Mulan ฉบับคนแสดงกำลังจวนเจียนจะเข้าโรงอยู่หลายรอบแล้ว และเชื่อว่าเราน่าจะได้ดูทันในปีนี้ ใครเป็นแฟนหลิวอี้เฟย ก็คงต้องรออย่างมีหวังต่อไป (ส่วนตัวยังเชื่อว่าหนังมีศักยภาพเพียงพอจะเป็นหนังดิสนีย์แบบคนแสดงที่ทำเงินสูงที่สุดด้วย) และถ้าพูดถึง มู่หลาน  (木蘭) ก็มีหลายคนที่เข้าใจว่าเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่อีกกลุ่มก็บอกว่าเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่เอาเข้าจริงแล้วจะเป็นอย่างไรนั้นจะเป็นอย่างไรกันแน่นะ?

มู่หลาน ถูกกล่าวถึงในบทกลอนเก่าที่สุดคือ มู่หลานฉือ (木蘭辭) หรือ ลำนำมู่หลาน (Ballad of Mulan) ซึ่งถูกรวบรวมอยู่ในบันทึก กู่จินเยี่ยลู่ (古今樂錄) หรือบันทึกรวมเพลงโบราณที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ราวปลายสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) หรือต้นราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยถือกันว่าตำราชุดนี้ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและไม่สามารถหาตัวอย่างหรือต้นฉบับได้แล้ว แต่ว่าในราวศตวรรษที่ 11 สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1127) กวีนามว่า กัวเม่าเฉียน (郭茂倩) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1041-1099) ได้เขียนตำราชื่อ เยี่ยฝูชี (樂府詩) เพื่อรวบรวมเพลงและร้อยกรองต่าง ๆ โดยอ้างว่าได้นำเรื่องลำนำมู่หลานมาจากตำรากู่จินเยี่ยลู่อีกที เนื้อความในลำนำมู่หลานที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้จึงมาจากฉบับที่กัวเม่าเฉียนเขียนอ้างอิงอีกทีนั่นเอง

ลำนำมู่หลาน เดิมน่าจะเป็นเพียงเพลงร้องที่ชาวบ้านในศตวรรษที่ 4-5 ร้องกัน เพื่อปลุกเร้าความกล้าหาญว่าถึงจะเป็นผู้หญิงอ่อนแอก็อาสาช่วยรบกับผู้ชายเพื่อปกป้องบ้านเมืองได้ เพราะในช่วงนั้นจีนต้องรบรากับพวกกลุ่มอานารยชนภายนอกบ่อยครั้ง โดยในช่วงแรกเข้าใจว่าเรื่องราวมู่หลานอาจอิงกับแนวคิดแบบชนเผ่าและความเสียสละเพื่อชนเผ่ามากกว่าความกตัญญู โดยเล่าถึงวีรกรรมของสตรีชนเผ่านางหนึ่งนามว่า มู่หลาน (แต่ดั้งเดิมไม่มีการเอ่ยถึงแซ่ของมู่หลาน) ซึ่งเชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ. 420-589) นางอาสาปลอมเป็นชายไปรบแทนพ่อที่ชราและน้องชายที่ยังเล็ก นางเดินทางข้ามแม่น้ำและภูเขากว่าพันลี้เพื่อเข้าร่วมกองทัพของข่านแห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ สงครามดำเนินไปถึงสิบกว่าปีจึงสิ้นสุด สร้างความดีความชอบไว้มากมาย ข่านต้องการมอบตำแหน่งเลขาธิการกองทัพให้แต่นางขอเพียงม้าตัวหนึ่งเพื่อขี่กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านนางจึงได้จัดแจงแต่งกายคืนตามเพศจริง เพื่อนทหารหนุ่มที่ตามมาส่งต่างตกใจว่ารบร่วมกัน 12 ปี กลับไม่รู้ว่ามู่หลานคือสตรี

ลำนำปากต่อปากพอมาอยู่ในตำรากู่จินเยี่ยลู่สมัยสุย และฉบับอ้างอิงของกัวเม่าเฉียนในสมัยซ่งก็เปลี่ยนรูปมาเป็น บทกลอนจำนวน 31 คู่ความยาวกว่า 300 ตัวอักษร ที่จะเห็นว่าเรื่องความกตัญญูรบแทนบิดาก็ไม่ได้ถูกเน้นย้ำเป็นหลักใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงเรื่องว่านางปลอมเป็นชายจนสร้างความดีความชอบขึ้นอย่างมากมาย และสุดท้ายก็ทำไปโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนนั้นกลับเป็นจุดที่นำมาขมวดจบเสียมากกว่า ซึ่งตรงกับคติในสมัยสุยที่มีการนำหลากแนวคิดวัฒนธรรมมาผนวกกันทั้งคติขงจื๊อในเรื่องความกตัญญู และเรื่องการไม่ยึดถือชาติกำเนิดนำหน้าฝีมือและความรู้ เพราะในสมัยสุยนี้เองที่เกิดธรรมเนียมการสอบจอหงวนขึ้นครั้งแรก และถ้าว่าในแง่ความฉลาดของภูมิปัญญาชาวบ้านก็ยังกล่าวได้อีกว่า หากมีชายใดที่ถึงยามศึกสงครามกลับกลัวออกรบก็คงต้องถูกยกมาเทียบให้ได้อายสตรีอย่างมู่หลานเช่นกัน

ซึ่งถ้าว่าตามนี้จะพบว่ากว่าที่เรื่องราวมู่หลานจะมีบันทึกเป็นหลักฐานวัตถุในกู่จินเยี่ยลู่ช่วงสมัยราชวงศ์สุย ก็ผ่านช่วงฉากหลังในเรื่องมู่หลานที่อยู่ในช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้มากกว่า 100 ปีแล้ว ทั้งการเล่าต่อกันมาในเชิงนิทานร้องเล่นเพียงอย่างเดียวก็จัดว่ามีความน่าเชื่อถือต่ำอยู่ในตัว แถมตัวบันทึกที่ว่านี้ก็สาบสูญไปอีก แล้วที่มีตำราเหลือรอดก็เป็นตำราเยี่ยฝูชีที่อ้างอิงเอาในสมัยซ่งเกือบอีก 500 ปีถัดมา เรียกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์อ่อนมากจนถือว่าเป็นเพียงเรื่องแต่ง หรืออย่างน้อยก็กล่าวว่ามีตัวตนอยู่จริงได้ไม่เต็มปาก

รูปปั้นมู่หลานกลับบ้านพบบิดา ในเมืองซินเซียงประเทศจีน

และว่ากันตามจริงลำนำมู่หลานนั้นไม่ใช่เพลงหรือกลอนที่โด่งดังแพร่หลายในยุคเริ่มเลย แต่เมื่อผ่านกาลเวลายิ่งมีการผลิตซ้ำในรูปแบบอื่น ๆ มีเสริมเติมแต่งให้รายละเอียดมากขึ้นไปตามการใช้งานจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) กวีนามว่า ฉวีเว่ย (徐渭) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1521-1593) ได้นำลำนำมู่หลานมาประพันธ์เป็นบทละครสาจวี้ (雜劇) หรือละครงิ้ว เรื่อง ฉือมู่หลานที่ฟู่ฉงจวิน (雌木蘭替父從軍) หรือ มู่หลานออกรบแทนพ่อ เล่าเรื่องขยายในความเก่งกาจของมู่หลานว่ามาจากการฝึกปรือจากพ่อตั้งแต่เด็กทั้งบุ๋นและบู๊ และเปลี่ยนจากการรบกับอีกชนชาติก็กลายเป็นการรบเพื่อปราบกองโจรแทน ทั้งนี้เมื่อนางกลับจากสนามรบก็ยังได้แต่งงานตามที่พ่อแม่ต้องการ เป็นเรื่องราวที่มีความสุขที่สุดฉบับหนึ่งของมู่หลาน ทั้งนี้เพราะบทละครสาจวี้นั้นเป็นละครที่เน้นเรื่องราวสุขนาฏกรรมเป็นหลัก และละครงิ้วเรื่องนี้ยังทำให้เรื่องมู่หลานกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองจีนอย่างมากด้วย

จะเห็นว่าในฉบับของฉวีเว่ยนี้เน้นไปเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แต่กระนั้นก็ยังสะท้อนแนวคิดบางอย่างของสมัยหมิงที่ถูกแฝงเพิ่มเติมในเรื่องมู่หลาน โดยย้ำไปถึงความสำคัญของการฝึกฝนและศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์ อาจด้วยว่าเสริมแต่งให้เรื่องมีเหตุผลขึ้นว่าทำไมมู่หลานจึงเก่งกล้าได้เพียงนั้น และอีกประการคือการสะท้อนถึงความสำคัญในการศึกษา เพราะในสมัยหมิงได้นำการสอบจอหงวนกลับมาใช้อีกครั้ง และในสังคมจีนเองก็เริ่มยอมรับเรื่องหญิงมากความสามารถคล้ายมู่หลานมากขึ้นด้วย เพราะมีอัจฉริยะหญิงที่ได้รับการยกย่องเคียงคู่ผู้ชายขึ้นมาหลายคนในช่วงสมัยที่ผ่านมาแล้ว เช่น หลี่ชิงเจ้า (李清照) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1084-1155) ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นสตรียอดอัจฉริยะในยุคราชวงศ์ซ่ง เป็นต้น

โดยในฉบับของฉวีเว่ยนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่มู่หลานได้มีแซ่เป็นของตนเอง นั่นคือ ฮวา (花) หรือ ฮัว อันกลายเป็นชื่อที่เราคุ้นหูอย่าง ฮัวมู่หลาน ถึงปัจจุบัน ก็มาจากฝีมือการแต่งเติมของฉวีเว่ยนี่เอง

ซึ่งในยุคหมิงนี้เช่นกัน อีกตำราหนึ่งคือพงศาวดารหมิงได้บันทึกว่า มู่หลานมีแซ่ว่า จู (朱) หากแต่เพราะละครงิ้วของฉวีเว่ยโด่งดังมาก ทั้งว่าแซ่ฮัวที่มาจากคำว่า ดอกไม้ ก็เข้ากันกับชื่อมู่หลานที่แปลว่า กล้วยไม้ป่า มากกว่า ต่อมาในพงศาวดารชิงจึงได้บันทึกแซ่ของมู่หลานตามที่ชาวบ้านจดจำว่า ฮัว เรื่อยมา เรื่องละครงิ้วสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ยังอาจรวมถึงเรื่องราวอย่าง ขุนศึกตระกูลหยาง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1127) ด้วย เพราะเอาเข้าจริงตัวลูกสะใภ้แห่งตระกูลหยางที่เรารู้จักดีอย่าง มู่กุ้ยอิง และสามีของเธออย่าง หยางจงเป่า ก็ล้วนไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์เช่นกัน หากแต่เพราะละครเอาไปเสริมแต่งเล่นกันมาเป็นร้อยปี จนกลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเข้าใจไปแล้วว่าจริง

อีกหนึ่งวีรสตรีที่ละครงิ้วทำให้นึกว่ามีจริง

แม้เรื่องมู่หลานอาจเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่ก็น่าสนใจว่าเมื่อเป็นละครงิ้วเรื่องหญิงรบเก่งเสมอชายนั้นแพร่หลายในสมัยหมิง ก็กลับปรากฏว่าได้กำเนิดยอดนักรบหญิงของราชวงศ์หมิงขึ้นมาจริง ๆ นั่นก็คือ ฉินเหลียงอวี้ (秦良玉) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1574-1648) โดยเธอเป็นชาวม้งที่ได้ฝึกขี่ม้า ยิงธนู ฝึกรบตามฉบับชนเผ่าม้งที่ไม่แยกหญิงชายมาแต่เด็ก ครั้งเมื่อเติบใหญ่จึงได้แต่งงานกับเจ้าเมืองและเมื่อมีการรบขึ้นครั้งใด เธอก็จะสวมเกราะสีขาวล้วนรบเคียงบ่าเคียงไหล่สามีทุกครั้งไป จนเมื่อสามีป่วยตายเธอก็รับตำแหน่งแม่ทัพประจำเมืองต่อจากสามีและมีผลงานการรบปกป้องชาติครั้งสำคัญอยู่หลายคราจวบจนสิ้นอายุขัย จึงได้ชื่อว่ายอดนักรบหญิงแห่งราชวงศ์หมิงเลยทีเดียว มองเช่นนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าบางทีเพราะมีฮัวมู่หลานจึงกรุยทางให้เกิดยอดหญิงนักรบตัวจริงอย่างฉินเหลียงอวี้ก็เป็นได้

อนุสาวรีย์ฉินเหลียงอวี้

จากนั้นมาในช่วงยุคราชวงศ์หยวนเป็นต้นมา บทร้อยแก้วแบบตะวันตกได้รับความนิยมสูงขึ้นแทนงานกวีร้อยกรอง ทำให้นักเขียนในจีนหลายท่านนิยมนำลำนำโบราณที่มีรายละเอียดน้อยมาเขียนเสริมรายละเอียดให้เป็นงานร้อยแก้วจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ ลำนำมู่หลาน นั่นเอง โดยในยุคราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1636-1912) นักประพันธ์นามว่า ฉู่เหรินฮัว (褚人獲) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1635 แต่ตายในปีใดไม่ปรากฏ) ได้เขียนรวบรวมวรรณกรรมในยุคราชวงศ์สุยถึงราชวงศ์ถัง เป็นหนังสือ สุยถังเหยี่ยนอี้ (隋唐演義) ขึ้นราวปี ค.ศ. 1695 และเรื่องราวของมู่หลานฉบับของฉู่เหรินฮัวนั้นก็ดัดแปลงจากลำนำมู่หลานไปค่อนข้างมากทีเดียว

อันดับแรก ฉากหลังของเรื่องถูกเปลี่ยนจากสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ มาเป็นสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ห่างจากเดิมถึงกว่าร้อยปี มู่หลานถูกระบุว่าเป็นลูกครึ่งชนเผ่าเติร์กกับชาวจีนอยู่ในเผ่าที่มีข่านปกครอง ในช่วงนี้ราชวงศ์ถังเพิ่งเริ่มก่อตั้งจึงเกิดกบฏนาม โตวเจี้ยนเต๋อ (竇建德) ขึ้นต่อต้าน ชนเผ่าของมู่หลานเลือกจับมือกับราชวงศ์ถังต่อสู้กับกบฏ เหตุนี้ทำให้มู่หลานจึงต้องปลอมเป็นชายไปออกรบแทนพ่อและน้องชายของตนที่ยังเล็ก

พ่อของมู่หลานในฉบับฉู่เหรินฮัวเป็นชนเผ่าเติร์ก

ระหว่างการรบนั้น มู่หลานถูกฝั่งกบฏจับตัวได้ ลูกสาวของหัวหน้ากบฏนามว่า เซี่ยนเหนียง (線娘) ได้ทำการสอบสวนด้วยตนเอง เมื่อรู้ว่ามู่หลานเป็นหญิงปลอมตัวมารบแทนพ่อก็เกิดซาบซึ้งในความกตัญญูจึงร่วมสาบานเป็นพี่น้องกับมู่หลาน นับแต่นั้นมู่หลานก็กลายเป็นกำลังสำคัญให้กับฝ่ายกบฏต่อต้านราชวงศ์ถังแทน

ทว่าในท้ายที่สุดฝ่ายกบฏก็แพ้พ่ายให้กับกองทัพราชวงศ์ถัง มู่หลานและเซี่ยนเหนียงจึงปรึกษากันเข้าไปมอบตัวหวังเสียสละตนเองแทนพรรคพวกทั้งหมด ปฐมกษัตริย์หลี่หยวน (ภายหลังคือจักรพรรดิ์ถังเกาจู่) เห็นทั้งคู่ก็เกิดประทับใจในความเสียสละ ทั้งทราบว่าเซี่ยนเหนียงแอบรักชอบพออยู่กับแม่ทัพหนุ่มของถังอย่าง ลั่วเฉิง (罗成) จึงไว้ชีวิตเหล่ากบฏ และให้เซี่ยนเหนียงได้แต่งงานกับลั่วเฉิงในที่สุด

มู่หลาน เองก็ได้รับเงินมาส่วนหนึ่งจึงตั้งใจเดินทางกลับบ้านหวังพาครอบครัวไปตั้งหลักปักฐานใหม่ในเมืองของอดีตกบฏที่ตนเคยอยู่ ทว่าเมื่อกลับมาบ้านก็พบว่า พ่อของตนได้ตายจากไปนานแล้ว แม่ของนางก็แต่งงานใหม่ พี่น้องทั้งหลายก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปหมด ครั้นข่านที่ปกครองเผ่าของเธอทราบก็หวังจะเอาตัวมู่หลานมาเป็นสนม มู่หลานสิ้นไร้ความหวังจึงฆ่าตัวตายลงในที่สุด โดยก่อนตายยังได้สั่งให้น้องสาวนำจดหมายไปแจ้งข่าวแก่เซี่ยนเหนี่ยงพี่น้องร่วมสาบานของเธอด้วย

มู่หลานในฉบับของ ฉู่เหรินฮัวนี้เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยสถานการณ์พลิกผัน และฉากที่บรรจงเสริมให้น่าจดจำไม่ว่าจะเป็นการถูกกบฏจับตัวได้ การกลับข้างร่วมรบกับพี่น้องร่วมสาบาน ตลอดจนฉากมอบตัวยอมแพ้แก่ฮ่องเต้ และที่สำคัญคือบทสรุปฉากชีวิตของมู่หลานที่เรียกได้ว่าดราม่าสุดสะเทือนใจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นคติในการเขียนงานร้อยกรองในยุคนั้น

หลังจากนั้นมามู่หลานก็ได้ถูกบอกเล่ามาอีกหลายครั้ง จนได้มาปรากฏตัวครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มเป็นลักษณะการเล่นงิ้วหน้ากล้องในหนังชื่อ Hua Mulan cong jun (1927) แล้วก็ถูกผลิตซ้ำอยู่อีกหลายหนเปลี่ยนนักแสดงไปอีกหลายฉบับ จนกระทั่งดิสนีย์ได้นำมาผลิตเป็นแอนิเมชันในปี 1998 กลายเป็นอีกหนึ่งเจ้าหญิงดิสนีย์ไป (เพราะจักรพรรดิ์ถวายความเคารพให้ในตอนจบ) ซึ่งน่าจะเป็นฉบับหนังที่รู้จักแพร่หลายที่สุดแล้ว

นอกจากนี้ฮัวมู่หลานยังได้เป็นหนึ่งในตัวละครของมาร์เวล จากการนำมาในคอมิกหัวเรื่อง Deadpool: Killustrated ฉบับที่ 2-4 เมื่อ Deadpool พยายามไล่ฆ่าตัวละครชื่อดังในหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่อยู่ใน The Ideaverse ช่วงปี 2013

และสำหรับฉบับหนังคนแสดงที่ได้หลิวอี้เฟยแสดงเป็นมู่หลานนั้น ก็น่าจะเป็นการตีความอีกฉบับที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะเท่าที่เห็นจากตัวอย่างคือมีทั้งพวกชนเผ่า และเวทมนตร์ และยังข่าวของการที่ไม่มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ด้วย ก็ต้องรอดูครับว่าดิสนีย์จะนำเสนอออกมาเช่นไร และสะท้อนการตีความตามค่านิยมสมัยใหม่อย่างไร แต่หวังว่าคงไม่ต้อดูมู่หลานฆ่าตัวตายในตอนจบแบบฉบับฉู่เหรินฮัวแค่นั้นก็พอ

อ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Hua_Mulan
https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/ballad-hua-mulan-legendary-warrior-woman-who-brought-hope-china-005084
https://nextshark.com/mulan-original-disneys-movie/
https://www.syfy.com/syfywire/the-real-story-of-mulan
https://disney.fandom.com/wiki/Fa_Mulan
https://marvel.fandom.com/wiki/Hua_Mulan_(Earth-TRN388)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส