หนัง Schindler’s List เคยกลับมาเข้าฉายในวาระครบ 25 ปีเมื่อ 2 ปีก่อน และมีการทำฟิล์มให้คมชัดจนนำกลับมาฉายในระบบดิจิทัลได้ รวมถึงเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีการนำหนังเรื่องนี้กลับเข้าฉายในโรงอีกครั้ง ช่วงที่ยังไม่มีโปรแกรมหนังใหม่ ๆ เข้าเพราะโควิด-19 รวมถึงใน Netflix ก็ยังมีหนังเรื่องนี้ให้ดูกันแบบสตรีมมิงได้

https://www.youtube.com/watch?v=uhGh5XXY1nM&feature=emb_logo

ความน่าดูของหนังเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นหนังที่คว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1993 ทำให้ Steven Spielberg คว้าออสการ์ตัวแรกในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และหนังเองก็ 7 สาขารางวัลออสการ์จากการเข้าชิงทั้งหมด 12 สาขารางวัล ชนะรางวัลลูกโลกทองคำและบาฟตา ในสาขาใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมดในปีนั้น

หนังยังถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดในโลกที่พูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สมจริงและสร้างความสะเทือนใจมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน นี่คือหนังที่ Universal Studios ยอมควักเงิน 22 ล้านเหรียญฯ ทิ้งให้ Spielberg สร้าง เพราะคิดว่าหนังต้องเจ๊งแน่ที่คิดจะนำเสนอความหดหู่จากสงคราม แถมยังเป็นหนังขาวดำที่ยาว 3 ชั่วโมงท้ายที่สุดหนังทำรายได้ทั่วโลกไป 322 ล้านเหรียญฯ (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

วันนี้ What The Fact จึงขอนำเสนอแง่มุมเบื้องหลังงานสร้างของ Schindler’s List เรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้คนที่ยังไม่เคยดูหรือเกิดไม่ทัน ได้รู้จักหนังดราม่าที่ว่ากันว่าดีที่สุดในชีวิตของผู้กำกับพ่อมดแห่งฮอลลีวูด Steven Spielberg หรือได้หามาดูกันสักครั้งในชีวิต

กอบกู้ศรัทธา “ความเป็นยิว” ในใจ Spielberg

Schindler’s List คือหนังที่กอบกู้ศรัทธาความเป็นยิวของ Spielberg กลับมาอีกครั้ง อุปมาดังการที่ E.T. ได้กลับบ้าน ใน E.T.: the Extra-Terrestrial (1982) เขาเป็นชาวยิวที่มาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ โดยต้องย้ายที่อยู่อาศัยตามพ่อแม่จากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งตลอดเวลา และมักจะลงเอยด้วยการเป็นชาวยิวเพียงครอบครัวเดียวในชุมชนที่ย้ายไปอยู่ แปลกแยกยิ่งกว่านั้นตรงที่ครอบครัวเขาเป็นยิวออร์โธด็อกซ์ที่เคร่งครัดในกฎระเบียบทางศาสนาด้วย ในที่สุดหลายครั้งในชีวิต เขาจึงลงเอยด้วยการปฏิเสธความเป็นยิวเพื่อเข้าร่วมกับสังคมเพื่อนและไม่ถูกกลั่นแกล้ง

Schindler's List': Robin Williams Called Steven Spielberg | IndieWire
Liam Neeson และ Steven Spielberg
Steven Spielberg ในกองถ่าย Schindler’s List

หนังสารคดีเรื่องที่จุดประกายให้เขาอยากทำหนังเรื่องนี้ ย้อนกลับไปในห้องเรียนสมัยมัธยมของเขา เมื่อคุณครูเปิดฉายหนัง 16 มม. เรื่อง The Twisted Cross “มันคือครั้งแรกของผมที่เห็นศพคนตายบนจอหนังครับ ผมเห็นรถยกที่ดันศพลงไปในหลุม เป็นภาพที่รุ่นลูก ๆ ของผมเห็นในสารคดีเป็นปกติ แต่ไม่ใช่ยุคที่ผมยังเป็นเด็กอยู่” Spielberg กล่าว

หากไม่ใช่บารมีของ Spielberg ก็ไม่มีใครกล้าให้ทุนสร้างหนังเรื่องนี้

Spielberg ยังคงมีส่วนลึกในใจที่อยากจะวิ่งหนีความเป็นยิวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ในตอนต้นทศวรรษ 90s หลังจากที่เขามา Schindler’s List เป็นหนังที่อยากสร้างมาตลอดอยู่ร่วมสิบปี และในตอนนั้นเองเขาก็ทำหนังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายทั้ง E.T. the Extra-Terrestrial (1982) หรือ Indiana Jones (1981-1989) แต่ในฝั่งหนังดราม่าเองก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ทั้ง The Color Purple (1985) ที่เป็นหนังตีแผ่ขีวิตของคนผิวดำ และ Empire of the Sun (1987) ที่เป็นหนังบรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสุดสัปดาห์ที่ E.T. the Extra-Terrestrial เข้าฉายและประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย Sidney Sheinberg ผู้บริหารสตูดิโอ Universal กำลังครุ่นคิดถึงหนังที่ Spielberg แนะนำให้เขาสร้าง แถมยังส่งหนังสือ Schindler’s Ark ของ Thomas Keneally พร้อมคำวิจารณ์ชื่นชมต่อหนังสือจากหลายสำนักให้กับเขาด้วย แต่ในตอนนั้น Spielberg ก็บอกกับเขาด้วยว่า “ผมยังรู้สึกว่าผมยังไม่โตมากพอจะทำหนังเรื่องนี้”

Schindler's Ark or Schindler's List | Magazine
หนังสือ Schindler’s Ark ของ Thomas Keneally
Sidney Sheinberg, a Force Behind Universal and Spielberg, Is Dead ...
Steven Spielberg และ Sidney Sheinberg ผู้บริหารสตูดิโอ Universal ในตอนนั้น

เขาจึงได้นำ Schindler’s List ไปเชิญชวนให้ผู้กำกับแถวหน้าที่เป็นเพื่อนสนิทหลายคนอย่าง Roman Polanski ที่ Spielberg ถึงกับขึ้นเครื่องบินไปปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งหนังสือเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ให้เขาอ่าน ก่อนที่ Polanski จะบอกว่า เขาก็มีเรื่องในใจที่อยากจะสร้างจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เหมือนกัน ต่อมาหนังเรื่องนั้นทำให้เขาเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Pianist (2002) และ Martin Scorsese เจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Departed (2006) กำกับแทนเขา แต่ก็ไม่มีใครรับกำกับให้

จนมาถึงจุดที่สื่อบางสำนักในเวลานั้นออกมาพูดในทำนองที่ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวกว่า 6 ล้านคนเกิดขึ้นจริงหรือไม่? และเรื่องราวของการสังหารหมู่ชาวยิวก็แทบไม่มีการถูกสร้างขึ้น (มีแค่มินิซีรีส์ Holocaust (1978) นำแสดงโดย Meryl Streep และอาจต้องย้อนไปอีกทีถึงเรื่อง The Diary of Anne Frank (1959) นู่นเลย) Spielberg จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทั้งโลกควรจะต้องรู้จักเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ผ่านโลกภาพยนตร์

The Diary of Anne Frank (1959)
The Diary of Anne Frank (1959)
มินิซีรีส์ Holocaust (1978) นำแสดงโดย Meryl Streep

หนังทุนสร้าง 22 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าสูงในยุคนั้นเรื่องนี้จึงถูกสร้างขึ้นโดยค่ายหนัง Universal ที่ในปีนั้นก็ออกทุนสร้างหนัง Jurassic Park (1993) และ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) ให้กับ Spielberg มาก่อนด้วย จึงอนุมัติทุนสร้างอย่างชนิดที่ทิ้งเงินไปเลยเพราะคิดว่ายังไงหนังก็เจ๊ง ในตอนนั้นถึงกับมีผู้บริหารสตูดิโอบางคนถามเขาว่า ทำไม Spielberg ถึงไม่ใช้เงินจำนวน 22 ล้านเหรียญฯ นี้บริจาคให้กับมูลนิธิ Holocaust ไปเลยให้สิ้นเรื่อง แทนที่จะต้องมาสร้างหนังให้เหนื่อย จึงต้องบอกว่า เป็นเพราะบารมีและชื่อเสียงของ Spielberg แท้ ๆ ที่ทำให้หนังได้สร้างในที่สุด

หนังขาวดำ กล้องแฮนด์เฮลด์ และความเป็นหนังสารคดีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

Schindler’s List จึงเปรียบเสมือนหนังทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมืองของ Spielberg ที่เอาชื่อเสียงจากการทำหนังบันเทิงทั้งภาพและอารมณ์ คนดูให้การตอบรับดีทุกเรื่องมาเป็นเดิมพัน เพราะแน่นอนว่าหนังดราม่าเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังแห่งความบันเทิง หนำซ้ำยังจะเป็นหนังหดหู่เสียด้วย ในครั้งนี้ Spielberg ก็เลือกจะทิ้งเทคนิควิธีการเดิม ๆ ที่เคยใช้กับหนังเพื่อความบันเทิงเรื่องก่อน ๆ ของเขาเช่น การเครนช็อตที่ทำให้ผู้ชมเห็นภาพกว้าง การเคลื่อนกล้องให้เห็นเหตุการณ์หลายอย่างในช็อตเดียว การใช้เสียงวงดนตรีออเครสตราประกอบหนังอย่างอลังการ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะไม่ได้เห็นในหนัง Schindler’s List แถมหนังยังเลือกจะถ่ายทอดเป็นหนังขาวดำอีกต่างหาก

Steven Spielberg: 'Schindler's List' more relevant today than in 1993
Spielberg, Kinsley และ Neeson

Spielberg ตั้งใจจะให้ Schindler’s List ใช้เทคนิคการบอกเล่าของหนังแบบหนังข่าวและหนังสารคดี จึงได้เลือกใช้ภาพขาวดำ (ยกเว้นฉากเปิดและปิดเรื่อง) การถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์ (ถือกล้องตามตัวละครที่จะมีภาพสั่น ๆ ไม่เนี้ยบ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนคนดูอยู่ในเหตุการณ์ การลำดับภาพอย่างไม่ต่อเนื่อง การขึ้นหนังสือบอกความเลวร้ายของสถานการณ์เป็นระยะ) ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนออย่างมีศิลปะและชั้นเชิง หากพิเคราะห์ว่าในยุคนั้นยังไม่มีหนังเรื่องไหนทำแบบนี้ (ต่อมาจึงมีการนำบางเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในหนังสงครามและหนังประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่อง รวมทั้งหนังของ Spielberg เอง อย่าง Saving Private Ryan (1998) และ War Horse (2011))

Schindler's List | film by Spielberg [1993] | Britannica
Spielberg ในกองถ่าย The Schindler’s List

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการนำเสนอด้วยภาพขาวดำ ก็คือการไม่จงใจขยี้ภาพของความรุนแรงจาการสังหารหมู่อย่างมากเกินไป (ลองนึกภาพที่ถ้าหนังเป็นภาพสีและได้เห็นผ่านของโศกนาฎกรรมอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ) ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของ Spielberg ที่ไม่อยากจะสร้างดราม่าอย่างโจ๋งครึ่ม และในทางกลับกัน การดำเนินไปของตัวละครหลักอย่าง Oskar Schindler ที่รับบทโดย Liam Neeson กลับเป็นไปด้วยท่าทีเบาสบายและไม่ได้มีฉากเรียกความดราม่าหรือสงสารใด ๆ เลยในเรื่อง

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Oskar Schindler ตัวเอกของเรื่องที่เป็นนาซีเยอรมัน ขอปฏิเสธการยกย่องว่าเป็น “คนดี”

Oskar Schindler ในหนังเรื่องนี้ ถือว่าหักมุมและผิดคาดไปจากที่หลายคนคาดคิดว่าจะได้เห็นตัวละครพ่อพระของหนังที่ช่วยเหลือชาวยิวจำนวน 200 คนจากเหตุการณ์สังหารหมู่ เพราะตัวละครนี้ที่ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือ Schindler’s Ark ของ Thomas Keneally แท้จริงแล้วเขาเป็นคนเยอรมันและยังเป็นสมาชิกพรรคนาซี ด้วยความจริงในข้อนี้ก็ทำให้ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นั้นรับไม่ได้กับการที่ Spielberg หยิบบุคคลนี้มาเป็นตัวละครหลัก แถมเมื่อดูไปในเรื่องเขายังเป็นนักฉวยโอกาสจอมปลิ้นปล้อน นักค้ากำไรเกินควรที่จ้องแต่จะเล่นเกมเอาเปรียบฉ้อฉล แถมยังเป็นคนจัดหาผู้หญิงชาวยิวส่งให้ทหารนาซีอีกด้วย

Liam Neeson
Liam Neeson in Schindler's List (1993)
Oskar Schindler จัดหาผู้หญิงชาวยิวส่งให้ทหารนาซี

คนดูจะได้เห็น Oskar Schindler ติดเข็มกลัดนาซีไว้ที่อกเสื้อตลอด แต่หนังก็ค่อย ๆ อธิบายว่า นั่นเป็นเพียงการกระทำเพื่อ “เอาตัวรอด” เท่านั้น เพราะเขาไม่ได้ยอมรับอุดมการณ์นาซี ไม่ได้ต้องการฆ่าล้างบางชาวยิว สิ่งเดียวที่เขาต้องการคคือทำธุรกิจจากสงคราม กับใครก็ตามที่หยิบยื่นผลประโยชน์ให้เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยของตัวเอง การช่วยเหลือชาวยิวจึงเหมือนผลพลอยได้ที่ตอบสนองมโนธรรมส่วนลึก ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ตัว นั่นทำให้หลาย ๆ ฉากที่ชาวยิวยกย่องว่าเขาเป็นคนดีจึงสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับเขา เพราะเขาไม่ได้อยากเป็น “คนดี”

Liam Neeson, Agnieszka Krukówna, Krzysztof Luft, Friedrich von Thun, and Marta Bizon in Schindler's List (1993)
Oskar Schindler เป็นเยอรมัน และเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกพรรคนาซี

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หนังก็ฉลาดในการไม่ตัดสินว่าตัวละครตัวนี้สมควรได้รับการนิยามว่า “เป็นคนดี” หรือไม่ เพราะการเป็นบุคคลเทา ๆ และก็ต้องยอมรับว่ากรรมชั่วหลายอย่างที่เขากระทำลงไปนั้น ก็ช่วยส่งให้เขาสามารถช่วยเหลือชาวยิว 200 คนได้ในเวลาต่อมา ชนิดที่ว่าถ้าเขาประกอบแต่กรรมดีมาตลอดทั้งเรื่อง ก็อาจจะทำให้การช่วยเหลือชาวยิว 200 คนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้เลยด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นหนังที่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่ฮีโรที่จะยืดหยัดด้วยความดีจนชีวิตหาไม่ และหนังเองก็ไม่ได้บอกเหตุผลด้วยว่า ทำไม Oskar Schindler จึงเปลี่ยนใจมาช่วยชาวยิว โดยปล่อยพื้นที่นั้นให้ผู้ชมเห็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของเขา (ผสมกับจินตนาการต่อคำถามนั้น) ด้วยตัวเอง

Schindler's List (1993)
Oskar Schindler ได้ช่วยเหลือชาวยิวจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ได้ 200 คน

หมายเหตุในเรื่องของ Oskar Schindler ภายในหนังที่จะไม่ใช่ฮีโรจ๋า ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้เขียนบทอย่าง Steven Zaillian ที่ได้แนะนำให้ Spielberg ไม่ได้เล่าตัวละครตัวนี้อย่างเป็นคนดีและฮีโรอย่างที่ในบทร่างแรกของผู้กำกับเขียนเอาไว้ (ไอเดียนี้เกิดขึ้นตอนที่ Zaillian และ Spielberg ลงพื้นที่จริงในประเทศโปแลนด์เพื่อเขียนบทให้คมขึ้น) รวมถึงไม่ต้องอธิบายเหตุผลของการกระทำของ Schindler มากนัก และปล่อยให้คนดูค่อย ๆ ซึมซับเอาจากในหนังเอง สุดท้าย Zaillian คว้าออสการ์บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้ (และต่อมาเขายังเข้าชิงออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Gangs of New York (2002), Moneyball (2011) และ The Irishman (2019) ด้วย)

https://www.youtube.com/watch?v=va8zjTPsJrI

ในเวลานั้น Liam Neeson ยังไม่ใช่นักแสดงผู้มีชื่อเสียงอย่างเช่นทุกวันนี้ เขามีเพียงหนังแอ็กชันจากหนังสือการ์ตูน Dark Man (1990) ที่ในเรื่องก็มีผ้าคลุมหน้าเกือบตลอดจนคนจำไม่ได้ เขาไปทดสอบหน้ากล้องแล้วก็กลายเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในใจ Spielberg ทันที “พวกเขามาทักทายที่หลังเวที” Neeson เล่าถึงตอนที่ Spielberg และภรรยาเดินมาทักทายเขาหลังเวที จากนั้นแม่ยายของ Spielberg ที่อยู่ด้วย ก็ร้องไห้เมื่อเขาแสดงเป็น Oskar Schindler ในการทดสอบ ผมเลยปลอบโดยการกอดแน่น ๆ จากนั้นภรรยาก็หันไปบอกสตีเว่นว่า “ถ้าเป็น Oskar ตัวจริง ก็คงทำแบบนี้เหมือนกัน” Neeson เชื่อว่า นี่คือจุดที่ทำให้เขาได้รับบทนำในเรื่องนี้

Amon Goeth ทหารนาซีสุดโหด ที่ไม่ได้มีแค่ “สีดำ” อีกเช่นกัน

ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เป็นที่จดจำของหนังเรื่องนี้ก็คือ Amon Goeth รับบทโดย Ralph Fiennes ในบทผู้นำของค่ายแรงานเมืองพลาชอฟ ภาพจำเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ตัวละครตัวนี้เป็นปิศาจร้ายสำหรับคนดูแน่ ๆ ก็คือฉากที่เขาหยิบปืนไรเฟิลสำหรับฆ่าสัตว์ มาใช้ไล่ยิงชาวยิวจากบ้านพักบนเนินเขาไม่ต่างกับสัตว์เดียรัจฉาน แต่ตัวละครตัวนี้อาจพิเคราะห์กันดูดี ๆ แล้ว Spielberg ก็ได้ใส่ “ความเป่็นมนุษย์” บางอย่างลงไปอย่างให้ทั้งตัว Amon Goeth เองและคนดู เกิดความสับสนในความซับซ้อนของตัวละคร เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่ Goeth จะแสดงความอมนุษย์ออกมา

Ralph Fiennes
Ralph Fiennes and Adam Siemion in Schindler's List (1993)
Ralph Fiennes

อย่างในฉากที่เขาปฏิบัติ Helen Hirsch ตอนคัดเลือกแม่บ้านส่วนตัวจากกลุ่มคนชาวยิว ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นว่า นั่นนำไปสู่ความรักของเขาทั้งคู่ (และอาจมีคนเถียงว่า ก็เพราะว่าเขาชอบเธอจึงไม่ปฏิบัติเหมือนกับที่ทำกับชาวยิวคนอื่น ๆ ก็ตาม) ครั้งนั้นทำให้ Goeth แทบจะไปไม่ถูกเพราะเขาไม่สามารถมีความสัมพันธ์ระหว่างสายเลือดบริสุทธิ์ของชาวเยอรมันกับชาวยิวได้ แต่เขาก็เลือกจะก้าวข้ามผ่านสิ่งนั้นไป ก่อนจะที่ตอบสนองความต้องการนั้นด้วยความรุนแรงในที่สุด

Ralph Fiennes and Embeth Davidtz in Schindler's List (1993)
Ralph Fiennesc และ Embeth Davidtz รับบทเป็น Helen Hirsch

Oskar Schindler ก็พูดถึง Goeth ในฉากหนึ่งว่า โดยปกติแล้วเขาไม่ได้เป็นคนโหดร้ายและป่าเถื่อนเช่นนี้ แต่เป็นเพราะสงครามที่ชักพาให้เขาลงเอยเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งกับแฟน ๆ ที่อยากจะเป็น Schindler เป็นพระเอกที่ต่อต้าน Goeth ก็คงจะสำลักความที่พระเอกกล่าวอย่างเห็นอกเห็นใจตัวร้ายอย่างชัดเจน (แต่ก็ดูจะเป็นจริง ๆ ตาม Schindler บอก เพราะชั่วขณะที่เขาสามารถเปลี่ยนเป็นคนที่ไม่โหดร้าย ท้ายที่สุดเขาก็กลับมาเป็นอมนุษย์ที่ตกอยู่ในห้วงของด้านมืดอีกจนได้อยู่ดี)

Liam Neeson และ Ralph Fiennes

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

งานสร้างที่ประณีและตราตรึง เต็มไปด้วยความหดหู่และสมจริง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานภาพในหนังของ Spielberg นั้นสมจริงและสวยงามมาแทบทุกเรื่อง ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังของเขาประสบความสำเร็จด้วย Janusz Kaminski ผู้กำกับภาพคู่บุญของหนัง Spielberg เกือบทุกเรื่องคว้าออสการ์ตัวแรกได้จากการเข้าชิงครั้งแรกกับเรื่องนี้ (และอีกตัวจาก Saving Private Ryan รวมถึงเข้าชิงจาก Amistad (1997), War Horse (2011) และ Lincoln (2012) ทุกเรื่องกำกับโดย Spielberg) ส่วน Allan Starski และ Ewa Braun ก็คว้าออสการ์องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม Anna B. Sheppard เข้าชิงสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และ Christina Smith, Matthew W. Mungle และ Judith A. Cory เข้าชิงออกแบบแต่งหน้าและทำผมยอดเยี่ยม

สิ่งที่ยืนยันคุณภาพของงานสร้างในหนังเรื่องนี้ ก็ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ฉากของการสังหารหมู่ที่สมจริงและทำให้ผู้ชมรู้สึกสะเทือนใจ และพูดได้เลยว่า Schindler’s List เป็นหนังที่สร้างจากเหตุการณ์ Holocaust ได้สมจริงที่สุดแม้จะผ่านมาร่วม 27 ปีแล้วก็ตาม เช่น ฉากกวาดต้อนชาวยิวออกจากเก็ตโต้ ฉากการขุดซากศพชาวยิบนับหมื่นออกมาเผาเพื่อทำลายหลักฐาน ฉากคนงานหญิงเดินเรียงแถวเข้า “ห้องอาบน้ำ” กล้องเคลื่อนไปจับภาพเห็นควันพวยพุ่งออกจากปากปล่องเตาเผาศพ ที่ทำให้รู้ว่าควันนั้นไม่ใช่ไอน้ำ

Schindler's List (1993)

หรือฉากที่ Oskar ต้องมาช่วย Itzhak Stern (ตัวละครของนักแสดงรางวัลออสการ์ Ben Kingsley) ที่เกือบถูกเข้าใจผิดเอาไปฆ่าที่เอาส์ชวิทช์ แต่เดชะบุญที่รอดมาได้ แต่คนงานชาวยิวอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกพาไปขึ้นรถไฟ อย่างถูกหลอกว่าจะถูกส่งไปที่อื่นที่ไม่ใช่ที่ตาย คอหนังก็รับรู้ได้ทันทีว่า นั่นคือคำลวง กับยิ่งในฉากต่อ ๆ มาที่จะได้เห็นแว่นตา นาฬิกา กระเป๋าเดินทาง รองเท้า เชิงเทียน และฟันปลอมเลี่ยมทอง ในฉากนี้แม้ไม่ได้เห็นศพของชาวยิว แต่การได้เห็นข้าวของเหล่านี้ก็สร้างความหดหู่และสะเทือนใจไม่ต่างกัน

Liam Neeson and Ben Kingsley in Schindler's List (1993)
Liam Neeson และ Ben Kingsley

เด็กหญิงชุดแดงในหนังขาวดำทั้งเรื่อง

ฉากที่ถูกพูดถึงและเป็นที่จดจำอีกฉากหนึ่งของ Schindler’s List ที่ถูกวางเอาไว้อย่างตั้งใจโดยผู้กำกับ Steven Spielberg ก็คือฉากเปิดและปิดเรื่องที่คนดูจะได้เห็นเด็กหญิงชุดแดงโดดเด่นเป็นสง่า Spielberg ได้เคยอธิบายฉากนี้ไว้ว่า เด็กผู้หญิงคนนี้มีสถานะเป็นเหมือนการอุปมาอุปไมยถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ที่ผู้นำประเทศในขณะที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรมนั้น ต่างรับรู้แต่เพิกเฉยและจงใจจะไม่ยับยั้งเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 6 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นความเลวร้ายที่สูสีกับผู้ก่อการอย่างเผด็จการนาซี และหากใครที่คิดว่าการสวมใสชุดแดงของตัวละครตัวนั้นจะทำให้เธอพ้นภยันตราย ในตอนจบของเรื่องเราก็จะได้เห็นศพของเธอถูกนำไปเผารวมกับชาวยิวคนอื่น ๆ นั่นเอง

Oliwia Dabrowska in Schindler's List (1993)
รูปหลุมฝังศพ Oskar Schindler ในตอนท้ายของหนัง

Spielberg ก็ต้องเผชิญสถานการ์ที่ต้อง “ประคองสติ” ขณะถ่ายทำ

ขณะถ่ายทำหนังเรื่องนี้เป็นเวลา 75 วันของ Speilberg แน่นอนว่า ภาพที่ปรากฎแม้จะเป็นการจำลองขึ้นมาเพื่อถ่ายทำหนังก็ยังกระทบกระเทือนจิตใจของเขา อย่างที่ให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อในตอนหนังเข้าฉายว่า เขาต้องพยายาม “ประคองสติ” ในการถ่ายทำฉากยาก ๆ (รวมถึงเขาก็ยังอยู่ในช่วง Post-Production หนังอีกเรื่องที่จะออกฉายปีเดียวกันอย่าง Jurassic Park ด้วย ที่ทำให้เข้าต้องกดเปิดปิดสวิตช์ไปมาระหว่างหนังบันเทิงกับหนังดราม่า) ซึ่งเขาก็บอกว่า Kate Capshaw ภรรยาคนที่สองและ Jessica มาอยู่ที่กองถ่ายในโปแลนด์ด้วย ทำให้เขามีสติและสุขุมมากพอจะกำกับหนังได้ “ไม่อย่างนั้นผมอาจต้องใช้ยากล่อมประสาทครับ” เขากล่าว

28 Years of Marriage & Steven Spielberg Still Gushes over Wife ...
Kate Capshaw ภรรยาคนที่สองและคนปัจจุบันของ Spielberg
Steven Spielberg, Ben Kingsley, Liam Neeson - Liam Neeson Photos ...
2 นักแสดงและผู้กำกับตอนที่กลับมาพบกันอีกครั้ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส