย ดังนั้นการเว้นพื้นที่ไว้วางของเหล่านี้โดยเฉพาะ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยพื้นที่ที่ว่าควรมีลักษณะคือ

  • มีขนาดพอดีกับกระเป๋าที่เราพกติดตัว อาจจะวางกระเป๋าทั้งใบไว้ที่มุมหนึ่งของห้อง พยายามไม่ไปแตะต้อง ควรหยิบจับเมื่อจำเป็นต้องใช้ของที่อยู่ข้างในเท่านั้น และรีบล้างมือหลังหยิบจับทันที เพราะเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวแล้ว ก็มักจะชะล่าใจ จับหน้าจับตาหรือหยิบของเข้าปากโดยไม่ระวัง
  • พื้นที่สำหรับวางของในกระเป๋าที่พกติดตัวทุกวัน ถ้าพูดถึงของที่ต้องหยิบจับบ่อย ๆ ประเภทที่นำมาใช้ในบ้านและพกไปไหนมาไหนด้วย คงหนีไม่พ้นกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้น ให้จัดพื้นที่สำหรับวางของทั้งสองไว้โดยเฉพาะ อาจจะเป็นกล่องหรือถาดที่วางไว้ที่มุมหนึ่งของห้อง แล้วใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ (ถ้าใครหิ้วโน้ตบุ๊กไปทำงานนอกบ้าน ก็ต้องระมัดระวังส่วนนี้กันเพิ่มด้วยละนะ)  ส่วนของอย่างอื่น สักสัปดาห์ละครั้งให้นำออกจากกระเป๋ามาวางเรียงไว้ในพื้นที่ว่างสักที่หนึ่ง อาจเป็นที่เดียวกับที่วางกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือก็ได้ แล้วเช็ดทำความสะอาดหรือผึ่งลมผลแดดให้เชื้อโรคตายไปเองก็ได้ เพราะอย่างไรเสียเชื้อโรคก็อยู่บนของพวกนี้ได้ไม่นานอยู่แล้ว ประโยชน์ของการเรียงของในกระเป๋าออกมาแบบนี้ ยังเป็นการ “พัก” กระเป๋า ทำให้เราลดจำนวนข้าวของที่ไม่จำเป็นต้องพกลงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อกลับเข้าบ้านให้รีบล้างมือ และอาบน้ำก่อนไปทำอย่างอื่น จะได้มั่นใจว่า ไม่มีเชื้อโรคที่อาจติดตัวมา ไปปนเปื้อนกับของอย่างอื่นภายในบ้าน เพียงเท่านี้ เราก็จะได้พื้นที่ปลอดเชื้อ ปลอดจากความรกรุงรังไว้ทำงานกันด้วยความสุขกายสบายใจกันแล้ว

ใครที่ยังสับสนมึนงงกับสถานการณ์ในตอนนี้ ลองลุกมาจัดบ้านดู จะร้องเพลงตามหัวข้อที่ว่ามาด้วยก็ได้ไม่ว่ากัน อย่างน้อย ก็ช่วยให้ความคิดมีระบบระเบียบ คุมสติไม่ให้เตลิดเปิดเปิงไปตามกระแสได้ดีเชียวละ สมกับที่คุณคนโดกล่าวไว้ท้ายเล่มว่า “การจัดบ้าน คือ การจัดระเบียบชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองและเตรียมตัวสู่ขั้นต่อไปของชีวิต” ไม่เชื่อก็ลองดู …แล้วมันจะผ่านไปด้วยดี แล้วใจของเธอจะเปลี่ยนไป แล้ววันหนึ่ง(โควิด)จะหายไปปปป… สู้ ๆ นะ ทุกคน ^^

 

อ้างอิง : คนโด มาริเอะ, 108 เวทมนตร์แห่งการจัดบ้าน: ขยับข้าวของหนึ่งครั้งเปลี่ยนได้ทั้งชีวิต, (กรุงเทพฯ: วีเลิร์น, 2559).

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส